บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันอังคารที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2554

สดุดีวีรประวัติสามัญชน66ปีวันสันติภาพ(4):จำกัด พลางกูร กับภารกิจเพื่อชาติ และเพื่อมนุษยชาติ

ที่มา Thai E-News


เพื่อชาติ เพื่อมนุษยชาติ-จำกัด พลางกูร เสียสละชีวิตลงในว้นที่ 7 ตุลาคม 2486 ขณะปฏิบัติภารกิจกู้ชาติในต่างแดน โดยเปล่งปัจฉิมวาจาว่า"เพื่อชาติ--เพื่อhumanity--" ในภายหลังม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ได้เป็นนายกรัฐมนตรีหลังสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้บันทึกถึงวีรชนผู้นี้ว่า "เพราะจำกัดตาย ข้าพเจ้าจึงเห็นแล้วว่า ยังมีเกียรติสูงสุดอันพึงใฝ่สูงกว่าเกียรติของการเป็นนายกรัฐมนตรี ใหญ่ยิ่งกว่าเกียรติของกษัตริย์ เกียรติอันนั้นคือ เกียรติของผู้ตายเพื่อชาติ วงศ์กษัตริย์มีวันล้ม ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมีวันเปลี่ยนมือ แต่เกียรติของผู้ตายอย่างจำกัดนี้ ไม่มีใครแย่งไปจากเขาได้"


เรียบเรียงโดย ทีมข่าวไทยอีนิวส์
ที่มา หนังสือตำนานเสรีไทย โดย ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร

16 สิงหาคม 2554

หมายเหตุไทยอีนิวส์:เมื่อ 66 ปีที่แล้วนายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการ และหัวหน้าขบวนการเสรีไทยได้ประกาศสันติภาพเมื่อ 16 สิงหาคม 2488 มีผลสำคัญยิ่งยวดทำให้ไทยไม่ต้องตกเป็นประเทศแพ้สงครามโลกครั้งที่2 ไม่ต้องถูกยึดครองหรือแบ่งแยกจากมหาอำนาจผู้ชนะสงคราม ซึ่งมีผู้เคยกล่าวไว้ว่าไม่เช่นนั้นไทยก็คงไม่พ้นต้องเสียกรุงครั้งที่3 อันเป็นผลพวงหลักจากการเคลื่อนไหวของขบวนการใต้ดินเสรีไทย อย่างไรก็ตามควรต้องจารึกไว้ด้วยว่า มีวีรชนผู้เสียสละชีพ และอุทิศตัวอย่างยืนหยัดเพื่อชาติในขบวนการหลายท่าน ซึ่งเราขอทยอยนำเสนอเพื่อเชิดชูเกียรติวีรชนของประชาชาติไทย ณ โอกาสวันสันติภาพมาถึงในปีนี้

คลิปรายการห้องเรียนประชาธิปไตย66ปีวันสันติภาพ:รู้ไหมครั้งหนึ่งทำเนียบรัฐบาลไทยเคยมีชื่อ"ตึก16สิงหา"





จำกัด พลางกูร:ภารกิจเพื่อชาติ และเพื่อมนุษยชาติ


วีรประวัติ-จำกัด พลางกูร ได้รับพระราชทานยศพันตรีหลังเสียสละชีพเพื่อชาติ ขณะปฏิบัติงานเสรีไทยเช่นเดียวกับสหายศึกร่วมขบวนการอีก 2 รายที่พลีชีพคือพันตรีการะเวก ศรีวิจารณ์ และพันตรีสมพงษ์ ศัลยพงษ์ รายนามของทั้ง 3 ท่านถูกจารึกไว้ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิมาจนตราบทุกวันนี้

การะเวกกับสมพงษ์เป็นเสรีไทยสายอเมริกา เสียชีวิตระหว่างพยายามเล็ดลอดเข้าไทยที่ชายแดนไทย-ลาว

ส่วนจำกัดเป็นเสนาธิการเสรีไทยในประเทศ ได้รับมอบหมายจากปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าขบวนการเสรีไทยให้ออกไปติดต่อฝ่ายสัมพันธมิตรในจีน ซึ่งอยู่ฝ่ายสัมพันธมิตรในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อให้มหาอำนาจฝ่ายสัมพันธมิตรรับรองการจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นของไทยต่อ ต้านการรุกรานยึดครองของญี่ปุ่น แต่เขาก็ต้องไปเสียสละชีพในจีนด้วยวัยหนุ่มแน่นเพียง 29 ปี ส่วนการะเวกกับสมพงษ์เสียสละตอนอายุเพียง 26 ปี

ชาตะ- 30 ตุลาคม 2457

มรณะ-7 ตุลาคม 2486 ขณะอายุ 29 ปี หากมีชีวิตอยู่จนถึงปัจจุบันจะมีอายุ 97 ปี

กำเนิด-บุตรคนโตสุดของพระยาผดุงวิทยาเสริม (กำจัด พลางกูร พ.ศ. 2426 - พ.ศ. 2497)เจ้ากรมแต่งตำราและเจ้ากรมสามัญศึกษา และคุณหญิงเหรียญ สกุลเดิม นิโครธานนท์



ผู้สืบสานภารกิจเพื่อชาติและเพื่อHumanity-ฉล บชลัยย์ส่งจำกัดผู้สามีออกเดินทางไปปฏิบัติภารกิจเสรีไทยเมื่อ 28 ก.พ.2486 และนั่นเป็นหนสุดท้ายที่สามีภรรยาคู่นี้ได้อยู่ด้วยกัน แต่อยู่ร่วมกันตลอดมาทั้งชีวิตของเธอ ตอนเกิดเหตุปราบปรามนักศึกษา 6 ตุลาคม2519 วันรุ่งขึ้น 7 ตุลาคมครบรอบวันสามีเสียชีวิต เธอไปบริจาคเลือดให้นักศึกษา และยังคงผูกพันกับขบวนการนักศึกษา6ตุลาคมมาถึงปัจจุบัน (ในภาพ:[ฉลบชลัยย์ยืนกลาง]กับอดีตนักศึกษายุค6ตุลา19ในโอกาสทำบุญให้วีรชน 6ตุลาและทำบุญอุทิศในโอกาสวันเสียสละชีพของจำกัด ผู้สามี เมื่อ7ตุลาคม2552)



สมรส-กับนางสาวฉลบชลัยย์ มหานีรานนท์ ซึ่งยังมีชีวิตอยู่ในเวลานี้อายุ 95 ปี ทั้งสองพบรักกันระหว่างได้ทุนเล่าเรียนหลวงที่อังกฤษทั้งคู่

เมื่อกลับประเทศได้แต่งงานในปี 2482 ฉลบชลัยย์ยึดมั่นอุดมการณ์ของสามีอย่างเหนียวแน่น เธอเคยเข้าไปมีบทบาทช่วยเหลือและให้กำลังใจนักศึกษากรณี6 ตุลาคม 2519 ในขณะที่คนทั่วไปไม่กล้าติดต่อพบปะกับนักศึกษาผู้ต้องโทษการเมืองฉกรรจ์ใน ขณะนั้น และมีความผูกพันแนบแน่นกับครอบครัวปรีดี พนมยงค์มาอย่างยาวนาน

การศึกษา-ประถม โรงเรียนวัดบวรนิเวศ

-มัธยม โรงเรียนวัดเทพศิรินทร์ และโรงเรียนBromsgrove School เมือง Worcestershire (ปู่และบิดาของจำกัดเป็นนักเรียนเก่าอังกฤษ)
-อุดมศึกษา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้ทุนไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษเมื่อปลายปี พ.ศ. 2474 เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดเมื่อ พ.ศ. 2478 ศึกษาวิชาปรัชญา การเมืองและเศรษฐศาสตร์ เรียนจบได้รับปริญญาตรีเกียรตินิยม (B.A. Hons.)

การทำงาน-หลังกลับไทยในปี2481 รับราชการกระทรวงศึกษาธิการอยู่ระยะหนึ่ง และถูกให้ออกราชการเพราะมีทัศนคติต่อต้านรัฐบาลเผด็จการของจอมพลป.พิบูล สงคราม โดยได้เขียนบทความโจมตีจอมพลป.เรื่องการตั้งศาลพิเศษขึ้นมาประหัตประหารฝ่าย ปฏิปักษ์ทางการเมือง จากนั้นมาเปิดโรงเรียนเอกชนชื่อดรุโณทยานในปีพ.ศ.2483

การปฏิบัติงานเสรีไทย


-8 ธันวาคม 2484 ไทยถูกญี่ปุ่นรุกรานยึดครอง โดยอ้างว่าขอใช้เป็น"ทางผ่าน" โดยรัฐบาลป.พิบูลสงครามได้ร่วมมือกับญี่ปุ่น นายจำกัดได้หารือกับเตียง ศิริขันธ์ ส.ส.สกลนครและส.ส.อีสานจะจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นขึ้นต่อต้านญี่ปุ่น เย็นวันนั้นจึงพากันไปพบนายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการขอให้เป็นหัวหน้า"คณะกู้ชาติ"โดยให้คำมั่นจะอุทิศตัวและยอม สละชีวิตสำหรับการทำงานเพื่อชาติ

ควรบันทึกคั่นไว้ด้วยว่า ในเวลานั้นนายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้สำเร็จราชการ ในห้วงเวลานั้นในหลวงรัชกาลที่ 8 รวมทั้งพระชนนี สมเด็จพระอนุชา(ในหลวงรัชกาลปัจจุบัน) ประทับอยูที่สวิตเซอร์แลนด์

พระราชวงศ์ชั้นสูงในเวลานั้นที่ประทับในเมืองไทยมีสมเด็จพระพันวสาอัยยิกา เจ้า นายปรีดีได้เชิญเสด็จอพยพไปประทับที่อยุธยา ระหว่างที่เสด็จอพยพหลบภัยอยู่นี้ สมเด็จฯ ทรงมีพระราชหฤทัยนึกถึงสมเด็จพระราชนัดดาอยู่เสมอ ได้ตรัสว่า

“ดีใจ๊ ดีใจ หลานอยู่เมืองนอกไม่ต้องมาลำบากอย่างนี้ ไม่อย่างนั้นฉันคงเอาไม่รอด ห่วงหลาน”

การถวายความอารักขาให้พ้นภัยสงครามครั้งนั้น สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ได้ทรงซาบซึ้งพระทัยดี และเมื่อสิ้นสงคราม ได้รับสั่งเรียกนายปรีดี ไปที่ประทับและขอบใจ ซึ่งคณะเสรีไทยถือว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นอย่างยิ่ง (อ่านรายละเอียด)

-ต้นปี2486 ปรีดี หรือ"รูธ"หัวหน้าเสรีไทยในประเทศไทยตัดสินใจส่งผู้แทนออกนอกประเทศไปติดต่อ ประสานงานกับม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เอกอัคราชทูตไทยประจำสหรัฐฯ ซึ่งประกาศไม่ขึ้นตรงต่อรัฐบาลป.พิบูลสงคราม และประกาศจัดตั้งขบวนการเสรีไทยขึ้น โดยได้คัดเลือกนายจำกัดเพื่อภารกิจนี้เพราะนายจำกัดรู้จักกันดีกับเสนีย์ เพราะเป็นเพื่อนบ้านกันที่ซอยร่วมฤดี และยังจบออกซฟอร์ดเช่นเดียวกัน ภารกิจที่จำกัดต้องไปทำคือ

1)ชี้แจงต่อฝ่ายสัมพันธมิตรว่าการประกาศสงครามต่อสัมพันธมิตรของรัฐบาลป.พิบูลสงครามเป็นโมฆะ
2)ชี้แจงว่ามีองค์การต่อต้านญี่ปุ่นเกิดขึ้นในไทยแล้ว โดยปรีดีเป็นหัวหน้า และต้องการตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นขึ้นในดินแดนของฝ่ายสัมพันธมิตร ขอให้อังกฤษ และอเมริการับรองรัฐบาลพลัดถิ่นว่าเป็นรัฐบาลโดยชอบด้วยกฎหมาย
3)ขอให้อังกฤษกับอเมริกาปลดปล่อยเงินของรัฐบาลไทยที่ฝากไว้ในประเทศทั้งสองเพื่อให้รัฐบาลพลัดถิ่นมีทุนกู้ชาติทำสงครามต่อต้านญี่ปุ่น


-27 กุมภาพันธ์ 2486 ปรีดีให้โอวาทแก่จำกัดก่อนเดินทางไปประเทศจีน ซึ่งเป็นฝ่ายสัมพันธมิตร และมีสหรัฐอเมริกาเข้ามาตั้งฐานที่มั่นอยู่ในประเทศนั้นว่า"เพื่อชาติ เพื่อhumanitiesนะคุณ เคราะห์ดีที่สุดอีก45วันก็คงได้พบกัน เคราะห์ไม่ดีนักอย่างช้าอีก2ปีก็คงได้พบกัน และถ้าเคราะห์ร้ายที่สุด ก็ได้ชื่อว่าสละชีวิตเพื่อชาติไป"

-28 กุมภาพันธ์ 2486 จำกัดในวัย 29 ออกเดินทางด้วยรถไฟที่หัวลำโพงพร้อมฉลบชลัยย์ผู้ภรรยาเดินทางไปส่งสามีที่ ชายแดนไทย-ลาว โดยมีไพศาล ตระกูลลี้ คนไทยลูกจีนนักเรียนนอกสิงคโปร์ ซึ่งแตกฉานภาษาจีนไปเป็นล่าม เมื่อถึงอุดรธานี เตียง ศิริขันธ์ได้นำรถยนต์มารับพาไปส่งที่นครพนมเพื่อลงเรือข้ามโขงไปยังฝั่งท่า แขก ประเทศลาว เตียงได้ถอดแหวนนามสกุลของเขา และขอยืมกำไลและสร้อยล็อกเก็ตฝังเพชรของนางนิวาศน์ ภรรยาของเตียงให้จำกัดเป็นทุนเดินทาง และไว้ใช้ยามขัดสน

เตียง ศิริขันธ์กับนิวาศน์ ภรรยา ..เตียงเป็นหัวหน้าเสรีไทยสายอีสาน เขาถูกสังหารโหดในวันที่ 13 ธันาวาคม 2495 เพื่อกวาดล้างนักการเมืองสายอีสานที่สนับสนุนปรีดีให้สิ้นซาก ก่อนหน้านั้นอดีต 4 รัฐมนตรีอีสานถูกสังหาร หลังขบวนการประชาธิปไตยกุมภาพันธ์2492ล้มเหลวกลายเป็นกบฎวังหลวง


-19 มีนาคม 2486 เดินทางถึงพรมแดนจีน ถูกทางการจีนประกบนำตัวไปที่ลิวเจา และโทรเลขติดต่อเสนีย์,จอมพลเจียงไคเช็ค หัวหน้ารัฐบาลจีนคณะชาติ ซึ่งอยู่ฝ่ายสัมพันธมิตรและมีนครหลวงที่จุงกิง และทูตของอังกฤษกับอเมริกาในจุงกิงตามภารกิจที่ได้รับมอบหมาย แต่ดูเหมือนไม่ราบรื่นดังหวัง

-7 เมษายน โทรเลขถึงเสนีย์ว่าเขาถูกทางการจีนกักตัวไว้ 12 วันแล้วขอให้ช่วยติดต่อส่งเขาไปจุงกิงด่วน เสนีย์ตอบกลับมาในวันที่ 18 เดือนเดียวกันว่า"กำลงดำเนินการอยู่" ต่อมาเขาได้ส่งข้อความทางวิทยุเป็นรหัสว่า"จางและหลีได้มาถึงเมืองจีนแล้ว" ซึ่งฉลบชลัยย์และท่านผู้หญิงพูนสุขได้ยินข้อความทางวิทยุก็ทราบว่าจำกัด และไพศาลไปถึงจีนแล้ว

-21 เมษายน เดินทางไปจุงกิง โดยนายทหารอังกฤษให้ยืมเงิน9,300ปอนด์ เมื่อเดินทางไปถึงฝ่ายจีนแจ้งว่าอังกฤษกับอเมริกามอบหมายให้จีนจัดการเรื่อง ทุกอย่างในย่านเอเชีย จำกัดจึงขอเข้าพบจอมพลเจียงไคเช็คเพื่อปฏิบัติตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายมา แต่ถูกหน่วงรั้งไว้ และห้ามไม่ให้ติดต่อกับอเมริกาและอังกฤษด้วย

จีนทำเช่นนั้นได้กระทบแผนซึ่งเสรีไทยวางไว้ว่าเมื่อมาถึงจีน1เดือนแล้วให้ ติดต่ออังกฤษส่งเครื่องบินมารับบุคคลสำคัญของรัฐบาลพลัดถิ่นเสรีไทยที่ หัวหินเดินทางไปตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นในต่างประเทศ

-1 พฤษภาคม ได้รับแจ้งโทรเลขจากเสนีย์ให้ติดต่อกับจีนและอเมริกา ห้ามติดต่อกับอังกฤษ วันต่อมาเขาออกไปกินข้าวกับเจ้าหน้าที่อารักขาชาวจีนแล้วปวดท้องอย่างมาก(เรื่องนี้ทำให้มีข้อสงสัยในเวลาต่อมาว่าจำกัดอาจถูกวางยาพิษ)ทั้ง นี้เพราะฝ่ายสัมพันธมิตรคืออเมริกากับอังกฤษก็ขัดแย้งกันเอง รวมทั้งทูตไทยในอเมริกาที่มีเสนีย์เป็นหัวหน้าเสรีไทยสายอเมริกา ก็ไม่ถูกกันกับหัวหน้าฝ่ายทหารเสรีไทยสายอเมริกาคือพ.ท.หม่อมหลวงขาบ กุญชร โดยเมื่อขาบเดินทางมาประสานงานกับจำกัด เสนีย์บอกฝ่ายจีนว่าขาบไม่ใช่ตัวแทนที่ถูกต้องของเขา

-ปลายเดือนพฤษภาคม จีนปฏิบัติต่อจำกัดเลวร้ายลง นอกจากถูกกักบริเวณเสมือนเชลยแล้ว ก็ย้ายลงไปอยู่ห้องชั้นใต้ดิน จำกัดอาหาร อาการป่วยหนักขึ้นจนข่ายเป็นเลือด และเริ่มรู้สึกหมดหวัง ขณะที่อังกฤษมีหนังสือถึงจีนว่าไม่สนับสนุนแผนการของเสรีไทยที่จำกัดเดินทาง มาประสานงาน จำกัดบันทึกลงในไดอารี่ว่า องกฤษทำให้ภารกิจของเขาล้มเหลว เพราะสนใจเฉพาะกิจการสงครามในยุโรป เขารู้สึกกำลังตกอยู่ในห้วงลึกแห่งความมืดมนที่สุดของความเศร้าสลด และรู้ดีว่าคงจะพบจุดจบแห่งชีวิตในเวลาไม่นานนัก ขณะที่อาการเจ็บป่วยทรุดลง น้ำหนักลดลงราว 7 ก.ก.

-28 มิถุนายน สถานการณ์พลิกมาเป็นผลดี เขาได้รับอนุญาตเข้าพบจอมพลเจียงไคเช็คในสภาพผู้ป่วยหนัก เจียงไคเช็ครับทราบว่ามีขบวนการเสรีไทยต่อต้านญี่ปุ่น และถือว่าสัญญาการร่วมมือกันทำสงครามของไทยกับญี่ปุ่นเป็นโมฆะ แต่การตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นของไทยต้องรอฟังเสนีย์ที่กำลังส่งคนมาจีนก่อน ซึ่งจำกัดบอกว่าหากเช่นนั้นเขาก็จะรีบไปพบเสนีย์ที่อเมริกา แต่จีนไม่เห็นชอบเรื่องนี้

-สิงหาคม 2486 ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์ สวัดิวัตน (ท่านชิ้น)เสรีไทยสายอังกฤษมาพบจำกัด และได้ประสานงานเรื่องให้เสรีไทยในประเทศเตรียมมารับร.ต.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ (เข้ม เย็นยิ่ง)ที่จะไปขึ้นบกที่พังงา แต่ปฏิบัติการล้มเหลว เพราะกว่าสารจากจีนจะไปถึงไทยก็เลยเวลานัดหมายแล้ว ทำให้คณะของป๋วยต้องเปลี่ยนภารกิจมาเป็นกระโดดร่มลงที่ชัยนาทในเดือนมีนาคม 2487 และถูกจับได้ เกือบถูกสังหาร ฐานเป็นจารชน แต่ในที่สุดเล็ดรอดมาพบกับ"รูธ"บรรลุภารกิจกอบกู้ชาติในที่สุด

-2 สิงหาคม จอมพลเจียงยอมให้จำกัดเดินทางไปเมริกา เพียงแต่รอเครื่องบิน

-ต้นเดือนกันยายน 2486 ปรีดีส่งคณะของสงวน ตุลารักษ์ 1 ในผู้ก่อการ 24 มิถุนายน 2475 (พี่ชายของกระจ่าง ตุลารักษ์ ที่เพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อ 24 มิถุนายน 2552)เป็นคณะที่สองเดินทางมาจีนเพราะเห็นจำกัดเงียบหายขาดการติดต่อ

-7 ตุลาคม 2486 ระหว่างรอเดินทางไปอเมริกาเพื่อพบกับ เสนีย์เพื่อบรรลุภารกิจ จำกัดถึงแก่กรรม แพทย์จีนสันนิษฐานว่าเป็นมะเร็งลำไส้ เขาเปล่งปัจฉิมวาจาว่า"เพื่อชาติ--เพื่อhumanity--"และจากไปอย่างสงบ ในแผ่นดินอื่น ..

สงวนจัดฌาปณกิจศพให้เขาที่วัดเล็กๆแห่งหนึ่งในจุงกิง และนำอัฐิพร้อมไดอารีของจำกัดติดตัวไปที่วอชิงตันเพื่อกบกับเสนีย์แทนจำกัด และนำมอบให้ปรีดีเมื่อสิ้นสุดสงคราม

-สิ้นสุดสงคราม 16 สิงหาคม 2488-ปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการ และหัวหน้าขวนการเสรีไทยประกาศสันติภาพ หลังญี่ปุ่นยอมแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 และไทยไม่ต้องตกเป็นประเทศผู้แพ้สงคราม และไม่ถูกมหาอำนาจผู้ชนะแบ่งแยกเป็นไทยเหนือ-ไทยใต้

หลังสิ้นสุดสงครามเกือบ 2 ปีหลังการเสียสละชีพของจำกัด ฉลบชลัยย์เพิ่งทราบข่าวสามีเสียชีวิตเมื่อสิ้นสุดสงครามลง ก่อนหน้านั้นทุกอย่างเป็นความลับ และจำกัดได้รับพระราชทานยศพันตรี

อัฐิของจำกัดได้รับประดิษฐานอยู่ชั้นบนตึกโดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง

-17 กันยายน 2488 เสนีย์เดินทางกลับไทยรับตำแหน่งนายกฯ

เขาเขียนบันทึกถึงจำกัดว่า
"..เพราะจำกัดตาย ข้าพเจ้าจึงเห็นแล้วว่า ยังมีเกียรติสูงสุดอันพึ่งใฝ่สูงกว่าเกียรติของการเป็นนายกรัฐมนตรี ใหญ่ยิ่งกว่าเกียรติของกษัตริย์ เกียรติอันนั้นคือ เกียรติของผู้ตายเพื่อชาติ วงศ์กษัตริย์มีวันล้ม ตำแหน่งรัฐมนตรีมีวันเปลี่ยนมือ แต่เกียรติของผู้ตายอย่างจำกัดนี้ ไม่มีใครแย่งไปจากเขาได้..เมล็ดฟืชอันใดที่จำกัดหว่านลงไว้แล้วด้วยดี เพื่อเอกราชของชาติ เราจะเก็บเกี่ยวรวงผลเอาไว้ประดับเกียรติของเขาต่อไป.."


-ค่ำวันที่ 25 กันยายน 2488 ปรีดี พนมยงค์ "รูธ"หัวหน้าขบวนการเสรีไทย กล่าวปราศรัยก่อนสลายขบวนการเสรีไทยตอนหนึ่งว่า

"ขอให้ท่านได้สำนึกถึงวีรกรรมของเพื่อนร่วมตาย ซึ่งต้องเสียชีวิตในการปฏิบัติหน้าที่ครั้งนี้คือนายจำกัด พลางกูร ,นายการะเวก ศรีวิจารณ์ และนายสมพงศ์ ศัลยพงศ์ ชีวิตเขาสิ้นไปเพื่อได้มาซึ่งเอกราช และความคงอยู่ของชาติไทย ซึ่งชาวไทยไม่ควรลืม"


ปัจจุบัน-อัฐิของจำกัดบรรจุไว้ที่อนุสาวรีย์ชัย สมรภูมิ..ฉลบชลัยย์ ภรรยาหม้ายวัย 95 ปี ยังคงมีสุขภาพที่แข็งแรง และยึดมั่นอุดมคติ เพื่อชาติ และเพื่อมนุษยชาติ สานต่อภารกิจอย่างยืนหยัดมั่นคง

0000000000000

16 สิงหาคม-วันสันติภาพไทย-รำลึกวันสันติภาพ ไทยพ้นสถานะประเทศผู้แพ้สงครามโลกครั้งที่ 2

ปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการและหัวหน้าขบวนการเสรีไทยขณะประกาศแถลงสันติภาพ

รำลึกถึงเหตุการณ์วันที่ 16 สิงหาคม 2488 นายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการในขณะนั้น และเป็นหัวหน้าขบวนการเสรีไทยได้ออกประกาศสันติภาพ สาระสำคัญคือประกาศว่า การประกาศสงครามต่อสหรัฐฯ และอังกฤษของรัฐบาลจอมพลป.พิบูลสงคราม เป็นโมฆะไม่ผูกพันกับประชาชนชาวไทย ที่ได้ก่อตั้งขบวนการเสรีไทยต่อต้านญี่ปุ่น และให้สถานะของประเทศกลับไปมีไมตรีอันดีกับ2ประเทศมหาอำนาจเหมือนก่อนประกาศ สงคราม และพร้อมจะร่วมมือทุกวิถีทางกับสหประชาชาติในการสถาปนาเสถียรภาพในโลกนี้

ด้วยคำประกาศสันติภาพดังกล่าว ทำให้ไทยไม่ต้องผูกพันกับญี่ปุ่นและรอดพ้นการตกเป็นประเทศผู้แพ้สงคราม มีเอกราชโดยสมบูรณ์ สมควรที่ชาวไทยผู้รักชาติจะได้หวนรำลึกถึงบุญคุณของบรรพชนในคราวนั้น

***
ซีรีส์ชุดเดียวกันนี้

-สดุดีวีรประวัติสามัญชน 66 ปีวันสันติภาพ(ตอนที่1):การะเวก ศรีวิจารณ์ วีรชนเสรีไทยกู้เอกราช

สหายศึกเสรีไทย-(จากซ้าย)โผน อินทรทัต-พอล (ชื่อรหัส ไทย รักไทย),จำรัส ฟอลเล็ต-ดิ๊ค และการะเวก ศรีวิจารณ์-แครี่ ทั้งนี้แครี่เสียสละชีวิตเพื่อชาติระหว่างเล็ดลอดเข้าไทย ถูกตำรวจไทยสังหารพร้อมกับสมพงษ์ ศัลยพงษ์(แซล)เพื่อชิงทองคำที่หน่วยลับของอเมริกาให้ติดตัวนำมากอบกู้ชาติ ส่วนไทย รักไทย(บิดาพล.อ.ไตรรงค์ อินทรทัต)ถูกสังหารหลังเป็นแกนนำขบวนการประชาธิปไตยกุมภาพันธ์2492เพื่อโค่น ล้มรัฐบาลเผด็จการทหารประสบความล้มเหลวลง

-สดุดีวีรประวัติสามัญชน66ปีวันสันติภาพ(2):สมพงษ์ ศัลยพงษ์ 'ผมทำงานเพื่อชาติ ไม่ควรฆ่าผมเลย'

สมพงษ์ ศัลยพงษ์ (แซล)ในชุดนายทหารเสรีไทย เขาได้รับมอบภารกิจลับเล็ดลอดเข้าประเทศเพื่อประสานงานกับเสรีไทยในประเทศ เพื่อกอบกู้ชาติ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งไทยถูกญี่ปุ่นรุกรานยึดครองอยู่ แต่ถูกตำรวจไทยยิงหายไปกลางลำน้ำโขง แม้ในปัจจุบันญาติๆยังหวังว่าเขาอาจจะยังไม่ตาย


-สดุดีวีรประวัติสามัญชน66ปีวันสันติภาพ(ตอนที่3):จิตใจเสียสละรักชาติรักประชาชนของขุนพลภูพาน



ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ปราศรัยสดุดีน้ำใจรักชาติรักประชาชน ต่อสู้กอบกู้เอกราชและประชาธิปไตยของครูเตียง ศิริขันธ์ และอดีตนักการเมืองเลือดอีสาน(ดูตั้งแต่นาทีที่47เป็นต้นไป)

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker