วันพุธที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

เปิดเส้นทางเถื่อน แรงงานพม่าเข้าไทย

ที่มา ไทยรัฐ

แนวชายแดนไทยกับประเทศพม่ามีทั้งแผ่นดิน และผืนน้ำ ลักษณะภูมิประเทศเช่นนี้ ด้านหนึ่งเอื้อต่อการเดินทางไปมาหาสู่ระหว่างกันของชนทั้งสองชาติ

แต่อีกด้านหนึ่ง เท่ากับเปิดโอกาสให้แรงงานพม่าไหลเข้าสู่ประเทศ แรงงานเหล่านี้มีเดินทางมาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และลอบเข้ามาอย่างผิดกฎหมาย

กรณีของนายจายบึก คนงานก่อสร้างชาวพม่า ที่ก่อคดีฆ่าข่มขืนนักศึกษาสาวมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และถูกจับเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2552 นั้น เข้ามาทางภาคเหนือคือรอยต่อไทย-พม่า เขตอำเภอ ขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน

เส้นทางเข้ามาของจายบึกเป็นเส้นทางหนึ่งของภาคเหนือ ไล่สายตาลงมาดูภาคกลางจะเห็นว่าด้านจังหวัดกาญจนบุรี และจังหวัดราชบุรีจะได้รับความนิยมสูง เพราะเดินทางเข้ามาแล้ว เดินทางต่อเข้าแหล่งทำงานได้ง่าย และใช้เวลาไม่นานนัก

แหล่งงานของแรงงานต่างด้าวพม่าในภาคกลาง มี 3 จังหวัดหลักๆ คือกรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ และสมุทรสาคร

นอกจากนี้ ยังอยู่ที่ตลาดสี่มุมเมือง รังสิต จังหวัดปทุมธานี และที่ตลาดไท อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี

เส้นทางสวนผึ้ง ลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาสูง เอื้อให้แรงงานเดินทางเข้ามาได้ง่าย ชาวสวนผึ้งคนหนึ่งบอกว่า

สวนผึ้งมีแรงงานเข้ามาด้วยกัน 2 เส้นทาง

เส้นทางแรก เข้ามาอยู่ในศูนย์ผู้ลี้ภัยบ้านถ้ำหิน แล้วลักลอบหนีออกมา เส้นทางที่สอง เดินเลาะเขามาจากอำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี แล้วมาหาญาติที่อำเภอสวนผึ้ง ก่อนเดินทางต่อไปทำงานตามที่นายหน้าหาไว้รองรับ

แรงงานที่เดินทางมาทั้ง 2 เส้น มีวิธีเข้าไปขายแรงงานคือ นายหน้าเอารถมารับในจุดนัดหมาย นายจ้างเอารถมารับตามจุดนัดหมาย และแรงงานค่อยๆ ทยอยกันขึ้นรถเมล์ไปยังตัวจังหวัดราชบุรี แล้วไปรวมตัวกันตามจุดนัดหมาย

แรงงานเหล่านี้ ส่วนใหญ่ไปลงเรือประมง

เส้นทางสายกาญจนบุรี ตัวอย่างผู้เดินทางเข้ามา เช่น นางสาวอาว อายุ 22 ปี แรงงานต่างด้าวเชื้อสายมอญ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ปัจจุบันทำงานอยู่ที่มหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร

เธอเล่าว่า ก่อนเดินทางเข้ามา เธอมีพี่สาวทำงานแม่บ้านอยู่ในกรุงเทพฯก่อนแล้ว ถือว่ามีช่องที่ดี ที่บ้านเกิดแม่เปิดร้านขายของชำ แม่ไม่อยากให้เดินทางเข้ามาทำงานเลย เพราะอยากให้ช่วยขายของ แต่เธอเห็นเพื่อนๆ เข้ามาทำงานจึงฝันอยากที่จะมาทำงานกับเพื่อนๆบ้าง

ภาพฝันอันสวยงามคือ อยากได้เงินไปสร้างบ้านใหม่แม่ อยากให้แม่อยู่สบายๆ เพราะเมื่อตอนเด็กๆ เห็นแม่ลำบากมาก เพราะพ่อมาเสียชีวิตไปก่อน

แม้จะอยู่ที่สังขละบุรี แต่การเดินทางสู่มหาชัยไม่ใช่เรื่องง่ายๆ

เพราะ ต้องเดินเท้ามาทั้งกลางวันและกลางคืน คณะของหนูมากัน 10 กว่าคน ระหว่างทางไม่ได้กินข้าวกินน้ำเลย เดินกันไม่ได้หยุดหย่อน เราเดินมานั่งรถเมล์ที่ตัวจังหวัดกาญจนบุรี ถ้านั่งรถเมล์สายสังขละบุรีมากาญจนบุรีทำไม่ได้ เพราะมีด่านตำรวจตรวจตราเป็นระยะๆ

นายหน้านำพานั้น เป็นคนไทย

คณะที่เดินทางมา ต้องจ่ายค่านำมาคนละ 1,200 บาท โดยมีสัญญากันว่า ต้องนำมาส่งชานเมืองกรุงเทพมหานคร ระหว่างทางถ้าถูกจับกุม นายหน้าจะไม่รับผิดชอบใดๆทั้งสิ้น และจะไม่คืนเงินให้อย่างเด็ดขาด

ร้ายกว่าอื่นใดคือ เงินที่ให้นายหน้านั้น หนูขโมยเงินแม่มาจ่ายให้เขาไป

ระหว่างเดินทางมา ยังไม่รู้เลยว่าจะได้งานอะไรทำ เขาบอกให้หาเอาเอง เราก็อาศัยว่ามีพี่สาวอยู่ในกรุงเทพฯแล้ว ก็คิดว่าอย่างไรก็ต้องมีงานทำ

นับว่าโชคดีที่ได้งานแม่บ้านทำ เมื่อเพื่อนชวนเข้ามาทำงานที่มหาชัยก็นั่งรถเมล์ต่อมาอีก ระหว่างทางเส้นนี้ไม่ต้องมีคนนำพา เพราะไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจบัตรประจำตัวประชาชนเหมือนที่เมืองกาญจน์

ไต่ตามเทือกเขาตะนาวศรีลงไป จุดที่แรงงานพม่าเข้ามามากที่สุดคือ จังหวัดระนอง หนึ่งในนั้นคือ จาย อายุ 35 ปี เป็นชาวยะไข่ จายบอกว่าขณะเรียนหนังสือยู่ที่บ้านเกิด มีเพื่อนๆชวนเข้ามาทำงานในประเทศไทยก็ตัดสินใจมา

ดวงใจที่ไหวเต้นนั้น ผมฝันว่า เมื่อได้ทำงานแล้ว จะได้ไปเที่ยวมาเลเซีย และออสเตรเลียครับ

ความฝันกับความจริงมักขัดแย้งกันเหมือนสีขาวกับสีดำ และสีแดงกับสีเหลืองในสถานการณ์การเมืองไทยในปัจจุบัน

จายเล่าว่า ก่อนเข้ามาต้องจ่ายเงินค่านายหน้าจำนวน 5,000 บาท เดินทางจากยะไข่มาถึงย่างกุ้งประมาณ 7-8 วัน

จากนั้นนั่งรถเมล์จากย่างกุ้งมาเกาะสอง แล้วต่อจากเกาะสองมายังแม่กลอง

นายหน้าพามาถึงแม่กลองเท่านั้นครับ หลังจากนั้นเราต้องหางานเอาเอง ก็อาศัยเพื่อนๆที่มาด้วยกัน และทำงานอยู่ก่อนแล้วช่วยเหลือจายบอก

ชีวิตของจายเมื่อถึงมหาชัยแล้วก็ลงเรืออวน

ความฝันที่จะได้ไปเที่ยวประเทศออสเตรเลียเป็นอันต้องพับไป เมื่อลงเรืออวนลากในท้องทะเล และที่เลวร้ายก็คือ

ผมลงเรืออวนไปคราวหนึ่งเป็นเดือนๆ งานหนักมาก และเมื่อไปลากอวนในประเทศอื่น เรือที่ผมทำงานอยู่ต้องหนีเจ้าหน้าที่บ้านเมืองของเขา เราไปคราวๆหนึ่งประมาณ 4 ลำ เมื่อโดนไล่ขับเราก็หนีมาพร้อมๆกัน

จายบอกว่า บางทีเขาก็ยิงใส่เรือ ต้องหลบอยู่กับกราบเรือ โผล่หัวขึ้นมาไม่ได้เลย

ลงเรืออยู่หลายปี เมื่อเพื่อนชวนขึ้นฝั่งเข้ามาทำงานมหาชัย จายจึงตัดสินใจเปลี่ยนเส้นทางชีวิตใหม่ แต่งานอู่ซ่อมรถนั้นก็ทั้งแสนหนักและเหนื่อย

เส้นทางเข้ามาของจาย เป็นเส้นทางเดียวกับโรฮิงญา และบ้านของจายก็เป็นบ้านเดียวกับโรฮิงญา เส้นทางนี้ เมื่อมาถึงเกาะสองแล้ว สามารถไปขายแรงงานได้ที่จังหวัดภูเก็ต หาดใหญ่-สงขลา จังหวัดสุราษฎร์ธานี

และถ้ามีทุนและแรงพอ ก็สามารถเดินทางต่อไปทำงานได้ยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย บรูไน เป็นต้น

โก อายุ 32 ปี อีกหนึ่งแรงงานต่างด้าว เป็นชาวเมาะลำไย อยู่ตอนใต้ของกรุงย่างกุ้ง เป็นชาวพม่าอีกคนหนึ่ง หลังขายแรงที่มหาชัยอยู่นานปีก็ผันตัวเองเข้ามาทำงานให้กับมูลนิธิรักษ์ไทย เพื่อช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวด้วยกัน

โกบอกว่า มาอยู่เมืองไทยนานแล้ว อยากจะกลับบ้านเหมือนกัน แต่เมื่อคิดแล้วเห็นว่าไม่คุ้ม เพราะเมื่อไปแล้วขากลับมาเมืองไทย ต้องจ่ายค่านายหน้าประมาณ 15,000 บาท เรื่อยไปจนถึง 18,000 บาท ต่อคนต่อครั้ง

เงินจำนวนนี้โกบอกว่า เป็นค่านำพาจากชายแดนมาถึงกรุงเทพฯหรือชานเมืองเท่านั้น ระหว่างเดินทางถ้ามีอะไรผิดพลาด เจ้าหน้าที่จับได้ก็ต้องกลับไปเริ่มต้นใหม่

นั่นหมายความว่าต้องหาเงินมาจ่ายใหม่อีก

ขากลับเสี่ยงมากครับ ต้องเดินทางเท้าเข้ามาระหว่างทางมันเสี่ยงมาก ผมเลยยังไม่อยากกลับไปบ้านโกบอก

เส้นทางชีวิตแรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่า กว่าจะผ่านด่านมาได้ต้องจ่ายเงิน และมีความเสี่ยงไม่น้อย มองด้านความเป็นคนเหมือนกันก็นับว่าน่าสงสาร

แต่ถ้ามองด้านปัญหาสังคมที่แรงงานต่างด้าวส่วนหนึ่งเข้ามาก่อ ก็เป็นเรื่องที่ต้องตรองให้หนักอยู่เหมือนกัน

แรงงานต่างด้าวมิใช่มีแต่พม่า มอญ แต่ยังมีลาว และกัมพูชาที่หลั่งไหลเข้ามาทำงานไม่น้อย และแน่นอนว่า เข้ามาอย่างถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย.