วันจันทร์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2552

หมอไทยวิกฤติแล้ว คนเก่งยี้เรียนแพทย์

ที่มา ไทยรัฐ

โรงพยาบาลวิกฤติขาดแพทย์...ลาออก 2 ตำแหน่ง ขออภัยในความไม่สะดวก ที่ต้องรอนาน...

นี่คือป้ายที่ติดประกาศไว้ในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งจังหวัดภาคอีสาน ที่สะท้อนให้เห็นปัญหาว่า แพทย์ไทยอยู่ในสภาวะวิกฤติ

วิกฤติแพทย์ไทย ไม่เพียงพอต่อความต้องการของคนไทยทั้งประเทศ มาจากปัจจัยสอง...สามประการ

ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณนายแพทย์เหลือพร ปุณณกันต์ นายกสมาคมศิษย์เก่าแพทย์ศิริราชในพระบรมราชูปถัมภ์ บอก

ประการแรก...ผลิตไม่พอ

คุณหมอเหลือพร บอกว่า การผลิตแพทย์ไม่ใช่ของง่ายๆ ไม่ใช่แบบตัดเสื้อมาแล้วใส่ได้เลย หรือเรียนจบแล้วก็ไม่ใช่รักษาคนไข้ได้ทันที แพทย์แต่ละคนจะต้องทำอีกหลายอย่าง ก่อนที่จะรับผิดชอบชีวิตคนได้

จะคิดแค่ว่า...หมอไม่พอ ก็เพิ่มการผลิตไม่ได้

เพิ่มการผลิต คุณภาพจะได้หรือเปล่าก็ยังไม่รู้ คนที่เข้ามาเรียนเก่งแค่ไหนก็ไม่รู้...สอนแพทย์ก็เหมือนสอนช่างซ่อมรถยนต์ ถ้าไม่ลงมือแก้เอง แค่อ่านหนังสือก็แก้ไม่ได้

ขณะเดียวกัน แก้รถยนต์แล้ววิ่งไม่ได้...เอามาแก้ใหม่ได้ แต่ถ้าเป็นหมอรักษาคนไข้ จะมาลองผิดลองถูกไม่ได้

ประการที่สอง...การกระจายของแพทย์ ยังไม่กระจายไปในแง่ความเหมาะสม

แพทย์ก็คือคน ต้องการมีครอบครัว มีลูกต้องเรียนหนังสือ สร้างครอบครัวเหมือนคนอาชีพอื่นๆ...ขณะเดียวกัน แพทย์ต้องรับผิดชอบชีวิตคน ก็ต้องดูว่า... ทำได้แค่ไหน

โรงเรียนแพทย์สอนแพทย์แต่ละคนมา ไม่ใช่ว่าแพทย์ทุกคนรักษาได้ทุกโรค จะต้องมาดูว่า...แพทย์รักษาได้แค่ไหน ถ้าเกินกำลังควรจะส่งไปรักษาต่อที่ไหน

เรามีระบบส่งต่อผู้ป่วย เขียนไว้ชัดเจนในกระดาษ แต่ไม่ทราบว่าในชีวิตจริงจะเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า...ทั้งเวลา ทั้งความรวดเร็ว พอกับสิ่งที่ประชาชน คาดหวังหรือไม่

นี่คือสาเหตุสำคัญที่ผู้ป่วยต่างจังหวัดดิ้นรนเข้ามารักษาตัวในกรุงเทพฯ เข้ารักษาในโรงพยาบาลใหญ่ จนถึงโรงพยาบาลเอกชน

ประเด็นสำคัญ ต้องชี้ไปที่ระบบการรักษาพยาบาลทั่วไป ไม่สามารถให้การรักษาได้พอเพียง...อย่างที่ควรจะเป็น

ขณะที่ระบบบริการสุขภาพต้องการให้คนเข้าถึงแพทย์มากขึ้น แต่กลายเป็นว่า...แพทย์ทำงานหนักขึ้น รับภาระมากขึ้น

หมอคนเดียว ตรวจคนไข้วันละ 200-300 คน

ผลที่ตามมา คือ...คุณภาพการรักษาพยาบาลลดลง

ที่ตามมาอีกอย่างคือปัจจัยประการสุดท้าย...การฟ้องร้อง

ผลพวงคนไข้ฟ้องหมอ จะเห็นว่าแต่ละปีมีคนที่พยายามสอบเข้าแพทย์แล้ว สละสิทธิ์มากกว่า 20 เปอร์เซ็นต์

คุณหมอเหลือพร ชี้ว่า ข้อมูลนี้ไม่ใช่เห็นแล้วจะนิ่งอยู่ได้ เพราะหมายถึงวิกฤติที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เด็กที่สละสิทธิ์ต้องการแสดงให้เห็นว่า ถ้าฉันจะเรียนหมอก็เรียนได้ แต่ที่สละสิทธิ์ หมายความว่า...อาชีพแพทย์ ไม่ใช่อาชีพที่จูงใจให้คนเข้ามาเรียน

คนที่ฉลาด คิดว่าทำอย่างอื่นไม่ดีกว่าหรือ ทำไม? ต้องเอาชีวิตทิ้งไว้ทั้งชีวิต...เสี่ยงการติดโรค เสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้อง

คราวนี้...ก็ถึงเวลาที่ต้องหันหน้าเข้าหากัน จะต้องทำอย่างไรกันต่อไปบ้าง?

โครงการ 1 อำเภอ 1 แพทย์ ให้ทุนเรียนแพทย์ มีระยะเวลาทำงานชดใช้ทุน 12 ปี หรือ 2 ล้านบาท

ถามว่าจบแล้ว จะส่งหมอไปลุยคนเดียวหรือ...มันไม่ใช่ คุณหมอเหลือพร ว่า การสร้างสุขภาพให้กับประชาชน ต้องมีทีมแพทย์...คุณมีเภสัชหรือยัง มีหมอฟันไหม มีนักเทคนิคหรือเปล่า มีนักกายภาพบำบัดหรือยัง มีพยาบาลพอ หรือไม่

พื้นที่ไหนการคมนาคมดี ต้องดูว่ามีความจำเป็นหรือไม่ ที่จะต้องมีแพทย์ อยู่ประจำทุกอำเภอ สมมติว่า...ถ้ามีการเชื่อมโยง 3 อำเภอที่อยู่ใกล้กัน ให้แพทย์ทำงาน เป็นทีมร่วมกัน...โรงพยาบาลละ 3 คน รวม 9 คน ให้รักษาอยู่โรงพยาบาลเดียวกัน

แพทย์ทีมนี้รักษาได้ทุกโรค ผ่าตัดก็ได้...จะทำให้คุณภาพการบริการคนไข้ดีขึ้น แน่นอนว่า แพทย์จะมีศักยภาพในการปกป้องตัวเองได้มากขึ้นด้วย

กลับกันแนวทางที่จะกระจายแพทย์ให้ลุยเดี่ยวคนเดียวในแต่ละพื้นที่ นานวันเข้าจะทำให้คุณภาพแพทย์ลดลง

แต่ละคน...ก็ต้องคิด ทำไมต้องทำงานหนัก เงินเดือนผมแค่นี้... ขณะที่สังคมบอกว่า...คุณหมอคิดอย่างนี้ คุณหมอเห็นแก่ตัว

อีกประเด็นที่ผู้ใหญ่หลายคนมองข้าม แพทย์ไม่ใช่ว่าเรียนจบแล้ว ก็จบกัน ทำงานรักษาคนไข้ไปจนตาย ความเป็นจริง...แพทย์ต้องเรียนอยู่ตลอดเวลา เพื่อเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ ความรู้ใหม่ๆ สู้กับโรคใหม่ๆ

ดังนั้น...ต้องให้โอกาสแพทย์มีเวลาได้เรียนบ้าง ถ้าแพทย์เข้ามาเรียนในเมืองไม่ได้ ก็ต้องหาวิธีออกไปหาเขา ช่วยเหลือให้เขาอยู่ได้

ที่สมาคมศิษย์เก่าแพทย์ศิริราชฯทำอยู่ เป็นโครงการส่งเสริมกิจกรรมการแพทย์ หารายได้สนับสนุน จัดฝึกอบรมแพทย์ในภาคต่างๆ ร่วมกับสถาบันการศึกษาอื่น

จัดหาทุนการศึกษาให้เข้ามาศึกษาต่อทั้งในและต่างประเทศ เพื่อยกระดับการศึกษานักเรียนแพทย์ในต่างจังหวัด

สถานการณ์ทุกวันนี้...แพทย์ไม่น้อย ถ้าทำงานพักนึงแล้วกลัวว่าจะถูกฟ้อง ก็มักหาวิธีเลี่ยงไปทำงานที่อื่น ที่ดีกว่าและมีความเสี่ยงน้อยกว่า

เป็นปัญหาสมองไหล ทำไม? แพทย์โรงพยาบาลรัฐลาออกกัน มากนัก

วันนี้...คนไข้มองหมอเปลี่ยนไปจากอดีตมาก สมัยก่อนแพทย์ออกไปรักษาคนไข้ หรืออยู่รักษาเหมือนกับพี่น้อง ญาติสนิท

จากสภาวะเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น การแข่งขันที่มากขึ้น มีโรงพยาบาลเอกชนเพิ่มขึ้น การรักษาระหว่างหมอกับคนไข้ เป็นแค่บริการประเภทหนึ่ง

การรักษาเป็นการบริการ เมื่อซื้อบริการแล้วไม่ได้บริการที่ดี แน่นอนว่าก็มีการฟ้องร้อง โวยวาย...ไม่ต่างกับซื้อปลากระป๋องเน่า นม ไม่ได้คุณภาพ

ในโรงพยาบาลชนบท แพทย์ต้องการให้ความรู้ ให้คุณภาพการรักษาที่ดีกับคนไข้ ขณะที่ต้องตรวจรักษาเป็นร้อยๆราย ยังไงก็คงให้คุณภาพดีเสมอกันทุกคนไม่ได้แน่

ชีวิตคน...มีหรือจนที่ว่าเท่ากัน จึงเป็นแค่นามธรรม สมมติว่า ผ่าถุงน้ำดี ถ้าผ่าแบบใช้มีด สมัยก่อนนอนโรงพยาบาล 3 อาทิตย์...ช่วงหลังเหลือ 1 อาทิตย์ กว่าๆ...ผ่าแล้ว 3 เดือนกว่าจะกลับไปทำงานได้

ปัจจุบัน ถ้ารักษาในกรุงเทพฯ ไม่ต้องผ่าตัดแล้ว ใช้กล้องส่อง 3 วัน กลับบ้านได้...อีก 2 อาทิตย์ก็ทำงานหนักได้

ขณะที่คนใช้แรงงาน กลับเข้าไม่ถึงเทคโนโลยีสมัยใหม่ ต้องผ่าแบบสมัยเก่า 3 เดือนกลับไปทำงานได้ ฐานะก็ยากจนแล้วยังมีลูกเมียต้องเลี้ยงดู

นี่คือช่องว่างของความเท่าเทียมในระบบการตรวจรักษาสุขภาพคนไทย

คุณหมอเหลือพร บอกว่า ที่ต้องแก้คือการเอาความรู้ทีมแพทย์ลงไปช่วยในชนบท...ไม่ใช่เทเงินอย่างเดียวเท่านั้น

โรงพยาบาลใหญ่ประจำจังหวัด หลายแห่งมีแพทย์ไม่พอ เตียงก็ไม่พอ พยาบาลก็รับไม่ไหว ทุกอย่างขาดแคลน...มันขัดแย้งที่จะมุ่งเอาบริการการรักษาที่เป็นเลิศ

การแก้วิกฤติ ต้องแก้ระยะยาว แก้อย่างครบวงจร เรามีสำนักงานหลัก ประกันสุขภาพแห่งชาติ ช่วยให้คนเข้าถึงการรักษาสุขภาพเป็นเรื่องดี ขณะเดียวกัน เรายังไม่มีองค์กรอื่น...ไม่มีวิธีอื่นที่จะดึงให้แพทย์อยู่ในชนบทได้

คุณหมอเหลือพร ย้ำว่า สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความผิดของใคร ไม่ใช่ความผิดของรัฐบาล ไม่ใช่ความผิดของแพทย์ และไม่ใช่ความผิดของประชาชน แต่ เป็นความเปลี่ยนแปลงสำคัญของวงการแพทย์ไทย ที่ต้องวางแผน แก้ไขในระยะยาว...ในทิศทางเดียวกัน

ที่จำเป็น คือการให้การสนับสนุนให้แพทย์เดินไปข้างหน้าได้ สิ่งที่รัฐต้อง ทำคือถามความต้องการ และช่วยให้แพทย์ไทยก้าวเดินไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง

ทำอะไรก็ได้...ให้หมออยู่ได้ในแต่ละพื้นที่อย่างมีความสุข ความสุขที่ไม่ใช่การมีเงิน แต่เป็นการมีความรู้ มีทีมงานที่สามารถจะทำงานได้ด้วยความรู้สึกมั่นใจ

รัฐจะต้องเห็นความสำคัญของกระทรวงสาธารณสุขมากกว่านี้ การสาธารณสุขของชาติ คือสิ่งที่สำคัญที่สุด

ดังพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ว่า ถ้าสุขภาพของประชาชนของประเทศดี เศรษฐกิจก็จะดี ชุมชนก็จะเข้มแข็ง”.