วันศุกร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

นิธิ’ ยันหลักการร่วมลงชื่อยกเลิก ม.112 ป้องกันใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง

ที่มา Thai E-News


ที่มา ประชาไท

11 กุมภาพันธ์ 2552


ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ให้สัมภาษณ์ ประชาไทกล่าวถึงการร่วมลงชื่อ กรณีรณรงค์ให้ยกเลิกมาตรา112 (หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ) หลังจากพนักงานสอบสวนออกหมายเรียก รศ.ใจ อึ๊งภากรณ์ ในความผิดเกี่ยวกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพว่า เป็นไปตามหลักการเรื่องเสรีภาพในการแสดงออก

“การลงชื่อนั้น คนอื่นจะคิดอย่างไรก็แล้วแต่ แต่ประเด็นมันอยู่ที่เรื่องหลักการที่ว่า คนควรมีเสรีภาพในการพูดหรือแสดงออก ในสิ่งที่เขาพูด เขาอาจจะคิดผิด ข้อมูลผิด อะไรก็ตามแต่ ก็ตอบโต้เขาได้ ไม่ใช่ปัญหา ซึ่งคนที่ลงชื่อจำนวนไม่น้อยก็อาจจะไม่เห็นด้วยสิ่งที่ใจคิดหรือข้อเขียนของเขาที่กลายเป็นคดีก็ได้ แต่เขาเซ็นชื่อด้วยหลักการว่า เป็นนักวิชาการจะคิดอย่างนั้น จะวิเคราะห์อย่างนั้น เป็นหน้าที่ที่จะแสดงออกโดยมีเสรีภาพ" นิธิกล่าว อย่างไรก็ตามเขาเห็นว่า ข้อความที่ ใจเขียนในหนังสือและกลายเป็นคดีความนั้น โดยส่วนตัวคิดว่าไม่ได้มีเจตนาที่จะดูหมิ่นหรือก่อความอาฆาตมาดร้ายต่อสถาบัน

“คนลงชื่อให้อาจารย์ใจ ไม่ได้แปลว่าเห็นด้วยกับอาจารย์ใจ แต่ลงชื่อในหลักการว่า อาจารย์ใจต้องมีเสรีภาพในการแสดงออกโดยบริสุทธิ์ใจในสิ่งที่แกคิด แกวิเคราะห์ คนละเรื่องกัน ต้องแยกตรงนี้ให้ออก” นิธิกล่าว

เมื่อถามถึงการจัดการต่อบรรยากาศของความกลัวที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมไทยขณะนี้ นิธิย้ำว่า หากเราไม่มีสติปัญญาที่จะโต้ หรือชี้ให้เห็นจุดอ่อนจุดแข็งต่างๆ ในงานศึกษาเหล่านี้ก็อาจต้องกลัว เหมือนกับกบที่ต้องขุดดินหนีภัยเพราะไม่สามารถจะสู้อะไรได้ แต่ถ้าสังคมไทยเป็นสังคมที่มีสติปัญญา สามารถที่จะตอบโต้ด้วยเหตุผลได้ก็ไม่เห็นจะมีอะไรน่ากลัว

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า การดำเนินคดีข้อหาหมิ่นฯ กับผู้คนร้อยกว่าคดี ประกอบกับการที่สื่อมวลชนไทยไม่ลงข่าวนี้ปล่อยให้มีการดำเนินการกันเงียบๆ จะทำให้บรรยากาศความกลัวเลวร้ายลงหรือไม่ นิธิตอบว่า อันที่จริง คนไม่กล้าพูดมาเป็นเวลานานแล้ว แต่ตอนนี้กลายเป็นว่า คนถูกฟ้องร้องมีมากมาย โดยมีบุคคลก็ตาม องค์กรก็ตาม พรรคการเมืองก็ตาม ใช้ประโยชน์จากมาตรา 112 ในการขจัดศัตรูทางการเมืองของตนเอง ที่น่าเศร้าคือ มาตรานี้อนุญาตให้ใครเป็นผู้ร้องทุกข์ก็ได้ ถามว่าตำรวจไทยเมื่อได้รับคดีร้องทุกข์อย่างนี้จะกล้าบอกไหมว่าการร้องทุกข์นั้นฟังไม่ขึ้น ประกอบกับการกระพือข่าวก่อนที่จะมีการกล่าวหาด้วยแล้ว ยิ่งเป็นไปได้ยากที่จะไม่ทำคดี ดังนั้น ในที่สุด ทุกคนก็ผ่านจากขั้นตำรวจไปถึงขั้นอัยการ ซึ่งสำหรับคดีนี้ อัยการส่วนใหญ่หรืออย่างน้อยครึ่งหนึ่งก็คงต้องฟ้องไปก่อนแล้วให้ไปว่ากันที่ศาล ภายใต้กระบวนการยืดยาวทั้งหมดนี้ คนที่ถูกร้องทุกข์กล่าวโทษจะเดือดร้อนแค่ไหน

“กฎหมายตัวนี้ถูกคนนำไปใช้ไม่ใช่เพื่อเจตนารมณ์ของกฎหมาย เจตนารมณ์ของกฎหมายก็คือ สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ในฐานะลำบาก ท่านป้องกันตัวเองได้ยาก ถ้าใครหมิ่นประมาทท่าน จะให้ท่านลงมาว่าคดีกันในศาลมันจะไหวหรือ เพราะท่านคือประมุขของชาติ ดังนั้น เขาจึงทำกฎหมายแบบนี้เพื่อปกป้องให้สถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ต้องลงมาทำเอง แต่คุณไม่ระวัง เลยปล่อยให้ถูกใช้ชนิดที่ไม่ถูกเจตนารมณ์ สร้างความเดือดร้อนไปหมดทุกหย่อมหญ้าเวลานี้ กฎหมายตัวนี้ถ้าคุณไม่ทบทวนกระบวนการใช้มัน มันจะกลายเป็นตัวเผาบ้านเผาเมือง”

“ผมคิดว่าสำหรับคนที่จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยความจริงใจ ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ก็น่าจะมองเห็นว่า ทำแบบนี้ตัวสถาบันพระมหากษัตริย์เองเดือดร้อนไปด้วย” นิธิกล่าว

นิธิกล่าวด้วยว่า ไม่โกรธกับการออกนอกประเทศของใจ เพราะแม้ทุกอย่างซื่อสัตย์หมด กระบวนการยุติธรรมในประเทศไทยก็กินเวลายาวนานไล่ตั้งแต่ตำรวจถึงอัยการ และบางทีในชั้นศาลก็อาจประกันตัวไม่ได้ด้วย

“สมมติว่าศาลใช้เวลา 3 ปีในการไต่สวน แล้วในที่สุดก็พ้นข้อหา แต่ 3 ปีต้องอยู่ในคุก คุณเอาไหม เพราะฉะนั้น ไม่ว่าอาจารย์ใจจะหนีไปด้วยเหตุใด แถลงการณ์ล่าสุดของท่านก็เป็นเรื่องของท่าน แต่สมมติท่านไม่มีแถลงการณ์เลย ผมก็ยังเห็นใจการที่บุคคลหลบหนีออกจากประเทศไทยเพราะคดีนี้” นิธิกล่าว พร้อมระบุว่า สิ่งหนึ่งที่ควรตระหนักคือแถลงการณ์ชิ้นสุดท้ายของใจนั้นเกิดขึ้นหลังจากคดีความและแรงกดดันต่างๆ เริ่มขึ้นแล้ว เหมือนเป็นปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นต่อการกระทำที่ไม่เป็นธรรมที่ผ่านมา ส่วนก่อนหน้าที่เหตุการณ์จะเกิดขึ้น ยังไม่เห็นว่าอาจารย์ใจเจตนาจะต่อต้านสถาบันในกรณีไหน




ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Nidhi: signing the petition was for the principle of free speech /ประชาไท/12 Feb 09
แฮรี่ นิโคไลดส์ บันทึกหลังกรงขัง: ราคาที่ต้องจ่ายสำหรับการเขียน ‘หมิ่นสถาบันฯ’ /ประชาไท/11 Feb 09
THAILAND: Time to talk openly about lese-majesty /AHRC/12 Feb 09
Social critic urges Thai premier to act on lese majeste /Deutsche Presse-Agentur/11 Feb 09