หมดสต๊อกแล้ว ไม่เหลือหน่วยกล้าตายฝ่าดงบาทา
ก็ขนาดนักเลงโบราณที่ด้านชากับกระแสสังคมมาทั้งชีวิตอย่าง "ป๋าเหนาะ" นายเสนาะ เทียนทอง หัวหน้าพรรคประชาราช ยังโดดเหยง อัปเปหิตัวเองออกมานั่งพักหายใจ ทำตัวโลว์โปรไฟล์ อยู่วงนอก
ไม่รู้จะเปลืองตัวไปหาพระแสงอะไร
ปล่อยให้เกมรื้อรัฐธรรมนูญ นิรโทษกรรม ตกเป็นของพวกสมานฉันท์เฉพาะฝ่ายพิฆาตอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร ไปโดยปริยาย
ณ วันนี้ก็เลยมีแต่เสียงโวยวาย แฉตีกิน ชิงดักคอตีกัน ออกมาจากคนหน้าเก่าๆ มุกเดิมๆ อย่างนายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ หรือนักวิชาการอย่างนายสุรพล นิติไกรพจน์ คนในโควตาของพรรคประชาธิปัตย์
นี่ล่ะมาตรฐานคนกลาง ไม่เข้าใครออกใคร
พูดอะไรแล้วสังคมตามแห่ ด้วยขีดความสามารถในการชิงกระแสเหนือกว่า ประกอบกับเครือข่ายสื่อที่พร้อมสนองเกมยึดพื้นที่ข่าว
เอาเป็นว่าหน่วยพิทักษ์รัฐธรรมนูญ "หน้าแหลมฟันดำ" กำลังถือแต้มต่อ
แต่ที่รอกินรวบสองเด้ง กับลูกเขี้ยวของคนพรรคประชาธิปัตย์ที่คั่วไพ่สองหน้า หน้าหนึ่งนายกฯอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็เล่นบทซื้อใจนักโทษการเมืองในหมู่พรรคร่วมรัฐบาล แต่โดยเบื้องลึกของจิตใจก็อย่างที่รุ่นใหญ่อย่างนายชวน หลีกภัย กับนายบัญญัติ บรรทัดฐาน โดดออกมาขวางรื้อรัฐธรรมนูญ
ก็รู้กันอยู่ ยี่ห้อประชาธิปัตย์มีหรือจะใจกว้างขนาดเปิดทางให้คู่แข่งเหนือกว่า
มันก็อย่างที่ พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวนิช ส.ว.สรรหา ประธานอนุกรรมการพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ พูดทะลุกลางปล้องดังๆ เหตุที่พรรคการเมืองบางพรรคไม่อยากให้แก้รัฐธรรมนูญก็เพราะกลัวตัวเองจะเสียเปรียบ เพราะได้เปรียบกับการใช้รัฐธรรมนูญปี 50
วัดกันง่ายๆกับประเด็นการกลับไปใช้การเลือกตั้ง ส.ส.แบบเขตเดียวเบอร์เดียว ที่ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับปมคดีอาญา หรือนิรโทษกรรมให้คุณกับใคร
แต่ประชาธิปัตย์ก็ยังยื้อให้คงแบบแบ่งเขตเรียงเบอร์ตามรัฐธรรมนูญปัจจุบัน
นั่นก็เพราะวัดกันตัวต่อตัว ประชาธิปัตย์มั่นใจได้แค่คะแนนในเขตเมือง แม้แต่ในกรุงเทพฯที่ว่ากระแสแรงๆ เจอพลังรากหญ้าเขตชั้นนอกแล้วแทบไม่เห็นฝุ่น ต้องอาศัยเขตใหญ่ แบ่งพื้นที่เลือกตั้งให้เขตชั้นนอกรวมกับเขตชั้นใน ดึงคะแนนชนชั้นกลางเขตกลางเมือง ฉุดยกพวง
ปัญหามันอยู่ที่ว่าประชาธิปัตย์จะส่งผู้สมัคร "หมาหลง" มาลงยังไงก็ได้ พอเป็นผู้แทนฯ แล้วก็หายหัว ไม่เคยกลับไปดูแลทุกข์สุขชาวบ้าน
แก้สันดานพวก "กาฝาก" ไม่ได้.
กำปั้นหยก
วันศุกร์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2552
หมาหลงกับกาฝาก
ที่มา ไทยรัฐ