วันอาทิตย์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2552

เกมเกี้ยเซียะ ไม่ใช่ปฏิรูป

ที่มา ไทยรัฐ
Pic_1888

แก้รัฐธรรมนูญในภาวะ "บีบคั้น" ทางออกวิกฤติคนไทยแตกแยก

รัฐสภา

ถือเป็นเวทีหลักในการแก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศ

การอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติ ที่รัฐบาลภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ขอเปิดประชุมร่วม 2 สภา

เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน

กรณีเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง และสถานการณ์ ความไม่สงบจากการชุมนุมของม็อบเสื้อแดงในช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา

เพื่อหาแนวทางร่วมกันในการแก้ไขปัญหาคลี่คลายวิกฤติของประเทศ

แต่ปรากฏว่า ในการอภิปรายทั่วไปของสมาชิกรัฐสภาในครั้งนี้ ที่ใช้เวลาไปทั้งสิ้น 2 วัน 2 คืน ผลที่ออกมา

น่าผิดหวังอย่างยิ่ง

เพราะความคาดหวังของสังคมที่อยากเห็นสภาเป็นที่แก้ปัญหาวิกฤติของประเทศ กลับกลายเป็นการเพิ่มปัญหา เนื่องจาก ส.ส.ใช้เวทีแห่งนี้ เป็นสมรภูมิทำสงครามใส่ร้ายป้ายสี งัดข้อมูลเท็จบ้าง จริงบ้าง กล่าวหากันไปมา ล้วนแต่เป็นเชิงทำลาย ไม่สร้างสรรค์

เนื้อหาของการอภิปรายแทนที่จะเป็นการช่วยกันหาแนวทางลดปัญหาความขัดแย้งในบ้านเมือง

กลับกลายเป็นการตอกลิ่มให้คนไทยแตกแยกกันมากขึ้นไปอีก

ฝ่ายค้าน พรรคเพื่อไทย ยังคงทำหน้าที่ยืนหยัดต่อสู้เพื่อ "นายใหญ่" ต่อสู้เพื่อ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี อย่างเข้มข้น

ขณะที่ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ก็พุ่งเป้าโจมตีพฤติกรรมของแกนนำกลุ่มม็อบเสื้อแดง ตั้งป้อมเล่นงาน พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นหลัก

เวทีสภาจึงกลายสภาพเป็นเวทีโหมไฟความแตกแยกให้แรงขึ้น



ในขณะที่บรรยากาศการเมืองนอกสภา แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ก็ยังมีความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง

มีความพยายามในการปลุกระดมคนเสื้อแดงทั้งใต้ดินและบนดินให้ล้มอำนาจรัฐ

ถึงขั้นที่แกนนำ นปช.บางคนที่หนีคดีออกจากประเทศไทยหลังการสลายการชุมนุมม็อบเสื้อแดง ออกมาระบุผ่านสำนักข่าวต่างประเทศ

การต่อต้านรัฐบาลยังคงดำเนินการต่อไป การต่อสู้ของคนเสื้อแดงยังไม่จบ ได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์การต่อสู้บางอย่างไว้แล้ว โดยอาจจะต้องใช้อาวุธ

ตั้งหน้าตั้งตาปลุกระดมผู้คนเข้าห้ำหั่นกัน เหมือนไม่ใช่คนไทย

เป็นพวกมนุษย์กลายพันธุ์ ปลุกปั่นสร้างความแตกแยก พวกมึง พวกกู ชอบ ไม่ชอบ ขาดเหตุผล หลงงมงาย ปลุกเร้าสถานการณ์จนเหมือนกับประเทศกำลังก้าวเข้าสู่จุดแห่งความวิบัติ

เติมเชื้อไฟ หวังให้เกิดเหตุรุนแรงระเบิดศึกนอกสภาขึ้นมาอีก

แต่ทั้งหลายทั้งปวง ท่ามกลางการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่ออภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติกรณีความขัดแย้งทางการเมืองและความไม่สงบจากม็อบเสื้อแดง

ก็ยังพอมองเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์

เมื่อ ส.ส.จากซีกฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล ส.ว. รวมไปถึงนักวิชาการภายนอก ส่วนใหญ่มองเห็นตรงกันว่า? ถึงเวลาแล้วที่เวทีสภาจะต้องมีการทบทวนกติกา แก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่เป็นผลพวงมาจากการรัฐประหารของคมช.

โดยงานนี้ นายกฯอภิสิทธิ์ได้ออกมาจุดพลุให้พรรคการเมืองทุกพรรค ทั้งพรรคร่วมรัฐบาล พรรคฝ่ายค้าน รวมทั้งวุฒิสภา

เสนอประเด็นในการจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งประเด็นความไม่เป็นธรรมและความไม่เป็นประชาธิปไตยในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ โดยใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์

เพื่อมาดูว่ามีกี่ประเด็นและจะดำเนินการให้ได้ฉันทมติจากสังคมเพื่อให้แก้ไขตรงนี้ได้อย่างไร และพร้อมที่จะเดินหน้าแก้ไข

รวมไปถึงความผิดทางการเมืองที่เกิดขึ้นจากกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม โดยแยกความผิดทางการเมืองออกจากความผิดทางอาญา

เพื่อคลี่คลายวิกฤติความขัดแย้งทางการเมืองและความแตกแยกในสังคม

"ทีมข่าวการเมืองไทยรัฐ" ขอบอกว่า โดยหลักการที่นายกฯอภิสิทธิ์ให้ทุกพรรคการเมือง รวมทั้ง ส.ว. ไปรวบรวมประเด็นปัญหาเพื่อนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ถือเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ตามแนวทางที่นานาอารยประเทศยึดถือ

แต่การนำประเด็นที่แต่ละพรรคการเมืองและวุฒิสภารวบรวมเสนอมา กลั่นกรองเป็นประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องที่ยากลำบากพอสมควร

เพราะเมื่อถึงจุดนี้ ทุกฝ่ายจะเอาแต่ได้

ที่แน่ๆจากร่องรอยที่ปรากฏในขณะนี้ พรรคการเมืองหลายพรรค ต้องการจะให้มีการนิรโทษกรรมนักการเมืองที่ถูกลงโทษตัดสิทธิเลือกตั้ง 5 ปีจากคดียุบพรรค

ทั้งอดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย 111 คน อดีตกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย109 คน

ปลดล็อกความผิด คืนสิทธิทางการเมืองให้กลับคืนสู่สนามเลือกตั้งได้

แต่การจะเสนอเป็น พ.ร.บ.นิรโทษกรรมโดดๆ ก็อาจมีกระแสต่อต้านแรงเสียดทานจากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย กลัวจะไม่ผ่าน

ก็ต้องหาทางพ่วงเข้ามากับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเที่ยวนี้ พลางๆกันไป

ทั้งนี้เมื่อพูดถึงการลงโทษในคดีทุจริตเลือกตั้ง ยุบพรรค ตัดสิทธิการเมืองกรรมการบริหารพรรค 5 ปี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 237

ถือเป็นกฎเหล็กของรัฐธรรมนูญที่ต้องการป้องกันปัญหาการซื้อสิทธิซื้อเสียงเลือกตั้งอย่างเข้มข้น

ถ้าผู้สมัคร ส.ส.ทุจริตซื้อสิทธิซื้อเสียง โดยกรรมการบริหารพรรคมีส่วนรู้เห็น จะต้องถูกยุบพรรคและตัดสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรค 5 ปี

แต่ถึงแม้จะมีกฎเหล็กวางไว้ นักการเมืองก็ไม่แยแส ยังคงซื้อสิทธิซื้อเสียงกันโจ๋งครึ่ม

เมื่อถูกจับได้ก็ต้องโดนลงโทษตามกฎเหล็กถึงขั้นยุบพรรค พร้อมตัดสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรค 5 ปี? ขณะเดียวกัน ก็มีเสียงตอบโต้วิพากษ์วิจารณ์มาตลอดว่า การตัดสินลงโทษเว้นวรรค 5 ปีกรรมการบริหารพรรคแบบยกเข่ง เป็นเรื่องที่ไม่เป็นธรรม

เพราะกรรมการบริหารพรรคบางคนไม่มีส่วนรับรู้กับการทุจริตดังกล่าว แต่ก็ต้องรับกรรมโดนตัดสิทธิเลือกตั้งไปด้วย

ในข้อเท็จจริง เหตุผลความไม่เป็นธรรมตรงนี้ ก็พอฟังได้

หากจะมีการยกขึ้นมาเป็นประเด็นที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญก็เป็นเรื่องที่รัฐสภาสามารถดำเนินการได้

โดยยังคงโทษยุบพรรค และให้ตัดสิทธิเลือกตั้งเฉพาะผู้ที่กระทำการทุจริตเลือกตั้ง และกรรมการบริหารพรรคที่รู้เห็นเป็นใจกับการทุจริต
แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าจะแยกแยะอย่างไร ระหว่างคนทำผิด คนไม่ผิด คนที่รู้เห็น หรือไม่รู้เห็นกับการซื้อสิทธิซื้อเสียง ที่สำคัญ การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อลดความเข้มข้นในการป้องกันการทุจริตซื้อเสียงเลือกตั้ง

ย่อมส่งผลกระทบต่อการป้องกันปัญหาวงจรอุบาทว์ ซื้อสิทธิ ซื้อเสียง ถอนทุน

ซึ่งก็เท่ากับปล่อยให้การเมืองหวนกลับไปสู่วงจรเลวร้ายเดิมๆ ที่เป็นรากเหง้าของวิกฤติการเมืองและวิกฤติเศรษฐกิจของประเทศ

ทั้งนี้ นอกจากประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการนิรโทษกรรมนักการเมืองบ้านเลขที่ 111 และ 109 แล้ว ยังมีประเด็นอื่นๆในบทบัญญัติรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่หลายพรรคการเมืองชูธงจะขอแก้ไข อาทิ

มาตรา 190 ว่าด้วยการลงนามสนธิสัญญา ข้อตกลงระหว่างประเทศ ที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อน มาตรา 266 การจำกัดการใช้อำนาจหน้าที่ของ ส.ส. ส.ว. ไม่ให้เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงการทำงานของข้าราชการ รวมไปถึงแก้ไขเรื่องข้อห้าม ส.ส.ในการดำรงตำแหน่งทางการเมือง อาทิ เลขานุการรัฐมนตรี

การแก้ไขที่มาของ ส.ว.ให้มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด แก้ไขเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส. ให้เป็นแบบเขตเดียวเบอร์เดียว หรือวันแมนวันโหวต

และการแก้ไขมาตรา 309 ที่ให้การรับรองคำสั่งและการกระทำใดๆของ คมช.ให้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ในขณะที่ฝ่ายค้าน พรรคเพื่อไทย และพรรคประชาราช ก็ออกมาเสนอให้โละรัฐธรรมนูญปี 2550 แล้วนำรัฐธรรมนูญปี 2540 กลับมาใช้ใหม่

ต้องการปลดล็อกโทษทุกอย่าง เหมือนไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้นมาก่อน

ต่างๆเหล่านี้ล้วนเป็นปมปัญหาที่ต้องมีการถกเถียงต่อรองหาข้อยุติ ก่อนที่จะนำเข้าสู่กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ออกมาเป็นรูปธรรม

โดยเฉพาะแนวทางของฝ่ายค้าน ที่ต้องการให้โละรัฐ-ธรรมนูญปี 2550 ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้เปิดช่องเอาไว้

มีแค่บทบัญญัติให้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเท่านั้น

ทีมของเราขอชี้ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่กำลังจะเกิดขึ้นครั้งนี้ ถือเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เพื่อลดอุณหภูมิความขัดแย้งทางการเมืองในภาวะที่สังคมเกิดความแตกแยกรุนแรง

ประนีประนอมเพื่อความสมประโยชน์ของนักการเมืองและกลุ่มผลประโยชน์

เป็นแค่การเกี้ยเซียะ ไม่ใช่การปฏิรูปการเมือง ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ยั่งยืน

แค่พักรบชั่วคราว ชะลอการแตกหัก

แต่เชื้อยังอยู่ หัวฝียังอยู่ รอเวลาปะทุรอบใหม่.

ทีมข่าวการเมือง รายงาน