ที่มา มติชน
คอลัมน์ วิภาคแห่งวิพากษ์
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมจากการสำรวจล่าสุดของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ระบุตัวเลขที่ลดต่ำลงสุด-สุดในรอบ 5 ปี
ถามว่าความเชื่อมั่นต่อรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีมากน้อยเพียงใด
ถามว่าความเชื่อมั่นต่อแนวทางในการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจของทีมเศรษฐกิจภายใต้ธงนำของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีมากน้อยเพียงใด
ในเบื้องต้น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยืนยันจะเรียกความเชื่อมั่นให้ได้ภายใน 3 เดือน
ระยะต่อมา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แสดงความมั่นใจว่าทุกอย่างโดยเฉพาะปัญหาในทางเศรษฐกิจจะคลี่คลายได้ภายใน 1 ปี
กระนั้น หากรับฟังความห่วงใยจาก นายพิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล ก็ไม่ค่อยแน่ใจเท่าใดนัก
เช่นเดียวกับ หากรับฟังความห่วงใยในเรื่องการใช้ฐานข้อมูลของรัฐบาลจาก นายจุติ ไกรฤกษ์ ก็ไม่ค่อยแน่ใจเท่าใดนัก
เพราะว่า 2 คนนี้เป็นคนของพรรคประชาธิปัตย์ เพราะว่า 2 คนนี้ได้ชื่อว่าเหนียวแน่นมั่นคงอย่างยิ่งกับพรรคประชาธิปัตย์
น่าเศร้าก็ตรงที่ความไม่แน่ใจของ 2 คนนี้ตรงกับความไม่แน่ใจของอีกหลายๆ คน
ความไม่แน่ใจอันสำแดงออกมาของนักวิชาการจำนวนมาก ไม่ว่าจะมาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะมาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไม่ว่าจะมาจากสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
1 คือ ความไม่แน่ใจว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยกระบวนการหว่านโปรย แจกเงิน ไม่น่าจะตรงกับตัวปัญหา
เพราะไม่ได้แจกตรงไปยังคนว่างงาน หากแต่แจกไปยังคนมีรายได้
ยิ่ง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขยายกรอบการแจกจากผู้ประกันตนและข้าราชการที่มีรายได้ไม่ถึง 15,000 บาทต่อเดือน ไปยังพนักงานรัฐวิสาหกิจ
ยิ่งยิ้มเห็นแก้ม แย้มเห็นรายฟัน ของเป้าประสงค์อันแท้จริงของรัฐบาล
1 คือ ความไม่แน่ใจในฝีมือและความสามารถของรัฐบาลว่าจะหาเงินมาจากไหนนอกไปจากการกู้เงิน
ไม่ว่าจะเป็นการกู้จากธนาคารของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นการกู้จากธนาคารโลก ธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย ก็คือ การกู้
นี่ย่อมละเอียดอ่อนต่อสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นของหนี้สาธารณะ ละเอียดอ่อนต่อวินัยการคลัง
หากมองจากปัจจัย 2 ปัจจัยทั้งระดับโลก ทั้งระดับในประเทศ มาประสานเข้าด้วยกันยิ่งก่อให้เกิดภาวะใจหายในทางความรู้สึก
ปัจจัย 1 คือ ปัจจัยเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยและชะลอตัวลง
ขณะเดียวกัน ปัจจัย 1 ซึ่งแสดงออกผ่านกระบวนการส่งออกไตรมาส 4 ปี 2551 โดยเฉพาะอย่างยิ่งเดือนพฤศจิกายนและเดือนธันวาคม คือ ปัจจัยที่ถดถอย ชะลอตัวลงเข้ามาอยู่ในแดนติดลบ
นั่นหมายถึงโอกาสที่เงินจะเข้าประเทศน้อยลง นั่นหมายถึงโอกาสที่จะนำไปสู่การลดกำลังการผลิตของแต่ละภาคอุตสาหกรรม
เงินเข้าน้อย และคนที่เคยทำงานก็จะต้องถูกปรับลดกลายเป็นคนตกงาน
การออกมาโยนหินถามทางในเรื่องการเพิ่มเพดานเงินกู้จาก 50% เป็น 55% ของจีดีพี แท้จริงแล้วก็เท่ากับเป็นการปูพรมเพื่อนำไปสู่การกู้เงินจากธนาคารโลกและธนาคารพัฒนาแห่งเอเชียเป็นสำคัญ
นั่นคือแนวโน้มที่ประเทศไทยจะก้าวไปบนวิถีเหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นในวิกฤตการเงิน เมื่อปี 2540 อีกครั้งหนึ่ง เพียงแต่ครั้งนั้นเราต้องกู้เงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ขณะที่หนนี้สายตามองไปยังธนาคารโลกและธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย
ตรงนี้เองภาพของรัฐบาล นายชวน หลีกภัย ได้หวนกลับมาตอกย้ำตราตึงอีกวาระหนึ่ง
มีอะไรแตกต่างกันระหว่าง นายชวน หลีกภัย กับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นอกจากอายุขัย
แตกต่างตรงที่ นายชวน หลีกภัย จบจากธรรมศาสตร์และสำนักเนติบัณฑิตไทย แตกต่างตรงที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จบจากอีตันและอ็อกซพอร์ด
ความเหมือนอยู่ตรงที่ไม่ว่านักเรียนนอก นักเรียนใน ล้วนอยู่ในกระบวนการของการกู้เงิน