วันจันทร์ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2551

ถ้าไม่มีเขา..

ที่มา ไทยรัฐ

ว่าที่จริงแล้วภาพรวมของ ครม.ชุดใหม่ก็ไม่ถึงกับ “ยี้” คือยังพอรับได้ในสถานการณ์การเมืองเยี่ยงนี้คือไม่ปกติ แต่ที่เป็นปัญหาและมีการวิพากษ์วิจารณ์ก็คือ ในหมู่รัฐมนตรีเศรษฐกิจที่ภาคธุรกิจเอกชนมองว่าเป็นประเภท “มือใหม่หัดขับ”

คือไม่มีประสบการณ์มาก่อนเกรงว่าจะแก้ไขปัญหาไม่ได้ ไม่ทันกาล เพราะปัญหาเศรษฐกิจจะต้องลงมือทำเลย รอช้าไม่ได้ ศึกษางานก็ไม่มีเวลาแล้ว

แต่มีการชี้แจงว่าแม้จะเป็นมือใหม่แต่ก็มีทีมงานที่ปรึกษาเข้ามาช่วยทำงาน ช่วยคิด ช่วงวางแผน และขับเคลื่อน

อย่างไรก็ดี จากข้อจำกัดอย่างนี้มีทางเดียวที่จะทำให้การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจสำเร็จก็คือ การที่นายกฯจะต้องเข้ามาดูแลเอง เป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจที่ต้องมีการนำ มีความชัดเจนในแนวทางและจะต้องให้รัฐมนตรีปฏิบัติไปในทางเดียวกัน เพราะทีมเศรษฐกิจไม่ใช่มีแค่พรรคประชาธิปัตย์พรรคเดียว แต่มีพรรคร่วมรัฐบาลเป็นรัฐมนตรี ด้วย

เพราะถ้าไปกันคนละทิศละทางอย่างรัฐบาลชุดที่แล้วก็ไม่รอด

ตรงนี้กระมังที่สังคมเป็นห่วงว่าจะทำได้หรือไม่ เพราะมองกันว่าพรรคร่วมรัฐบาลที่กำลังมี ความพยายามจะเกาะกลุ่มและรวมเป็นหนึ่งเดียว เพื่อสร้างอำนาจต่อรองในรัฐบาล กดดันนายกฯและประชาธิปัตย์เพื่อต่อรองต่างๆ

และก็มองไปที่ “เนวิน ชิดชอบ” ซึ่งน่าจะมีบทบาทสูงในการตั้งรัฐบาลชุดนี้ เพราะมีอำนาจต่อรองสูง โดยเฉพาะกลุ่มนี้คุมกระทรวงใหญ่ 2 กระทรวง คือคมนาคม และมหาดไทย ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยมีพรรคแกนนำยอมให้อย่างนี้

“ถ้าไม่มีเขา เราก็ไม่ได้เป็นรัฐบาล”

นั่นคงเป็นคำตอบสั้นๆถึงเหตุผลที่ประชาธิปัตย์ต้องยอมจัดโควตาให้อย่างนั้น เพราะมิฉะนั้นคงตกลงกันไม่ได้ และไม่ได้เป็นรัฐบาล ทั้งนี้ ต้องเชื่อมโยงไปถึงตำแหน่งประธานสภา ผู้แทนฯ และรักษาการนายกฯที่สังกัดเพื่อนเนวินและมีส่วนสำคัญทำให้ดำเนินการตั้งรัฐบาลสำเร็จ

อีกจุดก็คือ เกรงว่านายเนวินจะเป็นผู้จัดการรัฐบาลตัวจริง และครอบงำให้นายกฯต้องยอมรับในเรื่องต่างๆจนไม่เป็นตัวของตัวเอง

ซึ่งนั่นประเมินจากพฤติกรรมการเมืองของนายเนวิน และกลุ่มเพื่อนพ้องที่ผ่านมาลักษณะเขี้ยว ลากดิน และเก่งกาจในการต่อรองผลประโยชน์ต่างๆ

แต่ดูเหมือนว่านายกฯจะพยายามวางกรอบการทำงาน การควบคุมรัฐมนตรีโดยบอกว่า หากไม่สามารถปฏิบัติงานให้เป็นไปตามนโยบายได้ก็ต้องปรับเปลี่ยนออกไป และจะติดตามการทำงานของรัฐมนตรี

เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการ พูดง่ายๆก็ต้อง “ขู่” กันไว้ก่อน และเชื่อว่าจะต้องเกิดปัญหานี้แน่ในอนาคตอีกไม่ไกลนี้ แต่ก็ต้องอยู่ที่ว่า นายอภิสิทธิ์จะใช้ศิลปะการนำในการสยบได้หรือไม่

เพราะแม้แต่ในพรรคประชาธิปัตย์ก็มีปัญหา ซึ่งไม่ใช่นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ เพียงคนเดียว แต่มีอีกหลายคนที่รักษามารยาท ไม่ออกมาเปิดฉากรบเหมือนนายนิพิฏฐ์ ที่โจมตีการนำนายวีระชัย วีระ-เมธีกุล เข้ามาเป็นรัฐมนตรีทำให้เขาหลุดจากเก้าอี้

ข้อหาก็คือ “นายทุน” ที่บริจาคเงินให้พรรค จนถูกฆ่าทางการเมือง

จึงเป็นจุดด่างที่ทำให้ภาพจัดตั้งรัฐบาลกร่อยไปนิด แต่เชื่อว่าคงจะมีการจัดการกันได้ ไม่ถึงกับทำให้เกิดความแตกแยกมากนัก เพราะเชื่อว่าไม่นานคงมีการปรับ ครม. และมีโอกาสเป็นรัฐมนตรีได้

เหนืออื่นใด ปัญหาของนายกฯที่จะต้องเจอศึกหนักก็คือ ความขัดแย้ง แบ่งค่าย แบ่งสี และการเชื่อมโยงไปสู่คนยากคนจนที่มองว่าไม่ติดดินเข้าไม่ถึง โดยเฉพาะในภาคอีสาน จึงต้องใช้กลุ่มเนวินเป็นทัพหน้าเพื่อการเข้าถึง และลดแรงกดดันจากกลุ่มเสื้อแดงที่มีสายสัมพันธ์กันมาก่อน

แต่ระวังเอาไว้ก็แล้วกัน อย่าเป็นว่า “มีเขาเราจึงพัง”.

“สายล่อฟ้า”