วันพุธที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2552

ข่าวมอนิเตอร์ประจำวันที่ 22 เมษายน 2552

ที่มา ประชาไท

การเมือง-สังคม

"เหลือง-แดง"ปราจีนแย่งวางพวงหรีดกลางสี่แยกไฟแดง
มติชนออนไลน์ - ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ลานข้างศาลพระหลักเมือง อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี เมื่อวันที่ 21 เมษายน กลุ่มปราจีนบุรีผู้รักความสงบปฎิเสธความรุนแรง (พันธมิตร จ.ปราจีนบุรี ) โดย นพ.ทศพล เปี่ยมสมบูรณ์ และนายเฉวียน กาญจนสุนทร และนายวิโรจน์ น้อยสำเนียง ได้นำเครือข่ายจากทุกอำเภอ รวมจำนวนกว่า 200 คน จัดขบวนแรลลี่ที่รถยนต์จำนวนกว่า 20 คัน เคลื่อนขบวนไปสี่แยกไฟแดงถนนราษฎรดำริ อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี เพื่อนำพวงหรีดข้อความว่า " ขอไว้อาลัยแด่จรรยาบรรณ สส.เกียรติกร พากเพียรศิลป์"

บรรยากาศในขณะนั้นได้มีคนกลุ่มเสื้อแดง (นปช.)โดยการนำของนายอภิชาติ ทันพุทธ แกนนำ พร้อมกลุ่มสมาชิกรวมกว่า 50 นาย ได้มีพวงหรีดตั้งรออยู่ก่อนหน้าแล้วเช่นกันโดยผูกติดแผงเหล็กกั้น มีใจความว่า " แด่นายสนธิ ลิ้มทองกุล จากเสื้อแดงปราจีนบุรี" โดยด้านล่างจุดธปดอกใหญ่ 1ดอก ทั้งนี้เต็มไปด้วยความตึงเครียดการประจันหน้าของทั้ง 2 ฝ่าย โดยกลุ่มเสื้อแดงตะโกนคำหยาบด่าผ่านโทรโข่งคนปราจีนบุรีไม่เอามึง พร้อมชูนิ้วกลางสัญลักษณ์ของลับให้ ทั้งนี้กลุ่มปราจีนบุรีผู้รักความสงบปฎิเสธความรุนแรง( อดีตพันธมิตร จ.ปราจีนบุรี ) ไม่ได้ตอบโต้ใด ๆ

นายกรัฐมนตรีเผย ครม.ไม่ได้หารือเรื่องกลุ่มเสื้อแดงจะกลับมาชุมนุมอีกครั้ง
สำนักโฆษก - 21 เม.ย. เมื่อเวลา 13.15 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ในการประชุม ครม.วันนี้ไม่ได้มีการหารือถึงการยกเลิกพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพราะขณะนี้เหลือเพียงเจ้าหน้าที่ที่จะรายงานกลับเข้ามาอีกครั้งหนึ่งว่าปัญหาที่เขาต้องการเข้าไปคลี่คลายแก้ไขก่อนนั้นเดินหน้าไปตามเป้าหมายแล้ว

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการพูดกันว่ากลุ่มเสื้อแดงจะกลับมาชุมนุมอีกครั้ง นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่ได้มีการพูดกัน ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่าแต่กลุ่มเสื้อแดงประกาศชัดเจนว่าจะกลับมาชุมนุมอีกครั้ง นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่มีผู้สื่อข่าวถามว่า ทำไมถึงเชื่อว่าไม่มี นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ก็เพราะเขาใส่เสื้อสีอื่นแล้วส่วนความคืบหน้าการร่างกฎหมายการชุมนุมในที่สาธารณะนั้น วันนี้ ครม. ไม่ได้มีการหารือกัน แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังไปศึกษาอยู่

ออกหมายจับ "ทักษิณ ชินวัตร" ข้อหามั่วสุมมากกว่า 10 คน ทำให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง
เว็บไซต์แนวหน้า - ผู้สื่อข่าวรายงานจากศูนย์ปฎิบัติการตำรวจภูธรภาค 2 ส่วนหน้าการรักษาความปลอดภัยและอำนวยการจราจร (สภ บางละมุง) พล.ต.ต.ปราโมทย์ ปทุมวงศ์ รอง ผบช.ภ 2 พร้อมเจ้าหน้าที่ชุดทำงานได้ขออำนาจศาลจังหวัดพัทยา เพื่อขอหมายจับ อดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยศาลจังหวัดพัทยา ได้อนุมัติหมายจับที่ 353/2552 ลงวันที่ 21 เมษายน 52 โดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร(3-1006-01824-83-4) กระทำผิดฐาน มั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไปกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง , ร่วมกันกระทำการด้วยประการใดๆให้ทางสาธารณะอยู่ในลักษณะอันน่าจะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่การจราจร , ร่วมกันกระทำให้ปรากฎแก่ประชาชนด้วยวาจา อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญพรือมิใช่แสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริตเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่ก่อความไม่สงบในราชอาณาจักร เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดินหรือเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในรัฐบาล , ร่วมกันบุกรุกโดยขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย ,ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ ,ร่วมกันเดินแถวหรือขบวนแห่ใดๆในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจร และร่วมกัน วาง ตั้ง ยื่น หรือแขวนสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือการกระทำด้วยประการใดๆ ในลักษณะเป็นการกีดขวางจราจร ในคดีอาญา 1895/2552 วันที่ 12 เมษายน 2552 สถานีตำรวจภูธรตำบลพัทยา

โดยผู้สื่อข่าวรายงานว่าศูนย์ปฎิบัติการต่างระดมพนักงานสอบสวนเพื่อสรุปคดีต่างๆ ที่เกิดขึ้นโดยเบื้องต้นในพื้นที่ จ.ชลบุรี มีคดีรวมทั้งสิ้นในระหว่างการชุมนุมทั้งหมด 11 คดี มีการออกหมายจับต่างวาระและสถานที่ โดยพนักงานสอบสวนได้ประชุมเพื่อสรุปไล่เหตุการ์ณไปตามระดับเพื่อรายงานให้ผู้บังคับบัยชาทราบในส่วนรายละเอียดต่อไป

ส.ส.ร. 50 ค้านแก้ไขรธน.ชี้เข้าทางยกเลิกความผิด
ASTV ผู้จัดการรายวัน - ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชมรม ส.ส.ร. 50 ได้ส่งจดหมายเปิดผนึกถึง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี วานนี้ (21 เม.ย.) มีเนื้อหาระบุว่ากรณี เกิดวิกฤตทางการเมืองช่วงระหว่างวันที่ 10-14 เมษายน ซึ่งส่งผลกระทบต่อประเทศ โดยเฉพาะในฐานะการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนและคู่เจรจา จากนั้นเกิดกระแสการแก้วิกฤตดังกล่าวอย่างหลากหลาย ได้แก่ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งนายกรัฐมนตรีแสดงท่าทีเห็นด้วย แตกต่างไปจากท่าทีก่อนหน้านี้

ชมรม ส.ส.ร.50 จึงมติ 6 ข้อคือ 1.ชมรมฯเห็นว่าวิกฤตไม่ได้เกิดจากรัฐธรรมนูญ แต่เกิดจากความเห็น ที่แตกต่าง ของกลุ่มคนสองฝ่ายที่ต่างมีจุดยืนและยึดมั่นในตัวบุคคล ข้ออ้างเรื่องรัฐธรรมนูญเป็นเพียงเรื่องที่ถูกหยิบยก เพื่อนำไปสู่การแก้แก้รัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ทางคดีมากกว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงเป็นการสมประโยชน์เฉพาะแต่นักการเมืองและพรรคการเมืองเท่านั้น

2.การแก้รัฐธรรมนูญจะยิ่งเป็นการจุดชนวนให้เกิดความขัดแย้งในสังคมมากขึ้น เพราะฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยจะออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านเหมือนที่ผ่านมา ความวุ่นวายก็จะเกิดซ้ำอีก 3.ก่อนแก้รัฐธรรมนูญ ต้องเชิญผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย โดยเฉพาะผู้ที่เกี่ยวกับปัญหาความขัดแย้งมาระดมความคิดในการปฏิรูปการเมือง ให้ได้ข้อยุติเสียก่อนแล้วจึงนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ

4. กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ควรกระทำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย มิเช่นนั้นจะกลายเป็นการแก้เพื่อประโยชน์ของกลุ่มบุคคลดังกล่าวเท่านั้น ประโยชน์ของประชาชนจะถูกละเลย 5.รัฐธรรมนูญ 2550 ผ่านการทำประชามติจากประชาชน ซึ่งก่อนทำประชามติได้ส่งร่างไปให้พรรคการเมืองทุกพรรคเพื่อมีส่วนร่วม ในการพิจารณาแล้วแต่ปรากฏว่า ไม่มีพรรคใดคัดค้าน การที่มีพรรคบางพรรคพยายาม นำเสนอว่ารัฐธรรมนูญเป็นตัวสร้างปัญหาโดยเฉพาะมาตรา 237 จึงเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริง 6.หากจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ควรผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนว่า สมควรแก้มาตราใด อย่างไร และท้ายสุดต้องทำประชามติจากประชาชน

เลขาฯกฤษฎีกาเผย ก็อบปี้ กม.คุมม็อบจากต่างประเทศ
เว็บไซต์แนวหน้า
- คุณพรทิพย์ จาละ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ยังไม่ได้นำเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการชุมนุมเข้าสู่การพิจารณาของของที่ประชุมครม. เนื่องจากเพิ่งได้รับมอบหมายจากครม. เมื่อวันที่ 17 เมษายนที่ผ่านมา แต่ในเบื้องต้นคาดว่าสาระสำคัญของร่างกฎหมายดังกล่าวจะเป็นการกำหนดขอบเขตใน การชุมนุม ซึ่งอาจต้องมีการทำเรื่องขออนุญาต เหตุผลในการชุมนุม จำนวนผู้ชุมนุมเพื่อไม่ให้กีดขวางทางสาธารณะ โดยจะนำกฎหมายการชุมนุมของหลายประเทศที่มี อาทิ สหรัฐอเมริกา มาเลเซีย สิงคโปร์ ฯลฯ มาประกอบการพิจารณา แต่ทั้งนี้คงต้องคำนึงถึงสภาพเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย ส่วนจะใช้เวลาในการยกร่างนานเท่าไรนั้น ตนยังตอบไม่ได้ แต่คาดว่าน่าจะใช้เวลาไม่นาน

ชุมพลแนะใครทำผิดก็ต้องรับผิด ย้ำเห็นด้วยแก้ รธน.บางมาตรา ปัดเกาเหลา กอร์ปศักดิ์
เว็บไซต์แนวหน้า - นายชุมพล ศิลปอาชา รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา หัว หน้าพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวถึงแนวคิดการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมว่า ทางพรรคยังไม่ได้หารือในเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้อยากให้เรียกว่าการนิรโทษกรรมมากกว่า เพราะการนิรโทษกรรม คือบุคคลนั้นได้กระทำผิดจึงมีการนิรโทษกรรมให้ แต่กรณีที่ไม่ได้กระทำผิด จะต้องคืนความเป็นธรรมให้ ต้องเคารพกระบวนการยุติธรรม อย่างไรก็ตามเมื่อศาลตัดสินใจว่าผิดก็ต้องว่าไปตามผิด หากตัดสินว่าไม่ผิดก็ต้องปล่อยไป ทั้งนี้หากเห็นว่ามีความไม่เป็นธรรมเกิดขึ้น ก็ต้องแก้ความไม่เป็นธรรมและคืนความเป็นธรรมให้กับผู้ที่ไม่ได้กระทำผิด

เมื่อ ถามว่าแสดงว่าเห็นด้วยกับการคืนความเป็นธรรมให้กับคนที่ไม่ได้ทำผิดใช่หรือ ไม่ นายชุมพล กล่าวว่า ถูกต้อง ต้องคืนความเป็นธรรมแก่คนที่ไม่ได้ทำผิด ซึ่งเรื่องนี้เป็นความเห็นของทั้งพรรค

เมื่อ ถามถึงกรณีที่พรรคร่วมรัฐบาลกดดันให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ปรับนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจออก นายชุมพล กล่าวยืนยันว่าตนไม่มีปัญหาในการทำงานร่วมกับนายกอร์ปศักดิ์ บางครั้งการทำงานที่มีปัญหานั้น มาจากระบบราชการจึงทำให้ถอยหลัง จึงอยากให้มีการปฏิรูประบบราชการไปด้วย

เมื่อ ถามว่าที่ผ่านมานายกอร์ปศักดิ์เคยแทรกแซงการทำงานของกระทรวงการท่องเที่ยว และกีฬาหรือไม่ นายชุมพล กล่าวว่า นายกอร์ปศักดิ์ก็ทำงานของเขา และรับผิดชอบงานของเขาอยู่แล้ว ไม่คิดว่ามีปัญหาในการทำงานร่วมกัน นายกอร์ปศักดิ์เป็นคนละเอียด มีวิสัยทัศน์พอสมควร

เมื่อ ถามถึงกรณีที่นายกอร์ปศักดิ์ระบุว่าพรรคร่วมรัฐบาลชอบของบประมาณจำนวนมาก แต่ไม่มีศักยภาพในการเบิกจ่าย จึงทำให้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบแรกมีการเบิกจ่ายแค่ร้อยละ 50 นายชุมพล กล่าวว่า ไม่ใช่ มันเป็นเรื่องของระเบียบราชการที่ส่งผลกระทบต่อระบบราชการ ดังนั้นต้องมีการปฏิรูประบบราชการและระบบงบประมาณด้วย จึงจะเดินหน้าไปได้ เมื่อถามว่าพรรคชาติไทยพัฒนารับได้ใช่หรือไม่ที่จะให้นายกอร์ปศักดิ์เป็นหัว หน้าทีมเศรษฐกิจต่อไป นายชุมพล กล่าวว่า ขอไม่พูดดีกว่า อย่าไปก้าวลึกถึงเรื่องส่วนตัว แต่ดูที่การทำงานแล้วก็ไม่มีปัญหา เมื่อถามย้ำว่าแสดงว่าข่าวที่ออกมานั้นไม่เป็นความจริงใช่หรือไม่ นายชุมพล กล่าวว่า ไม่ทราบ

เมื่อ ถามถึงเรื่องการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายชุมพล กล่าวว่า เรื่องนี้ทางพรรคได้หารือกันแล้ว คือต้องมีการแก้ไขแน่นอน แต่ยังไม่ได้เขียนเป็นร่างออกมา แต่ที่ต้องแก้แน่ๆ คือ 3 มาตรา ได้แก่ 190 , 237 และ 68 โดยต้องแก้ไขให้เป็นความผิดเฉพาะตัว เพราะถ้าทำผิดเพียงคนเดียวแล้วจะไปเผาบ้านเขานั้นได้อย่างไร

นายกรัฐมนตรีเผยขณะนี้ไม่มีการเสนอประเทศอื่นให้จัดประชุมสุดยอดอาเซียนแทนไทย
สำนักโฆษก
- 21 เม.ย. เมื่อเวลา 13.15 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงความคืบหน้าการจัดการประชุมสุดยอดอาเซียนบวก 3 บวก 6 ว่า ขณะนี้กระทรวงการต่างประเทศกำลังสอบถามไปยังประเทศที่เกี่ยวข้อง แต่เบื้องต้นในช่วงเดือนพฤษภาคมจะติดปัญหาเล็กน้อย อินเดียอยู่ในช่วงการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล เพราะเดิมเป็นรัฐบาลรักษาการ แต่ในช่วงเดือนพฤษภาคมน่าจะเป็นช่วงที่ผลการเลือกตั้งออกมา ทำให้การจัดตั้งรัฐบาลอาจยังไม่เรียบร้อย นอกจากนี้ยังมีอีก 2 ประเทศติดปัญหาเรื่องงบประมาณอยู่ อีกทั้งในเดือนกรกฎาคมก็มีการจัดการประชุมในระดับรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอยู่แล้ว ครั้งนี้เป็นการจัดการประชุมในระดับผู้นำประเทศ รวมทั้งการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 15 ก็กำหนดไว้ในช่วงเดือนตุลาคมสำหรับสถานที่ในการจัดการประชุมคงต้องดูช่วงเวลาก่อน ซึ่งจะมีการเสนอไปประเทศต่างๆ ให้ร่วมพิจารณาด้วย อย่างไรก็ตามทางเลขาธิการอาเซียน และหลายๆ ประเทศก็ต้องการให้เร่งจัดการประชุมให้เร็ว เพราะเรื่องที่ต้องการหารือกันมากคือเรื่องที่เกี่ยวกับการเงิน โดยเฉพาะเรื่องที่ธนาคารโลกกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศมีสินเชื่อและกติกาใหม่ ในการปล่อยสินเชื่อ ก็อยากดูว่าในภูมิภาคเอเชียจะใช้ประโยชน์ได้อย่างไร

ความจริงแล้วเราดูที่ประโยชน์ของการประชุมเป็นสำคัญ หลายฝ่ายก็มองตรงกันว่าน่าจะประชุมให้ได้ในเดือนมิถุนายนเพื่อประโยชน์ในการเร่งรัดความเห็นพ้องต้องกันเกี่ยวกับแหล่งเงินทุนที่จะนำมาใช้ในการพัฒนาและแก้ปัญหาวิกฤติในภูมิภาคนายกรัฐมนตรีกล่าว

ส่วนจะเชิญองค์กรอื่นเข้าร่วมประชุมด้วยนั้นก็อยู่ที่เลขาธิการอาเซียนจะเป็นผู้พิจารณาและประสานได้หรือไม่ แต่กับทางองค์การสหประชาชาติคงต้องมีการหารือกัน

ผู้สื่อข่าวถามว่า นายอิทธิพล คุณปลื้ม นายกเทศมนตรีเมืองพัทยา เสนอให้กลับไปใช้เมืองพัทยาเป็นสถานที่ประชุมเหมือนเดิม นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้ทางกระทรวงการต่างประเทศกำลังพิจารณาที่จังหวัดภูเก็ตอยู่ แต่คงต้องหารือกับประเทศต่าง ๆ ก่อน เพื่อให้เกิดความสบายใจและมั่นใจจะได้เดินหน้าจัดการประชุมต่อไป

ผู้สื่อข่าวถามว่า ยังมั่นใจว่าจะสามารถจัดการประชุมได้ใช่หรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เราต้องทำเต็มที่เพราะเป็นหน้าที่ของเรา และหากประเทศไทยไม่สามารถจัดการประชุมได้ ผลประโยชน์ของภูมิภาคก็จะได้รับผลกระทบ ในส่วนของไทยเองก็จะได้รับผลกระทบเพิ่มเติม ตอนนี้ไม่มีการเสนอประเทศอื่นให้จัดการประชุมแทนไทย เพราะยังรอดูท่าทีของเราอยู่

ครม. เคาะงบปี 53 ให้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 8.9 หมื่นล้าน
เว็บไซต์แนวหน้า
- นาย ศุภชัย ใจสมุทร รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุม ครม.ว่า ครม.อนุมัติข้อเสนองบประมาณสำหรับงานหลักประกัน สุขภาพถ้วนหน้าประจำปี2553 วงเงิน 89,322.26 ล้านบาทตามที่นายวิทยา แก้วภราดรัย รมว.สาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเสนอและสำนักงบประมาณอนุมัติ ความเห็นชอบแล้วโดยมีรายละเอียดดังนี้ 1)งบอัตราเหมาจ่ายรายหัวสำหรับงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 84,791.366 ล้านบาทต่อประชากร 47,239,700ราย (อัตราเหมาจ่ายรายหัวเท่ากับ 2,406.32บาท/ประชากรหนึ่งราย) งบประมาณสำหรับให้บริการผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ 2,770.853ล้านบาทต่อประชากร 138,000ราย งบประมาณสำหรับให้บริการทดแทนไต สำหรับผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย 1455.444ล้านบาทต่อผู้ป่วย 9454ราย งบประมาณสำหรับให้บริการควบคุม ป้องกันและรักษาโรคเรื้อรัง เบาหวานและความดันโลหิตสูง 304.593ล้านบาท ส่วน งบประมาณสำหรับส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุขนั้นเห็นควรระงับเนื่อจากเป็น ภารกิจแลความรับผิดชอบของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในการขอสนับสนุนงบประมาณ ดังกล่าว

เศรษฐกิจ

รัฐบาลปรับลดประมาณการณ์จีดีพีอยู่ที่ลบ 2-ลบ 5
สำนักโฆษก - 21 เม.ย. เมื่อเวลา 13.15 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม. ได้นำตัวเลขในเรื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจและรายได้ของรัฐบาลมาพิจารณา และได้มีการปรับลดกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 ซึ่งเดิมตั้งใจว่าจะตั้งไว้ที่ 1.9 ล้านล้านบาท ลงเหลือ 1.7 ล้านล้านบาท ปรับลดลงไป 2 แสนล้านบาท เพื่อให้การขาดดุลงบประมาณอยู่ที่ 350,000 ล้านบาท คืออยู่ในกรอบของกฎหมายและอยู่ในกรอบที่สามารถรักษาวินัยการคลังไว้ได้ โดยการปรับลดงบประมาณดังกล่าวได้แจ้งให้ทุกกระทรวงรับทราบ และในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้าจะนำรายละเอียดของงบประมาณเข้าสู่ที่ประชุม ครม. เพื่อขอความเห็นชอบต่อไป จากนั้นจะได้นำเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ ขณะเดียวกันในช่วงเวลาดังกล่าวจะได้ดูแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบสองของโครงการต่างๆ ถ้าไม่สามารถเข้ามาอยู่ในกรอบวงเงินงบประมาณ 2553 ได้ จะต้องมาดูว่าจะใช้แหล่งเงินจากที่ใด โดยกระทรวงการคลังจะเสนอกลับเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. อีกครั้งในวันเดียวกัน

ผู้สื่อข่าวถามว่า งบประมาณที่ปรับลดลง 2 แสนล้านบาท จะปรับในส่วนใดบ้าง นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ต้องรอดูรายละเอียดถึงจะมีความชัดเจนว่าส่วนไหนบ้างที่จะถูกตัดไป

นายกรัฐมนตรีกล่าวอีกว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบแผนการดำเนินการในการเริ่มต้นเดินหน้าแก้ปัญหาเรื่องการท่องเที่ยว โดยประเด็นแรกคือการคงมาตรการเดิมที่รัฐบาลเคยกำหนดไว้คือการลดค่าธรรมเนียมวีซ่า ค่าหลุมจอด (Landing Free) ค่าเข้าชมอุทยานแห่งชาติก็ต่ออายุไปอีก 1 ปี ประเด็นที่สองคือการเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณที่เคยอนุมัติในการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากการเมืองต่างๆ ประเด็นที่สาม คือมอบหมายให้กระทรวงการคลังเร่งปรับปรุงโครงการที่เกี่ยวข้องกับสินเชื่อ เราพบว่าที่ผ่านมามีการใช้วงเงินไปน้อยมาก ความสามารถปล่อยสินเชื่อน้อยมาก ซึ่งคงจะต้องมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์ต่างๆ เพื่อที่จะใช้เงินส่วนนี้ได้มากยิ่งขึ้น และประการสุดท้าย คือ การทำความเข้าใจกับต่างประเทศเพื่อให้เห็นถึงความปลอดภัยในการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวก็จะมีการแก้ไขปัญหาและชี้แจงผ่านกลไกต่างๆ ทั้งนี้ คาดว่าในสัปดาห์หน้าจะมีมาตรการเพิ่มเติมเข้ามาอีก

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการประเมินรายได้และจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลงมีจำนวนเท่าไหร่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้มีเพียงตัวเลข ๆ ที่สมาคมต่างๆ ได้ประมาณการไว้ เป็นตัวเลขที่มีการปรับลดลงมามาก ซึ่งเรากำลังติดตามดูตัวเลขตั้งแต่สงกรานต์เป็นต้นมา และจะเห็นได้ชัดว่ามีนักท่องเที่ยวยกเลิกการเดินทางเข้ามาค่อนข้างมาก

ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่เคยประมาณการณ์ว่าตัวเลขการท่องเที่ยวจะอยู่ที่ลบ 20 นั้นจะมากหรือน้อยกว่า นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คงต้องขอดูอีกครั้งหนึ่ง แต่อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) โดยรวมน่าจะมีการปรับลดลงมาอยู่ที่ลบ 2 หรือมากกว่าจากที่เคยประมาณการณ์ว่าจะอยู่ที่ศูนย์ ถึงลบ 1หรือลบ2 แต่ถึงขณะนี้เชื่อว่าจะอยู่ที่ลบ 2 ถึง ลบ 4 ลบ 5ซึ่งสาเหตุที่มีการปรับลดจีดีพี เพราะมีปัจจัยหลายตัวที่เห็นได้ชัด เพราะผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ต่างๆ อย่างเรื่องการท่องเที่ยวก็ได้รับผลกระทบโดยตรง นอกจากนี้ยังมีเรื่องความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ความเชื่อมั่นของนักลงทุน ทุกปัจจัยส่งผลกระทบ ทำให้เราต้องปรับประมาณการทางเศรษฐกิจลงไป

ต่อข้อถามว่า แสดงว่ามาตรการของรัฐบาลที่ทำลงไปสูญเปล่าใช่หรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวปฏิเสธว่า ไม่ได้สูญเปล่า เพราะถ้าเราไม่ทำก็หนักกว่านี้ เพียงแต่ตอนนี้สถานการณ์รุนแรงขึ้น เราก็ต้องแก้ไขปัญหาต่อไป

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลต้องไปไล่ทำในรายละเอียดของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบสอง แต่เรามีข้อจำกัดว่าถ้าหากจะกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น ก็จะมีคำถามว่าแหล่งเงินจะมาจากไหน เนื่องจากเราต้องดูกรอบของหนี้สาธารณะด้วยว่าต้องไม่ให้โตเกินไป ตนเคยคาดการณ์ไว้ว่าในที่สุดหนี้สาธารณะจะต้องขึ้นไปประมาณร้อยละ 60 หรือ 60 กว่าๆ ก็ต้องให้ยืนอยู่ตรงนั้นไม่สามารถไปไกลกว่านั้นได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า ประเมินหรือไม่ว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวได้เมื่อไหร่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้สัญญาณก็ค่อนข้างสับสน เพราะบางช่วงเริ่มมีข่าวดีในบางประเทศ แต่บางช่วงก็ยังมีปัญหา จะเห็นได้จากตลาดหลักทรัพย์ในต่างประเทศก็ยังมีความผันผวนค่อนข้างมาก

ต่างประเทศ

ข่าวสงครามอัฟกันคว้าพูลิตเซอร์นิวยอร์กไทม์สเฮชนะข่าวเปิดโปงผู้ว่าฯมั่วโสเภณี
เว็บไซต์คมชัดลึก - คณะกรรมการรางวัลพูลิตเซอร์ รางวัลใหญ่ของวงการสิ่งพิมพ์สหรัฐ ประกาศผลรางวัลเมื่อวันจันทร์ (20 เม.ย.) ปรากฏว่า หนังสือพิมพ์นิวยอร์ก ไทม์ส ที่กำลังประสบกับปัญหาสภาพคล่องทางการเงินอย่างหนัก สามารถกวาดรางวัลไปได้ถึง 5 รางวัล ขณะที่หนังสือพิมพ์อื่นๆ กระจายรับรางวัลในสาขาต่างๆ กัน

รายงานข่าวเผยว่า หนังสือพิมพ์นิวยอร์ก ไทม์ส สามารถคว้ารางวัลในสาขาต่างๆ ตั้งแต่สาขารายงานข่าวเชิงสืบสวนโดยนายเดวิด บาร์สตอว์ จากการเกาะติดรายงานข่าวนายพลนอกราชการบางคนที่ทำงานเป็นนักวิเคราะห์ทางโทรทัศน์และวิทยุแท้จริงได้รับการเลือกจากกระทรวงกลาโหมโดยตรงเพื่อจัดการเรื่องสงครามอิรัก และหลายคนในจำนวนนี้ยังถูกเปิดโปงว่ามีสายสัมพันธ์กับบริษัทหลายแห่งที่ได้รับประโยชน์นโยบายต่างๆ ของสหรัฐ

ส่วนสาขารายงานข่าวด่วน ได้จากข่าวเรื่องอื้อฉาวทางเพศของนายเอเลียต สปิตเซอร์ อดีตผู้ว่าการรัฐนิวยอร์กว่าไปซื้อบริการทางเพศจากนางทางโทรศัพท์ จนทำให้นายสปิตเซอร์ออกมายอมรับ และลาออกจากตำแหน่ง ขณะที่หนังสือพิมพ์ดีทรอยต์ ฟรีเพรส ได้รางวัลจากการแฉข้อความที่นายความี คิลแพทริก อดีตนายกเทศมนตรีเป็นผู้ส่ง ซึ่งเกี่ยวข้องกับการให้นอกใจภรรยา ให้การเท็จ สมรู้ร่วมคิด และฆาตกรรม ซึ่งจบเส้นทางการเมืองของนายคิลแพทริก

นอกจากนี้หนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ของนิวยอร์กยังได้รับรางวัลข่าวต่างประเทศยอดเยี่ยมจากการรายงานความเข้มข้นในความท้าทายทางทหารและทางการเมืองในอัฟกานิสถาน และปากีสถาน นอกเหนือจากได้รางวัลบทวิจารณ์ยอดเยี่ยม จากการวิจารณ์ศิลปะ และรางวัลภาพสารคดียอดเยี่ยม

การตัดสินครั้งนี้มีขึ้นท่ามกลางข่าวร้ายในวงการสื่อสิ่งพิมพ์ที่ต้องปิดตัวและปลดพนักงานจำนวนมาก หนึ่งในนั้นคือนายพอล กิบลิน ผู้สื่อข่าวจากหนังสือพิมพ์อีส วัลเลย์ ทริบูนในเมืองฟินิกซ์ รัฐอริโซนา ที่ถูกเลิกจ้างงานเมื่อ 3 เดือนที่แล้ว ก่อนจะเป็นผู้ชนะรางวัลพูลิตเซอร์ในสาขาข่าวท้องถิ่นยอดเยี่ยมร่วมกับเพื่อนนักข่าว

คณะกรรมการตัดสินยังกล่าวถึงแม้คนทั่วโลกจะหันมาบริโภคข่าวจากทางเว็บไซต์มากขึ้น แต่หลายฝ่ายยังวิตกว่า ข่าวในเว็บไซต์จะเน้นเรื่องความรวดเร็วเป็นหลัก แต่ขาดการตรวจสอบข้อมูลจึงอาจทำให้ผู้บริโภคได้รับรู้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อน แต่ถึงกระนั้น คนจำนวนมากก็ยังเห็นว่า เป็นเรื่องที่ดีที่ผู้บริโภคจะสามารถเข้าถึงข่าวได้จากหลายแหล่ง ไม่ได้จำกัดเฉพาะสื่อหนังสือพิมพ์ หรือแค่โทรทัศน์ วิทยุ เช่นแต่ก่อน บางคนยังเห็นว่า ช้าเกินไปด้วยซ้ำ ที่คณะกรรมการของพูลิตเซอร์เพิ่งจะมาอนุญาตให้เว็บไซต์ข่าวได้เข้าชิงรางวัลได้ทุกประเภท

รบ.ศรีลังการุกที่มั่นสุดท้ายกบฎ หลังกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬเมินเส้นตาย
ASTV ผู้จัดการรายวัน - กองทหารรัฐบาลศรีลังกา รุกคืบโจมตีที่มั่นสุดท้ายในป่าของกลุ่มปลดปล่อยพยัคฆ์ทมิฬอีแลม (แอลทีทีอี) เมื่อวานนี้(21) หลังจากที่ฝ่ายกบฏเพิกเฉยต่อเส้นตายให้ยอมจำนนของรัฐบาล ขณะเดียวกัน ได้มีพลเรือนทั้งชายหญิงและเด็กร่วมๆ 50,000 คน หลั่งไหลอพยพหลบหนีออกจากเขตสู้รบ ท่ามกลางความวิตกห่วงใยของนานาชาติ กระทรวงกลาโหมศรีลังกาแถลงว่า การสู้รบล่าสุดในบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะศรีลังกานี้ ฝ่ายรัฐบาลสามารถตัดแบ่งพื้นที่ยึดครองของกลุ่มกบฏที่เหลืออยู่เพียงเล็กน้อยออกเป็นสองส่วน

"แอลทีทีอีไม่ได้ตอบสนองต่อข้อเรียกร้องให้ยอมจำนนจากรัฐบาล ดังนั้นเราจึงรุกคืบเข้าไปอีกเพื่อช่วยเหลือพลเรือนออกมา" อุทัย นานายัคครา โฆษกกระทรวงกลาโหมแถลง หลังจากที่พ้นกำหนดเส้นตายตอนเที่ยงวันวานนี้ตามเวลาท้องถิ่น (ตรงกับ 13.30 น.เวลาเมืองไทย)

รัฐบาลศรีลังกาบอกอีกว่า ขณะนี้กองทัพกำลังจะได้ชัยชนะอย่างเด็ดขาดต่อกลุ่มแอลทีทีอีแล้ว หลังจากที่ต้องต่อสู้กับกองกำลังที่ต้องการแบ่งแยกดินแดนของชนกลุ่มน้อยชาวทมิฬให้เป็นอิสระจากชาวสิงหลซึ่งเป็นชนกลุ่มใหญ่ มาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1970

ทางด้านกบฎแอลทีทีอียอมรับว่าพวกเขากำลังสูญเสียพื้นที่เพิ่มขึ้น และระบุว่าการสู้รบ "อย่างนองเลือด" ล่าสุดนี้ ทำให้มีพลเรือนเสียชีวิตไป 1,000 คน บาดเจ็บอีก 2,300 คน สืบเนื่องจากทหารกำลังใช้พลเรือนชาวทมิฬเป็น "โล่มนุษย์" พร้อมกันนั้นก็เรียกร้องให้คณะกรรมการกาชาดสากล (ไอซีอาร์ซี) เข้ามาช่วยเหลือ

"แอลทีทีอีขอร้องไอซีอาร์ซีให้จัดส่งเครื่องใช้ด้านการแพทย์ และอพยพผู้คน 2,000 คนที่บาดเจ็บและกำลังจะประสบอันตรายอยู่แล้ว ออกไปโดยทางเรือ" กลุ่มกบฎระบุ พร้อมกับขอให้ส่งอาหารเข้า เนื่องจากผู้คนจำนวนมากกำลังอดอยาก

อย่างไรก็ตาม พวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบของศรีลังกาต่างปฏิเสธข้ออ้างของกลุ่มกบฎ บรรดาเจ้าหน้าที่ในเมืองหลวงโคลัมโบกล่าวหามานานแล้วว่า แอลทีทีอีกำลังกักตัวพลเรือนเอาไว้เพื่อใช้เป็นตัวประกัน และเมื่อจันจันทร์(20)ก็แถลงว่า มีพลเรือนทั้งที่เป็นชาย, หญิง, และเด็กๆ เกือบ 50,000 คน ประสบความสำเร็จในการพยายามหลบหนีจากที่มั่นของพวกกบฏ

กระทรวงกลาโหมบอกด้วยว่า ในวันจันทร์ กลุ่มกบฏได้สังหารพลเรือน 17 คนที่พยายามหลบหนีออกมา และมีผู้บาดเจ็บอีก 373 คน

เนื่องจากผู้สื่อข่าวถูกห้ามไม่ให้เข้าไปทำข่าวในพื้นที่ทางภาคเหนือของศรีลังกา จึงทำให้ไม่อาจตรวจสอบข้อกล่าวอ้างของทั้งสองฝ่ายได้

รัฐบาลคาดหมายว่ายังมีพลเรือนอีกถึง 30,000 คนถูกพวกพยัคฆ์ทมิฬกักตัวไว้ แต่สหประชาชาติระบุว่าตัวเลขที่แท้จริงอาจเป็นสองเท่าของจำนวนดังกล่าว และได้ออกมาเตือนวานนี้ด้วยว่า การโจมตีอย่างรุนแรงของรัฐบาลนั้นสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการนองเลือด

"หากการสู้รบยังคงมีอยู่ต่อไป และหากแอลทีทีอีปฏิเสธไม่ยอมให้พลเรือนอพยพออกจากพื้นที่ขัดแย้งดังกล่าวแล้ว เราก็คงเลี่ยงไม่ได้ที่จะเห็นเด็กๆ อีกมากมายถูกฆ่าตาย" แดเนียล ทูล ผู้อำนวยการของยูนิเซฟประจำภูมิภาคเอเชียใต้ระบุ

ทว่าประธานาธิบดีมหินทา ราชาปัคเซ ผู้นำสายเหยี่ยวของศรีลังกา กลับยืนยันว่าเขาไม่ต้องการให้ทหารหยุดรบในขณะที่ชัยชนะกำลังอยู่ใกล้แค่เอื้อม อีกทั้งฝ่ายกบฏนั้นกำลังจะ "พ่ายแพ้อย่างเด็ดขาด" และเวลุพิลไล ประภาการัน ผู้นำแอลทีทีอีก็ไม่มีเวลาเหลืออีกแล้ว แต่จนถึงบัดนี้ ปฏิกิริยาเพียงอย่างเดียวจากกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬก็คือการเรียกร้องให้หยุดยิงโดยไม่มีการตั้งเงื่อนไขใดๆ ซึ่งฝ่ายรัฐบาลก็ได้ปฏิเสธไปแล้ว

การสู้รบดังกล่าวก่อให้เกิดเสียงประท้วงในยุโรปหลายแห่ง โดยที่กรุงปารีสในฝรั่งเศส เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมผู้ประท้วงชาวทมิฬจำนวน 210 คนหลังจากที่มีการก่อเหตุรุนแรงด้วยการขว้างปาขวดเข้าใส่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย และทุบกระจกรถยนต์หลายคันเมื่อวันจันทร์

ส่วนที่กรุงลอนดอนก็มีชาวทมิฬหลายพันคนเข้าไปขวางเส้นทางจราจรในถนนหลายสาย และมีการชุมนุมประท้วงกันที่ด้านนอกของรัฐสภา และเรียกร้องให้รัฐบาลศรีลังกาหยุดยิงทันที กลุ่ม "ฮิวแมนไรต์วอตช์" ซึ่งมีสำนักงานอยู่ในนิวยอร์กก็ได้กล่าวเตือนว่าโลกมีเวลาอีกเพียงไม่กี่ชั่วโมงในการป้องกันไม่ให้เกิดการนองเลือดที่กำลังจะเกิดขึ้นในศรีลังกา