วันพุธที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2552

เจาะลึก-เทียบ ความคล้ายคลึง แตกต่าง ระหว่าง แผนตากสิน vs ยุทธศาสตร์เพื่อไทย

ที่มา มติชนออนไลน์

แผนตากสิน >> " ... ผนึกกำลังเข้าต่อสู้ทุกรูปแบบ ... ออกมาตรการกดดันทุกระดับชั้น จนผู้ก่อการรัฐประหารดังกล่าวเป็นกบฏ ถูกดำเนินคดี และถูกกวาดล้างในที่สุด ... " // ยุทธศาสตร์เพื่อไทยฯ >> " ... ผนึกกำลังเป็นหนึ่งเดียวฝ่าฟันอุปสรรคพลังอำนาจมืดต่างๆ... ต่อต้านระบบเผด็จการ กลุ่มการเมืองนอกสภา มือที่มองไม่เห็น กองทัพ และอำนาจศาลที่ไม่ยุติธรรม ... "

หมายเหตุ "มติชน"

ในห้วงที่ผ่านมา มีการเผยแพร่ "แผนตากสิน" ไปในหมู่ผู้นำกองทัพ นักการเมือง และสื่อมวลชน อ้างว่า เป็นแผนของแกนนำพรรคเพื่อไทยกลุ่มหนึ่ง เขียนขึ้นมาเป็นยุทธศาสตร์ในการโค่นล้มรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อย่างไรก็ดี พ.ต.ท.สมชาย เพศประเสริฐ ส.ส.นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย แถลงข่าวปฏิเสธว่า พรรคไม่เกี่ยวข้องกับ "แผนตากสิน" เพียงแต่แกนนำพรรคกำหนดยุทธศาสตร์ "เพื่อไทย...ร้อยใจเป็นหนึ่งเดียว" เพื่อการกลับมาเป็นรัฐบาลเสียงข้างมาก เด็ดขาดอีกครั้ง


"มติชน"ขอนำความคล้ายคลึง และความแตกต่างระหว่าง "แผนตากสิน" (ยาว 4 หน้ากระดาษเอ 4) กับยุทธศาสตร์ "เพื่อไทยฯ" (ยาว 5 หน้ากระดาษ เอ4) มาเปรียบเทียบให้ผู้อ่านเห็น นัยยะที่ซ่อนอยู่ระหว่างบรรทัดต่อบรรทัด


---------------------------


ความคล้ายคลึง

แผนตากสิน


*** End State (เป้าหมาย)
1.ประเทศไทยปกครองในระบอบประชาธิปไตยโดยแท้จริง เฉกเช่นเดียวกับนานาอารยประเทศ
2.กองทัพยุติบทบาทแทรกแซง หรือก้าวก่ายทางการเมือง
3. ยกเลิกมาตราของรัฐธรรมนูญในเรื่ององคมนตรี
4.พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข และดำรงสถานะเฉกเช่นเดียวกับนานาอารยประเทศ
5.ออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมทางการเมือง เพื่อให้เกิดความสมานฉันท์อย่างเป็นรูปธรรม
6.ปฏิรูปการเมืองให้มีการกระจายอำนาจสู่ชนบทเพิ่มมากขึ้น
7.ประเทศไทยได้รัฐธรรมนูญที่มีแนวทางเดียวกับฉบับปี 2540 โดยมีการแก้ไขเพิ่มเติมให้เหมาะสมกับสภาพปัญหาที่ผ่านมา
8.ความสำเร็จของแผ่นเกิดจากความเพลี่ยงพล้ำของกองทัพ โดยเกิดการลุแก่อำนาจ เอากำลังพลและยุทโธปกรณ์ออกมารัฐประหาร และ/หรือปราบปรามกวาดล้างมวลชนฝ่ายประชาธิปไตยอย่างรุนแรง ซึ่งฝ่ายเราจะผนึกกำลังเข้าต่อสู้ทุกรูปแบบ ร่วมกับประชาคมโลก และออกมาตรการกดดันทุกระดับชั้น จนผู้ก่อการรัฐประหารดังกล่าวเป็นกบฏ ถูกดำเนินคดี และถูกกวาดล้างในที่สุด


>>> Means (เครื่องมือ)
1.ผู้ถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี ของพรรคไทยรักไทย พลังประชาชน ชาติไทย มัชฌิมาธิปไตย 2.พรรคเพื่อไทย 3.ส.ส. และ ส.ว.ที่มีความคิดในแนวทางเดียวกัน 4.องค์กรประชาธิปไตยต่างๆ 5.นักวิชาการ สื่อมวลชน 6.นักการทูตต่างๆ 7.องค์กรในกระบวนการยุติธรรม 8.พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร 9.ผู้นำมวลชนทุกระดับ


---------------------


ยุทธศาสตร์เพื่อไทยฯ


*** หลักการและเหตุผล
1.ระบอบประชาธิปไตยไทยล้มลุกคลุกคลานมาโดยตลอดกว่า 77 ปี เพราะรากฐานวัฒนธรรมการเมืองไทยไม่เอื้ออำนวย ทำให้มีการแทรกแซง โดยองค์กรนอกสภา พลังอำนาจฝ่ายต่างๆ
2.การเลือกตั้งเป็นอำนาจที่แสดงออกซึ่งเจตจำนงของประชาชน "ผู้เป็นเจ้าของประเทศที่แท้จริง" และพรรคเพื่อไทยต้องชนะการเลือกตั้งครั้งต่อไป และสามารถจัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศได้โดยพรรคเดียวแบบเบ็ดเสร็จ
3.ผนึกกำลังเป็นหนึ่งเดียวฝ่าฟันอุปสรรคพลังอำนาจมืดต่างๆเพื่อกอบกู้ศักดิ์ศรี และชื่อเสียงกลับคืนมาอย่างชอบธรรม
4.ร่วมมือร่วมใจกันเป็นหนึ่งเดียว ต่อต้านระบบเผด็จการ กลุ่มการเมืองนอกสภา มือที่มองไม่เห็น กองทัพ และอำนาจศาลที่ไม่ยุติธรรม อย่างมีอุดมการณ์ที่แน่วแน่ มียุทธศาสตร์เป้าหมายเดียวกันคือ "ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ชื่อเสียงวงศ์ตระกูล เป็นสิ่งสำคัญเพราะมันเกิดมาพร้อมกับตัวเรา แต่จะไม่ตายไปพร้อมกับเรา"


>>> กลุ่มเป้าหมาย
ปลูกฝังอุดมการณ์ทางการเมืองให้แก่
1ประชาชนทั่วประเทศ 2.ผู้นำท้องถิ่น 3.ผู้นำทางศาสนา 4.ผู้นำทางการเมือง 5.ผู้ให้การสนับสนุนที่มีความจงรักภักดี ศรัทธาต่อพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชนในอดีตให้มาสนับนุนพรรคเพื่อไทย

----------------------------------------------------------------------------------

ความแตกต่าง

แผนตากสิน


### Ways (แนวทาง)
ภารกิจย่อยเพื่อสนับสนุนความสำเร็จของแผน
1.สงครามชนชั้นกรรมาชีพ/รากหญ้า ขยายผลการก่อการจลาจล ประท้วง ปิดกั้นการคมนาคมทั่วพื้นที่เขตอิทธิพลของฝ่ายเรา เมื่อชนบทเข้มแข็ง ให้ยกระดับการต่อสู้เข้าสู่เมืองตามลำดับ
2.สงครามประชาธิปไตย ดำเนินการโดยชนชั้นกลาง และผู้มีอุดมการณ์ประชาธิปไตย โดยการชี้นำและอธิบายให้เห็นกระบวนการที่บ่อนทำลายนักการเมือง เพื่อให้ประชาชนเบื่อหน่ายการปกครองระบอบประชาธิปไตย และนำไปสู่การปฏิรูปรูแบบ "การเมืองใหม่"จากการแต่งตั้งและสรรหา
3.ทำสงครามปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ดำเนินการโดยผู้ที่รักความยุติธรรม เพื่อยุติการก้าวก่ายอำนาจการเมือง และนิติบัญญัติ เช่น กรณีสั่งจำคุก กกต. สั่งยุบพรรคไทยรักไทย พลังประชาชน ฯลฯ จัดกระบวนการเสวนาปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมให้โปร่งใส
4.สงครามข่าวสาร โดยนักสื่อสารมวลชน นักสารสนเทศ ด้วยวิธี อาทิ จัดงานต่อต้านข่าวกรอง การลวง ปล่อยข่าวลือ ข่าวลวง เพื่อกดดันให้ฝ่ายตรงข้ามเสียหาย ลดความน่าเชื่อถือ ใช้สื่อมวลชนต่างชาติกดดัน ปิดล้อมประเทศไทย
5.สงครามการเมือง โดยมวชนที่ฝ่ายเราจัดตั้ง ด้วยวิธี อาทิ ก่อการจลาจล ชุมนุม ประท้วง เฉกเช่นพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย โดยเริ่มแรกชุมนุม เคลื่อนไหวในพื้นที่ต่างๆ ยกระดับความรุนแรงจนกระทั่งอำนาจรัฐไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ ยั่วยุทหารให้กระทำการลุแก่อำนาจ
6.ปิดล้อมชุมนุมประท้วงตามสถานที่ราชการต่างๆ โดยมวลชน Hard Core ต้องปกปิดหน้าตาเพื่อผลทางคดี
7.ดำเนินการเปิดเผยขบวนการนอกรัฐธรรมนูญ

ยุทธศาสตร์เพื่อไทยฯ


### แผนปฏิบัติงาน
พรรคเพื่อไทยได้กำหนดยุทธศาสตร์ "เพื่อไทย...ร้อยใจเป็นหนึ่งเดียว" จำนวน 4 โครงการหลัก 1.โครงการช่วยพรรคเพื่อไทยต่อสู้วิกฤต 2.โครงการเพื่อไทยกับการเมืองยุคใหม่ 3.โครงการเพื่อไทยห่วงใยประชาชน 4.โครงการเหรียญที่ระลึกเชิดชูเกียรติสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เพื่อเชิดชูความกล้าหาญ อดทน และเสียสละของพระองค์ผู้ทรงมีพระคุณยิ่งต่อประเทศชาติบ้านเมือง
1.ทุกภาคและทุกพื้นที่ของประเทศไทย โดยเน้นและให้ความเร่งด่วนในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นอันดับแรก ภาคกลางเป็นอันดับรอง และภาคใต้เป็นอันดับสุดท้าย
2.แบ่งพื้นที่ปฏิบัติการเป็น 2 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่ทอลองและพื้นที่ตามกำหนด ให้แก่ ส.ส.พรรครับผิดชอบ ดังนี้
ภาคเหนือ ตอนบน โดย ส.ส.เชียงราย ,ตอนล่าง โดย ส.ส.พิษณุโลก
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตอนบน โดย ส.ส.อุดรธานี ,ตอนล่าง โดย ส.ส.นครราชสีมา
ภาคตะวันออก โดย ส.ส.ฉะเชิงเทรา
ภาคตะวันตก โดย ส.ส.กาญจนบุรี
ภาคกลาง โดย ส.ส.ลพบุรี
ภาคใต้ โดย ส.ส.ยะลา
กทม.และปริมณฑล , โดย ส.ส.นนทบุรี ,สมุทรปราการ ,ปทุมธานี ,กทม.
3.เตรียมสรุปเนื้อหา เอกสาร และข้อมูลต่างๆในการฝึกอบรมผู้เข้าร่วมโครงการ
4.จัดตั้งศูนย์ควบคุมและประสานงานโครงการ ยุทธศาสตร์เพื่อไทยฯ
5.จัดตั้งเครือข่าย การเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์นโยบายของพรรค รวมทั้งผลงานในอดีต