วันอาทิตย์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2552

อนาคตของขบวนการเสื้อแดง: บทวิเคราะห์และข้อเสนอแนะ

ที่มา ประชาไท

ปกป้อง เลาวัณย์ศิริ

เราปฎิเสธไม่ได้ว่าการเดินเกมของกลุ่มแนวร่วมประชาชนขับไล่เผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือที่รู้จักกันในนามของคนเสื้อแดงช่วงสงกรานต์ได้สร้างความเสียหายทางชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของคนเสื้อแดงอย่างปฏิเสธไม่ได้

ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่น่าเศร้าเนื่องจากการเคลื่อนไหวก่อนหน้านี้โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ได้เรียกว่าเป็นการเคลื่อนไหวอย่างสันติในระดับหนึ่ง หลังจากสงกรานต์ภาพลักษณ์ที่ปรากฏเห็นได้ทำให้สังคมมีความเข้าใจว่าคนเสื้อแดงเป็นขบวนการที่ใช้ความรุนแรง ตามที่ได้มีการกระพือตลอดมา โดยกลุ่มการเมืองสายพันธมิตรฯ พร้อมกับการสนับสนุนจากสื่อกระแสหลักที่มีความเบี่ยงเบนทางการเมืองอยู่แล้ว

ในฐานะผู้สังเกตการณ์ทางการเมือง ผู้เขียนจึงอย่างจะมีข้อเสนอแนะไปถึงกลุ่มคนเสื้อแดง (ซึ่งรวมถึงสมาชิกผู้แทนราษฎรพรรคเพื่อไทย ที่มีบทบาทเป็นแกนนำคนเสื้อแดงด้วย) ดังนี้:

ประเด็นที่หนึ่ง ถ้าหากคนเสื้อแดงต้องการให้การเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงเป็นการเคลื่อนไหวที่ไม่ใช้ความรุนแรง (Non-violence) ตามที่ได้พูดมา และต้องการทำให้การเคลื่อนไหวมีความแตกต่างจากการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในปีที่แล้วที่ใช้ความรุนแรง เช่น การทำร้ายตำรวจ การบุกยึดสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที (ในขณะนั้น) และการยึดสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิ คนเสื้อแดงต้องประกาศและต้องทำให้การชุมนุมเป็นการชุมนุมที่สันติ ปราศจากอาวุธ ดำเนินการตามหลักรัฐธรรมนูญและกฎหมายระหว่างประเทศอย่างแท้จริง การชุมนุมที่ใช้ความรุนแรงจะทำให้คนเสื้อแดงได้รับการประณามจากชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ และสื่อสารมวลชนกระแสหลักมากกว่านี้

ประเด็นที่สอง คนเสื้อแดงต้องไม่ปกป้องบุคคลที่มีบทบาทจริงในการใช้ความรุนแรงจริง เช่น บุคคลที่มีบทบาทในการทุบรถนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะในกระทรวงมหาดไทย การนำรถก๊าซเอ็นจีวี และการเผารถบัส โดยต้องมีการสนับสนุนให้มีการดำเนินคดีตามกฎหมายกับบุคคลที่ใช้ความรุนแรง คนเสื้อแดงไม่ควรปล่อยให้ขบวนการมีส่วนร่วมกับการกระทำที่ผิดกฎหมายโดยปกป้องคนเหล่านี้ เนื่องจากจะทำให้การเรียกร้องให้มีการดำเนินคดีกับพันธมิตรฯ ที่ใช้ความรุนแรงโดยกลุ่มคนคนเสื้อแดงหมดความชอบธรรมไปทันที

ประเด็นที่สาม เราต้องไม่ปฏิเสธว่าบทบาทของสื่อสารมวลชนกระแสหลักโดยเฉพาะสื่อโทรทัศน์ (เนื่องจากเป็นสื่อที่สามารถเข้าถึงประชาชนได้จำนวนมากที่สุด) มีความสำคัญในการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญตลอดมา ดูได้จากบทบาทของสื่อสารมวลชนในการสนับสนุนการเคลื่อนไหวของที่ประชาชนในการเรียกร้องประชาธิปไตยในกรณีพฤษภาทมิฬซึ่งมีบทบาทให้การเคลื่อนไหวประสบความสำเร็จ ซึ่งแตกต่างจากการฆาตกรรมหมู่ 6 ตุลาคม 2519 ที่ขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยของนักศึกษาประชาชนไม่ได้รับการสนับสนุนจากสื่อมวลชนทำให้นำไปสู่การที่ประชาชนส่วนใหญ่ในสังคมให้ความชอบธรรมกับการใช้ความรุนแรงในการปราบนักศึกษาประชาชนที่ชุมนุมอย่างสันติในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ดังนั้นคนเสื้อแดงต้องมียุทธศาสตร์ในการทำงานร่วมมือกับสื่อสารมวลชนกระแสหลักในการเปลี่ยนความคิดโดยต้องเป็นยุทธศาสตร์ระยะยาว (เช่น อาจจะมีปีกของนปช.ที่ทำงานทางความคิดกับสื่อกระแสหลักโดยตรง) แม้ว่าทัศนะของคนเสื้อแดงจะได้รับการเสนอจากสื่อต่างประเทศและสื่อกระแสรอง (เช่น ประชาไท) แต่เราปฎิเสธไม่ได้ว่าสื่อกระแสหลักมีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงความคิดของคนส่วนใหญ่ เนื่องจากเป็นสื่อที่คนส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงได้

ประเด็นที่สี่ คนเสื้อแดงต้องต่อสู้ด้วยความจริง ไม่ใช้การโกหก หรือการสร้างเรื่องขึ้นมา ผู้เขียนเห็นว่าการพูดถึงคนตายจากการเข้าสลายการชุมนุมโดยทหารต้องมีการตรวจสอบอย่างแท้จริงก่อนที่จะออกมาพูด เนื่องจากการพูดว่ามีคนตายหกคนบ้าง สิบคน หกสิบคนบ้างจะเป็นผลเสียกับคนเสื้อแดงในประเด็นเรื่องความน่าเชื่อถือ (Credibility) เนื่องจากไม่ได้มีข้อมูลอย่างชัดเจนในการตอบคำถามกับสังคมว่าได้เกิดขึ้นจริงหรือไหมและมีหลักฐานอยู่ที่ไหน

โดยส่วนตัว ผู้เขียนตั้งคำถามกับการเสียชีวิตมากเพราะคิดว่าถ้ามีการเสียชีวิตจริง นักข่าวต่างประเทศและนักข่าวพลเมืองต้องมีภาพมาเสนอกับสังคมแน่นอน ดังนั้นคนเสื้อแดงต้องต่อสู้โดยใช้ข้อมูลจริง เหตุการณ์จริง ที่มีหลักฐานสนับสนุนอย่างชัดเจนได้

การเคลื่อนไหวเรื่องการไม่ชอบธรรมของการสลายการชุมนุมอาจจะเป็นประเด็นที่เริ่มรณรงค์ได้โดยดูจากการที่ทหารเข้าทำร้าย ซ้อมผู้ชุมนุม และใช้ความรุนแรงเกินกว่าความจำเป็น (Excessive use of force) ตามที่ได้มีการแสดงภาพวีดีทัศน์ในการประชุมรัฐสภาโดยสส.แพร่ พรรคเพื่อไทย และ กรณีการที่รัฐบาลตัดสินใจใช้ทหารในการสลายการชุมนุมโดยไม่ได้ใช้ตำรวจทั้ง ๆ ที่ตำรวจมีการฝึกในการสลายการชุมนุมมามาดีกว่า

ประเด็นที่ห้า คนเสื้อแดงต้องคิดถึงการลดบทบาทของ ทักษิณ ชินวัตรและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคเพื่อไทยจากการเป็นแกนนำหลักของเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดง โดยควรจะดึงเอานักกิจกรรม นักสหภาพแรงงาน นักวิชาการ และบุคคลอื่น ๆ ที่มีความหลากหลายทางสาขาอาชีพมามีบทบาทในการนำมากขึ้น การเอาทักษิณ มาอยู่ใกล้ชิดกับคนเสื้อแดงมากเกินไป อาจจะทำให้ชนชั้นกลาง นักวิชาการ นักกิจกรรมจำนวนมาก ที่ไม่พอใจกับการปฏิบัตินโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาลประชาธิปัตย์และผลกระทบที่เกิดขึ้นจากรัฐประหารกับกระบวนการทางการเมืองต่าง ๆ ยอมรับไม่ได้ที่จะต้องต่อสู้เพื่อทักษิณ

ความชอบธรรมของการต่อสู้ของคนเสื้อแดงที่เรียกร้องประชาธิปไตยและเรียกร้องให้รัฐบาลประชาธิปัตย์เคารพสิทธิมนุษยชนทางเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมจะถูกทำลายไปในทันทีถ้ายังโยงทักษิณกับการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดง

แม้ว่าในช่วงรัฐบาล พตท. ทักษิณ จะมีนโยบายที่สนับสนุนสวัสดิการของคนจนจำนวนมาก แต่เราก็ปฎิเสธไม่ได้ว่าช่วงนั้นเป็นช่วงที่มีการคุกคามองค์กรอิสระและมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทยยุคใกล้ ดังที่ดูได้จาก การคุกคามสื่อและองค์กรอิสระ การวิสามัญฆาตกรรมประชาชนในช่วงสงครามยาเสพติดที่มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 2 พันกว่าศพซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้บริสุทธิ์ การสลายการชุมนุมที่อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาสที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต 78 ศพ รวมถึงการฆาตกรรมนักสิทธิมนุษยชนมากกว่า 20 คนในช่วงรัฐบาลทักษิณ

ท้ายที่สุด การเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงต้องไม่ให้ความสำคัญแค่ผลกระทบจากรัฐประหารกับพรรคไทยรักไทยเก่า หรือ การต่อต้านรัฐบาลชุดนี้แบบหัวชนฝาเพียงอย่างเดียว ถ้าคนเสื้อแดงต้องการให้การเคลื่อนไหวประสบความสำเร็จคนเสื้อแดงต้องมีข้อเสนอแนะอย่างชัดเจนกับสังคมว่าจะนำพาสังคมไปทางไหนในระยะยาว

ขบวนการคนเสื้อแดงต้องสามารถอธิบายให้กับสังคมเห็นว่าการรัฐประหาร การได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญปี 2550 และการเพิ่มบทบาทของตุลาการ มีผลกระทบอะไรกับพื้นที่ประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมของประชาชนในปัจจุบัน การเรียกร้องให้แก้รัฐธรรมนูญต้องมีการเรียกร้องที่กว้างขวางโดยให้มีการเพิ่มบทบาทกับประชาชนมากขึ้นในกระบวนการต่าง ๆ โดยทำความเข้าใจกับประชาชนว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 ได้ทำให้เลือกตั้งวุฒิสภาครึ่งหนึ่งหมดไปและลดบทบาทภาคประชาชนในการสรรหาองค์กรอิสระ เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นอกจากนี้คนเสื้อแดงต้องทำงานในประเด็นอื่น ๆ ที่ภาคประชาชนให้ความสนใจด้วย เพื่อสร้างแนวร่วม ยกตัวอย่างเช่นเรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายที่ลดพื้นที่การแสดงสิทธิเสรีภาพ เช่น พรบ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับกฎหมายเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์