ที่มา ไทยรัฐ
ทันทีที่เปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยสามัญทั่วไปนัดแรก
บรรยากาศการประชุมสภาฯ ที่เคยเห็นความร่วมไม้ ร่วมมือ ถ้อยทีถ้อยอาศัยระหว่างฝ่ายค้านกับฝ่ายรัฐบาล โดยมีวิปเป็นผู้ประสานงานเพื่อให้การประชุมสภาฯ เป็นไปด้วยความราบรื่น
หายไป ไม่มีให้เห็น
สิ่งที่ปรากฏ มีแต่การตั้งป้อมเผชิญหน้า
เปิดฉากขึ้นมา ฝ่ายค้าน พรรคเพื่อไทย ก็เดินหน้าเล่นงานนายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทันที
โดยขอหารือกรณีการสั่งย้ายสถานที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อแถลงนโยบายรัฐบาลไปเป็นที่กระทรวงการต่างประเทศ เมื่อวันที่ 30 ธันวาคมที่ผ่านมา
อภิปรายโจมตีอย่างเผ็ดร้อน เรียกร้องให้ลาออกจากตำแหน่งประธานสภาฯ
แต่นายชัยก็ออกตัวว่า เรื่องนี้พรรคเพื่อไทยได้ยื่นคำร้องไปที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแล้ว ขอให้รอคำพิพากษาของศาลเพื่อให้ได้ข้อยุติ
ขณะเดียวกัน เมื่อเริ่มเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมเรื่องแรก เพื่อรับทราบรายงานการโอนงบประมาณของส่วนราชการ และรัฐวิสาหกิจ ที่ค้างมาจากการประชุมสมัยที่แล้ว
ฝ่ายค้านก็เล่นเกมขอนับองค์ประชุมทันที
ทำให้ฝ่ายรัฐบาลต้องระดม ส.ส.เข้าห้องประชุมสภาฯ กันจ้าละหวั่น ผลปรากฏว่ามี ส.ส.อยู่ในประชุม 235 คน เกินกึ่งหนึ่งของสภาฯ หรือ 228 เสียง เพียง 7 เสียง
รอดจากสภาล่มไปได้หวุดหวิด
และเมื่อการประชุมดำเนินต่อไปได้ประมาณครึ่งชั่วโมง ส.ส.ฝ่ายค้าน พรรคเพื่อไทย ก็ลุกขึ้นขอนับองค์ประชุมอีกครั้ง
โดยผลการนับองค์ประชุมครั้งที่ 2 ปรากฏว่ามี ส.ส.อยู่ในห้องประชุมสภาฯ 233 คน เกินกึ่งหนึ่งแค่ 5 เสียง
ผ่านเกมนับองค์ประชุมไปได้ แบบเฉียดฉิว
ท่ามกลางการอภิปรายโจมตี ไล่ประธานสภาฯ ไล่นายกฯ ไล่รัฐบาล
ระบายความอัดอั้น ฝังแค้น กันเต็มที่
จนกลายเป็นปรากฏการณ์ “เสื้อแดง-เสื้อเหลือง” ในสภาฯ
ที่สำคัญ การที่ฝ่ายค้านเล่นเกมเสนอนับองค์ประชุมถึง 2 ครั้ง 2 คราในเวลาไล่เลี่ยกัน แม้ฝ่ายรัฐบาลสามารถระดมคนเข้าห้องประชุมสภาฯได้แบบหวุดหวิด
แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ก็ทำให้การประชุมสภาฯ ต้องสะดุด เสียเวลาของส่วนรวม ไม่มีอะไรออกมาเป็นชิ้นเป็นอัน เพราะหาช่องตีรวนกันทุกวินาที
ทำให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร ถึงกับเอ่ยปากว่า เป็นกงกรรมกงเกวียน
เปรียบเปรยในทำนองว่า พรรคประชาธิปัตย์ สมัยเป็นฝ่ายค้าน เคยเล่นเกมนับองค์ประชุมมาก่อน พอพลิกขั้วมาเป็นรัฐบาล ก็โดนฝ่ายค้านเล่นเกมนับองค์ประชุมบ้าง
ในขณะที่แกนนำพรรคประชาธิปัตย์ ก็ออกตัวว่า วิธีการที่ขอให้นับองค์ประชุมแตกต่างจากที่พรรคประชาธิปัตย์เคยดำเนินการ ทั้งเนื้อหาและเหตุผลในการขอนับองค์ประชุม
แต่อย่างไรก็ตาม อาการชุลมุนจากเกมขอนับองค์ประชุม ก็ยังต่อเนื่องมาถึงการประชุมสภาฯในวันที่สอง
ก่อนเข้าสู่วาระรับทราบผลการดำเนินงานของกระทรวงเกษตรฯ ฝ่ายค้านได้ขอนับองค์ประชุมอีกรอบ
ผลปรากฏว่ามี ส.ส.อยู่ในห้องประชุมเพียง 219 คน ไม่ถึงกึ่งหนึ่งของสภาฯ ถือว่าไม่ครบองค์ประชุม ไม่สามารถดำเนินการประชุมต่อไปได้ โดยประธานได้สั่งปิดประชุมทันที
สภาล่ม ประเดิมเปิดสมัยประชุม
จากปรากฏการณ์ความร้อนแรงในการประชุมสภาฯ ทำให้มีคำถามตามมาว่าเหตุใดจึงมีเหตุการณ์เช่นนี้
คำตอบก็คือ เป็นเพราะการเข้ามาเป็นรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ เกิดจากการพลิกขั้วการเมือง
อันเนื่องมาจากเกิดปัญหาม็อบเสื้อเหลืองต่อต้านรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคพลังประชาชน จนประเทศเดินหน้าไปไม่ได้
และเมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคพลังประชาชน กลุ่มเพื่อนเนวินในพรรคพลังประชาชน และพรรคร่วมรัฐบาลเดิม ปฏิบัติการพลิกขั้ว หันมาสนับสนุน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี
ผนึกเสียงชูพรรคประชาธิปัตย์ เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล
ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่า การเข้ามาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ได้มาโดยปกติ ไม่ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง
แต่เป็นรัฐบาลจากการหักดิบ ส่วนผสมของรัฐบาลเกิดจากการหักหลัง พลิกขั้ว
ทั้งนี้ เมื่อย้อนกลับไปหลังการเลือกตั้งปลายปี 2550 พรรคพลังประชาชนภายใต้การนำของนายสมัคร สุนทรเวช ชนะเลือกตั้ง ได้ ส.ส.เข้าสภาฯมาเป็นอันดับหนึ่ง
จัดตั้งรัฐบาลผสม 6 พรรค ประกอบด้วย พรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย พรรคเพื่อแผ่นดิน พรรคมัชฌิมาธิปไตย พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา และพรรคประชาราช
ท่ามกลางเสียงกล่าวหาว่า นายสมัครเป็นนายกฯนอมินี ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ
ในช่วงแรกที่นายสมัครเข้ามาเป็นนายกฯ สังคมให้โอกาสทำงานอย่างเต็มที่ เพราะต้องการเห็นความสมานฉันท์เกิดขึ้นในบ้านเมือง
แต่ผ่านไปไม่เท่าไหร่ รัฐบาลภายใต้การนำของพรรคพลังประชาชน ก็ขยับจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อปลดล็อกคดีให้ “นายใหญ่”
ส่งผลให้เกิดการเมืองนอกสภา กลุ่มพันธมิตรฯ ม็อบเสื้อเหลือง ยึดทำเนียบรัฐบาลชุมนุมต่อต้านยืดเยื้อ
รัฐบาลต้องระเหเร่ร่อนไปประชุม ครม.ที่กองบัญชาการกองทัพไทย
จนกระทั่งนายสมัครเจอคดีชิมไปบ่นไป หลุดจากตำแหน่งนายกฯ
เมื่อนายสมัครพ้นจากตำแหน่ง พรรคพลังประชาชนได้หนุนนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ น้องเขยของ พ.ต.ท.ทักษิณ ขึ้นเป็นนายกฯแทน
แต่ทำเนียบรัฐบาลก็ยังโดนม็อบเสื้อเหลืองยึดต่อเนื่อง จนต้องไปตั้งทำเนียบรัฐบาลชั่วคราว ที่อาคารสนามบินดอนเมือง
ขณะที่การแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา ก็มีการเสียเลือดเสียเนื้อ มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บสาหัสเป็นจำนวนมาก สถานการณ์ลุกลาม ม็อบเสื้อเหลืองบุกปิดล้อมสนามบินดอนเมืองและท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน แต่ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้
มีอำนาจรัฐ มีตำแหน่ง แต่บริหารประเทศไม่ได้
ส่งผลให้ประเทศตกอยู่ในสภาวะติดหล่ม ทำให้ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคธุรกิจเอกชนทนไม่ไหว มีเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภา ลาออก เพื่อยุติปัญหา
แต่รัฐบาลภายใต้การนำของนายสมชาย ก็ยังตื๊อขออยู่ในอำนาจต่อไป
จนในที่สุด ศาลรัฐธรรมนูญมีคำตัดสินชี้ขาด ยุบพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย
ส่งผลให้นายสมชาย ต้องหลุดจากตำแหน่งนายกฯ
สถานการณ์จึงเริ่มคลี่คลาย และทำให้เกิดการพลิกขั้วของกลุ่มเพื่อนเนวินและพรรคร่วมรัฐบาลเดิม หันมาสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล
ท่ามกลางเสียงขานรับของสังคม ที่เบื่อหน่าย เข็ดขยาดกับปัญหาความแตกแยกและการชุมนุมประท้วง ต้องการเห็นประเทศเดินไปข้างหน้า และต้องการให้รัฐบาลเข้ามาแก้วิกฤติเศรษฐกิจ
แต่สำหรับฝ่ายที่โดนพลิกขั้ว สูญเสียอำนาจรัฐ สูญเสียผลประโยชน์ รวมถึง “นายใหญ่” ที่ต้องสูญเสียอำนาจในการต่อรองเพื่อทวงสมบัติคืน
แน่นอน ย่อมฝังแค้น
และด้วยปมเหตุนี้ จึงทำให้การเมืองในสภาฯ ยุคพลิกขั้ว ไม่ใช่การต่อสู้กันแบบธรรมดา
แต่เป็นการเมืองเพื่อการล้างแค้น โดยไม่คำนึงแนวทางในระบอบประชาธิปไตย
ตั้งป้อมชำระแค้นกันเป็นหลัก
นอกสภาเล่นแรง ม็อบเสื้อแดงใช้อิฐบล็อกทุ่มใส่รถของ ส.ส.ในวันโหวตเลือกนายกฯ ก่อนผันมาเป็นยุทธการปาไข่ใส่คนของรัฐบาล
ล่าสุด อารมณ์คั่งแค้น “สีแดงสีเหลือง” ที่เคยอยู่นอกสภา ขยายลามเข้าไปในสภาฯแล้ว
ทั้งนี้จากปรากฏการณ์นับองค์ประชุมที่เกิดขึ้น สะท้อนว่า การระบายแค้นทางการเมืองส่งผลต่อการทำงานของสภาฯ ไม่มีบรรยากาศในการทำงานร่วมกัน
ที่สำคัญ จากนี้ไปการที่ฝ่ายบริหารจะเสนอกฎหมายต่างๆที่จะใช้ในการแก้ปัญหาของชาติ ก็อาจสะดุดเพราะถูกตีรวน และถึงแม้จะผ่านสภาฯไปได้ โดยเสียงของรัฐบาลล้วนๆ แต่ก็คงขลุกขลัก ไม่ลื่นไหล
ไม่มีบรรยากาศของความสมานฉันท์ ไม่มีบรรยากาศในการสร้างความเชื่อมั่น บั่นทอนประเทศ
โดยเฉพาะการพิจารณากรอบข้อตกลงอาเซียน ที่รัฐสภาจะมีการพิจารณาในวันที่ 26 มกราคมนี้ นายกฯ อภิสิทธิ์ถึงขั้นลงทุนไปพูดคุยกับวิปฝ่ายค้าน
ขอความร่วมมือให้ความเห็นชอบกรอบข้อตกลงดังกล่าว ที่ประเทศไทยจะต้องร่วมลงนามและเป็นเจ้าภาพจัดประชุมอาเซียนซัมมิตปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้
เพื่อเครดิตของประเทศ ที่จะส่งผลต่อการค้า การลงทุน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการแก้ไขปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ
แต่จากภาพเหตุการณ์ในการประชุมสภาฯ 2 นัดที่ผ่านมา การทำงานของฝ่ายค้านและรัฐบาลในสภาฯ สะท้อนชัด ไม่มีท่าทีที่เป็นมิตรต่อกัน
ทั้งที่ตามรัฐธรรมนูญ สภาฯ ถือเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ เป็นหนึ่งในอำนาจอธิปไตย นอกเหนือจากฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ
แน่นอน ฝ่ายนิติบัญญัตินอกจากมีหน้าที่หลักในการออกกฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหาของประเทศแล้ว ยังมีหน้าที่ในการตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหาร ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ
แต่ที่สำคัญสูงสุด สภาฯ ต้องเป็นเวทีในการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนและประเทศชาติ
ถ้าสภาฯไม่สามารถเป็นเวทีแก้ปัญหา
เป็นแค่เวทีชำระแค้นทางการเมือง เป็นแค่เวทีตีไก่
ไม่สามารถแก้ไขปัญหาเพื่อให้ประเทศชาติเดินหน้าไปได้
โดย ส.ส.ที่อ้างตัวว่าเป็นผู้แทนปวงชน ตั้งหน้าตั้งตาชำระแค้นกันอย่างเดียว
ในที่สุดประชาชนและประเทศชาติ ก็ไม่พ้นต้องกลายเป็นผู้รับกรรม.
“ทีมข่าวการเมือง”