วันจันทร์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2552

ผู้จัดงานฮ่องกงเลื่อนวิดีโอลิงก์ทักษิณ

ที่มา ข่าวสดออนไลน์

ยันใช้เวลาติดตั้งอุปกรณ์ ไม่เกี่ยวแรงกดดัน


เมื่อ 1 มี.ค. เอเอฟพีรายงานว่า นายแอนส์ เฮิร์บ ประธานสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศฮ่องกง กล่าวว่า ทางสมาคมได้รับการติดต่อจากพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีไทย ว่ายินดีที่จะกล่าวสุนทรพจน์ผ่านการถ่ายทอดทางวิดีโอ หรือวิดีโอลิงก์ แทนการปรากฏตัว เพราะไม่ต้องการให้เกิดปัญหากระทบความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทย-จีน แต่ทางสมาคมต้องเลื่อนเวลาออกไปอีก 2-3 วัน เนื่องจากต้องอาศัยการติดตั้งอุปกรณ์สื่อสารก่อน ไม่เกี่ยวกับแรงกดดันจากภายนอกแต่อย่างใด สำหรับหัวข้อที่พ.ต.ท.ทักษิณจะกล่าวคือ “วิกฤตการเงิน, ความไม่แน่นอนทางการเมือง : บทเรียนจากประเทศไทย”

เมื่อวันที่ 28 ก.พ. นายพุทธิพงษ์ ปุณณกัณฑ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ไทยเตรียมการเพื่อจับกุมตัวพ.ต.ท.ทักษิณ หากเดินทางไปที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ เพราะเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทั้งอัยการและตำรวจ ต้องเตรียมตัวให้พร้อม จริงๆแล้วเรื่องนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องที่รัฐบาลตั้งใจทำให้เกิดขึ้น แต่เมื่อมีรายงานข่าวว่าอดีตนายกฯไปอยู่ที่นั่นก็เป็นสิ่งที่เจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติ ไม่ได้มีวาระแอบแฝงหรือตั้งเป้า

นายนพดล ปัทมะ อดีตที่ปรึกษากฎหมาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี รีบประสานงานเพื่อขอให้รัฐบาลฮ่องกงส่งตัวพ.ต.ท.ทักษิณกลับมาดำเนินคดีนั้น เป็นการเร่งรัดเกินความจำเป็น แม้เป็นสิทธิที่ทำได้ แต่การดำเนินการดังกล่าวต้องทำอยู่ในกรอบกฎหมาย และควรจะใช้ความกระตือรือร้นไปเร่งรัดดำเนินคดีกับกลุ่มที่ยึดสนามบินสุวรรณภูมิจะดีกว่า

ด้านหนังสือพิมพ์เซาธ์ไชน่ามอร์นิ่ง โพสต์ ของฮ่องกง รายงานเมื่อ 27 ก.พ. ว่า โฆษกสำนักงานความมั่นคงของฮ่องกง เผยว่า จีนแผ่นดินใหญ่กับไทยลงนามในสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างกัน แต่ระหว่างไทยกับฮ่องกงไม่มีสนธิสัญญาดังกล่าว ดังนั้น ภายใต้การปกครอง 1 ประเทศ 2 ระบบ รัฐบาลฮ่องกงมีสิทธิ์โดยชอบธรรมในการพิจารณาว่า จะส่งตัวนักโทษหนีคดีชาวต่างชาติคนใดหรือไม่ ภายใต้กฎหมายพื้นฐาน "เบสิก ลอว์"

ด้านนางมากาเร็ต นัก โหงวยี่ ประธานสำนักงานกระบวนการยุติธรรมและกฎหมายของฮ่องกงให้ความเห็นว่า ถ้ารัฐบาลฮ่องกงยอมปฏิบัติตามคำร้องขอของรัฐบาลไทย คงต้องเป็นกรณีพิเศษมากจิงๆ เพราะสองฝ่ายไม่ได้ลงนามในสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างกัน หรือแม้ว่าจะร่วมลงนามก็ตาม ก็ต้องมีฐานความผิดเดียวกัน ในการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน สำหรับฮ่องกง ไม่สามารถส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนคนใดคนหนึ่ง ด้วยวัตถุประสงค์ทางการเมืองได้