วันเสาร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

ดึงสถาบันพระปกเกล้านำปฏิรูปการเมือง

ที่มา ไทยรัฐ

ความคืบหน้าในการปฏิรูปการเมือง เมื่อเวลา 07.30 น. วานนี้ (20 ก.พ.) ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ก่อนออกเดินทางไปเยือนสาธารณรัฐอินโดนีเซียว่า เมื่อวันที่ 19 ก.พ.ที่ผ่านมา ได้คุยกับนายชัย ชิดชอบ ประธานสภา ผู้แทนราษฎร และนายวิทยา บุรณศิริ ส.ส.พระนครศรีอยุธยา พรรคเพื่อไทย ประธานวิปฝ่ายค้าน ถึงความคืบหน้าในการ ปฏิรูปการเมือง โดยได้ทำหนังสือถึงสถาบันพระปกเกล้าให้สภาสถาบันพระปกเกล้าพิจารณาความเป็นไปได้ที่ จะเป็นแกนในการดำเนินกระบวนการปฏิรูปการเมือง หมายถึงกรรมการสถาบันจะเป็นผู้พิจารณาว่าจะสามารถทำงานนี้ได้หรือไม่ หากทำแล้วจะทำรูปแบบใด มีกลไกกรรมการดำเนินการ ใช้เวลาเท่าไหร่ เพื่อนำข้อเสนอต่างๆ ประเด็นใดบ้างที่จะครอบคลุม ซึ่งประธานวิปฝ่ายค้านเห็นว่าน่าจะเป็นแนวทางที่เหมาะสม คิดว่าจะช่วยทำให้เกิดความเข้าใจที่ดีขึ้นระหว่างฝ่ายต่างๆ

“อภิสิทธิ์” ตั้งเป้าเสร็จในรัฐบาลนี้

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะไม่มีการเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แต่จะให้เสนอผ่านกระบวนการปฏิรูปการเมืองใช่ หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ตอบว่า ได้คุยกับฝ่ายค้านให้ใช้ช่องทางนี้ในการนำเสนอความคิดต่างๆ เพราะหลักที่อยากเห็นคือหากสถาบันรับดำเนินการ สถาบันจะต้องเชิญฝ่ายต่างๆเข้าร่วม เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้าก็ระบุว่า แนวทางดำเนินการต้องให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม ถือเป็นเรื่องของฝ่ายค้านจะไปพูดคุยกันภายใน หากคิดว่าแนว ทางนี้เหมาะสม เมื่อถามว่าถ้าตกลงกันได้จะต้องประกาศหรือทำสัญญาร่วมกันระหว่างฝ่ายค้านกับรัฐบาลหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ตอบว่า หากทุกอย่างตกลงกันได้ ถือว่าการพูดจาผ่านสาธารณะก็เพียงพอ ต้องให้เกียรติซึ่งกัน และกัน ส่วนที่นักวิชาการตั้งคณะกรรมการศึกษาปฏิรูปประเทศไทยคู่ขนาน อย่างคณะของ นพ.ประเวศ วะสี นักวิชาการชื่อดังนั้น ก็ได้รับทราบและติดตาม ขึ้นอยู่กับสถาบันพระปกเกล้าว่าประเด็นมากน้อยแค่ไหน หากทำหลายเรื่องมากเกินไป ใช้เวลานานเกินไป จะเป็นอุปสรรคในการแก้ปัญหา เมื่อถามว่าเวลาที่เหมาะสมคือเมื่อไหร่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ให้คณะกรรมการพิจารณา พยายามไม่ไปชี้นำ และถือว่าให้องค์กรมีความเป็นกลางเชิญทุก ฝ่ายมีส่วนร่วม ต้องพยายามให้สำเร็จภายในรัฐบาลนี้

“ชัย” รับลูกพร้อมชงเข้าที่ประชุม

นายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา ในฐานะประธานสภาสถาบันพระปกเกล้า กล่าวถึงข้อเสนอของนายกฯให้สถาบันพระปกเกล้าเป็นเจ้าภาพในการปฏิรูปการเมืองว่าเห็นด้วย เพราะสถาบันพระปกเกล้าประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิหลากหลายสาขา และมีอดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญหลายคนรวมอยู่ด้วย อาทิ นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ นายวิษณุ เครืองาม และยังมีทั้งฝ่ายที่เป็น เสื้อแดงและเสื้อเหลืองร่วมด้วย หากรัฐบาลทำเรื่องขอมา ก็พร้อมจะนำเข้าหารือในที่ประชุมคณะกรรมการสถาบันพระปกเกล้าให้วินิจฉัยว่าจะรับเป็นผู้ดำเนินการหรือไม่ ถ้าเสนอมาเร็วก็อาจนำเข้าหารือในการประชุมคณะกรรมการสถาบันพระปกเกล้าวันที่ 9 มี.ค.นี้ทันที ส่วนการปฏิรูปการเมืองจะเป็นไปได้หรือไม่ ก็อยู่ที่สื่อช่วยกันประชาสัมพันธ์ ถ้าสื่อไม่ช่วยคงตกเหว

โอ่ผู้รู้เพียบ-ใช้เวลาไม่นาน

นายชัยกล่าวด้วยว่า หากคณะกรรมการสถาบันพระปกเกล้ามีมติรับดำเนินการ ก็คงเป็นการพิจารณาในทุกด้าน สานประโยชน์ทุกฝ่ายตั้งแต่ระดับรากหญ้า แต่น่าจะใช้เวลาไม่นาน เพราะผู้รู้แต่ละคนมีข้อมูลในมืออยู่แล้ว มองอะไรทะลุปรุโปร่ง ทั้งนี้ควรจะเชิญคนนอกที่เป็นคนกลางจริงๆมาร่วมแก้ไขปัญหาด้วย เหมือนอย่างนักศึกษาช่างกลปทุมวันและอุเทนถวายที่ขณะนี้เด็กๆเหล่านั้นจับมือกันแก้ปัญหา ดังนั้นเสื้อเหลืองเสื้อแดงก็ควรดูตัวอย่างนักศึกษาทั้งสองสถาบันนี้ด้วย

รองประธานวุฒิสภาเชื่อสังคมยอมรับ

นายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานวุฒิสภา ให้ สัมภาษณ์ว่า ก่อนหน้านี้มีการประชุมร่วม 4 ฝ่าย เพื่อ ผลักดันให้สภาพัฒนาการเมืองเป็นตัวกลางแก้ปัญหาวิกฤติชาติ แต่ได้รับการปฏิเสธ แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล แล้วไปให้สถาบันพระปกเกล้าเป็นตัวกลางแทน เชื่อว่าคงได้รับการยอมรับ แต่ขึ้นอยู่กับทุกฝ่ายต้องเปิดใจยอมรับ ทั้งหมดขึ้นอยู่กับเหตุและผล หากเราใช้องค์กรที่ไม่มีส่วนได้เสียมาเป็นตัวกลางแล้วยังไม่ได้รับการยอมรับ ก็ไม่รู้จะทำอย่างไรเหมือนกัน ส่วนตัวยังเชื่อว่า การมอบหมายให้สถาบันพระปกเกล้าน่าจะเป็นไปได้ แต่ทุกฝ่ายต้องเปิดใจให้กว้าง หากทั้งกลุ่มพันธมิตรฯหรือกลุ่ม นปช. ให้การยอมรับก็น่าจะดี