เมื่อวันที่ 29 เม.ย. ที่สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เครือข่ายพลเมืองเน็ต คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.) คณะกรรม การรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) ศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อประชาธิปไตย และเครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ร่วมกันจัดงานเสวนา “วิพากษ์ผลกระทบกฎหมายและการเมือง ต่อสิทธิมนุษยชนพลเมืองเน็ต” โดยนายจอน อึ๊งภากรณ์ ผอ.โครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน กล่าวว่า พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์มีปัญหาจำกัดสิทธิการแสดงความคิดเห็นหลายมาตรา เพราะมีความเข้าใจผิดว่าให้เจ้าของเว็บ ไซต์ต้องรับผิดชอบเนื้อหาที่โพสต์ในเว็บ โดยที่ไม่เข้าใจว่าเว็บไซต์เป็นเสรีภาพในการแสดงออก จึงต้อง แก้ไข พ.ร.บ. นี้ ส่วนการปิดเว็บไซต์นั้น ไทยไม่มีความ สามารถในเรื่องนี้เท่าไร ตนมองว่าเรื่องนี้เหมือนกับการไปตั้งเครื่องมือที่สนามบิน คอยตรวจจับว่าใครเป็น ไข้หวัดหมู ซึ่งมันไม่ได้ผลแต่รัฐบาลก็ยังทำ ขณะนี้ประชาชนกำลังถูกลูกหลงจากสงครามระหว่าง 2 ฝ่าย มันคือสัญลักษณ์ของบรรยากาศการเมืองที่ไม่ปกติ โดย สงครามนั้นหัวข้อใหญ่เกี่ยวข้องกับสถาบัน ซึ่งเป็นเรื่องอ่อนไหวของสังคมไทย ไม่ว่ารัฐบาลพลังประชาชน หรือรัฐบาลประชาธิปัตย์พยายามจะบอกว่าเรากำลัง ปกป้องสถาบันอย่างมีประสิทธิภาพ
“วิธีที่จะทำให้ประเทศสงบได้และสถาบันยังอยู่ด้วยคือทุกฝ่ายต้องทำให้สถาบันกษัตริย์อยู่เหนือ การเมืองจริง ไม่มีใครเอามาใช้เป็นเครื่องมือ ทั้งนี้ เราต้องแก้กฎหมายอาญามาตรา 112 เรื่องหมิ่นพระบรมเดชานุภาพให้เป็นกลไกปกติของการดำเนินการ” นายจอน กล่าว
ด้าน น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ ตัวแทนเครือข่ายพลเมืองเน็ต กล่าวว่า การปิดกั้นเว็บไซต์ เพิ่มขึ้นหลังรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 กว่าร้อยละ 50 แม้ตาม พ.ร.บ. นี้ การปิดเว็บไซต์ต้องผ่านขั้นตอนของศาลก่อนแต่ช่วงประกาศกฎอัยการศึกยังมีการปิดเว็บไซต์ได้ จึงมีการถกเถียงว่าขัดต่อสิทธิเสรีภาพหรือไม่ ซึ่งกรณีทั้งหมดเกิดจากความขัดแย้งทางการเมืองที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนทั่วไปในเรื่องการใช้สิทธิเสรีภาพ จึงต้องแก้กฎหมายให้มีมาตรฐานและสิทธิเสรีภาพดีขึ้น.
วันพฤหัสบดีที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2552
เอ็นจีโอติงรัฐอย่าปิดปาก ปชช.
ที่มา เดลินิวส์