วันอาทิตย์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

ชุด'ดาวแดง'ของแสลง'เทพไท'

ที่มา ประชาไท

ทีมข่าวการเมือง

[การโหยหาอดีตของสองทหารแก่ สุรชัย-เปรม อาจไม่ต่างกันมาก ผิดกันตรงที่ ทหารแก่คนหนึ่งอาจสมใจ สังคมไทย Nostalgia ย้อนยุคขุนศึก อำมาตย์ เป็นใหญ่ได้อีกหลัง 19 ก.ย. 49 มีองคมนตรีมาเป็นนายกฯ ที่ป๋าเห็นเป็นวินสตัน เชอร์ชิล มีนายกฯ หนุ่มที่ป๋าบอก “ผมเชียร์” … เช่นนี้กระมัง สหายเก่า-ทหารแก่อีกคนจึงขอแต่งชุดทหารป่าเข้ามอบตัว ขอ Nostalgia อีกรอบ] ]

000


นายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ แกนนำ นปช. ขณะเข้ามอบตัวเมื่อ
27 เม.ย. 52
(ที่มาของภาพ: ASTVผู้จัดการออนไลน์
)


เทพไท เสนพงศ์ ส.ส.ประชาธิปัตย์ จ.นครศรีธรรมราช และโฆษกประจำตัวหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เจ้าของสโลแกน
รู้จักแล้วจะรักเอง” (http://theptai.com/index.htm)

ได้รับเสียงฮือฮาและถูกวิพากษ์วิจารณ์

เมื่อ 27 เม.ย. ที่ผ่านมา สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์หรือ สุรชัย แซ่ด่านหนึ่งในแกนนำ นปช. พร้อมทนายความและผู้สนับสนุน เดินทางมาเข้าพบ พล.ต.ต.สราวุธ พีรานนท์ ผบก. ภ.จ.นครศรีธรรมราช เพื่อมอบตัวในคดีที่ถูกตำรวจออกหมายจับ คดีที่ร่วมกับกลุ่มคนเสื้อแดงบุกรุกโรงแรมรอยัล คลีฟ บีช รีสอร์ท เมืองพัทยา จ.ชลบุรี สถานที่จัดการประชุมอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา จนทำให้การประชุมต้องล้มเลิกไป และคดีที่ถูกกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยภาคใต้ แจ้งความดำเนินคดีข้อหาชักปืนข่มขู่หน้าเวทีเสื้อแดง ข้างศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช เหตุเกิดเมื่อวันที่ 6 เม.ย.ที่ผ่านมา

ที่ฮือฮาเพราะไม่ได้มามอบตัวเปล่าๆ แต่สุรชัย แต่งชุดคล้ายทหารในของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย โดยสวมชุดทหารป่าสีเขียวทับเสื้อเชิ๊ตตัวใน และสวมหมวกเขียวติดดาวแดง [1]

ทำเอา เทพไท เสนพงษ์ ส.ส.ประชาธิปัตย์ จ.นครศรีธรรมโฆษกประจำตัวหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ออกโรงวิเคราะห์ว่า สุรชัย เป็นอดีตแนวร่วมของพลพรรคแนวคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ได้แต่งชุดทหารป่า ประดับดาวแดงเต็มยศเข้ามอบตัวเพื่อสู้คดีจากเหตุการณ์จลาจลช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมากับ เจ้าหน้าที่ จ.นครศรีธรรมราช ก็แสดงให้เห็นชัดแล้วว่า เป็นกระบวนการ คอมมิวนิสต์ หลงยุคที่สังคมไทยยอมรับไม่ได้ หรือแม้กระทั่งสังคมโลกเองก็ไม่ยอมรับเพราะ มีการพิสูจน์แล้วว่าการปกครองด้วยระบอบสังคมนิยม สุดท้ายก็ไปไม่รอด และก็มีการปรับเปลี่ยน ดังนั้นการต่อสู้ของคนเหล่านี้จึงเป็นเพียงการต่อสู้ของพวกไดโนเสาร์หลงยุค การแต่งชุดทหารป่าของ นายสุรชัย เป็นการแสดงความเหิมเกริม ท้าทายอำนาจรัฐ ซึ่งจำเป็นที่เจ้าหน้าที่บ้านเมือง และฝ่ายความมั่นคงจะต้องดำเนินการ ตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไปอย่างเด็ดขาด

แถมยังวิเคราะห์อีกว่า กลุ่ม นปช. จะปรับเปลี่ยนการต่อสู้โดยไม่อิงกับ พ.ต.ท.ทักษิณ แต่จะเปลี่ยนมาชูคนบ้านเลขที่ 111 เช่น นายจาตุรนต์ ฉายแสง นายภูมิธรรม เวชยชัย นพ.พรหมมินทร์ เลิศสุริยะเดช และนายเกรียงกมล เลาหะไพโรจน์แทน เนื่องจากบุคคลเหล่านี้ในอดีตเคยผ่านการต่อสู้เป็นทหารป่ามาก่อน พร้อมทั้งจะปรับเปลี่ยน ยุทธวิธีการต่อสู้ โดยจะใช้ทุกรูปแบบ ทั้งแบบกองโจร จรยุทธ์ หรือจับอาวุธขึ้นต่อสู้

คดีปฏิญญาฟินแลนด์ [2] ศาลชั้นต้นก็ตัดสินความผิดเจ้าของบทความแล้ว แต่เทพไทก็ยังเอาไปใช้ได้อีก โดยเขาวิเคราะห์ต่อไปว่า ล้วนเป็นการอธิบายในตัวเองอยู่แล้วว่า เป็นการดำเนินการตามแผนตากสิน ที่มีแนวคิดล้มทุน ล้มปืน และล้มเจ้า เพื่อบรรลุสู่เป้าหมายตามปฏิญญาฟินแลนด์ ที่โยงถึงสถาบัน ทั้งหมดนี้สอดรับกับกรณีที่ นายจักรภพ เพ็ญแข แกนนำ นปช. ที่หลบหนีคดีอยู่ให้สัมภาษณ์สื่อต่างชาติอย่างบีบีซี ว่า คนเสื้อแดงจะสู้ทุกรูปแบบ เพื่อล้มรัฐบาลให้มีการเลือกตั้งใหม่ให้ได้ จึงชัดเจนแล้วว่า เป็นความต้องการที่จะมีการใช้ความรุนแรงเปลี่ยนโครงสร้างของสังคมไทยเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย

การทำ ชุดทหารป่าให้เป็น สินค้า


เครื่องแต่งกายและสินค้าประเภทของที่ระลึกที่มีจำหน่ายในร้าน
Redstar House จตุจักร
(ที่มา
: http://www.redstarhouse.com/)


ลายเสื้อยืดคอมมิวนิสต์ปาร์ตี้ เสื้อลายนี้มีขายแถวถนนข้าวสาร ฯลฯ


คอนเสิร์ต ซิมโฟนี่ออเคสตร้าบทเพลงปฏิวัติ สายลมเปลี่ยนทิศ...แต่ดวงจิตมิได้เปลี่ยนเลย จากผู้มาก่อนกาลถึงสายธารเดือนตุลา
ซึ่งจัดที่หอประชุมใหญ่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เมื่อ 13 ก.ย. 2546 ในภาพเป็นการแสดงประกอบเพลงภูพานปฏิวัติ


การแสดงระหว่างการเปิดโครงการศูนย์เรียนรู้และท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ประวัติศาสตร์ ค่าย
514 หรือเขตงาน 514 เก่า เมื่อ 4 พ.ค. 2551 (ที่มา: youtube.com http://www.youtube.com/watch?v=yuNEaL0nLto)

กรณีของสุรชัยไม่ใช่กรณีแรกของผู้แต่งกายเลียนแบบทหารในกองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย (ทปท.) หรือทหารของอดีตพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) แต่การแต่งกายลักษณะดังกล่าวเป็นที่นิยมของคนกลุ่มหนึ่งมานานแล้ว

ไม่รู้ว่าเทพไทจะคิดมากว่า สุรชัยไปเปิดหีบเอาเครื่องแบบทหารป่ามาปัดฝุ่นใส่ใหม่หรือไม่ แต่ว่า อันที่จริง เครื่องแต่งกายลักษณะดังกล่าวถูก Commoditization ผลิตเพื่อจำหน่ายเป็นสินค้าและของที่ระลึกมาหลายปีแล้ว โดยมีขายตามตลาดนัด ตลาดจำหน่ายเสื้อผ้า เช่น ตลาดจตุจักร หรือแม้แต่สยามสแควร์ ฯลฯ โดยบางร้านในตลาดจตุจักรอย่างร้าน Redstar House ก็มีบริการจำหน่ายสินค้าออนไลน์ด้วย โดยรูปแบบเหมือนการจำหน่ายเครื่องแต่งกาย สินค้าที่ระลึกเบ็ดเตล็ดเกี่ยวกับค่ายสังคมนิยมทั่วโลก

สำหรับชุดเลียนทหาร พคท. ดังกล่าว ได้รับความนิยมจากบรรดาผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยหรืออดีตพลพรรค พคท. ซื้อหาเป็นที่ระลึก หรือแต่งเพื่อร่วมงานทำบุญถึงสหายร่วมพรรคผู้ล่วงลับตามอดีตพื้นที่ฐานที่มั่นต่างๆ หรือใส่เพื่อการแสดงระหว่างงานทำบุญรำลึกในหลายวาระ หลายโอกาส

นอกจากนี้เมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2546 ก็มีการจัดคอนเสิร์ตซิมโฟนี่ออเคสตร้าบทเพลงปฏิวัติ สายลมเปลี่ยนทิศ...แต่ดวงจิตมิได้เปลี่ยนเลย จากผู้มาก่อนกาลถึงสายธารเดือนตุลาซึ่งจัดที่หอประชุมใหญ่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เมื่อ 13 ก.ย. 2546 โดยมีคนอย่าง สุลักษณ์ ศิวรักษ์ และ จาตุรนต์ ฉายแสง สหายเก่า รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น สมาชิกบ้านเลขที่ 111 ในขณะนี้ ร่วมงานด้วย

ในงานมีการบรรเลงเพลงปฏิวัติของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย โดยศิลปินซึ่งเป็นอดีตสหาย และนักแสดงก็แต่งชุดทหารป่าประกอบเพื่อประกอบการแสดงดนตรีด้วย

โดยคอนเสิร์ตดังกล่าวเกิดขึ้นในรัฐบาลในยุค พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ฝ่ายค้านกล่าวหานักหนาว่าปิดกั้นเสรีภาพการแสดงออก ก็ไม่มีใครในรัฐบาลออกมามีปฏิกิริยาใดๆ กับผู้สวมชุดทหารป่า แบบที่เทพไท เสนพงศ์ ทำในยุคนี้ ในขณะที่เทพไท เสนพงศ์ กรรมการพรรคประชาธิปัตย์ขณะนั้น ซึ่งยุคนั้นก็ไม่ได้มีท่าทีใดต่อเรื่องนี้ (อาจเป็นไปได้ว่า ตอนนั้นยังไม่ทันคิดเรื่องตั้งข้อหาเลื่อมใสคอมมิวนิสต์ให้รัฐบาล)

นอกจากเครื่องแต่งกายคอสเพลย์เลียนแบบทหารป่าในพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยแล้ว เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายอื่นๆ ที่มีสัญลักษณ์ค้อนเคียว หรือดาวแดง ของพรรคคอมมิวนิสต์ และนักปฏิวัติตามแนวทางดังกล่าวยังพบเป็นสินค้าวางจำหน่ายอยู่ทั่วไป ทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด

เสื้อยืดลาย คอมมิวนิสต์ปาร์ตี้ ภาพแนวล้อเลียนการ ปาร์ตี้ (จริงๆ) ของ 5 สหายคอมมิวนิสต์ คาร์ล มาร์กซ์-เลนิน-สตาหลิน-เหมา เจ๋อ ตง-เช เกวารา มีขายตามแผงเสื้อยืดทั่วไป (ไม่รู้ว่าเทพไท จะไปตรวจค้นและให้เจ้าหน้าที่บ้านเมืองมาจับกุมดำเนินคดีฐานเหิมเกริม ท้าทายอำนาจรัฐหรือเปล่า)

ในขณะที่สติ๊กเกอร์รูปเช เกวารา ก็เป็นที่นิยมของบรรดาคนขับรถบรรทุกมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 2520 แล้ว เพลง เชยังไม่ตายร้องโดยคาราบาว สะท้อนปรากฏการณ์ดังกล่าวในหมู่สิงห์รถบรรทุกเป็นอย่างดี

ยังไม่ต้องนับภาพยนตร์ที่มีท้องเรื่องเกี่ยวกับข้องกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ก็มีมาหลายเรื่องแล้ว ทั้งหนังดูเอาเรื่องอย่าง “14 ตุลา สงครามประชาชน หรือดูไม่เอาเรื่องอย่าง ฟ้าใส ใจชื่นบาน

จะเห็นได้ว่า สินค้าคอมมิวนิสต์ ทั้งไทยเทศ อยู่ใน ตลาด มานานแล้ว สินค้าหลายอย่างถูกถอด บริบทเอาความหมายทางการเมืองเดิมๆ ออกไปหมดแล้ว (เช่น เสื้อยืดคอมมิวนิสต์ปาร์ตี้ หรือ หนังฟ้าใส ใจชื่นบาน ที่ดูเอาฮาอย่างเดียว)

(เรื่องนี้อย่าให้เทพไท รู้เป็นอันขาด เพราะข้อหา เหิมเกริม ท้าทายอำนาจรัฐ อาจทำให้ผู้ค้าแผงลอย คนหาเช้ากินค่ำได้รับความเดือดร้อนหากมีคนทะลึ่งเสนอให้มีการกวาดจับสินค้าเหล่านี้)

องคมนตรี กับ (อดีต) สหายดาวแดง

พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี ห้อมล้อมด้วยอดีตพลพรรค พคท. ซึ่งสวมหมวกดาวแดงเลียนทหาร พคท. ในอดีต ภาพนี้ถ่ายระหว่างที่ พล.อ.สุรยุทธ์เป็นประธานพิธีเปิดอนุสรณ์สถานอาคารประวัติศาสตร์ประชาชนและพิพิธภัณฑ์ชนชาติ ลัวะ-ม้ง บนภูพยัคฆ์ จ.น่าน เมื่อ 12 ธ.ค. 2548


เมื่อ 12 ธ.ค. 2548 พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ในขณะนั้นเป็นองคมนตรี ไปเป็นประธานพิธีเปิดอนุสรณ์สถานอาคารประวัติศาสตร์ประชาชนและพิพิธภัณฑ์ชนชาติ ลัวะ-ม้ง บนภูพยัคฆ์ หมู่ที่ 12 บ้านน้ำรีพัฒนา ต.ขุนน่าน อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน

โดยในภาพระหว่างที่ พล.อ.สุรยุทธ์ กำลังให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว ก็ปรากฏว่ารอบๆ พล.อ.สุรยุทธ์ ห้อมล้อมไปด้วยผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย หรืออดีตพลพรรค พคท. ซึ่งสวมหมวกดาวแดงเลียนทหารของ พคท. โดยภาพดังกล่าวปัจจุบันชาวบ้านน้ำรีพัฒนาได้เก็บภาพดังกล่าวไว้เป็นที่ระลึกในอาคารประวัติศาสตร์ฯ ด้วย

ด้านหนึ่ง พล.อ.สุรยุทธ์ เป็นลูกชายของ พ.ท.โพยม จุลานนท์ อดีตทหารนอกราชการที่หนีไปร่วมกับ พคท. ในตำแหน่งเสนาธิการกองทัพปลดแอก อยู่ที่ยอดภูพยัคฆ์ ซึ่งเคยเป็นที่ตั้งค่าย 708 ศูนย์กลางพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย แต่อีกด้านหนึ่ง พล.อ.สุรยุทธ์ ก็มีตำแหน่งสำคัญคือองคมนตรี

พล.อ.สุรยุทธ์ กล่าวว่า การเมืองปัจจุบันยังไม่ตอบสนองความต้องการ หรือความเป็นธรรมในสังคม ต้องเร่งแก้ให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม

ผมไม่อาจที่จะพูดได้ว่าจะมีสังคมที่มีความเท่าเทียมกันอย่างสิ้นเชิงในประเทศไทย แต่อยากเห็นสังคมที่มีความใกล้เคียงกันมากที่สุด มีความด้อยโอกาสน้อยที่สุด ที่ภูพยัคฆ์ควรมีการส่งเสริมประชาชนให้มีรายได้ ไม่ด้อยโอกาสอีกต่อไป โดยน่าจะนำเอาฐานที่มั่นพรรคคอมมิวนิสต์ไทย เป็นแหล่งเรียนรู้ทางการเมือง ซึ่งจะทำให้เป็นแหล่งศึกษาและท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี[3]

นี่เป็นในการให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.สุรยุทธ์ คนที่รบกับคอมมิวนิสต์ และพ่อของตัวเองเกือบตลอดชีวิตราชการทหาร ซึ่งไม่ปรากฏคำพูด เหิมเกริม ท้าทายอำนาจรัฐ แบบที่เทพไท เสนพงศ์มอบให้อดีตสหาย

ชุดทหารป่า และนักรบ (ในตำนาน) ในการชุมนุม (แบบไทยๆ)


เครือข่ายพิทักษ์เจตนารมณ์เดือนตุลา บนเวทีพันธมิตรฯ เมื่อคืนวันที่ 19 มิ.ย. 51 (ที่มา: ASTV)


ภาพการ์ดพันธมิตรฯ ผู้หนึ่ง ซึ่งสวมหมวกดาวแดง มีผ้าพันคอพันธมิตรฯ สีฟ้าเป็นสัญลักษณ์ ขณะประจำการในทำเนียบรัฐบาล เมื่อ
28 ส.ค. (ที่มา: Agron/flickr.com)

กรณีแต่งชุดทหารป่าของสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ ไม่ใช่กรณีแรกในการชุมนุมในไทย ก่อนหน้านี้ในการชุมนุมทางการเมืองของ 2 สี 2 กลุ่ม ในสังคมไทย ล้วนมีผู้แต่งชุดทหารป่า ร่วมม็อบ

ระหว่างการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เชิงสะพานมัฆวาน เมื่อคืนวันที่ 19 เข้าสู่วันที่ 20 มิ.ย. 51 “เครือข่ายพิทักษ์เจตนารมณ์เดือนตุลา ได้ขึ้นอ่านแถลงการณ์ โดยบนเวทีพันธมิตรฯ ได้มีการเปิดเพลง ทหารประชาชน ซึ่งเป็นเพลงปฏิวัติของ พคท. ก่อนที่จะมีการตะโกนคำขวัญ การต่อสู้ของประชาชนจงเจริญ จงเจริญ จงเจริญ รัฐบาลนอมินีจงพินาศ จงพินาศ จงพินาศโดยผู้อ่านแถลงการณ์บางคนสวมหมวกของทหารป่าด้วย

โดยหลังจากการอ่านแถลงการณ์ของเครือข่ายดังกล่าว นายอมร อมรรัตนานนท์ โฆษกบนเวที ได้ชี้แจงให้ผู้ชุมนุมว่าอดีตผู้เข้าร่วม พคท. กลุ่มนี้เป็นผู้รักชาติเหมือนกันต้องการมาขับไล่รัฐบาล และเทิดทูนสถาบันหลักอันเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในชาติเช่นกัน [4]


ผู้ชุมนุม นปช. แต่งชุดทหารป่า ถือปืนเด็กเล่นเข้าร่วมชุมนุมเมื่อ
24 ก.พ. 52 (ที่มา: ASTV ผู้จัดการออนไลน์)

ในกรณีของการชุมนุม นปช. ก็มีชายแต่งชุดทหารป่า ถือปืนของเล่น เข้าร่วมชุมนุมด้วย ดังภาพ ซึ่งเป็นการชุมนุม นปช. เมื่อ 24 ก.พ. 52


สนธิ ลิ้มทองกุล และการ์ดพันธมิตรฯ เมื่อ
26 ส.ค. 51 (ที่มา: adaptorplug/flickr.com)


ชายฉกรรจ์แต่งกายคล้ายขบวนการซาปาติสต้า (
Zapatista) ระหว่างยึดเอ็นบีที เมื่อเช้ามืดวันที่ 26 ส.ค. 51
(ที่มา: nationchannel/nbt)


รองผู้บัญชาการมาร์กอส แห่งขบวนการซาปาติสต้า (ใส่หน้ากากขวาสุด) ที่
Zitácuaro, เม็กซิโก ภาพเผยแพร่เมื่อ ม.ค. 49 (ที่มา: orianomada/flickr.com)

ไม่เพียงแต่ชุดทหารป่า จะถูกใช้ในการชุมนุมเท่านั้น เครื่องแบบของนักรบ/กองกำลัง ที่มีชื่อเสียงก็ถูกนำมาใช้ในการชุมนุมด้วย นอกจากนักรบศรีวิชัยของพันธมิตรฯ และนักรบพระเจ้าตากของกลุ่มเสธฯ แดง ซึ่งมาเป็นการ์ดให้ นปช. ในบางช่วงแล้ว

เมื่อเช้ามืดวันที่ 26 ส.ค. 51 ชายฉกรรจ์นับร้อยได้เข้ายึดสถานีโทรทัศน์ NBT โดยสวมชุดดำ และหน้ากากสกีคล้ายกองกำลังซาปาติสต้า (Zapatista) ในเม็กซิโก

เรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือ ผู้ที่เป็นแกนนำและหนึ่งในผู้ถูกจับกุมในวันนั้นก็คือ นิติรัฐ ทรัพย์สมบูรณ์ แห่งกลุ่มเพื่อนประชาชน บรรณาธิการหนังสือ ซาปาติสต้า: กองทัพปลดปล่อยแห่งเม็กซิโก ด้วย โดยในการชุมนุมพันธมิตรฯ เขาทำหน้าที่เป็นแกนนำในการ์ดพันธมิตรฯ

ในวันก่อการนั้น นิติรัฐ ให้สัมภาษณ์สรยุทธ์ สุทัศนะจินดา ในรายการเรื่องเล่าเช้านี้ว่า ต้องการนำสถานีโทรทัศน์กลับคืนมาเป็นของประชาชน แต่สัมภาษณ์ไปได้สักพักสัญญาณโทรศัพท์ก็ขาดหายไป [5]

นอกจากนี้ ระหว่างการเคลื่อนขบวนวันนั้น การ์ดของนายสนธิ ลิ้มทองกุล ยังแต่งกายลักษณะคล้ายกันนี้ด้วย ผิดกับซาปาติสต้าเล็กน้อยตรงที่พวกเขาสวมผ้าพันคอสีฟ้าด้วย

จะเห็นได้ว่ากรณีของสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ ไม่ใช่กรณีแรกในการชุมนุมในไทย แต่มีกรณีทำนองนี้ เกิดขึ้นในการชุมนุมของแต่ละสีหลายหน หลายกรณีแล้ว

เพียงแต่เทพไท อาจไม่ทันสังเกต หรือสังเกตแล้วแต่ไม่ทันคิดข้อหา เหิมเกริม ท้าทายอำนาจรัฐ ให้

สุรชัยกับ Cosplay


หรือว่าจริงๆ แล้วสุรชัยจะแต่งตัวเลียนแบบอูรอน ใน
Dragon Ball Z !!?
(ที่มา
: http://www.dragonballz.com/)

อันที่จริงกรณีแต่งชุดทหารป่าของสุรชัย และอดีตสหายหรือไม่สหาย ก็เป็นรสนิยมที่คนอีกหลายๆ กลุ่มในบ้านในเมืองทำกัน ที่เรียกว่ากลุ่มแต่งคอสเพลย์ (Cosplay)

คำดังกล่าวถูกใช้ครั้งแรกในญี่ปุ่น โดยโนบุยุกิ ทากาฮาชิ ซึ่งเขียนคอลัมน์ในนิตยสาร My Anime เมื่อปี พ.ศ. 2525 โดยนำคำ 2 คำมาผสมกัน คือคำว่า Costume และ Play โดยคอสเพลย์หมายถึงการแต่งกายเลียนแบบตัวละครจากในเกมหรือการ์ตูน โดยอาจมีการแสดงท่าทางหรือบุคลิกตามตัวละครนั้นๆ

ปัจจุบันนิยามของคอสเพลย์ ยังกินความหมายรวมไปถึงตัวละครในการ์ตูน เกม และภาพยนตร์ ทั้งของญี่ปุ่นและของประเทศอื่นๆ ด้วย และยังรวมไปถึงการแต่งกายเลียนแบบการแต่งกายของวงดนตรี J-Rock และ J-Pop ที่มีรูปแบบแตกต่างจากการแต่งกายแบบปกติอย่างชัดเจน ซึ่งอาจจะมีการรวมกลุ่มกันเพื่อร้องเพลงหรือการเต้น Cover ตามศิลปินที่ชื่นชอบนั้นอีกด้วย และรวมถึงการแต่งกายแบบย้อนยุค อย่างเช่นสมัย Gothic ของยุโรปเป็นต้น [6]

หรือที่จริงแล้วสุรชัย ไม่ได้คิดอะไรมากไปกว่า อยากแต่งตัวเลียนเจ้า Oolong หรือที่คนไทยเรียก อูรอน เพื่อนซุนหงอคง ในการ์ตูนเรื่องไข่มังกร ‘Dragon Ball Z’ ของโทริยาม่า อากิระ (ฮา)

ซึ่งเรื่องนี้ให้ เทพไทรู้ไม่ได้เช่นกัน เพราะเกรงว่า Oolong จะถูกตั้งข้อหาเหิมเกริม ท้าทายอำนาจรัฐ ตามสุรชัย แซ่ด่านไปอีกราย (ฮา)

Cosplay ฉบับ 'ป๋า' (เอากับเขาด้วย)


พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ‘cosplay’ สวมชุดทหาร 3 เหล่าทัพเดินสายบรรยายพิเศษระหว่างเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ในปี 2549

หรือว่า ที่จริงแล้ว การแต่งชุดทหารป่าของสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ อาจไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าแต่งชุดเก่าๆ ที่คุ้นเคยเพื่อ โหยหาอดีต (Nostalgia)

แบบที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ทำในช่วงก่อนรัฐประหาร 19 ก.ย. 49 ที่ พล.อ.เปรม จัดแจงแต่งตัวเป็นทหารสามเหล่าทัพ เดินสายปาฐกถาบรรยายพิเศษ ที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า จ.นครนายก เมื่อ 14 ก.ค. 49 ที่โรงเรียนนายเรือ จ.สมุทรปราการ เมื่อ 28 ก.ค. 49 และที่โรงเรียนนายเรืออากาศ เมื่อ 31 ส.ค. 49

และมีวาทะอันลือลั่นของทหารแก่ในชุดคอสเพลย์ รัฐบาลก็เหมือนกับจ็อกกี้ ระหว่างบรรยายพิเศษหัวข้อ ทหารอาชีพกับทหารมืออาชีพ ณ หอประชุมโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า จ.นครนายก

มีเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งที่อยากจะให้พวกเราได้ยิน และเข้าใจ ว่าเราเป็นทหาร แต่ต้องพูดต่อไปว่า เราเป็นทหารของชาติ เป็นทหารของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อคราวที่ไปพูดที่อื่นก็พูดทำนองนี้ว่า เราเป็นทหารของชาติ เป็นทหารของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็มีคนเถียงว่า ถ้าอย่างนั้นรัฐบาลก็สั่งทหารไม่ได้ คนที่เถียงกันเขาอาจจะไม่เข้าใจเรื่องทหารเลย หรือเขาไม่ชอบหน้าพวกเราก็ได้ อยากจะยกตัวอย่างให้เห็นชัดๆ ว่า ทำไมเราถึงพูดเป็นทหารของชาติ เป็นทหารของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

นักเรียนสมัยใหม่คงเล่นม้าไม่เป็น อาจจะเป็นเรื่องการพนันอย่างอื่นที่ใช้คอมพิวเตอร์ ใช้เครื่องไม้เครื่องมือที่ทันสมัย แต่อยากจะเล่าให้ฟังอย่างนี้ก็แล้วกัน เปรียบเทียบคนที่เป็นทหารม้าถึงจะรู้เรื่องม้าดี และ เรื่องการแข่งม้า การแข่งม้า ม้าจะมีคอก มีเจ้าของคอก คอกหนึ่งมีม้าหลายตัว 5 ตัว 10 ตัว 20 ตัว ก็ได้ เจ้าของคอกก็เป็นเจ้าของม้า เวลาจะไปแข่งเขาก็ไปเอาเด็ก ที่เราเรียนกว่าจ็อกกี้ หรือเด็กขี่ม้า ไปจ้าง ไปให้เขามาขี่ม้า เขาจะขี่ม้า พอเสร็จจากการขี่ม้า เขาก็กลับไปทำงานอย่างอื่น วันนี้เขาขี่ม้าคอกนี้ พรุ่งนี้เขาขี่ม้าอีกคอกหนึ่ง เขาไม่ได้เป็นเจ้าของม้าหรอก เขาเป็นคนขี่

รัฐบาลก็เหมือนกับจ็อกกี้ คือ เข้ามาดูแลทหาร แต่ไม่ใช่เจ้าของทหาร เจ้าของทหารคือชาติ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัฐบาลเข้ามาดูแลกำหนดใช้พวกเราตามที่ประกาศนโยบายไว้ต่อรัฐสภา เด็กขี่ม้าบางคนก็ขี่ดีขี่เก่ง บางคนก็ไม่ดี ขี่ไม่เก่ง รัฐบาลก็เหมือนกัน รัฐบาลบางรัฐบาลก็ทำงานดี ทำงานเก่ง บางรัฐบาลก็ทำงานดีไม่ดี หรือไม่เก่งก็มี นี่เป็นเรื่องจริง[7]

ไม่รู้ว่าป๋าแต่งตัวแบบนี้ พูดจาแบบนี้ จะเข้าข่าย “เหิมเกริม ท้าทายอำนาจรัฐ ในทัศนะเทพไท เสนพงศ์ หรือไม่ เพราะหลังบรรยายจบสามเหล่าทัพ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน และคณะไม่รู้ว่าเกิดได้ยาดีอะไร 19 ก.ย. 49 ก็เข็นรถถังออกมารัฐประหารกันเห็นๆ มอบเป็นของกำนัลสังคมไทย!

000

การโหยหาอดีตของสองทหารแก่ สุรชัย-เปรม โดยเนื้อหาอาจไม่ต่างกันมาก ผิดกันตรงที่ ทหารแก่คนหนึ่งอาจสมใจ สังคมไทย Nostalgia ย้อนยุคขุนศึก อำมาตย์ เป็นใหญ่ได้อีกหลัง 19 ก.ย. 49 มีองคมนตรีมาเป็นนายกฯ ที่ป๋าเห็นเป็นวินสตัน เชอร์ชิล มีนายกฯ หนุ่มที่ป๋าบอก ผมเชียร์ เช่นนี้กระมัง สหายเก่า-ทหารแก่อีกคนจึงขอแต่งคอสเพลย์ทหารป่าเข้ามอบตัว ขอ Nostalgia อีกรอบ

(ป.ล. ล่าสุด สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ กล่าวเมื่อวันที่ 2 พ.ค. ว่าที่ประสาร มฤคพิทักษ์ ส.ว. ระบบสรรหา กล่าวในการประชุมรัฐสภาว่าตนสวมหมวกดาวแดงเป็นพวกหลงยุคนั้น ขอถามว่า มึงว่ากูหลงยุคแล้วกลัวกูทำไม และกล่าวว่าวันที่ไปมอบตัวกับตำรวจได้ลงทุนซื้อหมวก 100 บาท ซื้อเสื้อ 250 บาท ลงทุน 350 ได้ออกทีวีทุกช่อง ถือว่าดังไม่หยุดตอนนี้)

อ้างอิง
[1]
สุรชัย แซ่ด่านแต่งคอสเพลย์ ทหารป่า’ ‘เทพไทไม่ตลกด้วย อัดเหิมเกริมท้าทายอำนาจรัฐ, ประชาไท, 29 เม.ย. 52
[2]
คดีปฏิญญาฟินแลนด์ ศาลยกฟ้อง สนธิส่วน ปราโมทย์-ขุนทองรอลงอาญา, ประชาไท, 26 มี.ค. 52
[3]
องคมนตรีหนุนปั้น"ภูพยัคฆ์"แหล่งท่องเที่ยวน่าน, มติชน, 13 ธ.ค. 48 หน้า 15.
[4]
สถานการณ์การชุมนุม มัฆวาน สนามหลวง คืนก่อนวันทุบหม้อข้าว, ประชาไท, 20 มิ.ย. 51
[5]
กลุ่มคนชุดดำพยายามบุกยึดเอ็นบีที ก่อนถูกตำรวจควบคุมตัว, ประชาไท, 26 ส.ค. 51
[6]
http://en.wikipedia.org/wiki/Cosplay
[7]
พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์, "บรรยายพิเศษ: ทหารอาชีพกับทหารมืออาชีพ" ณ หอประชุมโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า จังหวัดนครนายก (14 ก.ค. 49) http://www.premspeech.com/speech/40.pdf