วันพฤหัสบดีที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2552

‘เฉลิม’ ฉะรัฐบาลไม่มีเหตุประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ชี้ขั้นตอนไม่ถูกต้อง ลุ้นศาลอาญามีคำสั่งวันนี้

ที่มา ประชาไท

(22 เม.ย.52) ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ประธานผู้นำฝ่ายค้าน กล่าวอภิปรายในประเด็นการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินร้ายแรงของรัฐบาลว่า นายกฯ ได้ประกาศ พ.ร.ก.นี้ที่กระทรวงมหาดไทย โดยที่ในกรุงเทพมหานครนั้นยังไม่มีเหตุรุนแรงใดๆ เลย นอกจากการปิดถนนบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ดินแดง และชุมนุมกันอยู่ข้างทำเนียบรัฐบาล ส่วนการเกิดเหตุทุบรถที่กระทรวงมหาดไทย และทำร้ายนายนิพนธ์ พร้อมพันธุ์นั้น เกิดขึ้นหลังจากนายกฯ ประกาศ พ.ร.ก.แล้ว ทั้งนี้ การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินตาม มาตรา 5 ทำให้ประชาชนเสียสิทธิ 6 ข้อ แต่นายกฯ กลับประกาศเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินหลายแรงพ่วงมาตรา 11 ซึ่งทำให้ประชาชนเสียสิทธิเพิ่มอีก 10 ข้อด้วย

เขากล่าวต่อว่า ขณะนี้มีการสั่งดำเนินคดีแกนนำกลุ่มเสื้อแดง โดยอาศัย กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาซึ่งควบคุมตัวได้ 48 ชั่วโมง เมื่อไปถึงศาลมีการยื่นคำร้องขอฝากขัง 2 ชุด ชุดหนึ่งฝากขังตาม ป.วิอาญา 12 วัน อีกชุดหนึ่ง ฝากขังตาม พ.ร.ก.7 วัน สาระสำคัญ คือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินนั้นมีเจตนารมณ์ในการแก้ปัญหาในสถานการณ์รุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ เพราะผู้กระทำผิดบางคน ทางการสงสัยแต่ไม่มีหลักฐานดำเนินคดีอาญา จึงใช้ พ.ร.ก.นี้ควบคุมตัวได้ 7 วันและสามารถต่อทีละ 7 วันได้จนครบ 30 วัน แต่การจะควบคุมตัวได้ต้องขอศาลก่อนคุม ไม่ใช่คุมตัวก่อนแล้วจึงขอศาลดังที่เป็น นอกจากนี้การคุมตัวยังห้ามปฏิบัติกับบุคคลนั้นเหมือนผู้ต้องหาด้วย ขณะที่กรณีนายวีระ นายอริสมันต์ นายณัฐวุฒิ ตำรวจควบคุมตัวและแจ้งข้อกล่าวหาหลายข้อหา ซึ่งเท่ากับรู้แล้วว่าผิดอะไร ในส่วนของนายอริสมันต์มีความพยายามถอนประกัน เป็นใครก็จำเป็นต้องหนี เพราะเท่ากับรัฐบาลกำลังจะขังฟรี 30 วัน

“ไม่มีรัฐบาลประชาธิปไตยที่ไหนเขากระทำแบบนี้กับผู้ชุมนุม มีแต่รัฐบาลที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรีเท่านั้นที่ทำได้”

ร.ต.อ.เฉลิม ยังกล่าวด้วยว่า ขณะนี้ทนายฝ่ายผู้ต้องหาได้ไปยื่นคำร้องต่อศาลอาญารัชดาว่ารัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินร้ายแรงโดยไม่ชอบ ซึ่งเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้เบิกความว่าไม่อยู่ในที่ประชุม และไม่ได้เอกสารอะไรจากนายกฯ นายกฯ เพียงแต่การแจ้ง ครม.เมื่อ17 เม.ย.ที่ผ่านมาว่าได้ออก พ.ร.ก.ฉุกเฉินร้ายแรง แม้พรุ่งนี้ (23 เม.ย.) ศาลจะมีคำสั่งในเรื่องนี้ แต่ในฐานะกฎหมายต้องแสดงความเห็นว่า นายอภิสิทธิ์อาศัยอำนาจตามบทบัญญัติกฎหมายใดที่คง พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่ประกาศไปเมื่อ 12 เม.ย.ได้ต่อไป

เท่าที่ดูเลขาธิการ ครม.ชี้แจงทางช่อง 11 ระบุว่าอาศัย พ.ร.ฎ.ปี 48 มาตรา 8 วรรคสองที่ออกตามมาตรา 3 ของพ.ร.บ.ระเบียบการบริหารราชการแผ่นดิน มีใจความว่า การประชุม ครม.ถ้านายกฯ เห็นว่าต้องเก็บเรื่องการประชุมเป็นความลับให้ร่วมประชุมกับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม พ.ร.ฎ.ปี 48 อาศัยอำนาจตามมาตรา 221 ของรัฐธรรมนูญปี 40 ซึ่งขณะนี้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญปี 40 นั้นไม่เหลืออยู่แล้ว เพราะถูกทหารทำการปฏิวัติ ฉีก รธน.ทิ้งไป และใน พ.ร.ฎ.ยังระบุให้การประชุมคณะรัฐมนตรีในกรณีปกติดำเนินการเข้าร่วมได้เมื่อมีรัฐมนตรีร่วมประชุมไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของครม.ที่มีอยู่ และหากมีกรณีฉุกเฉิน กรณีจำเป็นต้องรักษาความลับ นายกฯ จะพิจารณาเรื่องอะไรเป็นความลับก็ให้พิจารณาร่วมกับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง แต่การประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเป็นข่าวทั่วโลก ไม่ใช่เรื่องต้องรักษาความลับ เช่น การลดค่าเงินบาท ขึ้นภาษีสรรพสามิต

ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า นอกจากนี้การกระทำของนายอภิสิทธิ์ยังขัดกับบทบัญญัติ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาตรา 5 ที่สรุปได้ว่ากรณีสถานการณ์ฉุกเฉินจะเกิดภัยพิบัติกับบ้านเมืองให้นายกฯ ประกาศภาวะฉุกเฉินได้ โดยหลักการกำหนดว่าต้องขอความเห็นชอบจาก ครม.ให้ประกาศ แต่หากเป็นกรณีจำเป็นจริงๆ ให้นายกฯ ประกาศได้ แต่หลังจากนั้นต้องให้ ครม.เห็นชอบ ภายใน 3 วัน อย่างไรก็ตาม จนถึงปัจจุบันนี้นายกฯ ยังไม่ได้ให้ครม.เห็นชอบการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงแต่อย่างใด ทำให้ พ.ร.ก.ต้องถูกยกเลิกไปโดยปริยาย แต่นายอภิสิทธิ์กลับยังคงไว้ซึ่งอำนาจตาม พ.ร.ก.จากการให้สัมภาษณ์ในหลายที่ ดังนั้น จึงต้องรอดูคำสั่งศาลอาญาในวันพรุ่งนี้ (23 เม.ย.) เวลา 13.30 น.ว่าศาลจะตัดสินอย่างไร การออกพ.ร.ก.นี้ชอบหรือไม่

“ทุกมาตราที่มีอยู่ต้องให้ ครม.เห็นชอบ เพราะอำนาจตาม พ.ร.ก.นี้เหมือนอำนาจคณะปฏิวัติในอดีต” เขากล่าว และยังกล่าวด้วยว่าการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินร้ายแรงนี้ ยังทำให้นักลงทุนไม่กล้ามาลงทุน เป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจของไทยอย่างไม่น่าให้อภัย