วันพุธที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

วิทยุชุมชนยัง “วุ่น” ขอมีโฆษณา เตือนระวังนักต้มช่วยออกใบอนุญาต

ที่มา ประชาไท

ประชาพิจารณ์วิทยุชุมชนวุ่น ผู้ประกอบการวิทยุชุมชนหวงรายได้จากค่าโฆษณา เสนอคณะทำงานให้รับค่าโฆษณาได้ ด้าน พ.อ.ดร.นทียัน วิทยุชุมชนต้องไม่มีรายได้จากค่าโฆษณา เร่งมือออกประกาศคุมวิทยุชุมชน เผยต้นมิ.ย.นี้ได้ใช้ เตือนระวังผู้แอบอ้างหลอกเงินช่วยเรื่องใบอนุญาต

คณะทำงานด้านกิจการวิทยุกระจายเสียงชุมชน ในคณะอนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อร่างประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เรื่อง หลักเกณฑ์ และวิธีการอนุญาตประกอบกิจการบริการชุมชนชั่วคราว (วิทยุกระจายเสียงชุมชน) และร่างมาตรฐานทางเทคนิคกิจการบริการชุมชน (วิทยุกระจายเสียงชุมชน) ฉบับชั่วคราว

โดยเปิดให้แสดงความคิดเห็นทั้งหมด 9 ประเด็น ได้แก่ นิยาม คุณสมบัติ เอกสารที่ใช้ยื่นขอใบอนุญาต วิธีการพิจารณา หลักเกณฑ์การใช้เครื่องและความถี่ การบริหารสถานี บทเฉพาะกาล มาตรฐานทางเทคนิค และขอบเขตเงื่อนไขของผู้ที่ได้รับใบอนุญาต ที่โรงแรมรามาการ์เด้นท์ ถ.วิภาวดี-รังสิต ซึ่งมีผู้ประกอบการวิทยุชุมชนทั่วประเทศมาลงทะเบียนเข้าร่วมงานกว่า 3,000 คน ทำให้ผู้เข้าร่วมงานเกิดการกระทบกระทั่งกับเจ้าหน้าที่ผู้จัดงานเล็กน้อย เพราะไม่ได้ลงทะเบียนแสดงความจำนงเข้าร่วมงานไว้ล่วงหน้า

พ.อ.ดร.นที ศุกลรัตน์ ประธานคณะทำงานด้านกิจการกระจายเสียงวิทยุชุมชน ในคณะอนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ กล่าวภายหลังร่วมรับฟังความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมประชุม ว่า ความคิดเห็นที่ได้จากการประชาพิจารณ์ในวันนี้คณะทำงานจะประชุม และนำไปปรับปรุงร่างหลักเกณฑ์ในวันที่ 13 พ.ค.นี้ และยื่นร่างหลักเกณฑ์ที่ได้ปรับปรุงให้คณะอนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์พิจารณาในวันที่ 15 พ.ค. หลังจากนั้นส่งเรื่องให้ กทช.พิจารณาในวันที่ 20 พ.ค.นี้ โดยกทช.จะใช้เวลาพิจารณาและปรับปรุงเนื้อหาเพิ่มเติมอีกประมาณ 7 วัน ก่อนนำข้อมูลแสดงบนเว็บไซต์เป็นเวลา 7 วัน คาดจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อบังคับใช้ได้ประมาณต้นเดือน มิ.ย.นี้

พ.อ.นที กล่าวต่อว่า ภายหลังประกาศบังคับใช้จะเปิดให้ผู้ประกอบการวิทยุชุมชนกว่า 5,000 สถานีทั่วประเทศ ที่ยังไม่มีกฎหมายรองรับมาลงทะเบียนภายใน 30 วัน ซึ่งผู้มาลงทะเบียนจะอยู่ในสถานะผู้ทดลองออกอากาศซึ่งอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ข้อบังคับของคณะทำงาน และต้องไม่ทำผิดตาม พ.ร.บ. การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 เบื้องต้นคณะทำงานกำหนดให้สามารถยื่นขอใบอนุญาตนับจากวันที่เป็นผู้ทดลองออกอากาศได้ภายใน 90 วัน แต่จากการทำประชาพิจารณ์ พบว่า ผู้ประกอบการมีข้อเสนอให้ยืดระยะเวลาการขอใบอนุญาตออกไปเป็น 1 ปี ซึ่งทางคณะทำงานต้องนำเรื่องไปพิจารณาอีกครั้ง เนื่องจากช่วงที่อยู่ในระยะผู้ทดลองออกอากาศทางสถานีวิทยุชุมชนดังกล่าวสามารถมีรายได้จากการโฆษณาได้ แต่เมื่อได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการวิทยุชุมชนชั่วคราวซึ่งมีอายุ 1 ปี จะไม่สามารถมีโฆษณาหรือมีรายได้จากการโฆษณาได้

ประเด็นที่ผู้ประกอบกิจการวิทยุชุมชนเสนอแนะในการเปิดรับฟังความคิดเห็น ส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่ขอให้มีการโฆษณาในรายการได้ รวมทั้งการยืดระยะเวลาการขอใบอนุญาตประกอบกิจการวิทยุชุมชนชั่วคราวในช่วงผู้ทดลองออกอากาศจาก 90 วัน เป็น 1 ปี ซึ่งตามกฎหมายวิทยุชุมชนไม่สามารถมีรายได้จากการโฆษณาได้เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการรับทราบดี แต่อย่างไรก็ตาม การเพิ่มระยะเวลาจากผู้ทดลองออกอากาศจาก 90 วัน ให้เป็น 1 ปีก่อนขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการวิทยุชุมชนชั่วคราว อาจเป็นวิธีที่ทำให้ผู้ประกอบการรู้ว่าสถานีวิทยุที่ดำเนินการ อยู่ในข่ายไหน เป็นวิทยุชุมชน หรือ เป็นวิทยุเพื่อธุรกิจพ.อ.ดร.นที กล่าว

พ.อ.ดร.นที กล่าวต่อว่า จากการสำรวจวิทยุชุมชนที่ไม่มีกฎหมายรองรับกว่า 5,000 สถานี พบว่า มีเพียง 100 กว่าสถานีที่เป็นวิทยุชุมชน และอีก 100 กว่าสถานีที่ชัดเจนว่าเป็นวิทยุเพื่อธุรกิจ แต่อีกกว่า 4,000 สถานียังมีการดำเนินงานทีก้ำกึ่งระหว่างวิทยุชุมชนและวิทยุเพื่อธุรกิจ จึงต้องให้เวลาผู้ประกอบการเหล่านี้ค้นหาตนเอง โดยขณะนี้แบ่งวิทยุชุมชนออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ วิทยุชุมชนเมืองใหญ่ วิทยุชุมชนเมือง วิทยุชุมชนนอกเขตเมือง และวิทยุชุมชนที่มีลักษณะเฉพาะ เช่น อยู่ในหุบเขา ซึ่งพบว่าวิทยุชุมชนเมืองใหญ่ เป็นวิทยุชุมชนที่มีปัญหาในการควบคุมดูแลมากที่สุด

ส่วนจำนวนวิทยุชุมชนในแต่ละพื้นที่ยังไม่มีการกำหนดว่าต้องมีกี่สถานี แต่ถ้าในตำบล หรือหมู่บ้านใดมีสถานีวิทยุชุมชนมากเกินไปจนทำให้คลื่นรบกวนกัน ก็ต้องให้ผู้ประกอบการวิทยุชุมชนไปคุยกันเพื่อหาข้อสรุปว่าใครจะทำต่อ หรือจะทำร่วมกัน แต่ถ้าหาข้อสรุปไม่ได้ให้คณะทำงานพิจารณาก็จะดูเรื่องของเนื้อหาและการดำเนินงาน ซึ่งอาจไม่ตรงกับใจของผู้ประกอบการพ.อ.ดร.นที กล่าว

พ.อ.ดร.นที กล่าวย้ำว่า การยื่นขอใบอนุญาตประกอบกิจการวิทยุชุมชนชั่วคราวมีค่าธรรมเนียมเพียงปีละ 500 บาทเท่านั้น ซึ่งขณะนี้มีผู้แอบอ้างว่าสามารถช่วยให้สถานวิทยุชุมชนต่างๆได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการวิทยุชุมชนได้ แต่ต้องใช้เงิน 6-7 แสนบาท ซึ่งขอยืนยันว่าไม่เป็นความจริง และสถานีวิทยุชุมชนต่างๆ จะไม่สามารถขอใบอนุญาตได้ ถ้าไม่มีคุณสมบัติและเนื้อหาตามที่กฎหมายกำหนด

สำหรับคุณสมบัติของผู้ขอใบอนุญาตวิทยุชุมชนจะต้องเป็นสมาคม มูลนิธิ หรือนิติบุคคลอื่นที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ซึ่งไม่ใช่หน่วยงานของรัฐ และมีวัตถุประสงค์ในการดำเนินการเพื่อประโยชน์สาธารณะโดยไม่แสวงหากำไรในทางธุรกิจ นอกจากนี้ ยังกำหนดให้มีรายการข่าวสาร หรือสาระที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนหรือท้องถิ่นในสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 70%

ที่มา: www.telecomjournal.net/index.php?option=com_content&task=view&id=2016&Itemid=42