บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันอังคารที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2553

เจตนารมณ์ของการเลือกตั้ง ... โดย ประณต นันทิยะกุล

ที่มา มติชน


กกต.ในยุคแรก ดำเนินการ โดยสุจริต และเที่ยงธรรม ได้เป็นผลสำเร็จ เป็นที่ยอมรับกันเป็นอย่างดี จนได้รับการยกย่องจากสื่อมวลชนต่างประเทศ ให้เป็นหนึ่งในองค์กรอิสระของประเทศไทย ที่มีธรรมาภิบาลดีที่สุดในเอเชีย

เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อให้ทำหน้าที่ควบคุมและดำเนินการจัด หรือจัดให้มีการเลือกตั้ง และการออกเสียงประชามติ ตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นไปโดยสุจริต และเที่ยงธรรม

คณะกรรมการการเลือกตั้งในยุคแรกได้ดำเนินการให้เป็นไปโดยสุจริต และเที่ยงธรรม ได้เป็นผลสำเร็จเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปเป็นอย่างดี จนได้รับการยกย่องจากสื่อมวลชนต่างประเทศ ให้เป็นหนึ่งในองค์กรอิสระของประเทศไทยที่มีธรรมาภิบาลดีที่สุดในเอเชีย

คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานคร มีภารกิจในการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร การออกเสียงประชามติ และปฏิบัติภารกิจอื่นตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งมอบหมาย

คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานคร มีกรรมการการเลือกตั้งจำนวน 5 คน จำลองรูปแบบคล้ายกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง คือ แบ่งการปฏิบัติหน้าที่เป็น 5 งาน ได้แก่ งานอำนวยการ งานจัดการเลือกตั้ง งานพรรคการเมือง งานสืบสวนสอบสวน และงานการมีส่วนร่วม

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ระหว่าง พ.ศ.2541-2553 เป็นเวลา 12 ปี ภารกิจในส่วนของคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานคร ประสบความสำเร็จด้วยดีในทุกด้าน แม้จะมีปัญหาและอุปสรรคอยู่บ้าง แต่ภาพรวมโดยทั่วไปนับว่าได้ดำเนินภารกิจค่อนข้างเรียบร้อย เป็นที่น่าพอใจ ที่สำคัญคือ ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะกรุงเทพมหานครที่ได้ให้ความช่วยเหลือร่วมมือเป็นอย่างดี

อย่างไรก็ดี การที่จะทำให้ภารกิจ โดยเฉพาะการบริหารจัดการเลือกตั้งให้ประสบความสำเร็จดังที่คณะกรรมการการเลือกตั้งชุดปัจจุบันได้ตั้งเจตนารมณ์ไว้คือ "สุจริต โปร่งใส และเที่ยงธรรม" ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องช่วยกัน รักษา แก้ไข ป้องกัน และทำอย่างต่อเนื่องให้สมกับเจตนารมณ์ที่ตั้งไว้

การที่จะทำให้การเลือกตั้งประสบความสำเร็จ กลุ่มบุคคล 5 กลุ่มดังต่อไปนี้ต้องมีจิตสำนึกที่ต้องปฏิบัติ คือ

1.ผู้สมัครรับเลือกตั้ง กรรมการบริหารพรรคการเมือง หัวคะแนน และผู้สนับสนุนต้องปฏิบัติตามกฎ กติกา มารยาท และกฎหมายอย่างเคร่งครัด มีใจเป็นนักกีฬา รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย

2.กรรมการการเลือกตั้ง กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง กรรมการนับคะแนนตลอดจนผู้เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการเลือกตั้งทุกคน ต้องสุจริต โปร่งใส และเที่ยงธรรม อย่างตรงไปตรงมา ผิดเป็นผิด ถูกเป็นถูก โดยไม่มีใจโอนเอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง

3.ประชาชนออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งอย่างมีความสำนึกในความเป็นพลเมืองดี โดยไม่ขายสิทธิขายเสียง ใช้วิจารณญาณในการออกเสียงเลือกตั้ง เลือกคนที่ตนคิดว่าดีที่สุดไปเป็นผู้แทนหรือผู้บริหารอย่างรู้เท่าทัน

4.องค์กรภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ช่วยกันตรวจสอบไม่ยอมให้ใครทุจริตการเลือกตั้ง หรือหากมีการทุจริตการเลือกตั้ง ต้องช่วยกันท้วงติง และคัดค้านจนถึงที่สุด

5.สื่อมวลชนช่วยประชาสัมพันธ์ให้ผู้มีสิทธิไปใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งอย่างเป็นกลาง ไม่เป็นเครื่องมือทางการเมืองของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

ถ้าทุกฝ่ายปฏิบัติตามหลัก 5 ประการดังกล่าวได้ การเลือกตั้งของประเทศไทยก็จะเป็นไปโดยสุจริต โปร่งใส และเที่ยงธรรม สมดังเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และของคณะกรรมการการเลือกตั้งไว้ทุกประการ

ตามไปดู เงินบริจาคพันธมิตรฯทะลุ100 ล้าน วาน"กรณ์"ช่วยตรวจสอบเสียภาษีหรือยัง ?

ที่มา มติชน


28 มิถุนายน 2553 "เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ " สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.)ระบบสรรหา ได้ทำหนังสือถึงนายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังขอให้ตรวจสอบการเสียภาษี กรณี เงินบริจาค"ASTV-เครือข่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.)

"เรืองไกร" อ้าง จดหมายของนายสนธิ ลิ้มทองกุล ที่ทำขึ้นในนามแกนนำ พธม. เพื่อโต้ตอบนายวีระ สมความคิด ซึ่งมีเนื้อหาบางส่วนที่แสดงให้เห็นว่า มีเงินได้พึงประเมินเกิดขึ้นในนามบุคคลต่าง ๆ ที่ได้รับมาจากบุคคลอื่นในรูปเงินบริจาค ซึ่งควรถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากรมาตรา 40(8) ที่จะต้องมีการเสียภาษีปีละสองครั้ง

หากจะเข้าใจ ความเป็นมาของปริศนาเงินบริจาค ต้องย้อนกลับไปดู เหตุการณ์ในปี 2551 กลาง สมรภูมิ สงครามครั้งสุดท้าย พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่มี สนธิ ลิ้มทองกุล เป็นหนึ่งในแกนนำ คนสำคัญ ได้ยึดทำเนียบรัฐบาลเป็นฐานที่มั่น ได้มีการใช้ ASTV ถ่ายทอดสด การชุมนุมขับไล่รัฐบาลนอมินีของพ.ต.ท.ทักษิณ แบบเรียลลิตี้ 24 ชั่วโมง

ด้วยพลานุภาพแห่งพลังทุน มีการเรี่ยไรบริจาคเงินทุกวัน คุยข่มกันว่า หากเพียงแค่เหล่าบรรดาแกนนำเอ่ยปากร้องขอบนเวที ไม่ว่าอะไรก็สามารถเนรมิตได้ในเวลาอันรวดเร็ว

บนเวที มีการป่าวประกาศ ว่า ยอดเงินบริจาคทะลุ 100 ล้านแล้ว (จ้า) แทบทุกคืน

ก่อนหน้านี้ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ขึ้นเวทีเปิด ตู้ ป.ณ.100 ขอรับบริจาคเพื่อนำไปเป็นค่าใช้จ่ายและค่าจ้างพนักงานเอเอสทีวี ตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2551 -5 กันยายน 2551 ซึ่งได้มาถึง 13 ล้านบาท โดยยืนยันว่าจะไม่มีการเปิดรับอีก เพราะเอเอสทีวีสามารถอยู่ได้แล้วจากเงินของผู้ชุมนุมคนละ 200 บาท

ครั้งนั้น นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรฯ เคยกล่าวไว้ว่า ค่าใช้จ่ายของกลุ่มพันธมิตรฯ อยู่ที่วันละ 1 ล้านบาท ในการจัดงานและกิจกรรมต่างๆ ค่าถ่ายทอดสัญญาณ แสงเสียง ค่าน้ำมันปั่นเครื่องไฟ ค่าสวัสดิการ อาหารของคณะทำงาน ค่าตอบแทนวิทยากรและศิลปิน ฯลฯ พร้อมกับแจกแจงข้อมูลเงินบริจาคที่แบ่งเป็น 2 บัญชี คือ บัญชียามเฝ้าแผ่นดิน และ บัญชีเอเอสทีวี

...น่าจะเป็นการชุมนุมโดยอหิงสาที่มีค่าใช้จ่ายต่อวันสูงกว่าการชุมนุมครั้งใด ๆ (ก่อนปี 2551)

เหตุใด บริษัท เอเอสทีวี จึงต้องเปิดขอรับเงินบริจาคกลางเวทีพันธมิตรฯ ? แล้วเงินบริจาคซึ่งถือว่าเป็นรายรับทั้งในส่วนของมูลนิธิยามเฝ้าแผ่นดิน และ บริษัท เอเอสทีวี ที่ว่ากันว่าทะลุ 100 ล้านแล้วนั้น มีการเสียภาษีให้แก่แผ่นดินหรือไม่ เป็นคำถามที่ไม่มีคำตอบ

แหล่งข่าวระดับสูงกรมสรรพากร เปิดเผยว่า เงินบริจาค ถือเป็นรายได้ที่ต้องเสียภาษี ตาม พ.ร.บ.ให้ใช้บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร พ.ศ.2481 ถ้าเงินบริจาคเข้าตัวบริษัทก็ต้องนำมาคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล

ถ้าเงินบริจาคเข้า กระเป๋าบุคคลธรรมดา ถือเป็นกรณีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่ต้องเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 40(8) ตาม พ.ร.บ.ให้ใช้บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร พ.ศ.2481 เช่นเดียวกัน

ก่อนหน้านี้ มีการก่อตั้ง "มูลนิธิยามเฝ้าแผ่นดิน" ที่นายสนธิ มีความคิดต้องการให้เป็นเหมือนองค์กรพัฒนาเอกชน ที่รับเงินเดือนโดยตรงกับประชาชน จนนำไปสู่การจดทะเบียนอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 23 เมษายน 2550 มี นายคำนูณ สิทธิสมาน เป็นประธาน

มูลนิธิแห่งนี้ เปิดรับสมัครเป็นสมาชิกหนังสือยามเฝ้าแผ่นดินแทน ด้วยการส่งใบสมัครไปที่ 49/1 อาคารบ้านเจ้าพระยา ถนนพระอาทิตย์ เขตพระนคร ซึ่งยังเป็นที่ตั้งของบริษัท บุ๊ค ด็อท คอม, บริษัท เวิล์ดไวด์ มีเดีย, บริษัท ภูเก็ตบลูสกาย

ครั้งนั้น แกนนำพันธมิตรฯ ยืนยันว่า ผู้ที่สงสัยในการบริหารค่าใช้จ่ายต่างๆ สามารถตรวจสอบเรื่องดังกล่าวได้ เพราะทางทีมงานจะนำเสนอรายละเอียดค่าใช้จ่ายผ่านบนเว็บไซต์ อีกทั้งการดำเนินงานของพันธมิตรฯ เป็นการดำเนินงานในลักษณะองค์กร

แต่จากวันนั้น จนถึงวันนี้ เงินบริจาค ค่าใช้จ่ายและรายรับต่างๆ ยังไม่เคยถูกตรวจสอบ โดยเฉพาะกรมสรรพากร ก็แสนดี ...นิ่งเงียบเป็นแมวนอนหวด

ผ่านไป 2 ปี เมื่อพันธมิตรฯทะเลาะกันเอง ข้อมูลก็โผล่ออกมาว่า เงินบริจาค ถูกแบ่งออกเป็น 5 กอง ประกอบด้วย 5 รายการ ดังนี้

1.บริจาคให้นายวีระ สมความคิด ผ่านคุณธิดาลักษณ์ วรรณวัฒนากิจเลขานายสนธิ ลิ้มทองกุล 2. บริจาคให้กองทุนสู้คดี (โดยคุณสุวัตร อภัยภักดิ์ เป็นผู้ดูแล) 3. กองทุนรักษาผู้บาดเจ็บ (โดยคุณพิภพ ธงไชย เป็นผู้ดูแล) 4. มูลนิธิจำลอง ศรีเมือง (โดยพลตรี จำลอง ศรีเมือง เป็นผู้ดูแล) 5. ASTV (โดยผู้บริหาร ASTV เป็นผู้ดูแล)

จริง ๆ แล้ว เงินที่อยู่ในชื่อบุคคลต่าง ๆ ย่อมอาจถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามความในมาตรา 61 ของประมวลรัษฎากร ที่กรมสรรพากรมีอำนาจตรวจสอบว่า เงินที่บุคคลดูแลนั้น อยู่ในหนังสือสำคัญใด เช่น สมุดบัญชีเงินฝากธนาคารต่าง ๆ (บัญชีกระแสเลขที่ 008-1-09707-0 , บัญชีเลขที่ 008-1-09660-0 , บัญชีเลขที่ 008-2-24447-8 หรือบัญชีออมทรัพย์เลขที่ 157-0-06294-3) และเงินเหล่านั้นได้รับมาตั้งแต่ช่วงปีใด แต่ละปีมีเงินได้เท่าไร มีการเสียภาษีจากเงินได้ที่ปรากฏในหนังสือสำคัญแล้วหรือไม่ รวมทั้งตรวจสอบการโอนเงินได้ให้แก่บุคคลอื่นนั้น บุคคลอื่นที่ได้รับเงินไปนั้น มีใครบ้าง ได้รับในฐานะอะไร


หากนำเงินดังกล่าวมาหักออกตามสิทธิที่ระบุไว้ในมาตรา 61 วรรคสอง ก็ควรตรวจสอบต่อไปด้วยว่า บุคคลอื่นที่ได้รับเงินไปอีกทอดหนึ่งนั้น มีการเสียภาษีแล้วหรือไม่ เช่น ค่าทนายความที่จ่ายครั้งละประมาณ 200,000 บาท จำนวนหลายครั้งรวมเป็นเงินหลายล้านบาท ทนายความผู้รับเงินมีการไปเสียภาษีประเภทเงินได้ค่าธรรมเนียมวิชาชีพตามมาตรา 40 (6) อีกทอดหนึ่งหรือไม่


สำหรับเงินบริจาคในนามมูลนิธิ ถ้ามีการจดทะเบียนมูลนิธิดังกล่าวโดยถูกต้องตามกฎหมาย ย่อมถือเป็นนิติบุคคลตามประมวลรัษฎากร ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราร้อยละ 10 จากรายได้ก่อนหักรายจ่ายใด ๆ


ทั้งนี้ มูลนิธิจะได้รับยกเว้นรายได้ตามมาตรา 65 ทวิ (13) คือ เงินค่าลงทะเบียนหรือค่าบำรุงที่ได้รับจากสมาชิก หรือเงินหรือทรัพย์สินที่ได้รับจากการบริจาคหรือจากการให้โดยเสน่หา แล้วแต่กรณี


จากข้อมูลของ"เรืองไกร"พบว่า เงินบริจาคของมูลนิธิยามเฝ้าแผ่นดินเพื่อพันธมิตรสู้คดีตั้งแต่ สิงหาคม 2552- กุมภาพันธ์ 2553 ปรากฏว่า มีเงินเหลือในบัญชี 10,737,284.83 บาท


ถ้าให้ดี "กรณ์ จาติกวณิช" น่าจะสั่งให้กรมสรรพากร เข้าไปตรวจสอบ โดยพลัน !!!


แต่ถ้ากลัวก็บอกมาตรงๆ จะได้รู้ว่า ประเทศนี้ 2 มาตรฐาน จริงๆ

บันทึกฉบับที่ 1 (การยุทธและการหยุด)

ที่มา มติชน


โดย วิสา คัญทัพ

หมายเหตุ นี่คือบันทึกเหตุการณ์เรื่องการตัดสินใจยุติการเคลื่อนไหวร่วมกับแกนนำนปช.รายอื่น ๆ ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2553 ของนายวีระ มุสิกพงษ์ นายอดิศร เพียงเกษ นางไพจิตร อักษรณรงค์ และนายวิสา คัญทัพ ซึ่งนายวิสาได้เขียนขึ้นและนำไปเผยแพร่ในเว็บเพจเฟซบุ๊กของตนเอง มติชนออนไลน์เห็นว่างานชิ้นนี้มีความน่าสนใจ จึงขออนุญาตนำมาเผยแพร่ต่อ ณ ที่นี้


บันทึกของ วิสา คัญทัพ (ฉบับที่ 1)


เรื่องการยุทธและการหยุดเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2553


ทำไม วีระ มุสิกพงศ์ ประธาน นปช.แดงทั้งแผ่นดิน จึงเขียนจดหมายประกาศยุติบทบาทการต่อสู้โดยประกาศลงที่สถานีบางซื่อ ไม่ขอเดินทางต่อไปถึงสถานีหัวลำโพง คำตอบย่อมมาจากการกลั่นกรองเหตุผลหลายประการจนตกผลึกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว


เป็นการตัดสินใจบนพื้นฐานที่ไม่ยอมให้มีการสูญเสียชีวิตและเลือดเนื้อประชาชนอีกต่อไป


เป็นการตัดสินใจบนพื้นฐานที่ยึดมั่นแนวทางสันติวิธีในการต่อสู้


เป็นการตัดสินใจที่เห็นว่าข้อเรียกร้อง "ยุบสภา" ได้รับการตอบรับจากรัฐบาลแล้วตามเงื่อนไขที่ได้เจรจากัน ดังที่ได้รับมอบหมายให้เป็นตัวแทนการเจรจา และผ่านมติเป็นเอกฉันท์ในทุกเรื่อง


รายละเอียดสุดท้ายคือการให้ประกันตัวแกนนำทั้ง 24 คน ซึ่งรัฐบาลยอมรับ ขณะที่แกนนำบางส่วนไม่เชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะทำตามคำพูด เพราะหลายคนยังหวั่น พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทั้งยังเพิ่มข้อเรียกร้องเรื่องนายสุเทพ เทือกสุบรรณต้องมอบตัวให้ถูกต้องตามกระบวนการยุติธรรมกรณีสั่งฆ่าประชาชน 10 เมษาฯ อ้างว่าเพื่อเป็นการรับผิดชอบกับชีวิตวีรชนประชาธิปไตย ข้อเรียกร้องเรื่องสุเทพมอบตัวทำให้เกิดความสับสนในข้อกฎหมายว่าจะสิ้นสุดลงอย่างไรจึงจะเป็นที่ยอมรับของแกนนำคนเสื้อแดง


วีระ มุสิกพงศ์ เลือกลดบทบาทจากแกนนำลงไปเป็นคนเสื้อแดงธรรมดาเพราะเห็นว่า การทำตามสัจจะที่ได้ประกาศไว้มีความสำคัญต่อสังคมอย่างที่สุด เมื่อประกาศร่วมกันว่าทั้งสองฝ่ายพร้อมเดินเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ไม่เอาการนิรโทษกรรม ย่อมถือว่าสังคมรับรู้แล้ว เมื่อประกาศจะยุบสภาตามวันเวลาที่ชัดแจ้งก็ผูกมัดรัฐบาลต่อสายตาสังคมโลก แกนนำคนเสื้อแดงสมควรมอบตัวโดยมิต้องหวั่นไหวใดๆ แม้จะมีการหักหลัง จับกุมกักขังไม่ให้ประกัน แม้อภิสิทธิ์ สุเทพจะหลบหลีกไม่ยอมมอบตัว ก็เป็นเรื่องปกติของฝ่ายที่ยึดกุมอำนาจรัฐที่สามารถกระทำเช่นนั้นได้


ส่วนเราจะยื้อยุดฉุดดึงไปก็ไร้ประโยชน์ เพราะในความเป็นจริง กระบวนการเอาผิดทางกฎหมายต่อรัฐบาลอาชญากรมือเปื้อนเลือดก็มิได้ยุติลงในรัฐบาลชุดนี้ อภิสิทธิ์ - สุเทพ หนีความผิดไม่พ้น ความไม่ชอบธรรมจะตกอยู่กับอภิสิทธิ์ - สุเทพทันที


การเลือกยุติการชุมนุมในจังหวะนี้ ความชอบธรรมจะอยู่กับฝ่าย นปช. สำคัญที่สุด ประชาชนไม่สมควรต้องสูญเสียเลือดเนื้อและชีวิตอีกเป็นอันขาด ประชาชนคนเสื้อแดงจะต้องกลับบ้านอย่างปลอดภัย องค์กร นปช.แดงทั้งแผ่นดินยังคงเคลื่อนไหวในหนทางสันติวิธีต่อไปได้ รัฐบาลจะถูกกดดันจากทุกภาคส่วนของสังคมให้ดำเนินการทุกอย่างไปสู่การยุบสภา อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และสุเทพ เทือกสุบรรณ จะกลายเป็นซากศพที่เดินได้


ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ อดิศร เพียงเกษ,ไพจิตร อักษรณรงค์ และผม เห็นด้วยและตัดสินใจลงสถานีเดียวกัน


แนวทางและชุดความคิดดังกล่าวถูกมองว่าเป็นจิตใจจำนนและถอย ยอมรัฐบาลมากเกินไป คนที่ยังไม่พร้อมจะลงจึงเดินทางต่อไป ถามว่า การเดินทางต่อมีความคิดชี้นำมาจากองค์ประกอบอื่นๆ นอกเหนือจากแกนนำที่ร่วมประชุมกันหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยข้อมูลที่เป็นจริง จึงยังไม่อยากวิเคราะห์ล่วงหน้า


อย่างไรก็ตาม แนวทางและชุดความคิดนี้หากมองกลับเป็นตรงกันข้าม ย่อมสามารถมองว่าเป็นการ "ต่อสู้" ได้ เพราะการที่แกนนำเดินทางเข้ามอบตัวโดยไม่หวั่นกลัวต่อการจับกุมคุมขัง เท่ากับ แกนนำยอมเสียสละอิสรภาพของตนเพื่อแลกกับการให้ประชาชนกลับบ้าน โดยไม่สูญเสีย ไม่ต้องตายกันอีก เป็นการลงอย่างสันติวิธี ไม่รุนแรง รักษาองค์กรให้คงอยู่และเคลื่อนไหวต่อสู้ต่อไปได้


หลังการประชุมในตู้คอนเทนเนอร์ ที่เวทีราชประสงค์สิ้นสุดลง ในวันที่ 10 พฤษภาคม 2553 วีระ มุสิกพงศ์ ไม่ได้ขึ้นพูดบนเวทีในคืนนั้น แล้วหายไปจากเวที ส่วน อดิศร เพียงเกษ,ไพจิตร อักษรณรงค์ และผม ยังอยู่ต่อ และเข้าร่วมประชุมครั้งสุดท้ายในวันที่ 11 พฤษภาคม 2553 อดิศร ชี้แจงเหตุผลที่เขาต้องยุติบทบาท แล้วลงจากตู้คอนเทนเนอร์ไปก่อนการประชุมจะสิ้นสุดลง ส่วน ไพจิตรและผมได้แจ้งที่ประชุมว่าจะขอลงสถานีบางซื่อเช่นเดียวกับวีระและอดิศร เช้าวันรุ่งขึ้น ไพจิตร อักษรณรงค์ก็ล้มป่วยเป็นไข้หวัด เจ็บคอ ไม่มีเสียง นอนพักรักษาตัว เราสามคนไม่ได้กลับเข้าไปที่เวทีตั้งแต่วันนั้น


เมื่อครั้งที่ผมและไพจิตร อักษรณรงค์ได้รับมอบหมายให้ดูแลเวทีปราศรัยที่ผ่านฟ้าลีลาศ ก่อนเกิดเหตุการณ์ 10 เมษายน เราคุมสถานการณ์ด้วยสันติวิธี ขณะเครื่องบินเฮลิคอปเตอร์มาบินวนในช่วงบ่ายวันนั้น ผมประกาศให้คนออกมาจากเต็นท์ให้หมด มารวมกันหน้าเวที เพื่อให้เจ้าหน้าที่บนเครื่องบินที่บินสังเกตุการณ์ได้เห็นว่ามีคนเสื้อแดงมากมาย ผมให้พี่น้องนั่งลง สงบนิ่ง ตั้งสติ ทำสมาธิ ยึดหลักการสันติอหิงสา ปล่อยให้ตำรวจทหารเข้ามาโดยไม่ขัดขวาง หากเขาจะมาจับแกนนำ ให้เปิดทางให้เขาเข้ามาจับบนเวที พวกเราพร้อม เพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสียใดๆกับพี่น้องประชาชน


หลังจากผมพูดจบลง ไมโครโฟนก็ถูกแย่งดึงโดยบางคนที่ปลุกเร้าเร่าร้อนระดมกำลังให้ออกไปปะทะเผชิญสะกัดกั้นไม่ให้ตำรวจทหารผ่านเข้ามาตามด่านต่างๆ ผลักดันสถานการณ์ไปสู่ความรุนแรง ผมเดินลงจากเวที เพราะผมไม่อยู่ในฐานะที่ไปห้ามปรามแล้วเพื่อนๆจะฟัง และไม่มีประโยชน์อะไรที่จะพูดสวนทางกันให้สับสน ในใจคิดว่าหากมีการสูญเสียเลือดเนื้อและชีวิตอีก คงรับไม่ไหว ผมติดต่อไปหาณัฐวุฒิ ใสยเกื้อที่เวทีราชประสงค์ให้มาคุมสถานการณ์ที่นี่ด้วยตัวเอง ก่อนที่มันจะลุกลามบานปลาย แต่ไม่เป็นผล ที่สุดก็ปะทะกันรุนแรง หลังเหตุการณ์นี้ผมเร่งเร้าให้ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ยุติเวทีที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ หากไม่มีคนนำที่แกนนำเชื่อฟังมาคุมเวที ก่อนที่ประวัติศาตร์นองเลือดจะซ้ำรอย ซึ่งเป็นผลสำเร็จในที่สุดเมื่อตกลงย้ายการชุมนุมไปรวมที่ราชประสงค์จุดเดียว


กรณี 10 เมษายน 2553 คุกคามจิตใจผมให้หดหู่ ขมขื่น และเจ็บปวดอย่างหนัก สำหรับผม พอแล้ว มันเขียนอะไรไม่ออก มันบอกอะไรไม่ถูก มันไม่ได้สร้างพลังอะไรเลย นอกจากสำนึกแห่งธรรมที่ว่าการฆ่าคือบาป และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการทำให้เกิดการฆ่าเล่า จะพ้นบาปไปได้อย่างไร


วันที่ 10 พฤษภาคม 2553 เมื่อประธานวีระ มุสิกพงศ์ ลงขบวนรถไฟไป เหตุเพราะข้อเรียกร้อง "ยุบสภา" บรรลุแล้ว และแนวทางการต่อสู้ส่อเค้าจะหลุดเฟรมแห่งสันติวิธี มีสำเนียงบางอย่างกระตุ้นเร้าความรุนแรงแทรกซ้อนการนำของ นปช. ผมจึงเห็นด้วยและขอลงสถานีเดียวกับวีระ ใครจะชิงชังรังเกียจและหยามเหยียดอย่างไรก็ว่ากันไป เรารับเสียงร่ำไห้แห่งความโศกเศร้า เลือดเนื้อ น้ำตา การบาดเจ็บ สูญเสีย ไม่ได้อีกแล้ว


บันทึกนี้เขียนขึ้นเพื่อชี้แจงเหตุผลแห่งการยุติบทบาทอย่างเป็นทางการของผมและไพจิตร อักษรณรงค์


หยุดคือหยุด ไม่ให้ใคร ต้องตายอีก
หยุดคือหลีก ความรุนแรง อันแฝงฝัง
หยุดแล้วมวลชนได้ไม่พ่ายพัง
หยุดเขาขังหลอกเราก็เข้าใจ


หยุดอาจมีความหมายว่าไม่หยุด
หยุดเพราะแท้ที่สุด หาหยุดไม่
หยุดการตาย เพื่อให้อยู่ สู้ต่อไป
หยุดสงวนกำลังไว้ใช้อีกนาน


ถ้าเราหยุดละวางตรงบางซื่อ
จักได้ความเชื่อถือมหาศาล
คลื่นอธรรมก็จะซัดใส่รัฐบาล
ดำเนินการต้องประกอบด้วยชอบธรรม


หยุดเพราะว่ายุบสภาได้มาแล้ว
เราได้แนวนำเสนอไม่เพ้อพร่ำ
เป็นไปตามยุทธวิธีที่ชี้นำ
ให้ค่อยกินทีละคำจดหมดจาน


เหมือนจะยอม เหมือนจะแพ้ แท้แล้วสู้
ข้างหน้าคุก รออยู่ ไม่สะท้าน
เพื่อหยุดการเข่นฆ่าอย่างสามานย์
นี้คือการ เรียกร้อง หยุดของเรา


(บันทึกนี้เขียนวันที่ 13 พฤษภาคม 2553)

21เศรษฐีพรรคชาติไทยพัฒนาครองที่ดิน 2,541 ไร่ - "ศิลปอาชา" เหมา7 จว.ภาคกลาง 2 พันไร่ 2 พันล้าน

ที่มา มติชน


เปิดข้อมูลการถือครองที่ดินของนักการเมืองพรรคชาติไทยพัฒนา พรรคอันดับ 5 ในสภาฯ ส.ส. 21 คนจาก 25 คนถือครองที่ดินรวม 2541 ไร่ แต่น้อยกว่า ตระกูลศิลปอาชา แลนด์ลอร์ดสุพรรณบุรีตัวจริง

“มติชนออนไลน์” เปิดข้อมูลการถือครองที่ดินของนักการเมืองพรรคชาติไทยพัฒนา พรรคอันดับ 5 ในสภาฯ ส.ส. 21 คนจาก 25 คนถือครองที่ดินรวม 2541 ไร่ แต่น้อยกว่า ตระกูลศิลปอาชา แลนด์ลอร์ดสุพรรณบุรีตัวจริง

พรรคชาติไทยพัฒนา มีส.ส. ทั้งสิ้น 25 คน แจ้งว่าถือครองที่ดินจำนวน 21 คน รวมเนื้อที่ 2541-0-89 ไร่ ในจำนวนนี้ถือครองตั้งแต่ 100 ไร่ขึ้นไปจำนวน 8 คน

นางกรรณิการ์ เจริญพันธ์ ส.ส.สุรินทร์ และ นายสมศักดิ์ คู่สมรส 63 แปลง เนื้อที่ 510-1-40 ไร่ มูลค่า 28.3 ล้านบาท

นายนิอาริส เจตาภิวัฒน์ ส.ส.นราธิวาส 12 แปลง เนื้อที่ 435-1-53 ไร่ มูลค่า 11.2 ล้านบาท

นางปารีณา ไกรคุปต์ ปาจรียางกูร ส.ส.ราชบุรี และนายอุปกิต คู่สมรส 80 แปลง เนื้อที่ 425.0-58 ไร่ มูลค่า 115.7 ล้านบาท

พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ส.ส.สัดส่วน และนางฉวีวรรณ คู่สมรส 33 แปลง เนื้อที่ 330-1-37 ไร่ มูลค่า 47.1 ล้านบาท

นายพีระเดช ศิริวันสาณฑ์ ส.ส.นครสวรรค์ นางน้ำฝน คู่สมรส 38 แปลง เนื้อที่ 187-3-94 ไร่ มูลค่า 54.1 ล้านบาท

นายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี 21 แปลง เนื้อที่ 153-0-09 ไร่ มูลค่า 15 ล้านบาท

นายอดุลย์ เหลืองบริบูรณ์ ส.ส.อุทัยธานี 36 แปลง เนื้อที่ 141-0-36 ไร่ มูลค่า 96 ล้านบาท

น.ส.พัชรี โพธสุธน ส.ส.สุพรรณบุรี 7 แปลง เนื้อที่ 115-2-11 ไร่ มูลค่า 7.5 ล้านบาท

ต่ำกว่า 100 ไร่ แต่มากกว่า 50 ไร่ 1 คน คือ นายเกื้อกูล ด่านชัยวิจิตรส.ส. พระนครศรีอยุธยา และ นางนลินี คู่สมรส 6 แปลง เนื้อที่ 62-1-43 ไร่ มูลค่า 24.2 ล้านบาท

ต่ำกว่า 50 ไร่ แต่ มากกว่า 10 ไร่ จำนวน 6 คน ได้แก่

นายตุ่น จินตะเวช ส.ส.อุบลราชธานี โดย นางอรนุช คู่สมรส 15 แปลง เนื้อที่ 42-2-75 ไร่ มูลค่า 10.8 ล้านบาท

นายอารยะ ชุมดวง ส.ส.สุโขทัย 17 แปลง เนื้อที่ 42-1-43 ไร่ มูลค่า 20.6 ล้านบาท

นายอัศวิน วิภูศิริ ส.ส.สัดส่วน 15 แปลง 35-1-67 ไร่ มูลค่า 18.6 ล้านบาท

น.ส.มัลลิกา จิระพันธุ์วาณิช ส.ส.ลพบุรี 6 แปลง เนื้อที่ 21-2-98 ไร่ มูลค่า 3.6 ล้านบาท

นายเชวงศักดิ์ เร่งไพบูลย์วงษ์ ส.ส.ชัยภูมิ 2 แปลง เนื้อที่ 15-1-79 ไร่ มูลค่า 2.3 ล้านบาท

นายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ ส.ส.พิจิตร 10 แปลง เนื้อที่ 10-1-20 ไร่ มูลค่า 9.1 ล้านบาท

ต่ำกว่า 10 ไร่ จำนวน 3 คน

นายวิจิตร พรพฤฒิพันธุ์ ส.ส.เพชรบูรณ์ และนางธีรพร คู่สมรส 5 แปลง เนื้อที่ 4-1-75 ไร่ มูลค่า 9.8 ล้านบาท

นางอุดร จินตะเวช ส.ส.อุบลราชธานี โดยนายศักดิ์ชัย คู่สมรส 3 แปลง เนื้อที่ 3-2-57 ไร่ มูลค่า 9 แสนบาท

นายเจรจา เที่ยงธรรม ส.ส.สุพรรณบุรี 6 แปลง เนื้อที่ 2-1-37 ไร่ มูลค่า 6.8 ล้านบาท

ต่ำกว่า 1 ไร่ จำนวน 3 คน

นายนพดล มาตรศรี ส.ส.สุพรรณบุรี โดยนางวาสนา คู่สมรส 2 แปลง เนื้อที่ 0-3-09 ไร่ เนื้อที่ 150,000 บาท

นายวัชระ ยาวอหะซัน ส.ส.นราธิวาส 1 แปลง เนื้อที่ 0-1-76 ไร่ มูลค่า 530,000 บาท

และ นายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ 1 แปลง เนื้อที่ 0-0-50 ไร่ มูลค่า 4 แสนบาท

แจ้งว่า “ไม่มีที่ดิน” 4 คน ได้แก่ นายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง,นายนิติวัฒน์ จันทร์สว่าง ส.ส.สุพรรณบุรี ,นายชาญชัย ประเสริฐสุวรรณส.ส.สุพรรณบุรี และ นายภคิน ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง

อย่างไรก็ตาม การถือครองที่ดินทั้ง 21 คนของ พรรคชาติไทยพัฒนารวมกัน ยังไม่เท่าครอบครัว นายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตหัวหน้าพรรคชาติไทย (หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนาตัวจริง?)

ทั้งนี้ เมื่อครั้งเข้ารับตำแหน่ง ส.ส. วันที่ 22 มกราคม 2551 นายบรรหาร แจ้งว่ามีที่ดิ4 201 แปลง เนื้อที่ 1,657-3-30 ไร่ มูลค่า 1,707.4 ล้านบาท (ไม่รวม โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง มูลค่า 73 ล้านบาท) คุณหญิงแจ่มใส ที่ดิน 42แปลง เนื้อที่ 257 -2-60 ไร่ มูลค่า 354.8 ล้านบาท

รวม 2 คน 243 แปลง เนื้อที่ 1,915-1-90 ไร่ มูลค่า 2,062.2 ล้าน

ที่ดินของนายบรรหาร อยู่ใน ย่านถนนจรัญสนิทวงศ์ บางยี่ขัน เขตบางกอกน้อย 20 แปลง ,ถนนวิภาวดีรังสิต ลาดยาว จตุจักร 3 แปลง , ถนนบรมราชชนนี บ้านไทร เขตตลิ่งชัน 6 แปลง , ถนนบรมราชชนนี ต.ศาลาธรรมสพน์ เขตตลิ่งชัน 9 แปลง ,ถนนวิสุทธิ์กษัตริย์ บางขุนพรหม44 แปลง,.บางตลาด อ.ปากเกร็ด .นนทบุรี 15 แปลง ,.บางบัวทอง จ.นนทบุรี 8แปลง , นิคมอุตสาหกรรมบางปู ต.แพรกษา จ.สมุทรปราการ 1 แปลง ,.ขุนแก้ว อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม 1 แปลง ,.หนองประดู่ อ.เลาขวัญ จ.กาญจนบุรี 6 แปลง , .หาดท่าเสา อ.เมือง จ.ชัยนาท 26 แปลง ที่เหลืออีก 61 แปลง อยู่ใน อ.บางปลาม้า อ.เมือง และ อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี

ที่ดินแปลงมูลค่าสูงสุดอยู่บริเวณถนนจรัญสนิทวงศ์ มูลค่า 176 ล้านบาท,ถนนบรมราชชนนี 180 ล้านบาท และ บริเวณ อ.ปากเกร็ด 850 ล้านบาท

ที่ดินของคุณหญิงแจ่มใส 42 แปลง อยู่ใน อ.บางปลาม้า 26 แปลง .เชียงรากใหญ่ อ.สามโคก จ.ปทุมธานี

"นครินทร์" ทำนายเลือกตั้งต้นปีหน้า สูตรหลายพรรคผสมพันธุ์ ชี้อย่าคาดหวังรัฐไทยศิวิไลซ์ อำนาจนิยมชัดๆ

ที่มา มติชน


ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ เคยเป็นคณบดี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มา 6 ปี ล่าสุด นักรัฐศาสตร์ ผู้เขียนหนังสือ " การปฎิวัติสยาม 2475" ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะให้เข้ามาร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 แต่เจ้าตัวบอกว่า "อย่าเรียกผมว่า อรหันต์ ไม่ชอบเลย ไม่ได้อยากจะเป็นด้วย"


สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา "ดร.นครินทร์ "ได้รับเชิญไปอภิปรายเรื่อง แนวโน้มสถานะประชาธิปไตยไทย ท่ามกลางความขัดแย้ง" ณ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย แนวคิดและทัศนะของนักรัฐศาสตร์ผู้นี้น่าสนใจ "มติชนออนไลน์" จึงนำมาเสนอผู้อ่าน แบบเต็มๆ


@มรดกทางการเมืองจาก 2475 ถึงปฎิวัติใหญ่ 2540


ผมในฐานะที่เป็นนักเรียนรัฐศาสตร์ และนักเรียนประวัติศาสตร์ ต้องเริ่มต้นว่า ประชาธิปไตยไทยและประชาธิปไตยของทุกประเทศ มีความมหัศจรรย์ แม้มีรูปแบบความเป็นมาจากแหล่งใด แต่เมื่อไปเติบโตในสังคมใดสังคมหนึ่ง จะมีเนื้อหาที่คลุกเคล้าไปกับสังคมนั้นเสมอ ฉะนั้น สิ่งที่ต้องประเมิน มีอยู่ 2 มิติ คือ มิติทางประวัติศาสตร์ กับ มิติทางสังคม


มิติทางประวัติศาสตร์นั้น ประชาธิปไตยไทยในหลายสิบปีทีผ่านมา ไม่ได้อยู่นิ่งกับที่ แต่มีวิวัฒนาการและจุดพลิกผันอยู่หลายจุด แต่ละจุดมีมรดกตกทอด มาจนถึงปัจจุบัน ในช่วง 25 ปีแรกของประชาธิปไตยไทย มีลักษณะกึ่งประชาธิปไตย โดยคณะราษฎร มีบทบาทนำ หลายคนบอกว่าเป็นเผด็จการ แต่ผมว่า ไม่ใช่ เพราะมีการเลือกตั้ง ตั้งแต่ยุคแรกแล้ว

ความจริงในช่วง 25 ปีแรก เรามีนักการเมืองผู้ยิ่งใหญ่สายอีสานหลายคน ไม่ว่าจะเป็น เตียง ศิริขันธ์ ทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ที่มาจากการเลือกตั้ง แล้ว คนกรุงเทพก็ไม่ควรลืม ไถง สุวรรณทัต จะบอกว่ายุคนี้เป็นเผด็จการ คงไม่ใช่ เพราะมีการเลือกตั้ง เป็นประชาธิปไตยที่กึ่งผสมผสานระหว่างพลังของสังคมกับพลังของคณะราษฎร ผมเรียกว่า กึ่งประชาธิปไตย ที่คณะราษฎรมีบทบาทนำ ความจริงมีมรดกที่ตกทอดมาถึงปัจจุบันหลายเรื่อง


ความขัดแย้งทางการเมืองในขณะนี้ ทำให้ผมนึกถึงประวัติศาสตร์ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว หลังรัฐประหาร 2490 เรามีรัฐบาลคู่ มีนายกรัฐมนตรี 2 คน อยู่ 7-8 เดือน กบฎบวรเดช มีการยิงถล่มกันที่กรุงเทพดอนเมือง หลายเดือน นายทหารชั้นผู้ใหญ่ตายไปหลายคน เรื่องเหล่านี้ เคยเกิดขึ้นมาแล้ว


นี่ยังไม่พูดเรื่องการเนรเทศ ผู้นำออกนอกประเทศ อย่าลืมว่า นายกรัฐมนตรีคนแรก พระยามโนปกรณ์นิติธาดา เป็นนายกรัฐมนตรี เดือนเดียว แต่พอพ้นตำแหน่งต้องไปอยู่เมืองนอก 14 ปี และสิ้นชีวิตที่ปีนัง มาเลเซีย นี่ยังไม่พูดถึง พระยาพหลพลพยุหเสนา แม้ไม่ได้ถูกเนรเทศ แต่ก็ถูก อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ และหลวงพิบูลย์สงคราม จัดการ


16 ปีถัดมา 2500-2516 เราก้าวเข้ามาสู่ยุคทหารปกครองประเทศจริงๆ เป็นเผด็จการเต็มรูป หรือ ประชาธิปไตยแบบไทยๆ มรดกของยุคนี้คือ ประกาศคณะปฎิวัติ ธรรมนูญ มาตรา 17 ความจริง คนที่เติบใหญ่ในการเมืองไทยขณะนี้ ต่างได้ประโยชน์จากการพัฒนาประเทศสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และจอมพลถนอม กิตติขจร ทั้งสิ้น โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานการศึกษา ระบบมหาวิทยาลัย และระบบการเกษตรกรรมแบบใหม่ในชนบท คนที่ทำพืชไร เติบโต ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ทั้งสิ้น ไม่เช่นนั้น เราจะไม่มีคำว่า เจ้าพ่อ เกิดขึ้น เจ้าพ่อก็คือ ชาวนาที่ร่ำรวย


@ รัฐบาลผสมไม่ใช่ปัญหาของการเมือง


หลังปี 2516 การเมืองไทย ได้ก้าวไปสู่อีกยุคที่การเมืองไทยมีการแบ่งปันอำนาจกันหลายฝ่าย ถ้าดูรัฐบาลไทย ตั้งแต่ปี 2517 จนถึงปี 2540 จะพบว่าเป็นรัฐบาลผสมทั้งหมด อาจเป็นการผสมระหว่างนักการเมืองกับข้าราชการ นักรัฐศาสตร์หลายคน เรียกว่า กึ่งพรรคการเมือง กึ่งข้าราชการ หรือ พลังการตลาด กับ พลังของรัฐ แต่อีกมิติหนึ่ง คือ การผสมกันระหว่างผู้นำในกรุงเทพกับผู้นำในต่างจังหวัด ในปี 2517 -2518 เราเห็นการเติบใหญ่ของผู้นำจากชนบท หลายคนก้าวขึ้นมาเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการ รัฐมนตรีว่าการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และนายกรัฐมนตรี


การก้าวเข้าสู่ประชาธิปไตยเต็มรูปแบบ เราต้องนึกถึงผู้นำจากชนบท ว่า เขาต้องมีที่มีทาง ถ้านับจากคะแนนเสียงจาการเลือกตั้ง คนกรุงเทพ ปกครองประเทศไม่ได้ ถ้าไม่มี ส.ส. จากต่างจังหวัด มาร่วมด้วยช่วยกัน แน่นอนว่า รัฐบาลผสม มีความผันผวน มีการรัฐประหาร แม้ว่าจะไม่ค่อยประสบความสำเร็จ แต่หลังปี 2520 เกิดความวุ่นวายมาก เป็นช่วงเวลาแห่งการแบ่งปันอำนาจของฝ่ายต่างๆ


ช่วงนั้น นักวิชาการ สื่อ นักธุรกิจ ภาคประชาชน ต่าง รังเกียจ ไม่ชอบเลยกับ คำว่า รัฐบาลผสม แต่สำหรับนักการเมือง ไม่มีปัญหาเลยกับรัฐบาลผสม เหตุที่คนไม่ชอบรัฐบาลผสม เพราะเชื่อว่า เป็นรัฐบาลที่ฮั้วกัน ต่างคนต่างมาแบ่งประเทศกินกัน มองแง่ร้ายมาก ทั้งๆ ที่ รัฐบาลผสม เป็นเรื่องที่ท้าทายความรู้ทางรัฐศาสตร์มาก เพราะรัฐบาลในยุโรปทั้งหมดเป็นรัฐบาลผสม แต่เราตอนนั้น ไม่อยากได้รัฐบาลผสม เราอยากได้รัฐบาล 2 พรรค แต่ท้ายที่สุด เราได้รัฐบาลพรรคเดียว


แต่ที่น่าสนใจคือ ปี 2540 สิ่งที่เกิดขึ้นในปีนี้ ทำให้การเมืองไทย ต้องเป็นอยู่ทุกวันนี้ หลายคนชอบ หลายคนไม่เข้าใจ นั่นคือ การนำหลักการตรวจสอบ ผมถือว่าหลังปี 2540 ในความเห็นของผม คือ การปฎิวัติใหญ่ เป็นการเปลี่ยนแปลงระบบการเมืองจริงๆ เพราะระบบการตรวจสอบ ทำให้การเมืองแบบรัฐสภา ดั้งเดิม ที่เป็นการแบ่งปันอำนาจกันระหว่างหลายฝ่าย เปลี่ยนแปลงไป เพราะมีตัวละครเพิ่มเข้ามา นั่นก็คือ บรรดา องค์กรอิสระต่างๆ มีการตรวจสอบการใช้อำนาจ


การเปลี่ยนแปลงในปี 2540 เป็นมรดกตกทอดมาถึงปัจจุบัน จะชอบหรือไม่ชอบก็ตาม เรามีศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง คณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน คำถามคือ ใครเป็นคนอนุญาตให้ องค์กรพวกนี้ เข้ามาในการเมืองไทย เราไปเอาเข้ามาได้อย่างไร ความจริง เราต้องสำรวจตัวเองว่า ทำไมเราเอาระบบพวกนี้เข้ามา


ผมยังจำได้ว่า ตอนแรกที่มี ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แรกๆ คนก็ไม่เข้าใจว่า ศาลฎีกาของนักการเมือง ทำงานอย่างไร เพราะไม่มีใครอยากทำคดีนักการเมือง ท้ายที่สุด นายรักเกียรติ สุขธนะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขก็ติดคุก และที่สำคัญคือ อดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็ต้องมาขึ้นศาลฎีกาแห่งนี้ หลังปี 2540 เนื้อหาประชาธิปไตยไทยเปลี่ยนไปจริงๆ


@ อย่าเอาระบบคิวซีมาใช้กับร้านขายข้าวแกง


ผมอยากเรียกระบบตรวจสอบที่เกิดขึ้นในปี 2540 ว่าเป็นระบบ คิวซี ผมเชื่อว่า คนไทยทำข้าวแกงมานาน แต่ถ้าเอาระบบคิวซี มาใช้กับร้านขายข้าวแกง ผมกล้ายืนยันว่า ร้านขายข้าวแกง เจ๊ง อยู่ไม่ได้ ไล่มาตั้งแต่การปรุงอาหาร การล้างจาน การกำจัดของเสีย สุขอนามัยต่างๆ เอาระบบคิวซี มาตรวจสอบ ร้านข้าวแกง ไม่ได้ เจ๊งทั้งระบบ แน่ๆ แต่เราก็เอาระบบคิวซี เข้ามาในการเมืองไทย หลายคนยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน วุ่นวายมาก ตรวจสอบกันวุ่นวาย เป็นกติกาที่มัดคอตัวเอง เราเดินมาถึงจุดที่เราไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน เป็นการตรวจสอบที่ต้องมีลายลักษณ์อักษร ปัญหาหนึ่งก็คือ บ้านเรามีคนเรียนกฎหมายมหาชน น้อยเกินไป ส่วนใหญ่คนเรียนกฎหมายบ้านเราเรียนกฎหมายแพ่งพาณิชย์ ทำให้สังคมเรามีรากฐานทางกฎหมายมหาชนที่ไม่เข้มแข็ง จนเกิดปัญหาการตีความ การใช้กฎหมายวุ่นวายไปหมด

เรื่องที่สองที่ผมจะกล่าวคือ มิติทางสังคม ประชาธิปไตย ไม่ได้เกิดในสุญญากาศ แต่มันเกิดในสภาพสังคมใดสังคมหนึ่งเสมอ สังคมไทยมีลักษณะพิเศษมาก เราเป็นสังคมที่ไม่มีการตั้งถิ่นฐานที่ยาวนาน เราเป็นพวกที่ชอบ เคลื่อนไหว นักมนุษยวิทยา บอกว่า คนไทย โมบาย หรือ เคลื่อนที่ตลอด ผมไม่เคยเจอว่า ชุมชนใดที่ตั้งถิ่นฐานมายาวนาน 700 ปี สังคมไทยมีโครงสร้างการรวมกลุ่ม ตรงกลาง และอุทิศทำงานเพื่อส่วนกลาง น้อยมาก อ่อนแอมาก สะท้อนผ่าน สมาคมต่างๆ หรือ นิติบุคคลอาคารชุด

ทุกคนอยากได้บริการดีๆ แต่ไม่มีใครอยากจ่าย ไม่ใครอยากทำงาน ไม่มีใครอยากเสียสละ คนไทยไม่มีชีวิตตรงกลาง เมื่อเป็นเช่นนี้ ประชาธิปไตยจะเคลื่อนโดนกลุ่มคนชั้นนำ เพราะตัวสมาคมไม่ทำงาน สังคมไทยก็เป็นแบบนี้ หากมองผ่าน องค์กรปกครองท้องถิ่นกว่า 7,500 แห่ง ทั้ง อบต. เทศบาล มีการประชุมปีละไม่เกิน 4 ครั้ง เพื่อประชุมผ่านงบประมาณเท่านั้น

นี่คือ ชีวิตการเมืองของไทย ที่มีลักษณะพิเศษ เฉพาะมาก การเคลื่อนไหวทางการเมืองทั้งหมด เคลื่อนไหวโดยนักเคลื่อนไหวจริงๆ ไม่มากนัก ชีวิตระดับกลาง ประชาคม ท้องถิ่นก็เหมือนกัน มีแต่รูป ไม่มีเนื้อหา สาระอยู่ภายใน ไม่มีแก่นสาร ไม่มีใครยอมเสียสละ ไม่มีใครอยากทำงาน ถ้าจะเปลี่ยนแปลง ต้องฝ่าฝัน ต้องบากบั่น สร้างวัฒนธรรม และองค์กรใหม่ อีกมาก


@ สังคมแตกแยก หลากหลาย แต่ต้องศิวิไลซ์


จริงๆ แล้ว สังคมไทยมีความหลากหลายมากกว่าที่เราคิด และแตกแยกมากกว่าที่เราคิด เพียงแต่ว่าคนกรุงเทพมองชนบท ก็มองว่าเป็นหนึ่งเดียว เป็นเอกภาพเดียว แต่ชนชั้นในชนบท ไม่ใช่มีแค่ชาวนารวย ชาวนาจน แต่มีพวกรวยเก่า พวกรวยใหม่ มีกลางบน และกลางล่าง จนแบบไม่มีที่ดินทำกิน ในชนบทมี 5-6 ชนชั้น แต่คนกรุงเทพมองว่า คนชนบท ชาวนาเหมือนกันหมด แต่จริง ๆ มีความแตกต่างกันมาก ยิ่งในเมืองยิ่งแตกต่าง หลากหลาย ฉะนั้นอย่าไปมองว่า สังคมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน


ผมไม่ค่อยห่วงจินตภาพตรงนี้ แตกต่างไม่เป็นไร แต่ปัญหาว่า มันศิวิไลซ์ หรือเปล่า ต่างหาก คือความแตกแยกมันต้องอยู่กับความศิวิไลซ์ด้วย สิ่งที่ผมสนใจคือ สังคมที่แตกแยก มันต้องมีความศิวิไลซ์ และต้องมีนวัตกรรม ด้วย เช่น ถ้าเรามีสหภาพแรงงานที่เข้มแข็ง ผมยืนยันได้ว่า เราจะมีพรรคแรงงงานที่เข้มแข็ง เช่นเดียวกันถ้าเราไม่มีกลุ่มเกษตรกร ก็จะไม่มีพรรคเกษตร มันเป็นฐานที่ต่อเนื่องกัน


สิ่งที่น่าสนใจคือ ในทางการเมือง หลายสังคมที่แตกแยก แต่การเมืองนิ่งได้ เพราะสังคมไม่ใช่การเมืองทั้งหมด สังคมไทยมีคน 63-65 ล้านคน แต่คนในการเมืองมีเพียงไม่กี่พันคน แต่ปัญหาที่ผ่านมา การเมือง ไประดมให้คนมาเล่นการเมือง เหมือนเป็นความเชื่อทางศาสนาไปเลย การเมืองเป็นส่วนย่อยที่ต้องพัฒนากฎกติกา ให้ศิวิไลซ์


@ ฟันธงเลือกตั้งต้นปีหน้า สูตรผสมพันธ์ ความจำสั้น


ผมไม่อยากให้คาดหวังว่า รัฐไทยจะศิวิไลซ์ ทำไมเราไมคาดหวังว่า รัฐไทยจะศิวิไลซ์ รัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ใช่รัฐที่ศิวิไลซ์ มันไม่ได้มีความเป็นเสรีนิยม มาก่อน เป็นพื้นฐาน ถ้าเราเป็นเสรีนิยมมาก่อนเป็นพื้นฐาน ต้องเป็นแบบแองโกลแซกซอน รัฐไทยโดยธรรมชาติ มีแนวโน้มจะเป็นรัฐบาลอำนาจนิยม เช่น รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ใช้ประกาศคณะปฎิวัติ ถ้าเป็นรัฐบาลประชาธิปไตยจริงๆ ต้องกวาด ประกาศคณะปฎิวัติออกไปให้หมด จริงๆ แล้ว เราไม่ได้ศิวิไลซ์ขนาดนั้น


เท่าที่ผมมีข้อมูล เลือกตั้งต้นปีหน้า ผมไม่เชื่อว่า จะเลือกตั้ง 2 สัปดาห์ก่อนครบเทอม อย่างที่ดร.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์เชื่อ ถ้าแหล่งข่าว ผมไม่ผิด เลือกตั้งต้นปีหน้า ผมเชื่อว่า นายกฯอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็อยากเป็นสุภาพบุรุษ ยกเว้นว่า มีการระเบิด มีการเผา ก็เลือกตั้งต้นปีหน้าไม่ได้


จริงๆ แล้ว ฝ่ายบริหารที่ดี จะไม่ประกาศยุบสภาล่วงหน้า เหตุผลเพราะ ประกาศยุบสภาแล้ว กลไกจะไม่ทำงาน ทุกอย่างจะหยุดนิ่ง เพราะข้าราชการคาดหวังว่า รัฐบาลจะอยู่ไม่นานแล้ว ฉะนั้น ต้องอย่าบอกวันหมดอายุ ครับ ผมเห็นต่างจากอาจารย์ฐิตินันท์ ผมเห็นว่า รัฐบาลอภิสิทธิ์ ไม่กลัวการเลือกตั้ง ผมคุยกับแกนนำพรรคบางคน การเมืองหลังการเลือกตั้งจะเป็นสูตรที่ดีที่สุดคือ พรรคการเมืองใหม่ผสมพันธ์กัน เป็นรัฐบาลผสม


สังคมไทยมีความมหัศจรรย์ มีข้อดี อย่างหนึ่งคือ ความจำสั้น อย่าจำอะไรนาน ความจำยาว จะมีความอาฆาตแค้นกันข้ามชั่วรุ่นคน แต่จริงแล้ว คนไทยความจำสั้น เกิดขึ้นเมื่อวานก็ลืมแล้ว เชื่อผมเถอะ แน่นอนว่า ความจำก็ดีอย่างหนึ่ง เหมาะกับคนเรียนประวัติศาสตร์ ถ้าความจำไม่ดี เขียนประวัติศาสตร์ไม่ได้


แต่จำมากไปก็ไม่ดี เพราจะทำให้เราทำงานกับคนรอบข้างไม่ได้เลย ผู้นำไทยก็มีสภาพความจำสั้น ไม่เคยรู้ว่าความขัดแย้งที่ผ่านมาเป็นอย่างไร ผมจำได้ว่า เหตุการณ์หลัง 6 ตุลาคม 2519 น่ากลัวกว่าครั้งนี้ เช่นเดียวกับกบฎบวรเดช มีการสู้รบกันถึง หินกอง ถึงโคราช กบฎแมนแฮตตันก็น่ากลัวกว่านี้ เราลืมไปหมดแล้ว


ผมว่า ความจำน้อยดีกว่า จะได้ปรองดองกันง่ายๆ

เปิดประตูคุก

ที่มา ข่าวสด

ชกไม่มีมุม

วงค์ ตาวัน



กลายเป็นสนามเลือกตั้งซ่อมที่จะนำไปสู่ข้อวิพากษ์วิจารณ์มากมาย และจะเป็นประเด็นทางการเมืองที่ใหญ่กว่าแค่การเลือกตั้งซ่อมส.ส.กทม.เขต 6 เพียงเขตเดียว

เริ่มจากการ "เปิดประตูคุก" ออกมารับสมัครเลือกตั้งของนายก่อแก้ว พิกุลทอง

สมัครเสร็จต้องกลับไปเข้าเรือนจำ ไม่มีโอกาสได้มาเดินหาเสียง

แต่กลับจะเป็นจุดที่ใช้หาเสียงได้ดีกว่าอยู่นอกคุกเสียอีก

เพราะเป็นการถูกคุมขังในคดีทางการเมือง ในคดีต่อสู้กับอำนาจรัฐ ถึงจะเป็นข้อหาก่อการร้ายก็เถอะ

แต่ยังเป็นข้อกล่าวหาที่ต้องพิสูจน์ความถูกผิดกันต่อไปในชั้นศาล

ยิ่งกว่านั้น ข้อหาผู้ก่อการร้าย มักเป็นเครื่องมือของอำนาจรัฐเผด็จการทั่วโลกที่ใช้จัดการกับนักต่อสู้ฝ่ายประชาชน!

ข้อนี้รัฐบาลและศอฉ.ซึ่งเป็นผู้งัดข้อหานี้ออกมาใช้ ยังต้องตอบคำถามต่อสังคมอย่างเหน็ดเหนื่อยมาตลอด

ยังคลุมเครืออยู่ว่า ระหว่างผู้ต้องหาก่อการร้ายกับผู้ต้องหาสั่งฆ่าประชาชน ใครคือคนผิดตัวจริง

จนบัดนี้รัฐบาลและศอฉ.ก็ยังไม่สามารถตอบข้อกังขามากมายเกี่ยวกับเหตุการณ์รุนแรงที่มีประชาชนเสียเลือดเนื้อและชีวิต

จึงช่วยไม่ได้ เมื่อผู้ต้องหาก่อการร้ายเดินออกมาจากคุกเพื่อสมัครเลือกตั้ง

จะเป็นการจุดประเด็นความตาย 90 ศพ ให้กลับ มาเป็นเรื่องใหญ่เพื่อตอกย้ำในการพิสูจน์หาคนผิดที่แท้จริง!

ขณะเดียวกัน การที่รัฐบาลไม่ยอมยกเลิกการใช้พ.ร.ก. ฉุกเฉินในพื้นที่เลือกตั้งซ่อมครั้งนี้

ถือเป็นการตัดสินใจใช้อำนาจอย่างผิดพลาดอีกครั้ง

แม้รัฐบาลจะอ้างว่าพ.ร.ก.ไม่กระทบการหาเสียงแต่อย่างใด แต่ต้องรู้ว่า นี่จะเป็นปมประเด็นที่อีกฝ่ายใช้หาเสียงได้ง่ายดาย

พ.ร.ก.ฉุกเฉินคือสัญลักษณ์อำนาจเผด็จการ ขัดแย้งกับการเลือกตั้งซ่อมซึ่งเป็นสัญลักษณ์ประชาธิปไตยอย่างสิ้นเชิง

ระหว่างนี้ประชาชนบางส่วนอาจจะยังมึนงงกับข้อมูลอันสับสนในเหตุการณ์นองเลือดที่ผ่านมา

แต่ผ่านไปสักพัก ความจริงของเหตุการณ์ที่เริ่มปรากฏออกมาเรื่อยๆ ไปจนถึงความรู้สึกที่ว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินคือบ่วงโซ่พันธนาการ จะเริ่มชัดเจนในสายตาประชาชนเป็นลำดับ

จะกลายเป็นผลเสียต่อรัฐบาลมากขึ้นๆ โดยในช่วงการเลือกตั้งซ่อมจะเป็นตัวเน้นย้ำให้เห็นบรรยากาศความมืดมนของบ้านเมือง

ลงเอยจะเกิดข้อเปรียบเทียบที่ย้อนใส่ผู้นำรัฐบาล !?

เพราะนายก่อแก้วและแกนนำนปช.เดินเข้าคุกเพื่อพิสูจน์ตัวเองตามกระบวนการยุติธรรมแล้ว

ทำไมฝ่ายที่ถูกกล่าวหาว่าสั่งการจนมีคนล้มตาย ยังกอดอำนาจอยู่เป็นปกติทุกคน!

เหตุผล การเมืองใหม่ กิตติศักดิ์ รัฐประเสริฐ ถอนตัว เหตุผล แท้จริง กลัวแพ้

ที่มา ข่าวสด

เห็นภาพการปรากฏตัวของ นายก่อแก้ว พิกุลทอง พร้อมกองเชียร์จากพรรคเพื่อไทย เห็นภาพการปรากฏตัวของ นายพนิช วิกิตเศรษฐ์ พร้อมกองเชียร์จากพรรคประชาธิปัตย์

ก็เห็นชอบด้วยที่ พล.อ.กิตติศักดิ์ รัฐประเสริฐ ตัดสินใจถอนตัว

ไม่ว่าจะเป็นการถอนตัวเพราะรังเกียจ "ผู้ก่อการร้าย" จนเข้ากระดูกดำ ไม่ว่าจะเป็นการถอนตัวเพราะได้รับการร้องขอจาก ช.ช้าง แห่งพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าจะเป็นการถอนตัวเพราะแรงบีบจาก "ขาใหญ่" เจ้าของพรรคการเมืองใหม่ตัวจริง

ถือว่าเอาตัวรอดได้ในสถานการณ์อันเลวร้ายยิ่งในทางการเมือง

เพราะพลันที่ภาพของกองเชียร์ นายก่อแก้ว พิกุลทอง ปรากฏตัว เพราะพลันที่ภาพของกองเชียร์ นายพนิช วิกิตเศรษฐ์ ปรากฏตัว

จะรู้เลยว่าโอกาสของ พล.อ.กิตติศักดิ์ รัฐประเสริฐ น้อยมาก จะรู้เลยว่าโอกาสของพรรคการเมืองใหม่น้อยมาก

ที่จริงสัญญาณนี้ปรากฏให้เห็นแล้วตั้งแต่ในที่ประชุมกรรมการบริหารพรรคการเมืองใหม่



ทั้งๆ ที่เป็นนายทหารระดับพล.อ.เคยดำรงตำแหน่งเป็นนายทหารฝ่ายเสนาธิการประจำรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายชวน หลีกภัย

เหตุใด พล.อ.กิตติศักดิ์ รัฐประเสริฐ จึงไม่สำเหนียกรู้

สำเหนียกรู้จากการถอนตัวของ นายประพันธ์ คุณมี ที่ยอมรับว่าตรงไปตรงมาฐานเสียงพรรคการเมืองใหม่อ่อนในพื้นที่

ทั้งๆ ที่ นายประพันธ์ คูณมี ไม่เคยดำรงยศเป็น พล.อ.

เหตุใด พล.อ.กิตติศักดิ์ รัฐประเสริฐ จึงไม่สำเหนียกรู้จากการถอนตัวของ นายสำราญ รอดเพชร และตามมาด้วยการถอนตัวของ นายศรัณยู วงษ์กระจ่าง

แม้จะอ้างเรื่องการถ่ายทำภาพยนตร์กับกระทรวงวัฒนธรรม ก็ตาม

ยิ่งเมื่อบุคคลระดับ นายสุริยะใส กตะศิลา ก็ไม่ยอมลงสมัครแม้จะได้รับการหนุนเสริมอย่างแข็งขันจาก "ขาใหญ่" ในพันธมิตรประชาชน เพื่อประชาธิปไตยก็ตาม

นี่ย่อมสะท้อนถึง "พรรษา" การเมืองของ พล.อ.กิตติศักดิ์ รัฐประเสริฐ ได้เป็นอย่างดี



กระนั้น ที่ต้องเสียฟอร์มเป็นอย่างมากมิใช่มีแต่ พล.อ.กิตติศักดิ์ รัฐประเสริฐ เท่านั้นที่ต้องทนแบกหน้าดำฝ่ายเดียว

หากพรรคการเมืองใหม่ก็ยากยิ่งที่จะปัดความรับผิดชอบได้

กรรมการบริหารพรรคที่ลงมติส่ง พล.อ.กิตติศักดิ์ รัฐประเสริฐ นั้นแน่นอนอยู่แล้ว แต่ที่หนักหนาสาหัสกว่าย่อมเป็น ประธานที่ปรึกษาพรรค ย่อมเป็นรักษาการหัวหน้าพรรคและย่อมเป็นรักษาการเลขาธิการพรรค

รู้ทั้งรู้ว่าไม่สามารถสู้กับผู้สมัครพรรคประชาธิปัตย์และผู้สมัครพรรคเพื่อไทยได้ แล้วเหตุใดปล่อยให้เป็น "มติ" ของพรรคการเมืองใหม่ออกมาได้อย่างไร

ทำไมเล่นบท "วีรชน" หลังการสู้รบหน้าตาเฉย

ทำไมประสานเสียงแสดงความรังเกียจการเป็น "ผู้ก่อการร้าย" ของ นายก่อแก้ว พิกุลทอง ประหนึ่งไม่ได้รับรู้มาก่อนว่าพรรคเพื่อไทยจะส่ง "ผู้ก่อการร้าย" ลงแน่ๆ

ไม่ว่าจะเป็น นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ไม่ว่าจะเป็น นายก่อแก้ว พิกุลทอง ก็ข้อกล่าวหาเดียวกัน



การข่าวภายในคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองใหม่จึงอ่อนด้อย ล้าหลัง อย่างน่าเป็นห่วง

วันเวลาแห่งการตรวจสอบ วันเวลาแห่งการวิพากษ์แสดงความเห็น ในที่สุด ก็ตกผลึกความเป็นจริงปรากฏ ณ เบื้องหน้าประชาชนว่า เหตุผลแท้จริงก็คือ รู้ว่าต้องแพ้อย่างแน่นอน

แพ้ทั้งคนของพรรคประชาธิปัตย์ แพ้ทั้งคนของพรรคเพื่อไทย

แพ้ไม่ได้

ที่มา ข่าวสด

เหล็กใน




ยังไม่ทันปี่กลองจะเชิดก็สนุกเสียแล้ว ศึกเลือกตั้งซ่อมส.ส.เขต 6 กรุงเทพฯ แทน นายทิวา เงินยวง ส.ส.ประชาธิปัตย์ ที่ล่วงลับไป

พรรคเพื่อไทยตัดสินใจส่งนายก่อแก้ว พิกุลทอง หนึ่งในแกนนำนปช.ที่อยู่ระหว่างคุมขังคดีก่อการร้าย ลงชิงชัยกับพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีนายนายพนิช วิกิตเศรษฐ์ ผู้ช่วยรมว.ต่างประเทศ เป็นผู้สมัคร

ส่วนพรรคการเมืองใหม่ของกลุ่มพันธมิตรฯ ที่ตอนแรกร่ำๆ ว่าจะส่งผู้สมัครชิงเก้าอี้ด้วย ถอดใจยกธงขาวอ้างไม่อยากสู้ศึกกับ "ผู้ก่อการร้าย"

แต่พรรคเพื่อไทยมองว่าเป็นการ "ฮั้ว" มากกว่า เพราะจะว่าไปแล้วฐานเสียงของประชาธิปัตย์ และการเมืองใหม่ เป็นกลุ่มเดียวกัน

หากต่างส่งผู้สมัครจะเป็นการแย่งคะแนนกันเอง

นายจตุพร พรหมพันธุ์
ส.ส.พรรคเพื่อไทย สวนเปรี้ยง การออกมาอ้างของ พล.อ.กิตติศักดิ์ รัฐประเสริฐ ผู้สมัครพรรคการเมืองใหม่ ที่ตัดสินใจถอนตัวเพราะไม่อยากแข่งกับผู้ก่อการร้าย

ว่า พรรคการเมืองใหม่ถูกหมายเรียกคดีก่อการร้ายยึดสนามบินฯ ทำเนียบฯ เกือบทั้งพรรคเหมือนกัน

ส่วนวันสมัครคือ 28 มิถุนายน คงมีอะไรสนุกๆ กันอีก รวมไปถึงการหาเสียงของประชาธิปัตย์ และเพื่อไทย

ดูแนวโน้มก็พอจะมองออกว่าจะมารูปไหน

ประชาธิปัตย์น่าจะเน้นแผนประชานิยม ล่าสุดรัฐบาลจ่อยืดเวลาช่วยเหลือค่าไฟ และรถเมล์ฟรีไปถึงสิ้นปี

รวมทั้งการขยายเวลาปรับขึ้นราคาก๊าซแอลพีจี และเอ็นจีวีออกไปจนถึงต้นปีหน้า

ส่วนเพื่อไทย ชัดเจนว่าคงมุ่งโจมตีพรรคประชาธิปัตย์จากเหตุสลายการชุมนุมที่ผ่านมา

รัฐบาลเองก็ทราบดี จึงชิงตีกันผ่านทางศอฉ.และกกต. ในทำนองว่าหากมีการปราศรัยในลักษณะปลุกปั่น ยุยง อาจจะมีความผิด

เนื่องจากการเลือกตั้งครั้งนี้อยู่ในบรรยากาศการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

เป็นการเลือกตั้งภายใต้บรรยากาศและกฎหมายกึ่งเผด็จการ

รัฐบาลซึ่งชิงความได้เปรียบจากพ.ร.ก.ฉบับนี้ จึงปฏิเสธ ที่จะยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินในพื้นที่เขต 6 ตามที่พรรคเพื่อไทย และนักวิชาการบางส่วนเรียกร้อง

เชื่อว่าน่าจะติดใจจากการชิงชัยส.ข. ในเขตกรุงเทพฯ ที่ผ่านมา เพราะพรรคประชาธิปัตย์กวาดที่นั่งไปจำนวนมาก

ส่วนหนึ่งเพราะรัฐบาลมีกฎหมายฉบับนี้อยู่ในมือ ทำให้อีกฝ่ายขยับตัวไม่สะดวก

ที่สำคัญก็คือเป็นการเบรกทีมหาเสียงของเพื่อไทย นำข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับการฆ่าผู้ชุมนุมเกือบ 100 ศพ ออกมาตีแผ่ เพราะดีไม่ดีอาจเข้าข่ายความผิดได้

แม้การเลือกซ่อมส.ส.คราวนี้ จะมีเพียงเก้าอี้เดียว แต่สำคัญในแง่สัญลักษณ์เกี่ยวกับปัญหาการสลายชุมนุมที่ผ่านมา

พรรคประชาธิปัตย์จึงต้องใช้ทุกสรรพกำลังเพื่อศึกนี้อย่างเต็มที่

เพราะอยู่ในสถานะที่ "แพ้ไม่ได้"

"พนิช-ก่อแก้ว"คู่ชิงดำส.ส.กทม.

ที่มา ข่าวสด

รายงานพิเศษ




คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เปิดรับสมัครเลือกตั้งซ่อมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) เขต 6 กรุงเทพมหานคร (คลองสามวา บึงกุ่ม คันนา ยาว) แทน นายทิวา เงินยวงส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเสียชีวิต

เปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 28 มิ.ย. ถึง 2 ก.ค. ที่สำนักงานเขตคลองสามวา

วันแรกของการเปิดรับสมัคร มีผู้สมัคร 5 คน ผลการจับสลากหมายเลขประ จำตัวผู้สมัคร

นายพนิช วิกิตเศรษฐ์ ผู้สมัครจากพรรคประชาธิ ปัตย์ ได้เบอร์ 1

นายนพดล ชัยฤทธิเดช ผู้สมัครจากพรรคชาติสามัคคี ได้เบอร์ 2 นายอนุสรณ์ สมอ่อน ผู้สมัครจากพรรคความหวังใหม่ ได้เบอร์ 3

นายก่อแก้ว พิกุลทอง ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย ได้เบอร์ 4

และ นายชูชาติ พิมกา ผู้สมัครจากพรรคแทนคุณแผ่นดิน ได้เบอร์ 5

ที่เป็นมวยคู่เอก ถูกจับตามองมากที่สุดคือ นายก่อแก้ว พิกุลทอง ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย และแกนนำ นปช.

กับ นายพนิช วิกิตเศรษฐ์ ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ อดีตรองผู้ว่าฯกทม. และผู้ช่วยรมว.ต่างประเทศ

หลังรับสมัครทั้งสองได้กล่าวเปิดใจถึงแนวทางการสู้ศึกในสนามเลือกตั้งซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 25 ก.ค.นี้



ก่อแก้ว พิกุลทอง

ผู้สมัครส.ส. พรรคเพื่อไทย



วันนี้รู้สึกดีที่เจ้าหน้าที่ไม่ได้ล่ามโซ่ และได้เดินทางมาพร้อมเพื่อนๆ

การที่ผมตัดสินใจลงสมัครรับเลือกตั้งส.ส.เขต 6 กทม. ครั้งนี้เพื่อเป็นตัวแทนเข้าไปต่อสู้ตามระบอบประชาธิปไตย เพื่อตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมาย เพื่อให้มีการใช้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งบ้านเมือง

เพราะขณะนี้จะเห็นว่าบ้านเมืองเราไม่ได้เป็นไปตามประชาธิปไตย

การเลือกตั้งครั้งนี้รัฐบาลได้ประโยชน์แต่เพียงฝ่ายเดียวเพราะยังคงการประกาศใช้พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548

ทั้งนี้ ผมมองว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นสัญลักษณ์ของระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

ดังนั้น หากประชาชนต้องการประชาธิปไตยอย่างแท้จริงและมาตรฐานเดียวให้เลือกผม นายก่อแก้ว พิกุลทอง ที่ลงสมัครในนามพรรคเพื่อไทย

หากเห็นว่าผู้นำประเทศของเราไม่ได้บังคับใช้กฎหมายอย่างเต็มที่

องค์กรกลางและองค์กรอิสระไม่ได้ทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพและไม่ได้สร้างความปรองดองประชาชน ทำให้ประชาชนไม่ได้รับความปลอดภัย

เพราะที่ผ่านมาไม่มีการตรวจสอบหาข้อเท็จจริงให้ชัดเจน หากปล่อยไปผู้นำประเทศและรัฐบาล ก็จะกระทำซ้ำแล้วซ้ำเล่าและจะไม่รับผิดชอบต่อการกระทำ

หากประชาชนต้องการให้มีความอยุติธรรมเกิดขึ้นในบ้านเมืองขอให้เลือกพรรคประชาธิปัตย์ แต่หากต้องการให้ความยุติธรรมคืนมา ขอให้เลือกผม และพรรคเพื่อไทย

ผมมีจุดยืนชัดเจนที่ต้องการลงสมัครรับเลือกตั้ง เพื่อเข้ามาแก้ไขวิกฤตให้ประเทศชาติกลับสู่ภาวะปกติ และให้สังคมอยู่บนพื้นฐานความถูกต้อง แม้ผมจะถูกขังตัดอิสรภาพก็ตาม

ตอนแรกผมอยากได้เบอร์ 1 เพราะเป็นสัญลักษณ์ว่าผมถูกควบคุมตัวอยู่ที่แดน 1 แต่ผมก็พอใจที่หมายเลข 4

หลังจากนี้ ผมประสานกับเจ้าหน้าที่พรรคให้ช่วยไปปล่อยปลาดุก 9 ตัว ปลาไหล 5 ตัวและกบ 2 ตัว เนื่องจากไม่สามารถไปปล่อยเองได้เพราะต้องกลับไปยังเรือนจำตามที่ศาลมีคำสั่ง

นอกจากนี้ได้มอบหมายให้ทนายความไปยื่นขอประกันตัว เพื่อจะได้ออกมาหาเสียงตามกระบวนการประชาธิปไตยและจะได้ใกล้ชิดประชาชน

แต่หากศาลไม่อนุญาต ผมอาจจะเขียนข้อความแล้วส่งมาให้แกนนำและผู้สนับสนุนนำไปใช้หาเสียงต่อไป เพื่อให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้เข้าใจแนวคิดของผมผ่านข้อความ

เพราะการลงสมัครครั้งนี้ถือเป็นการแข่งขันเชิงสัญลักษณ์ตามระบอบประชาธิปไตย

ดังนั้น ขอให้ประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้งออกมาใช้สิทธิกันมากๆ และขอให้รัฐบาลยกเลิกการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในพื้นที่เลือกตั้งจะได้หาเสียงอย่างเท่าเทียมกัน

เพราะขณะนี้จะเห็นว่ารัฐบาลได้ประโยชน์จากการคงพ.ร.ก.ฉุกเฉินไว้



พนิช วิกิตเศรษฐ์

ผู้สมัครส.ส. พรรคประชาธิปัตย์

ไม่ได้หนักใจที่ต้องลงพื้นที่หาเสียงในช่วงที่ยังมีการบังคับใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่คงต้องระมัดระวัง แม้จะเชื่อว่าประชาชนในพื้นที่เขต 6 จะไม่มีปัญหา

แต่ต้องระมัดระวังคนนอกพื้นที่เข้ามาสร้างสถาน การณ์

หากมีการปราศรัยโจมตีก็มีหลายหน่วยงานที่จะดูแลในเรื่องกฎหมาย หากปราศรัยอยู่ในกรอบ ผมก็ยินดีและขอเรียกร้องให้ทุกพรรคนำเสนอนโยบายแข่งกันดีกว่า เพราะนโยบายเป็นเรื่องสำคัญ และอย่าพูดอะไรที่ไม่เกี่ยวกับประชาชน ผมจะไม่โจมตีฝั่งตรงข้าม

ผมได้หมายเลข 1 คือหนึ่งเดียว เบอร์หนึ่งแห่งเดียวและเป็นเบอร์หนึ่งแห่งชัยชนะ หลังจากนี้จะลงพื้นที่พร้อมทุกฝ่ายในพรรค โดยจะแสดงให้เห็นว่านโยบายเราสัมผัสได้จริง

ก่อนหน้านี้ได้หาเสียงไปบ้างแล้ว ได้รับการตอบรับดี ส่วนใหญ่ต้องการเห็นความปรองดอง และผมจะผลักดันเรื่องแผนปรองดอง หลังจากนี้จะลงพื้นที่ทันที

การที่แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยประกาศจะสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์นั้น ส่วนตัวไม่มีผลที่จะให้เกิดความมั่นใจ มากขึ้นหรือไม่ เพราะทุกคนสามารถให้การสนับสนุนผู้สมัครได้อยู่แล้ว ส่วนใครจะมาสนับสนุนผมก็ขอขอบคุณทุกคน

นโยบายการหาเสียงจะเน้นการลงพื้นที่เข้าถึงประชาชนให้มากที่สุด

นอกจากนี้จะจัดประชุมและรับฟังความคิดเห็นและปัญหาของผู้นำชุมชนต่างๆ แบบกลุ่มย่อย เช่น คณะกรรม การชุมชน บ้านจัดสรร ศาสนา ขณะเดียวกันจะขึ้นรถแห่แนะนำตัวเอง

การเข้าถึงชุมชนทำให้ประชาชนได้เห็นแนวทาง ของพรรค

รวมถึงผมจะนำเสนอประสบการณ์ที่เคยสัมผัสพื้นที่นี้มาสมัยเป็นผู้บริหารกทม. และงานระดับชาติ

ส่วนการปราศรัยจะเน้นปราศรัยย่อยเป็นจุดๆ ในชุมชน สำหรับการปราศรัยใหญ่คิดว่าจะมีไม่เกิน 2 ครั้งในช่วงท้ายของการหาเสียง

ส่วนที่คู่แข่งอย่างพรรคเพื่อไทยอาจทำซีดีแจกเนื่องจากนายก่อแก้ว พิกุลทอง ออกมาหาเสียงไม่ได้นั้น

สำหรับผมไม่มีการทำซีดีแจกเพราะการแจกสื่อพวกนี้เป็นเรื่องของทุน เรามองว่าถ้าเป็นเรื่องนโยบายก็น่าทำ แต่ถ้าเป็นการหาเสียงใส่ร้ายกันก็ไม่ควร ทั้งนี้ กกต.ต้องเข้าไปตรวจสอบด้วย

ผมมีความพร้อมมาก เพราะเคยทำงานมีประสบ การณ์ในพื้นที่มาก่อน แต่ก็จะไม่ประมาท

ส่วนเรื่องความปลอดภัยช่วงหาเสียงก็ต้องระวังตัวเองแต่ก็ไม่ได้กลัว

แต่จากกรณีที่กลุ่มกองเชียร์พรรคเพื่อไทยมาตะโกนขับไล่แล้วยังทุบรถนั้น ยอมรับว่าตกใจ การลงพื้นที่หาเสียง ผมคงต้องขอกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจมาดูแลความปลอดภัยด้วย รวมทั้งต้องดูแลผู้มาร่วมงานไม่ว่าอาสาสมัคร จนถึงผู้ใหญ่ในพรรคที่มาเดินหาเสียง

ขอร้องคนที่คิดทำ ขอให้คิดให้ดี เพราะสังคมทั้งในและต่างประเทศจับตาดูอยู่มากว่าการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้จะโปร่งใส มีความปลอดภัยในการหาเสียงหรือไม่

ส่วนตัวคงต้องระมัดระวัง ไม่ประมาทและลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง

ยันไทยคมเป็นดาวเทียมพาณิชย์ไม่เอี่ยวความมั่นคง

ที่มา ไทยรัฐ

Pic_92672

ผอ.กิจการอวกาศ ไอซีที ยันไทยคมเป็นของคนไทย แต่ให้ชินคอร์ปฯบริหารทางธุรกิจ ย้ำเป็นดาวเทียมเพื่อการพาณิชย์เท่านั้นไม่เกี่ยวกับความมั่นคง

เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ สภาผู้แทนราษฎร มีนายเจะอามิง โต๊ะตาหยง ส.ส.นราธิวาส พรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธาน เพื่อพิจารณากรณีรัฐบาลมีนโยบายซื้อหุ้นของบริษัทไทยคมจำกัด มหาชน จากบริษัทเทมาเส็ก โฮลดิ้ง จำกัด โดยเชิญตัวแทนกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) มาชี้แจง

โดยนายไชยยันต์ พึ่งเกียรติไพโรจน์ ผอ.สำนักกิจการอวกาศ กระทรวงไอซีที กล่าวยืนยันว่า ดาวเทียมไทยคมเป็นของคนไทย อยู่ในกำกับดูแลของกระทรวงไอซีที โดยมีเอกชน คือ บริษัท ชินคอร์เปอเรชั่น จำกัด มหาชน ได้รับสัมปทานด้านการบริหารจัดการทางธุรกิจ และเป็นดาวเทียมสื่อสารเพื่อการพาณิชย์เท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง เพราะเป็นดาวเทียมที่มีข้อจำกัดด้านสัญญาณรบกวน เพราะอยู่ห่างจากพื้นดิน 36,000 กิโลเมตร และหมุนรอบตัวเองเท่ากับการโคจรของโลก และอยู่บนเส้นศูนย์สูตร จึงไม่สามารถถ่ายภาพทางอากาศเพื่อสำรวจแหล่งน้ำมัน แหล่งแร่ หรือดำเนินการอย่างอื่นที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงได้ เพราะมีดาวเทียมดวงอื่นที่ทำหน้าที่แตกต่างกันไป เช่น ดาวเทียมถ่ายภาพ เพื่อสำรวจทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งมีกระทรวงวิทยาศาสตร์เป็นเจ้าของ สามารถจารกรรมข้อมูลการถ่ายภาพที่มีความละเอียดสูงได้

นายเจะอามิง กล่าวว่า จะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และ กลต. มาให้ข้อมูลด้านการถือครองหุ้นของบริษัทชินคอร์ปฯ อีกครั้งในสัปดาห์หน้า.

พท.จี้นายกฯตั้งกรรมการสอบฮุบที่ดินเกาะสมุย

ที่มา ไทยรัฐ

Pic_92655

พร้อมพงศ์ นพฤทธิ์

"พร้อมพงศ์" ยื่นหนังสือนายกฯ จี้ตั้งคณะกรรมการสอบ "สุเทพ-นิพนธ์" ข้องใจฮุบที่ดินบริจาคของนายอากร ที่เกาะสมุย..

เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 53 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย เดินทางยื่นหนังสือและหลักฐานเพิ่มเติมถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการถือครองที่ดินเขาแพง ต.แม่น้ำ และที่ดิน ต.อ่างทอง อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ของนายแทน เทือกสุบรรณ บุตรชายนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี และนายนิพนธ์ พร้อมพันธุ์ อดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเป็นการครอบครองที่ดินโดยมิชอบ ไม่พบหลักฐานว่า ที่ดินดังกล่าวมี สค.1 ก่อนที่จะนำมาออก นส 3 ก. และเป็นโฉนด เพื่อนำมาขายให้นายแทน และนายนิพนธ์ เชื่อว่า การออกเอกสารสิทธิครอบครองที่ดินดังกล่าว ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย

นอกจากนี้มีพยานบุคคลในพื้นที่ ให้ข้อสังเกตว่า ที่ดินดังกล่าวน่าจะเป็นที่ดินของนายอากร ฮุนตระกูล ที่เคยบริจาคที่ดิน 4,870 ไร่ในพื้นที่ต.แม่น้ำ ต.อ่างทอง ต.บ่อผุด และต.ปะริด ให้เป็นป่าต้นน้ำลำธารแก่ชาวเกาะสมุย ถือเป็นสมบัติของชาติ แต่ต่อมามีคนใกล้ชิดนายทุน นักการเมือง นำที่ดินดังกล่าวไปออกเอกสารสิทธิ ทั้งที่ที่ดินดังกล่าวมีแค่การเสียภาษีบำรุงท้องที่เท่านั้น ไม่สามารถออกเอกสารสิทธิได้ จึงขอให้นายกฯ ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบว่า มีนักการเมืองคนใด เข้าไปครองครองที่ดินบริจาคของนายอากรบ้าง เพราะเป็นฮุบที่ดินบริจาคนายอากรมาเป็นของตัวเอง ยิ่งขณะนี้กรมป่าไม้ได้ทำตั้นขั้วการบริจาคที่ดินของนายอากรหายไป อย่างไรก็ตาม นายธนากร ฮุนตระกูล บุตรชายนายอากร ยังเก็บต้นขั้วการบริจาคที่ดินดังกล่าวไว้อยู่ จึงเตรียมขอข้อมูลต้นขั้วจากนายธนากรเพื่อนำมาตรวจสอบต่อไป.

แพ้ขาดก็หมดข้อแก้ตัว

ที่มา ไทยรัฐ

Pic_92589

ก่อแก้ว - จตุพร

ยิ่งใกล้กำหนดที่ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) จะชงเรื่องเสนอให้ยืดเวลา พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีนัดวันที่ 6 กรกฎาคม

ในฉากที่ควันหลง "ซาเล้งบอมบ์" ข้างที่ทำการพรรคภูมิใจไทยยังตลบอบอวล

ล่าสุดนายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกฯ ทำหน้าที่โฆษกรัฐบาล ตีปี๊บประโคมข่าวเองเลยว่า นอกจากที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคการเมืองใหม่ จะตกเป็นเป้าหมาย

จากการข่าวทำให้ต้องเฝ้าระวังศูนย์ราชการ ศูนย์กลางคมนาคม องค์กรตุลาการ นิติบัญญัติ รวมไปถึงสถานที่สำคัญๆของประเทศ รวมไปถึงพรรคการเมืองอื่นด้วย

บรรยากาศระทึกขวัญซะขนาดนี้

โดยความจำเป็นอย่าว่าแต่แค่ 1-2 เดือนเลย รัฐบาลประชาธิปัตย์จะยื้อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน "กระชับพื้นที่" ฝ่ายต่อต้าน ลากไปจนครบเทอมสภาผู้แทนราษฎรในปลายปีหน้า

ก็ไม่ใช่เรื่องเหนือการคาดหมายแต่อย่างใด

บนพื้นฐานความคิดที่สะท้อนผ่าน "เทพเทือก" นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง การันตีเอง การคง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน "สุจริตชนไม่ได้เดือดร้อน"

อีกนัย คนที่เดือดร้อนก็ไม่ใช่พวกสุจริตชน

และก็เป็นอะไรที่เห็นๆกัน ในสถานการณ์ที่ต้องดิ้นรนต่อสู้มากกว่าคนของพรรคการเมืองอื่น หลังเสร็จสิ้นคิวยื่นใบสมัครรับเลือกตั้งซ่อม ส.ส.กทม. เขต 6

นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย ในฐานะแกนนำ นปช.แดงทั้งแผ่นดิน ต้องเปิดปราศรัยย่อยขอคะแนนกับชาวบ้านแทนนายก่อแก้ว พิกุลทอง ผู้สมัครของพรรคเพื่อไทย ที่ถูกเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ควบคุมตัวขึ้นรถกรงขังกลับเรือนจำทันที

ได้คิวแค่หาเสียงผ่านคุก

ต่างกับนายพนิช วิกิตเศรษฐ์ ผู้สมัครของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ถูกเชิญให้ขึ้นรถของตำรวจนครบาล 2 อารักขาออกจากสำนักงานเขตคลองสามวา ไปที่สาขาของพรรค เนื่องจากมีกลุ่มมวลชนของทั้งสองฝ่ายมารุมล้อม เจ้าหน้าที่เกรงไม่ปลอดภัย

คุ้มกันดุจไข่ในหิน

ต่างกันราวฟ้ากับดิน "ผู้ก่อการร้าย" กับ "ผู้ก่อการดี" แต่ "เทพเทือก" ก็ยังเขิน ไม่กล้าฟันธงว่า ประชาธิปัตย์จะชนะแน่นอน

กลัวโดนเพื่อนหาว่า ขี้คุย

จริงๆเลยน่าจะหวั่นกระแสตีกลับซะมากกว่า

ต้องไม่ลืมว่า อารมณ์คนไทยชอบเชียร์มวยรอง ในสถาน-การณ์ที่เห็นกันอยู่ว่า สภาพคนของพรรคเพื่อไทยโดน "ตีตรวน" ลงสนาม

ชนักปักหลังข้อหา "ผู้ก่อการร้าย" จำเลยสังคมชนชั้นกลางเมืองกรุง

กระแสติดลบ กระสุนติดล็อก

ขณะที่ประชาธิปัตย์เหนือกว่าหลายช่วงตัว โดยเฉพาะกับอิทธิฤทธิ์ดาบ พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่ล็อกไว้ในกำมือ กระชับพื้นที่คู่ต่อสู้ให้อยู่ในเกมที่ตัวเองกำหนดได้

บล็อกธุรกรรมการเมือง ตัดท่อน้ำเลี้ยงเครือข่ายอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร เอะอะก็อ้างสกัดเกมป่วนของกองทัพแดงไว้ก่อน

กระแสหนุนนำ พ่อยกแม่ยกเมืองกรุงเทใจให้พระเอกอย่าง "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ"

ไหนจะคิวเอื้ออาทรจากยี่ห้อการเมืองใหม่หลบทางให้ แถมยังขอให้แนวร่วมพันธมิตรฯ เทแต้มให้ผู้สมัครของพรรคประชาธิปัตย์แบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย

ได้เปรียบทุกประตู ถ้าเป็นฟุตบอลก็ต่อขาดเป็นลูกขึ้นไป

ชนะแต้มทิ้งกันไม่ขาด ถือว่า ประชาธิปัตย์แพ้

และที่มากไปกว่านั้น ภายใต้เดิมพันที่มากกว่า 1 เสียงในเวทีเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เพิ่มตัวเลขที่นั่งในสภา คิวนี้เป็นการชิงกระแส ความชอบธรรมระหว่างฝ่ายเสื้อแดงที่โดนประทับคดี "ก่อการร้าย" กับรัฐบาลประชาธิปัตย์ที่โดนข้อหา "สั่งฆ่าประชาชน"

อย่างน้อยก็ได้วัดดัชนีคนกรุงเทพฯในสนามที่ก้ำกึ่งระหว่างชนชั้นกลางกับคนรอบนอก

ไม่ใช่โซนแห่ตามกระแส

ที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทย ฝ่ายคนเสื้อแดง ตกเป็นรองขาด โดนฝ่ายถืออำนาจกระชับพื้นที่ความชอบธรรม บล็อกกระแสได้เกือบหมด

คิวนี้ได้โอกาสสู้ในพื้นที่ชานเมือง กู้กระแสในโซนแดงหนาแน่น

ถ้าเพื่อไทยแพ้ขาด ก็หมดข้อแก้ตัว.

ทีมข่าวการเมือง รายงาน

สวัสดิการรัฐ

ที่มา ไทยรัฐ

ความพยายามที่จะใช้ นโยบายประชานิยม ของรัฐบาลชุดนี้เป็นไม้ตายในการที่จะกลบกระแสคนตายจากการสลายการชุมนุมและเรียกคะแนนนิยมกลับคืนมาดูจะเป็นแนวทางเดียวกับรัฐสวัสดิการ อาทิ ให้ต่อระยะเวลาโครงการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจากค่าน้ำค่าไฟ โครงการแจกที่ดินคนจน ดูจะมีอุปสรรคอยู่ตลอดเวลา แม้แต่การจะขึ้นเงินเดือนให้ข้าราชการทั้งทีก็ต้องมีเงื่อนไข เนื่องจากรัฐ เองก็ตกอยู่ในสภาวะขาดสภาพคล่องทางการเงินหรือใกล้ถังแตกเต็มที

ในระยะเวลาแค่ 1 ปีที่รัฐบาลชุดนี้เข้ามาบริหารประเทศ งบประมาณ ต้องใช้จ่ายไปอย่างฟุ่มเฟือย ส่วนจะถึงมือหรือเกิดประโยชน์กับชาวบ้าน หรือไม่ก็เป็นอีกเรื่อง เปิดฉากมาก็แจกแหลก ในขณะดียวกันก็มีรายการ เขมือบแหลก เป็นคู่ขนานกันไปด้วย

โครงการทุจริตในรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โผล่ขึ้นมา

เป็นดอกเห็ดแทบจะทุกกระทรวงก็ว่าได้ เอาเถอะเป็นธรรมชาติของนักการเมืองมืออาชีพอยู่แล้ว แต่ที่รับไม่ได้คือผลกระทบกับปากท้องของประชาชน ปล่อยให้สินค้าขึ้นราคากันตามใจชอบ แค่บรรดาสมาคมธุรกิจเออออห่อหมกด้วยหน่อยก็เรียบร้อย

ไข่แพงที่สุดกว่าทุกรัฐบาล พืชผักก็ราคาแพงแสนแพงช่วงหน้าแล้ง มะนาวใบละเกือบ 10 บาท เข้าตำรา ของแพงค่าแรงถูก ชาวบ้านจะหาข้าวสารกรอกหม้อไปวันๆแสนจะลำบาก

เรียนฟรีก็ไม่ฟรีสมชื่อ ชาวบ้านที่ อ.แม่สอด จ.ตาก ที่มี ส.ส.เป็นรมต.ด้วยซ้ำ ส่งหลักฐานมาให้ดูว่า โรงเรียนประจำ อ.แม่สอด เรียกผู้ปกครองไปชี้แจงการรับมอบตัวนักเรียนเมื่อวันที่ 12-13 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยมีหมายเหตุกำกับตอนท้ายว่า ผู้ปกครองโปรดนำเงินมาชำระค่าบำรุงการศึกษา ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2553 จำนวน 1,200 บาทได้ที่ครูที่ปรึกษาประจำห้อง

เรื่อง สมาร์ทการ์ด ก็ไม่ใช่ย่อยจะตะลุมบอนกันอีท่าไหนระหว่าง มหาดไทยกับไอซีทีก็ไม่ทราบ แต่ชาวบ้านเดือดร้อนจากที่เคยทำปุ๊บได้ปั๊บ ตอนนี้ทำปุ๊บได้ใบเหลืองไปใช้ชั่วคราวประมาณ 3-4 เดือน แล้วใครเดือดร้อน คนที่เดือดร้อนก็คือชาวบ้านที่ถูกจับเป็นตัวประกันนี่แหละ

ไหนจะภัยแล้งที่ส่งผลกับชาวไร่ชาวนาเกษตรกรโดยตรง ปัญหาโยงใยไปสู่ภาคแรงงาน ที่เข้ามากระจุกตัวในเมืองใหญ่ๆ เสร็จแล้วปัญหาอาชญากรรมยาบ้ายาเสพติดตามมาอีกมากมาย

ถามว่ารัฐบาลคิดถึงเรื่องเหล่านี้บ้างไหม หรือนั่งคิดกันแต่ว่าใครจะได้เป็น รมต. รัฐบาลจะอยู่ได้นานแค่ไหน ต้องกำจัดคู่แข่งอย่างไร จะหาผลประโยชน์กันอย่างไร
ต้องสร้างภาพแหกตาชาวบ้านอย่างไร

การที่ผลโพลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนถึงผลงานรัฐบาล สอบตกทุกวิชา จึงไม่ใช่เรื่องที่เกินความจริง คิดแต่จะสร้างสวัสดิการให้กับตัวเองโดยลืมนึกถึงสวัสดิการของประชาชน ว้าเหว่.

หมัดเหล็ก

การ์ตูน เซีย 29/06/53

ที่มา ไทยรัฐ

Pic_92399

การ์ตูน เซีย 29/06/53

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker