วันอังคารที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

ทางเลือกสุดท้าย

ที่มา ไทยรัฐ

การจุดพลุ พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองหรือการนิรโทษกรรมของพรรคเพื่อไทยย่อมมีนัยเพื่อเป้าหมายในการปลดแอกนักการเมืองสำคัญๆ ให้พ้นจากการถูกเว้นวรรคการเมืองแล้ว หากทำสำเร็จก็มองเห็นอนาคตข้างหน้าชัดเจนขึ้น

คือทำให้ นายใหญ่คืนกลับมาสู่สังเวียนการเมืองอีกครั้งแบบไร้มลทิน

แต่อีกด้านหนึ่ง หากไม่สำเร็จ ก็จะทำให้รัฐบาลปั˜นป่วน เกิดความขัดแย้งภายใน โดยไม่ต้องลงทุนอะไรมากนัก เพราะยังไม่ทันได้ยื่นก็เริ่มระส่ำระสายแล้ว เพราะคิดเห็นเป็น 2 ฝ่ายคือ เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ซึ่งไม่ใช่แค่ประชาธิปัตย์กับพรรคเท่านั้น แม้แต่พรรคร่วมด้วยกัน ก็ใช่ว่าจะเห็นตรงกัน

ที่ว่าอย่างนี้ก็เพราะแม้ว่าส่วนหนึ่งที่เห็นด้วย ก็เพื่อให้บรรดาแกนนำที่ว่ากันถึงที่สุดแล้วก็คือ ผู้อยู่เบื้องหลังซึ่งจริงๆก็คือ หัวหน้าพรรคตัวจริง แต่ถูกเว้นวรรคสามารถคืนสู่สนามได้อีกครั้งหนึ่ง โดยไม่ต้องวาระครบ 5 ปี แต่อย่างใด

นอกจากนั้น ยังสามารถที่จะสร้างความสมานฉันท์ในหมู่นักการ เมือง ซึ่งตกอยู่ในที่นั่งเดียวกันได้ระดับหนึ่ง หรือจะเรียกว่าเป็นบุญคุณทางการเมืองต่อกันได้อีกด้วย

สำหรับ 111 คน ที่ถูกเว้นวรรคการเมืองชุดแรกนั้น แม้จะเหลือเวลาอีกไม่เท่าใด ก็จะพ้นคุกแล้ว แต่เนื่องจากวาระของสภาที่จะครบ 4 ปี ก่อนที่จะถึงวาระนั้น จึงต้องมีการเลือกตั้งใหม่ หากอยู่ครบเว้นวรรค 5 ปี ก็ต้องรอเวลาไปอีกเป็น 9 ปี

ดังนั้น หากมี ก.ม.นิรโทษกรรมออกมาตอนนี้ก็ถือว่าได้โชค 2 ชั้นเลยทีเดียว ไม่ต้องพูดถึงพวกเว้นวรรคชุดหลังที่ถูกโทษในระยะเวลาสั้นๆก็พ้นแล้ว

ไมตรีจิตอย่างนี้แหละที่จะทำให้ ประชาธิปัตย์เหนื่อยหัวใจแน่

แม้ส่วนหนึ่งจะมองว่า ถ้า ก.ม.นิรโทษกรรมผ่านความเห็นชอบจะส่งผลให้การกลับคืนสู่ถนนการเมืองของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งจะทำให้ นักการเมืองที่แยกคอกออกมาจะหวั่นไหวโดยมองว่าจะต้องกลับมาใหญ่และชนะการเลือกตั้งเป็นนายกฯเป็นรัฐบาล อาจจะไม่เห็นชอบกับแนวทางนี้

หรือนักการเมืองรุ่นที่ 3 หรือหน้าใหม่ๆ ที่เห็นว่าหากนักการเมืองรุ่นเก่ากลับมาเล่นการเมืองได้ก็จะปิดกั้นโอกาสพวกเขาที่จะมีบทบาท และเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมืองตามความปรารถนา ใครจะเชื่อล่ะว่าการเมืองยุคนี้ จะได้เป็นนายกฯหรือรัฐมนตรีกันอย่างง่ายดาย

ดังนั้น การทำให้กฎหมายนี้แท้งไม่ผ่าน ก็เท่ากับกำจัดนักการเมืองรุ่นนั้นไปโดยปริยาย เปิดโอกาสกว้างสำหรับพวกนักการเมืองโนเนมอย่างพวกเขา ซึ่งไม่มีโอกาสไหนจะดีกว่านี้แล้ว

นี่คือ สิ่งที่ประชาธิปัตย์ในฐานะแกนนำรัฐบาลคิดและมุ่งหวังว่าจะให้เป็นไปเช่นนั้น เพราะสอดรับกับประโยชน์ของพวกเขาโดยตรง

แต่ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นประชาธิปัตย์ประกาศชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับกฎหมายฉบับนี้ แต่จะใช้วิธีการยื้อเวลาออกไปด้วยข้ออ้างที่ว่าปัญหาเศรษฐกิจเร่งด่วน และสำคัญกว่าปัญหาการเมือง ขณะเดียวกันก็สร้างไมตรีจิตด้วยแนวคิดปฏิรูปการเมืองมารองรับ

และเห็นว่าจะทำให้เกิดความชอบธรรมสร้างการเมืองใหม่ ประชาชนมีส่วนร่วม ไม่ใช่ออกกฎหมายเพื่อช่วยเหลือนักการเมืองเพียงกลุ่มเดียว ซึ่งไม่เป็นประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่และไม่เป็นการขัดหรือไปล้มล้างกระบวนการยุติธรรมที่กำลังถูกย่ำยีในขณะนี้ คือพร้อมจะช่วยแต่ก็ต้องช่วยด้วยกลวิธีที่แยบยลกว่า

ทั้งหลายทั้งปวงคงจะมีการหารือกันระหว่างรัฐบาลกับพรรคร่วมรัฐบาล เพราะดูเหมือนว่าพรรคร่วมแม้จะมีเสียงสนับสนุนในระดับที่กว้าง แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจน ซึ่งนั่นแสดงว่าอาจจะพูดคุยทำความเข้าใจกันได้ ที่สำคัญก็คือต้องตั้งคำถามว่าต้องการให้ ทักษิณคืนสังเวียนการเมืองหรือต้องการให้พันธมิตรฯ ออกมาเคลื่อนไหวทำให้บ้านเมืองวุ่นวายอีกหรือ

จะอย่างไรก็ดี ประชาธิปัตย์จะต้องยื้อให้นานที่สุด เพื่อให้รัฐบาลตั้งหลักได้แม้จะเกิดปัญหาก็ตาม

สุดท้ายคงหนีไม่พ้น ยุบสภาทางออกที่ต้องเลือก.

“สายล่อฟ้า”