วันพฤหัสบดีที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

หน้าตาอันบิดเบี้ยวของ ‘ความเป็นธรรม’

ที่มา ประชาไท

สุรพศ ทวีศักดิ์

เมื่อ คุณหมอประเวศ วะสี ออกมาแสดงความเห็นว่า ความเป็นธรรมเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด ของสังคมทุกสังคม และ ความไม่เป็นธรรมคือมูลเหตุความขัดแย้งแตกแยกในสังคมไทย ที่เป็นมาและเป็นอยู่ในขณะนี้ หากแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมไม่ได้บ้านเมืองคงหนีไม่พ้น กลียุค

ดูเหมือนว่า สื่อ นักวิชาการ และคนอื่นๆ ที่ใส่ใจปัญหาบ้านเมืองจะเห็นด้วยกับคุณหมอประเวศในประเด็นดังกล่าว แต่ก็ยังไม่ชัดเจนหรือยังไม่เห็นการผลักดันที่เป็นรูปธรรมในการทำให้ปัญหาความไม่เป็นธรรมเป็นโจทย์ใหญ่ของการปฏิรูปการเมือง หรือการสร้างความสมานฉันท์ในสังคมที่กำลังทำกันอยู่ ยิ่งมองย้อนอดีตเรายิ่งเห็นชัดว่าปัญหาความไม่เป็นธรรมเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันอยู่ในวงจำกัดของนักวิชาการ นักต่อสู้ทางการเมือง และเอ็นจีโอส่วนน้อยเท่านั้น

ปัญหาความไม่เป็นธรรมไม่เคยเป็นประเด็นใหญ่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับใดเลย ไม่เคยปรากฏเป็นประเด็นหลักในนโยบายของพรรคการเมือง หรือรัฐบาลใด ไม่เคยเป็นประเด็นสาธารณะที่ถือเป็นวาระแห่งชาติ

จะว่าไปแล้ว สังคมไทยยังไม่มีการถกเถียงเกี่ยวกับเรื่องความเป็นธรรมหรือความไม่เป็นธรรมกันอย่างกว้างขวางจริงจัง และดูเหมือนจะไม่ชัดเจนว่า หน้าตา ของ ความเป็นธรรม ในจินตนาการของสังคมไทยเป็นอย่างไร

อย่างน้อย ก็มีคนระดับ (ที่เคยเป็น) นายกรัฐมนตรีของประเทศนี้ ถึง 2 คน ได้เสนอภาพของความเป็นธรรมอย่างคลุมเครือ

คนหนึ่งเป็น (อดีต) นายกรัฐมนตรีที่มาจาก ลูกชาวบ้าน ได้ยกตัวอย่างภาพของความเป็นธรรมว่า สิทธิที่จะได้รับแจกเอกสารสิทธิ์ที่ดิน สปก.4-01 เป็นสิทธิเสมอภาคกันของคนทุกชนชั้น เปรียบเหมือนการสอบชิงทุนเรียนต่อ ไม่ว่าลูกเศรษฐี ชาวนา หรือยาจก ก็มีสิทธิ์สอบชิงทุนภายใต้กติกาเดียวกัน ใครมีความสามารถมากกว่าก็ได้ไป

ตลอดชีวิต นักการเมืองอาชีพ อันยาวนานของนายกฯ ท่านนี้ ภาพที่สังคมรับรู้กันคือเป็นคนเจ้าหลักการ ซื่อสัตย์ สมถะ มาจากลูกชาวบ้านแม่ค้าขายพุงปลา แต่ไม่ปรากฏชัดเจนว่าท่านผู้นี้มีอุดมการณ์เพื่อคนรากหญ้าหรือคนชั้นล่าง ไม่ปรากฏว่าท่านมีแนวคิดเกี่ยวกับโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรมอย่างไร และท่านจะใช้ความสามารถในฐานะนักการเมืองอาชีพผลักดันให้เกิดโครงสร้างที่เป็นธรรมทางการเมือง เศรษฐกิจ อย่างสอดคล้องกับบริบทที่เป็นจริงของสังคมไทยอย่างไร

ที่ปรากฏชัดเป็นพิเศษก็คือ ในสมัยที่ท่านกุมอำนาจรัฐ ได้มีการใช้กำลังเจ้าหน้าที่กดดัน จับกุม ชาวบ้านไร้ทำกินที่บุกรุกป่าสงวนอย่างเอาการเอางาน ภายใต้หลักการที่ว่า ทุกคนต้องเคารพกฎหมาย (แต่ไม่ปรากฏว่ามีการจับกุมนายทุนบุกรุกป่าแม้แต่รายเดียว) มีการใช้สุนัขตำรวจขับไล่กลุ่มเกษตรกรที่มาชุมนุมเรียกร้องความเป็นธรรมหน้าทำเนียบรัฐบาลแทนการลงมาจับเข่าคุยกันในฐานะ ประชาชน กับ ผู้อาสามารับใช้ประชาชน ด้วยถ้อยทีที่เคารพให้เกียรติกันและกัน และที่ชัดเจนอีกเรื่องก็คือ การบิด เจตนารมณ์ของกฎหมายแจก สปก.ปสก.4-10 ดังกล่าวแล้ว

วาทกรรมว่าด้วยความเป็นธรรมของ (อดีต) นายกรัฐมนตรีไทยอีกคนหนึ่ง คือ จังหวัดไหนที่เลือกพรรคไทยรักไทยจะให้การดูแลเป็นพิเศษในเรื่องการจัดสรรงบประมาณ นายกฯ คนนี้มาจากนักธุรกิจมหาเศรษฐีระดับแนวหน้าของประเทศ ไม่ชัดเจนว่าท่านมีความคิดเห็นต่อโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรมด้านต่างๆ ของสังคมไทยอย่างไร และมีแนวทางการเปลี่ยนแปลง หรือแก้ไขปัญหาความยากจนในระดับโครงสร้างอย่างไร นอกจากนโยบายที่ถูกวิจารณ์ว่าเป็นประชานิยมแบบทำการตลาดทางการเมืองทับซ้อนกับการบริหารกิจการบ้านเมืองราวกับว่าประเทศเป็นบริษัทของท่านอะไรทำนองนั้น

ในทางทฤษฎีแล้ว เราอาจวิเคราะห์ได้ว่า ความเป็นธรรม ตามความคิดของ (อดีต) นายกฯ คนแรก คือความเป็นธรรมในความหมายของแนวคิดแบบเสรีนิยม (liberalism) ที่ถือว่าความเป็นธรรมคือการที่สมาชิกทุกคนของสังคมมีเสรีภาพในการแข่งขันอย่างเท่าเทียมภายใต้กติกาเดียวกัน เช่น กติกาการสอบชิงทุนไม่ว่าคนชั้นไหน จะร่ำรวย หรือยากดีมีจนอย่างไรก็ต้องมีสิทธิ์สอบแข่งขันภายใต้กติกาเดียวกัน

การที่ปัจเจกบุคคลไม่ว่าจะต่างกันทั้งเรื่องฐานะทางสังคม เศรษฐกิจ ความโง่ ฉลาด เพศ สีผิว การศึกษา ความเชื่อ ฯลฯ มีสิทธิเสรีในการแข่งขันภายใต้กติกาเดียวกัน นี่คือความเป็นธรรมตามแนวคิดเสรีนิยม

แต่ปัญหาของความเป็นธรรมตามแนวคิดนี้คือ ความแตกต่างทางฐานะเศรษฐกิจ และชนชั้นทางสังคมย่อมส่งผลต่อ ความสามารถในการแข่งขันอย่างมีนัยสำคัญ เช่น การสอบชิงทุนเรียนต่อ เอาลูกคนจนที่อยู่ในสถานะเสียเปรียบแทบทุกด้าน มาแข่งขันกับลูกคนรวยที่อยู่ในสถานะได้เปรียบทุกด้าน เช่นได้กินอาหารดีๆ เข้าเรียนโรงเรียนดีๆ เรียนพิเศษที่บ้านหรือที่โรงเรียนกวดวิชาดีๆ ภายใต้กติกาหรือเงื่อนไขเดียวกัน ยังไงๆ ลูกคนจนก็ย่อมแพ้ตลอด (และย่อมแพ้ในแทบทุกเกมการแข่งขัน) แม้แต่เกมการชิง สปก.4-01 คนรวยที่มีโอกาสเข้ายึดกุมอำนาจรัฐ สามารถเข้าถึง หรือสนิทชิดเชื้อกับอำนาจรัฐได้มากกว่าก็ย่อมชนะตลอดกาล

ส่วนแนวคิดของ (อดีต) นายกฯ คนหลัง ถ้าดูจากแนวคิดที่ยกมาข้างต้น ความเป็นธรรมตามความหมายของท่านไม่อาจจัดเข้าได้กับทฤษฎีความเป็นธรรม (theory of justice) หลักๆ ที่ศึกษากันอยู่ในทางปรัชญาสังคมการเมือง ไม่ว่าจะเป็นทฤษฎีความเป็นธรรมแบบเสรีนิยมที่ยึด เสรีภาพในการแข่งขันเป็นเกณฑ์สำคัญของความเป็นธรรม ทฤษฎีสังคมนิยมที่ยึดความเสมอภาคเป็นเกณฑ์สำคัญของความเป็นธรรม หรือทฤษฎีที่บูรณาการจุดแข็งของเสรีนิยมกับสังคมนิยมเข้าด้วยกันอย่างทฤษฎีความเป็นธรรมของ จอห์น รอลส์ ที่ยึดหลักเสรีภาพ ความเสมอภาค และหลักการปกป้องคุ้มครองสมาชิกของสังคมที่อยู่ในสถานะที่เสียเปรียบให้ได้รับโอกาสพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันให้ใกล้เคียงกับคนอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ในสถานะเช่นนั้น

ความเป็นธรรมตามความคิดที่ว่า จังหวัดไหนที่เลือกพรรคไทยรักไทยจะให้การดูแลเป็นพิเศษในเรื่องการจัดสรรงบประมาณ นั้น น่าจะหมายถึงความเป็นธรรมตามลัทธิทุนนิยมที่ยึด ทุน-กำไร เป็นเกณฑ์ ดังนั้น การเลือกตั้งถือเป็นการลงทุนอย่างหนึ่งที่สมควรได้กำไรคือการดูแลเป็นพิเศษในเรื่องการจัดสรรงบประมาณให้ แต่ปัญหาของความเป็นธรรมตามแนวคิดเช่นนี้คือ รัฐบาลจะกลายเป็นรัฐบาลของเสียงข้างมากที่ลงคะแนนสนับสนุนเท่านั้น ไม่ใช่รัฐบาลของคนทั้งประเทศ

จะเห็นได้ว่าความเป็นธรรมตามจินตนาการของคนระดับนายกรัฐมนตรีถึง 2 คน ของประเทศนี้ มี หน้าตาที่ผิดเบี้ยว บิดเบี้ยว 1 เพราะปฏิเสธหลักการความเป็นธรรมที่สังคมควรกำหนดโครงสร้างบางอย่างเพื่อคุ้มครอง ปกป้อง หรือสร้างโอกาสให้คนจนคนชั้นล่างได้เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ใกล้เคียงกับคนในชนชั้นอื่นๆ บิดเบี้ยว 2 เพราะไปให้สิทธิพิเศษแก่ประชากรของประเทศที่เลือกรัฐบาลซึ่งเป็นการทำลายหลักการความเสมอภาคทางสิทธิของสมาชิกแห่งรัฐ

ที่ว่ามาทั้งหมดนี้ อาจไม่ลงลึกในรายละเอียดของความคิดและผลงานของ (อดีต) นายกฯ ทั้งสองที่ยกมาเป็นกรณีศึกษา และอาจไม่เป็นธรรมที่จะนำเพียงคำพูดประโยคสั้นๆ มาตัดสินทั้งสองท่าน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าคำพูดหรือหลักการที่ท่านทั้งสองเสนอต่อสาธารณะได้กลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง ซึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้อีกเช่นกันว่ามันเป็นคำพูดหรือหลักการที่ให้ภาพ หน้าตาอันบิดเบี้ยว ของ ความเป็นธรรม

ดังนั้น ถ้าคนระดับ (อดีต) นายกรัฐมนตรีของประเทศนี้ถึง 2 คน ยังฉายภาพความเป็นธรรมที่บิดเบี้ยวเช่นนี้ และในปัจจุบันสังคมก็เห็นว่าความไม่เป็นธรรมเป็นมูลเหตุสำคัญของความแตกแยก พร้อมกับเกิดปรากฏการณ์เรียกร้องความเป็นธรรมผ่านเวทีต่อสู้ทางการเมืองต่างๆ การผลักดันให้ประเด็นความไม่เป็นธรรมเป็นวาระของสังคมไทย และร่วมกันสร้างจินตนาการใหม่เกี่ยวกับ หน้าตา (ที่ไม่บิดเบี้ยว) ของ ความเป็นธรรม เพื่อนำไปสู่การกำหนดโครงสร้างทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ที่เป็นธรรมมากขึ้น น่าจะเป็นภารกิจที่ทุกสีทุกฝ่ายควรเอาจริงเอาจังอย่างเป็นพิเศษ