วันจันทร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

ชี้เตะฝุ่นเกินล้านคนถึงปีหน้า

ที่มา เดลินิวส์

ภาคเอกชนแห่กู้เงินนอกระบบ จี้รัฐใช้นโยบายการเงิน-คลังช่วย

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ปี 52-53 ไทยจะประสบปัญหาว่างงานเกินระดับ 1 ล้านคน เนื่องจากธุรกิจจำนวนมากเริ่มขาดสภาพคล่องเพราะเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ยาก โดยไตรมาส 2 ของปี 52 ยอดตัวเลขว่างงานจะอยู่ที่ 1.3 ล้านคนหรือ 3.5% ของแรงงานทั้งหมด แบ่งเป็น แรงงานตกงานอยู่แล้ว 6.8 แสนคน ส่วนที่เหลือเป็นการว่างงานเพิ่มในภาพการผลิต 1 แสนคน ท่องเที่ยว 2.3 แสนคน ภาคโลจิสติกส์และขนส่ง 1.4 แสนคน ผู้จบการศึกษาใหม่ 1.5 แสนคน ดังนั้นเสนอให้รัฐบาลเร่งออกมาตรการด้านการเงินแก้ปัญหาแทนนโยบายการคลังโดยให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 0.5% เพื่อลดต้นทุนให้ภาคธุรกิจอยู่รอด

ขณะเดียวกันพบว่าธุรกิจรายเล็กที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนเริ่มกู้เงินนอกระบบอัตราดอกเบี้ยแพงมาเสริมสภาพคล่องมากขึ้น ดังนั้นรัฐบาลต้องให้สถาบันการเงินของรัฐเป็นกลไกสำคัญในการปล่อยสินเชื่อ โดยรัฐบาลค้ำประกันและแยกเป็นบัญชีพิเศษในการกู้ตาม นโยบายรัฐบาล เพราะเชื่อว่าบางรายที่ขอสินเชื่อคงเสี่ยงต่อการเป็นหนี้เอ็นพีแอล แต่หลังจากเศรษฐกิจฟื้นฟูอีก 5-10 ปีมั่นใจว่าลูกหนี้สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนดแน่นอน

นอกจากนี้ควรสนับสนุนการนำภาคเอกชนเจาะตลาดใหม่ในต่างประเทศ โดยการออกค่าใช้จ่ายแก่รายเล็กกรณีการออกไปโรดโชว์กับรัฐบาล การจัดงานแสดงสินค้า และให้รัฐบาลร่วมมือกับภาคเอกชนในโครงการต้นกล้าอาชีพมากขึ้น เพื่อรักษาสภาพการจ้างงานของพนักงานกลุ่มเสี่ยง

“นโยบายการคลังถือว่าเป็นแนวทาง กระตุ้นเศรษฐกิจที่ดีโดยเฉพาะยาแรง แต่ภาคเอกชนมองว่ารัฐบาลคงประสบปัญหาเรื่องรายได้โดยเฉพาะการเก็บภาษีที่ต่ำกว่าเป้าหมาย ขณะเดียวกันการก่อหนี้ก็ใกล้เต็มเพดานที่กฎหมายกำหนดไว้ ดังนั้นนโยบายการเงินถือว่าจะเหมาะสมที่สุดในช่วงนี้ เพราะนอกจากจะช่วยสภาพคล่องและลดต้นทุนแล้วยังส่งผลให้ผู้ประกอบการเงินในการรักษาสภาพลูกจ้างได้อีก”

นายธนิต กล่าวว่า คำสั่งซื้อล่วงหน้า (ออร์เดอร์) ไตรมาส 2 ภาพรวมยังคงติดลบ แต่คงน้อยกว่าไตรมาส 1 โดยเฉพาะเดือน พ.ค. จะลดลงเพียง 17-20% แต่มั่นใจว่าไตรมาส 4 ออร์เดอร์เริ่มกลับมา

นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ภาคเอกชนเสนอให้รัฐบาลเร่งสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงทางการเมือง เพื่อเสริมสร้างบรรยากาศในการลงทุน สนับสนุนให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อให้แก่ภาคอุตสาหกรรมและควรผ่อนคลายกฎระเบียบในการกู้เงินเพื่อช่วยเสริมสภาพคล่อง พร้อมทั้งช่วยเหลือผู้ประกอบการในด้านภาษี เช่น การลดอัตราภาษีนำเข้าวัตถุดิบ.