วันอาทิตย์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

ข่าวมอนิเตอร์ประจำวันที่ 3 พฤษภาคม 2552

ที่มา ประชาไท

เพื่อไทย ข้องใจ “ชัย ตั้ง ดิเรก-สมศักดิ์ นั่ง ปธ.2 คณะ ติงเหมาะสม -เป็นประชาธิปไตยหรือไม่เว็บไซต์แนวหน้า - นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล ส.ส.แพร่ พรรคเพื่อไทย ในฐานะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมือง ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ นายชัย ชิดชอบ ประธานรํฐสภา ได้มีคำสั่งแต่งตั้ง นายสมศักดิ์ บุญทอง เป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมือง และแต่งตั้ง นายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรี เป็นประธานคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฎิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมาว่าพรรคเพื่อไทย ขอตั้งข้อสังเกตว่าการแต่งตั้งประธานทั้ง 2 คณะดังกล่าวมีความเหมาะสมหรือไม่ รวมทั้งเป็นที่ยอมรับหรือไม่ เพราะขนาดตนอยู่ในแวดวงการเมืองยังไม่รู้ประวัติลึกซึ้งและเมื่อเอ่ยชื่อออกมา ก็ไม่เชื่อว่าจะเป็นคนกลางที่สังคมและประชาชนยอมรับได้จริงเพราะในสถานการณ์ที่เกิดวิกฤติทางการเมืองขณะนี้ คนที่เป็นประธาน จะต้องมีคุณสมบัติที่สังคมไว้เนื้อเชื่อใจและมีประวัติผลงานที่ชัดเจน เมื่อเอ่ยชื่อแล้วทุกคนต้องรู้จัก

นายวรวัจน์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ ขอตั้งข้อสังเกตว่าตามระบบรัฐสภา ควรจะให้กรรมการตัวแทนจากพรรคต่างๆเป็นผู้เลือกประธาน กันเอง แต่การทำเช่นนี้ถือว่าไม่เป็นประชาธิปไคย เพราะปกติแล้วไม่ว่าฝ่ายค้านและรัฐบาล น่าจะตกลงกันได้ อย่างไรก็ตาม ในการประชุมคณะกรรมการครั้งแรก พรรคเพื่อไทยจะได้มีการสอบถามประวัติที่มาที่ไปของประธานและเหตุผลในการแต่งตั้ง เพื่อให้เกิดความกระจ่างกับทุกฝ่าย

ชทพ.สรุป เสนอ7ประเด็นแก้ รธน.ตั้งแท่น 3 ฉบับแต่ยังรอเวลาส่ง
เว็บไซต์แนวหน้า - นายชุมพล ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา เปิดเผยถึงการเสนอประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนพรรคชาติไทยพัฒนา ว่า ขณะนี้ทางพรรคได้สรุปประเด็นที่เห็นควรจะแก้ไขเรียบร้อยแล้ว รอปรับปรุงในรายละเอียดอีกเล็กน้อย ในส่วนของพรรคชาติไทยพัฒนา สรุปได้ 7 ประเด็น ประกอบด้วย คือ ประเด็นที่ต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา มาตรา 190 ประเด็นที่นำไปสู่การยุบพรรค มาตรา 237 ประเด็นข้อห้ามส.ส.ไปดำรงตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรี มาตรา 265 และ 266 ประเด็นการแบ่งเขตเลือกตั้งส.ส. ประเด็นส.ส.สัดส่วนควรกลับไปเป็นแบบระบบบัญชีรายชื่อ ประเด็นอำนาจของส.ส.ในการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ และประเด็นที่มาส.ว.ที่ควรจะมาจากการเลือกตั้ง โดย 4 ประเด็นหลังควรจะกลับไปใช้แบบเดิมในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540

นายชุมพล กล่าวต่อว่า เพื่อให้การพิจารณาประเด็นแก้ไขสามารถทำได้อย่างราบรื่นในช่วงการอภิปรายในแต่ละประเด็น และเพื่อให้เกิดเป็นสัมฤทธิ์ผล ทางพรรคจึงคิดกันว่าควรนำทั้ง 7 ประเด็นทั้งหมด ที่จะเสนอไปในคราวเดียวกันนั้น แต่แยกประเด็นไว้เป็น 3 ฉบับ โดยฉบับแรกคือประเด็นที่คิดว่าไม่น่าจะมีปัญหา เพราะหลายฝ่ายก็มีความคิดเห็นตรงกัน คือ มาตรา 190 , 237 , 265 , 266 ส่วนฉบับที่ 2 คือ ประเด็นเรื่องที่มาและและส.ว.รวมทั้งอำนาจของส.ส. และฉบับสุดท้ายคือ เรื่ององค์กรอิสระ ซึ่งหากแยกเป็นรายฉบับอย่างนี้เชื่อว่าจะสามารถทำงานได้ง่าย รวดเร็ว เพราะเมื่ออภิปรายจะไม่ปะปนประเด็นกัน ส่วนพรรคอื่นจะเสนอในรูปแบบเดียวกันนี้ด้วยหรือไม่ ตนไม่ทราบ

เมื่อถามว่าในส่วนของพรรคชาติไทยพัฒนาจะสามารถส่งข้อเสนอดังกล่าวได้เมื่อใด นายชุมพลกล่าว เมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น แต่ตอนนี้ยัง เพราะต้องขอดูรายละเอียดอีกเล็กน้อย ทั้งนี้เมื่อแต่ละพรรคส่งข้อเสนอไปให้นายกรัฐมนตรี จากนั้นรัฐบาลก็รวบรวมส่งมอบให้กับรัฐสภาเป็นผู้ดำเนินการต่อไป สำหรับการประสานงาน พรรคฯได้มอบให้นายอรรคพล สรสุชาติ ร่วมในคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นตัวแทนของพรรคที่จะร่วมหารือกับวิปฯ

ทปอ. มีมติ ใช้ระบบแอดมิชชั่นส์ 53 คงเดิม ถึงปี 55
เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์
- ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) แถลงข่าวภายหลังการประชุมทปอ.ครั้งที่2/2552 ว่า ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับระบบแอดมิชชั่นกลางใหม่ที่จะเริ่มใช้ในปี 2553 และมีมติยืนยันว่า แอดมิชชั่นใหม่นี้จะเป็นไปตามที่เคยประกาศไว้โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ คือ ใช้คะแนน GPAX ร้อยละ 20 คะแนนO-NET ร้อยละ 30 ที่เหลือเป็นคะแนนสอบวัดความถนัดทั่วไป (General Aptitude Test : GAT) และคะแนนสอบวัดความถนัดทางวิชาชีพ(Professional A Aptitude Test : PAT) พร้อมกันนี้ ทปอ.มีมติว่า หากจะมีการปรับระบบแอดมิชชั่น จะต้องประกาศล่วงหน้าก่อน 3 ปี เพื่อให้นักเรียนเตรียมตัวทัน เพราะฉะนั้น หมายความว่า หากมีการเปลี่ยนแปลงระบบแอดมิชชั่นใด ๆ อีก เช่น จะยกเลิกการใช้คะแนน GPAX คะแนน O-Net ก็ต้องเริ่มใช้ในปี 2556

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในหลักการใหญ่จะลงตัวแน่นอนแล้ว แต่เรื่องสัดส่วนการใช้คะแนน GAT-PAT ของแต่ละสาขาวิชายังสามารถปรับเปลี่ยนได้ โดยในปลายเดือนพ.คนี้ จะให้สภาคณบดีของแต่ละสาขาวิชา หาข้อสรุปว่า แต่ละสาขาจะใช้ปรับเปลี่ยนค่าน้ำหนักคะแนนของ GAT และ PAT เท่าใด แล้วเสนอมาที่คณะทำงานศึกษาแอดมิชชั่นฟอรั่มปี 53 เพื่อนำเข้าหารือในการประชุมทปอ.วิชาการ ระหว่างวันที่ 31 ก.ค. - 1 ส.ค.2552 นี้

ผู้นำอาเซียนยื่นคำขาดห้ามชุมนุม5กม.รัฐต้องเด็ดขาด
เว็บไซต์ไทยรัฐ
- 2 พ.ค. สำหรับเนื้อหาสาระการประชุมเตรียมความพร้อมรักษาความปลอดภัยในการประชุมสุดยอดอาเซียน บวกคู่เจรจา ที่จ.ภูเก็ต นั้น ล่าสุดผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ด้านความมั่นคง ได้มอบหมายให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นผู้รับผิดชอบดูแลรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญที่เข้าร่วมประชุม โดยรัฐบาลไทยจะเสนอให้จัดระหว่างวันที่ 12-14 มิ.ย.นี้? ทั้งนี้ในที่ประชุม นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ได้ชี้แจงเกี่ยวกับเงื่อนไขของแต่ละประเทศที่จะเข้าร่วมประชุมว่า เจ้าหน้าที่ไทยจะต้องไม่ให้มีการชุมนุมของทุกกลุ่มในพื้นที่ ห่างจากจุดการชุมนุมไม่ต่ำกว่า 5 กม. และขอให้ใช้ความเด็ดขาดในการดำเนินการกับกลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญ หากรัฐบาลไทยทำไม่ได้ ผู้นำของแต่ละประเทศจะไม่เดินทางมาร่วมประชุม

ขณะที่พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก ได้เสนอต่อที่ประชุมว่า จะต้องมีแนวเขตสกัดกั้นกลุ่มผู้ชุมนุมที่ชัดเจน และเรียกร้องให้อนุญาตให้สามารถใช้เครื่องมือควบคุมฝูงชนตามหลักสากลได้จริง หากมีการฝ่าฝืนจากกลุ่มผู้ชุมนุม จากแนวกั้นที่กำหนดไว้ เจ้าหน้าที่จะใช้แก๊สน้ำตา น้ำ กระบอง และอาวุธเพื่อสกัดกั้นไม่ให้เข้าไปขัดขวางการชุมนุม? ส่วนพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ? รมว.กลาโหม กล่าวในที่ประชุม ขอความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายช่วยกันทำความเข้าใจกับคนในพื้นที่ไม่ให้ออกมาเคลื่อนไหวชุมนุม ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายเสื้อสีใด

วันเดียวกัน พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้มีคำสั่ง แต่งตั้ง พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ที่ปรึกษา (สบ.10) เทียบเท่ารองผบ.ตร. รับผิดชอบงานด้านความมั่นคงเป็น ผอ.ศูนย์รักษาความปลอดภัย และอำนวยการจราจร การประชุมสุดยอดอาเซียน บวกคู่เจรจา ที่จ.ภูเก็ต และพล.ต.ท.สุวัจน์ ธำรงค์ศรีสกุล ผู้ช่วย ผบ.ตร. เป็นรองผอ.ศูนย์ฯ? โดยมี พล.ต.ท.สันฐาน ชยนนท์ ผบช.ภ.8 ทำหน้าที่เป็นผบ.เหตุการณ์ โดยมีการระดมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจจากตำรวจภูธร ภาค 6 และ 7? บช.น.? บช.ก. เข้าร่วมปฏิบัติการรักษาความปลอดภัยและการจราจร

เอดีบีตั้งทุน 1 แสนล้านช่วยเอเชียสู้เศรษฐกิจ
เว็บไซต์คมชัดลึก – 2 พ.ค. นายฮารูฮิโกะ คูโรดะ ประธานธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียหรือเอดีบีบอกระหว่างการประชุมประจำปีที่เกาะบาหลีของอินโดนีเซียว่า จะจัดตั้งกองทุนมูลค่า 3 พันล้านดอลลาร์หรือราว 1 แสน 5 พันล้านบาทเพื่อปล่อยกู้ระยะสั้นได้รวดเร็วขึ้น และคิดดอกเบี้ยชาติสมาชิกถูกลง ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นการใช้จ่ายงบประมาณของชาติสมาชิกท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจโลก แต่มาตรการนี้ต้องผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการผู้ว่าการธนาคาร ซึ่งจะประชุมกันสัปดาห์หน้า

การประกาศนี้มีขึ้นเพียง 2 วันหลังจากคณะกรรมการอนุมัติเพิ่มฐานเงินทุนของเอดีบีจาก 55,000 ล้านดอลลาร์เป็น 165,000 ล้านดอลลาร์ เปิดทางให้ธนาคารปล่อยกู้ได้มากขึ้น ในช่วงภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ รายงานของเอดีบีชี้ว่า ธนาคารมีแผนปล่อยกู้เพิ่มกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์ช่วงปี 2552-2553 ซึ่งจะทำให้การปล่อยกู้ทั้งหมดตลอดปีอยู่ที่ 32,000 ล้านดอลลาร์ เทียบกับ 22,000 ล้านดอลลาร์เมื่อปี 2550-2551 ก่อนหน้านี้เอดีบีคาดหมายว่าจีดีพีของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียจะขยายตัวเพียง 3.4% ปีนี้ ลดจาก 9.5% ในปี 2550