วันจันทร์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2552

เสวนาครบ 2 ปียุบพรรคไทยรักไทย : พรรคการเมือง “ส่วนเกิน” ในระบอบประชาธิปไตย ?

ที่มา ประชาไท

วันที่ 30 พ.ค.52 สถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตยจัดอภิปรายสาธารณะครั้งที่ 4 ในวาระครบรอบ 2 ปีของการยุบพรรคไทยรักไทย เรื่อง “พรรคการเมืองไทย : สิ่ง จำเป็น หรือ ส่วนเกิน ในระบบประชาธิปไตย” โดยมีผู้อภิปราย ได้แก่ พงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย, คณิน บุญสุวรรณ อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ 2540 และคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ สายผู้ทรงคุณวุฒิ ของรัฐสภา, ธีระ สุธีวรางกูร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, นายนิกร จำนง อดีตรองหัวหน้าพรรคชาติไทย ดำเนินการอภิปรายโดย จอม เพชรประดับ

ในช่วงต้น จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยในฐานะประธานสถาบันฯ ได้กล่าวเปิดงานว่า กรณีการยุบพรรคไทยรักไทยเป็นเรื่องที่ควรศึกษาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและ ค้นคว้ากันต่อไป เพราะเป็นการยุบโดยอาศัยคณะตุลาการที่รัฐประหารได้ตั้งขึ้น โดยนอกจากการวินิจฉัยให้ยุบพรรคแล้วยังมีการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของ กรรมการบริหารพรรค 5 ปีตามอำนาจของประกาศคณะปฎิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (คปค.) ฉบับที่ 27 ซึ่งออกภายหลังการรัฐประหาร และคณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้ใช้ให้มีผลย้อนหลังซึ่งขัดกับหลักนิติธรรม จากนั้นหลักการที่ขัดต่อหลักนิติธรรมยังถูกนำไปใช้ในรัฐธรรมนูญ 2550 และถูกนำไปใช้กับพรรค 3 พรรค ได้แก่ พรรคชาติไทย พรรคมัชฌิมาประชาธิปไตย พรรคพลังประชาชน ทำให้มีการเพิกถอนสิทธินักการเมืองโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แต่ขัดต่อหลักนิติธรรม
เขา กล่าวว่า เมื่อพรรคการเมืองถูกทำลายและอ่อนแอลงอย่างชัดเจน และระบบพรรคการเมืองก็อ่อนแอลง ผู้ที่ต้องการเห็นบ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย อาจคาดหวังต่อพรรคการเมืองได้น้อยลง เห็นได้จากที่ขณะนี้มีคนบางส่วนต้องการสู้โดยไม่ต้องอาศัยพรรคการเมืองอีก เลย อย่างไรก็ตาม มีปรากฏการณ์ที่สับสนและน่าสงสัยคือ การที่กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองนอกสภาที่เคลื่อนไหวในรูปแบบวิธีการที่ผิด กฎหมายอย่างพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ได้มีมติตั้งพรรคการเมือง ทั้งที่มีอุดมการณ์นโยบายที่ชัดเจนที่เสนอปกป้องรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่ มีเนื้อหาทำลายระบบพรรคการเมือง และการเมืองใหม่ที่ต่อต้านพรรคการเมืองและลดความสำคัญของพรรคการเมืองอย่าง เปิดเผย หลายคนจึงมองไม่เห็นความชัดเจนในเรื่องดังกล่าว นอกจากวิเคราะห์และคาดการณ์ว่า พธม. กำลังจะทำอะไร และใช้ประโยชน์อะไรจากการดำเนินการทางการเมืองหรือไม่อย่างไร
นายจาตุรนต์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ต้องค้นคว้ากันต่อไป เพื่อช่วยกันป้องกันไม่ให้เกิดการทำลายพรรคการเมืองมากไปกว่านี้ เพื่อ ให้ระบบพรรคการเมืองเป็นเครื่องมือที่ประชาชนใช้กำหนดความเป็นไปของบ้าน เมือง ผ่านกิจกรรมทางการเมืองและการเลือกตั้ง เพื่อเลือกพรรคการเมืองที่มีนโยบายอย่างที่ต้องการเข้ามาบริหารประเทศ ทั้งนี้ หากกระบวนการยุบพรรคยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องก็ไม่มีทางที่จะอธิบายได้ว่า ระบอบประชาธิปไตยของเราจะพัฒนาไปได้อย่างไร ประชาชนจะได้ประโยชน์จากประชาธิปไตยได้อย่างไร และหมายความว่าวิกฤตจะอยู่กับเราต่อไป
พงศ์เทพ เทพกาญจนากล่าว ถึงความสำคัญของพรรคการเมืองว่า แม้ผู้สมัคร ส.ส. แต่ละคนจะมีนโยบายสวยหรูที่น่าสนใจ แต่หากไม่มีพรรคการเมือง ก็จะเกิดคำถามว่า หากเลือกใครคนใดคนหนึ่งเป็น ส.ส. ในสภาซึ่งมี ส.ส. 480 คน ส.ส.ที่ถูกเลือกจะมีปัญญาทำได้อย่างที่พูดหรือไม่ ส.ส.เพียงคนเดียวจะผลักดันนโยบายของตัวเองในสภาได้อย่างไร ไม่มีทางเลย นอกจากนี้พรรคการเมืองยังมีบทบาทสำคัญในการรวบรวมความต้องการของประชาชนแล้ว เสนอเป็นนโยบาย ถ้าไม่มีพรรคการเมือง ส.ส. ต่างคนต่างคิดจะมีนโยบายร่วมกันได้อย่างไร
เขา กล่าวว่า ก่อนจะมีประชาธิปไตย ประชาชนเป็นผู้ถูกปกครอง ไม่มีปากมีเสียง ถามว่ามีการทุจริตคอรัปชั่นไหม ตอบว่า มี และมีเยอะมากกว่าในปัจจุบันเสียอีกเพราะประชาชนไม่มีโอกาสตรวจสอบขุนนาง ข้าราชการในอดีตมากมายนัก และไม่ค่อยมีปากเสียง
นาย พงศ์เทพ ตั้งคำถามว่า เราต้องการพรรคการเมืองแบบไหน แบบสถาบันหรือติดยึดกับผู้ก่อตั้ง ในช่วงแรกนั้น พรรคการเมืองที่ตั้งใหม่ต้องติดยึดกับคนตั้งพรรคเป็นหลัก กลุ่มคนเหล่านี้อาจต้องมีเสียงดังในการชี้นำพรรค ต่อ มา เมื่อคนเข้าร่วมมากขึ้น พรรคการเมืองจะเป็นสถาบันที่ติดยึดกับคนก่อตั้งน้อยลง แต่ถ้าเราไปฆ่าตัดตอนพรรคการเมืองอายุน้อย ก็ต้องเริ่มต้นกันใหม่ ก็จะติดยึดกับผู้ก่อตั้งเหมือนเดิม ดังนั้น จึงต้องให้เวลาพรรคการเมืองในการพัฒนาและกำหนดกลไกต่างๆ
สำหรับ พรรคเทียนแห่งธรรม อยากเชิญชวนให้มาสู้กันในสภา ในระบอบ นำเสนอตัวกับประชาชนเลย จะไม่ว่าเลยว่ากลืนน้ำลาย เพราะการเมืองที่ดีต้องทำให้คนอยากเข้ามาเสนอตัวรับใช้ประชาชน อย่างไรก็ตาม พรรคการเมืองที่ดีต้องให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการพรรคการเมือง และท้ายที่สุดประชาชนจะเป็นคนตัดสิน
นายพงศ์เทพ กล่าวว่า คนไทยไม่ว่าเสื้อสีไหนถ้ามีสติ คิดว่าข้อเสนอการเมืองใหม่ให้เลือกตั้ง 20 สรรหา 80 จะทำให้คนไทยได้ประโยชน์ขึ้นกว่าระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงที่มีสิทธิเลือกตั้ง 100%ไหม อย่างไรก็ตาม การเสนอต่อประชาชนในระบบดีกว่าให้เคลื่อนไหวสร้างปัญหาให้แก่ประเทศในอนาคต ในอีกมุมหนึ่งเชิญชวนไม่เฉพาะ พธม. ที่หากคิดว่ามีความสามารถอยากทำงานเพื่อส่วนรวมเข้ามาทำงานการเมือง และควรมีระบบให้คนที่เข้ามาเสนอตัวทางการเมืองไม่ต้องสิ้นเปลืองมาก มีค่าใช้จ่ายมาก เพราะคนอาจไม่อยากเข้ามาเปลืองตัว
ส่วน กรณีที่มีผลสำรวจระบุว่า คนที่เลวร้ายมากที่สุดของสังคมเวลานี้คือนักการเมืองนั้น นายพงศ์เทพมองว่า เป็นการพูดโดยปราศจากเหตุผลที่แท้จริงสนับสนุน ส่วนตัวอยู่มาหลายวงการ ทั้งนักการเมือง นิติบัญญัติ บริหาร ข้าราชการ รวมถึงวงการข้าราชการที่เมื่อเทียบกับข้าราชการทั้งหลายจะมีระดับของความดี ความงามสูงกว่า คือศาล ทุกวงการมีทั้งคนดีคนเลว ไม่เห็นว่าวงการไหนจะมีแต่คนดีพร้อมหรือคนเลวเสียทั้งสิ้น
นิกร จำนงกล่าวว่าสถานการณ์ ก่อนการยุบพรรคต่างๆ ที่ผ่านมานั้นไม่มีเหตุมีผล กรณีของพรรคชาติไทย แม้อัยการจะยกฟ้องแล้ว ไม่มีเหตุแห่งการยุบพรรคแล้วก็ยังถูกยุบพรรคในท้ายที่สุด ซึ่งเรื่องนี้จาตุรนต์เคยพูดว่ามันคือ เหตุผลของการไม่มีเหตุผล อย่างไร ก็ตาม จากประสบการณ์หน้าบัลลังก์ศาลรัฐธรรมนูญที่ตัดสินยุบพรรค ยังมีความรู้สึกที่ดีด้านหนึ่งคือ แม้เป็นเหยื่อของสถานการณ์ แต่อย่างน้อยมันก็มีทางออกในระหว่างที่เสื้อเหลืองกำลังจะรุนแรง เหมือนเป็นการสียสละหาทางออกให้สังคม แต่หลังจากนั้นพลับพบว่ามันไม่ช่วยให้จบ หรือหยุดความรุนแรง
เขา กล่าวว่า ด้วยปรากฏการณ์ดังกล่าวจึงมีประเด็นว่าพรรคการเมืองเป็นสิ่งจำเป็นทางการ เมืองไหมสำหรับการพัฒนาการเมือง ซึ่งตามหลักรัฐศาสตร์ พรรคการเมืองเป็นสิ่งจำเป็นมากในระบบการเมือง ประชาชนจะใส่ความต้องการเข้าไปในระบบการเมืองผ่านพรรคการเมือง ระบบราชการก็ไม่สามารถทำแทนได้เพราะเป็นผู้ปฏิบัติที่เหมือนเรือไม่มีหาง เสือ จากนั้นพรรคการเมืองจะเลือกเฟ้นกำหนดเป็นข้อๆ แล้วเสนอให้ประชาชนเลือก ด้วยเหตุนี้ตนจึงไม่พอใจหมวดแนวนโยบายแห่งรัฐในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมาก เพราะกำหนดไว้เองเสร็จสรรพ เหมือนดูถูกประชาชนว่าไม่มีวิจารณาณในการเลือกได้ เมื่อพรรคการเมืองเข้าสู่การเป็นฝ่ายบริหารหรือฝ่ายค้านก็จะป็นผู้กำหนด ผลผลิตทางนโยบายแล้วย้อนกลับไปหาประชาชน หากประชาชนพอใจก็จะยังเลือก ระบบการเมืองก็ยังหมุนได้
มองในแง่ความจำเป็นในเชิงสถาบัน ในการพัฒนาประชาธิปไตยเราอยากให้คนเป็นสมาชิกพรรคการเมือง และปัจจุบันก็มีสมาชิกพรรค 24 ล้านคนแล้ว เมื่อไม่มีพรรคการเมืองสมาชิกจะไปอยู่ไหน นอกจากนี้กรรมการบริหารพรรคที่เข้ามารับหน้าที่ก็เพราะมีความเชื่อมั่นใน องค์กร ในสถาบันนี้ เมื่อเกิดระบบยุบพรรคเช่นนี้ทำให้ไม่มีใครยอมเป็นกรรมการบริหารพรรคแล้ว มันฟ้องว่าเกิดการล่มสลายในทางสถาบันการเมือง
นิการกล่าวต่อว่า สำหรับความจำเป็นในเชิงพัฒนาการทางการเมืองนั้น การ ยุบพรรคการเมืองจากเหตุของการซื้อเสียงนั้นเป็นการทวนกระแส ถ้าพรรคการเมืองไม่เข้มแข็งไม่มีทางแก้การซื้อเสียงได้ คำกล่าวที่ว่า เพื่อแก้ปัญหาการซื้อเสียงถ้าไม่มีการลงโทษจะมีการซื้อเสียงอยู่ร่ำไปทำให้ การเมืองล่มสลายนั้นเป็นการรู้ไม่จริง เพราะการซื้อเสียงมี 2 มิติ คือ ซื้อสิทธิ์กับขายเสียง อย่างภาคใต้ พรรคประชาธิปัตย์เข้มแข็งมาก ไม่ว่าจะซื้อเสียงยังไงก็ไม่ได้ ชาวบ้านอาจเอาเงินแต่ไม่กาพรรคอื่น ดังนั้น การพัฒนาการทางการเมืองของประชาชนในการมีส่วนในการลงคะแนนสำคัญมาก
อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมการเลือกตั้งในเชิงหลักการมี 3 มิติ 1. ขั้นต่ำสุดคือ การเลือกคนที่สนิท หรือ personal voting 2.ขั้นต่อมาคือการเลือกในเชิงระบบ เลือกพรรคการเมือง หรือ party identification voting 3.ขั้นสูงสุด คือ การเลือกโดยไม่ยึดติดกับพรรค แต่ดูที่นโยบายว่าชอบนโยบายของพรรคใด หรือ policy voting สำหรับ ประเทศไทยนั้นพัฒนามาจากระดับบุคคลแล้ว ขั้นที่สองจะเป็นบันไดให้ไปขั้นที่สาม ซึ่งพรรคไทยรักไทยทำได้ดีเพราะเสนอนโยบายที่หวือหวามากและทำให้พรรคอื่นต้อง ทำตาม แต่แล้วเราก็กระชากมันลงมาหมด
นิกร ยังกล่าวถึงลักษณะเฉพาะของพรรคการเมืองต่างๆ ว่า สำหรับเขาพรรคประชาธิปัตย์เป็นเหมือนพรรคอุดมคติ มีความชำนาญด้านกฎหมาย จำเป็นต้องมีในประเทศ พรรคชาติไทยอาจเป็นแบบ realistic เน้นปฏิบัติ ส่วนพรรคไทยรักไทยเป็น modernist ทั้งหมดมีข้อเด่นข้อด้อยและสามารถคัดง้างเฉลี่ยกันได้เอง แต่เมื่อล้มพรรคการเมืองทุกอย่างจบ ความเป็นพรรคในเชิงสถาบันไม่มี พรรคการเมืองอ่อนแอมาก นโยบายไม่ต้องพูดถึง
“เมื่อ พรรคการเมืองอ่อนแอ สำหรับชาวบ้าน ต่อจากนี้รับเงินดีกว่า การขายเสียงจะเกิดขึ้น เอาสิ่งที่เห็นเลยดีกว่า ไม่ต้องหวังน้ำบ่อหน้า การเลือกพรรคการเมืองคือการหวังน้ำบ่อหน้า ต้องฝันไปกับเขา แล้วรอดูว่าเขาทำได้ไหม หรืออย่างนั้น ไปลงโทษกรรมการบริหาร ตัดสิทธิ์ 5 ปี ขณะนี้จะไปลงโทษยังไง ในเมื่อไม่ใช่ตัวจริงหมดแล้ว และไม่ลงเลือกตั้ง ดังนั้นการแก้ปัญหาและดำเนินการกับพรรคการเมืองแบบนี้ผิดมาก” นิกรกล่าว
สำหรับ ความคิดเห็นต่อการตั้งพรรคของกลุ่มพันธมิตรฯ นั้น นิกรกล่าวว่า สุวิทย์ วัดหนู หนึ่งในแกนนำของพันธมิตรฯ เป็นบุคคลยิ่งใหญ่มาก เป็นผู้เสนอแนวทางตั้งแต่สมัยสมัชชาคนจนแล้วว่าการแก้ปัญหาให้ชาวบ้าน ประท้วงอย่างไรก็ไม่จบ ต้องตั้งพรรคการเมือง แต่คำถามคือเมื่อพันธมิตรฯ จะตั้งพรรค พรรคที่ตั้งใหม่เป็นตัวแทนของภาคประชาชนหรือเปล่า ถ้าเป็นเราก็ต้องยินดีและต้องอาศัยเวลาในการพิสูจน์ แต่ถ้ามีอำนาจปนเข้ามา มีปรารถนาอื่นปนเข้ามา เชื่อได้ว่าจะไม่มีทางนับหนึ่งได้เลย และเมื่อประเมินกลุ่มประชาชนของพันธมิตรฯแล้ว เฉพาะในภาคใต้ที่ตนคุ้นเคยบอกได้เลยว่าถ้าต้องเลือกระหว่างพรรคพันธมิตรฯ กับพรรคประชาธิปัตย์ เขายังเลือกประชาธิปัตย์
ธีระ สุธีวรางกูรกล่าวท้าวความเดิมว่าใน ช่วงเวลามุ่งทำลายล้างทางการเมือง การยุบพรรคใดพรรคหนึ่งหรือไม่ยุบทั้งสอง ยุบทั้งสอง จะส่งผลต่ออนาคตต่อทุกกลุ่ม สุดท้ายประชาธิปัตย์ไม่ผิด สำหรับพรรคไทยรักไทยศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้มีความผิด และยังนำประกาศ คปค.ฉบับที่ 27 มาใช้เพื่อแขวนกรรมการบริหารพรรคด้วย ถึงตรงนี้เริ่มเห็นเมฆหมอกบางอย่างในนามตุลาการภิวัฒน์ เมื่อยุบพรรคไทยรักไทยก็นำสู่การเลือกตั้ง และมีการนำประกาศคปค.มาใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญ 50มาตรา68 วรรค4 ด้วยต่อจากนั้นจึงเกิดการยุบพรรคพลังประชาชน ชาติไทย มัฌชิมาธิปไตย เป็นตุลาการภิวัตน์ภายใต้การครอบงำของทหารและกลุ่มอำมาตยาธิปไตย การยุบพรรคทั้งหมดกลับมาสู่คำถามว่า พรรคการเมืองไทยสำคัญหรือไม่ในระบบประชาธิปไตย
ธีร ะกล่าวว่า ระบบประชาธิปไตยในโลกนั้น พรรคการเมืองมีความสำคัญอย่างน้อยก็เป็นผู้นำเสนอปัญหา แนวนโยบายได้ดีที่สุด แล้วจึงลงสมัครรับเลือกตั้งซึ่งเป็นสารัตถะสำคัญ เมื่อได้แล้วด้วยทีมเวิร์คที่มีทำให้นำไปสู่การปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพ พรรคการเมืองจึงเป็นพลังทางการเมืองที่สำคัญที่สุด
สำหรับ ไทย ตามหลักการแล้วพรรคการเมืองก็มีความสำคัญ แต่ต้องถามก่อนว่าเราปกครองในระบบประชาธิปไตยหรือไม่ ถ้าเป็นประชาธิปไตยจริงอำนาจของประชาชนจะได้รับการฟังอย่างแท้จริง แต่ถ้าไม่ใช่หรือเป็นประชาธิปไตยเพียงชื่อพรรคการเมืองสำคัญหรือไม่อยู่ที่ ระบอบอำมาตยาธิปไตยเข้มแข็งเพียงไร ถ้าเขายังเข้มแข็ง พรรคการเมืองก็สำคัญตรงที่ทำให้ระบอบประชาธิปไตยนั้นคงอยู่ต่อไป แต่หากพรรคไหนเอาอำนาจประชาชนมาคัดง้างกับอำมาตย์ก็อาจไม่จำเป็น
“วัน นี้ประเทศไทยเราปกครองระบอบประชาธิปไตยเฉพาะแต่ชื่อ แต่เนื้อหาเราแย่งชิงอำนาจกันอยู่กับระบอบอำมาตยาธิปไตย พรรคการเมืองในวันนี้จึงไมใช่สิ่งสำคัญมากนัก ถ้าทุกท่านยอมก็จบ ถ้าไม่ยอมท่านต้องทำให้พรรคการเมืองเป็นสถาบันที่มีความสำคัญของประเทศต้อง ไม่ปล่อยให้ทีมงานพรรคทำงานอย่างโดดเดี่ยว ท่านต้องทำงานกับพรรค ประชาชนทั้งหมดต้องเข้ามามีส่วนร่วมในทางการเมืองกับพรรคการเมือง และเมื่อมีอำนาจนอกระบบเข้ามาแทรกแซงท่านต้องสู้”
ธีระกล่าวอีกว่า พรรคการเมืองถูกทำให้ไม่เข้มแข็งมานาน ย้อนไปดูตั้งแต่รัฐประหาร 2490 ซึ่งทำให้พรรคลุ่มๆ ดอนๆ ตลอด ทำให้ไม่เกี่ยวเนื่องและไม่เข้มแข็ง ซึ่งต่อเนื่องมาจนทุกวันนี้ ตัวอย่างเช่น เมื่อ 5 เดือนก่อน ทำไมหลายคนไปที่ราบ 11 ทำไม ท่านยอม บางทีมีคนมาทำให้เราไม่เข้มแข็งและเราก็ไปยอมรับด้วย ความไม่เข้มแข็งตรงนี้บางทีไม่ได้เกิดจากข้อเท็จจริงว่าพรรคไม่เข้มแข็งเอง แต่ถูกแรงกดดันอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากสื่อมวลชนที่มีอคติกับนักการเมือง ทำให้พรรคการเมืองอยู่ในสภาวะอ่อนแอ
นอกจาก ปัจจัยภายนอก บางครั้งก็เป็นเพราะพรรคการเมืองไม่ยอมทำตัวเองให้เข้มแข็ง ในประวัติศาสตร์ที่มีทหารเข้ามาก็ยากที่จะทำให้เข้มแข็ง แต่หลัง 2540 ที่ ทุกฝ่ายพยายามจะทำให้เป็นพรรคของประชาชนจริงๆ แต่ก็มีพรรคการเมืองหลายพรรคไม่ยอมปรับสภาพให้เป็นพรรคมวลชน ความเข้มแข็งจึงไม่เกิด มาจนถึงวันนี้ ช่วงมีการลงประชามติในร่างรัฐธรรมนูญ 50 มีการโฆษณากันมากว่ารัฐธรรมนูญดีและไม่ดี จนท้ายที่สุดผ่านได้อย่างหวุดหวิด คนที่ไม่รับก็หวังจะให้มีการแก้ พรรคพลังประชาชนก็รับปากจะแก้ แต่เมื่อได้อำนาจรัฐมาก็ไม่ยอมแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทำให้พลาดโอกาสสำคัญ
“วันนี้มารรอหวังคณะกรรมการสมานฉันท์ ฝันไปเถอะ ไม่มีทาง”
ธีร ะกล่าวถึงการตั้งพรรคการเมืองของกลุ่มพันธมิตรฯ ว่า ยังไม่แน่ใจว่าเป็นอย่างไร แต่หลายคนอาจยินดีเพราะอาจขัดขากันเองกับพรรคประชาธิปัตย์ ในทางหนึ่งพันธมิตรฯ ถูกใช้เป็นเครื่องมือขึ้นสู่อำนาจของประชาธิปัตย์ ขณะเดียวกันประชาธิปไตย์ก็เป็นเครื่องมือให้พันธมิตรฯ ถีบพรรคพลังประชาชนออกจากการเมืองไปได้
“การ ตั้งพรรคการเมืองของพันธมิตรฯ ถ้าพูดแง่ทั่วไปก็ยินดีสนับสนุนให้สู้กันในระบอบ แม้ไม่ทิ้งการสู้บนถนนก็ไม่เป็นไรแต่อย่าละเมิดกฎหมาย แม้แนวนโยบายยังไม่ชัดเจน แต่ถ้าท่านหวังดีก็ขอให้ประสบความสำเร็จ และคิดว่าพันธมิตรฯ คงจะไปแย่งสัดส่วนของประชาธิปัตย์ พูดในแง่ยุทธศาสตร์ของพรรคเพื่อไทยแล้วก็น่าสนับสนุน” ธีระกล่าว
นายคณิน บุญสุวรรณ กล่าวว่า การเมืองก่อนรัฐธรรมนูญ40 นั้นไม่มีเสถียรภาพ ซึ่งจะเป็นจุดบอดของประชาธิปไตย จึงได้ออกแบบรัฐธรรมนูญ 40 โดยมีเป้าหมายเพื่อให้บ้านเมืองมีเสถียรภาพทางการเมือง ซึ่งนั่นต้องทำให้สภาฯ มีเสถียรภาพ ไม่ล้มลุกคลุกคลาน รวมถึงต้องมีรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ ซึ่งจะมีองค์กรที่รองรับคือพรรคการเมือง ด้วยเหตุนี้ กลไกต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ 40 จึงถูกออกแบบเพื่อให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง เพราะพรรคการเมืองเป็นของประชาชน ถ้าองค์กรของประชาชนไม่มีความเข้มแข็ง ปัญหาก็จะเกิดตามมามากมาย ไม่ว่า นักวิชาการหรือนักการเมืองจากประเทศอื่นๆ ในโลก ต่างต้องการให้ประเทศ มีรัฐบาลที่เข้มแข็ง มีเพียงนักวิชาการบางคนในไทย ที่บอกว่า รัฐธรรมนูญ 40 ทำให้รัฐบาลและนักการเมืองเข้มแข็งเกินไป จึงต้องทำให้อ่อนแอ
นายคณิน กล่าวว่า ภายใต้รัฐธรรมนูญ 40 ที่ถูกออกแบบมาและจงใจให้ระบบพรรคการเมืองเข้มแข็ง ยังทำในสิ่งที่นักประชาธิปไตยทั่วโลกต้องการคือ ทำให้การจัดตั้งรัฐบาลเป็นเสรีภาพของประชาชน เมื่อก่อน จะตั้งพรรคต้องขออนุญาตนายทะเบียนพรรคการเมือง เหมือนระบบเจ้าขุนมูลนาย แต่ใต้รัฐธรรมนูญ 40 ต้องการให้ระบบพรรคการเมืองเป็นเสรีภาพของประชาชน และเมื่อพรรคการเมืองมีเสรีภาพแล้ว ไม่ต้องถามว่าควรถูกยุบไหม ยุบไม่ได้ เช่นเดียวกับหากบอกว่าการนับถือศาสนาเป็นเสรีภาพ ก็จะยุบศาสนาไม่ได้ ดังนั้น การจัดตั้งพรรคเป็นเสรีภาพของประชาชน
เขา กล่าวว่า มีเพียงกรณีที่พรรคการเมืองกระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมี พระมหากษัตริย์เป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทาง ที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญ จึงจะเข้าข่ายถูกยุบพรรค นอกจากนั้น ในรัฐธรรมนูญ 40 ยังห้ามกระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ นั่นคือ การรัฐประหาร
แม้กระทั่งตอนปลายของการใช้รัฐธรรมนูญ 40 มีปัญหาเสนอยุบพรรค ในฐานะ ส.ส.ร.40 เคยแสดงความเห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีสิทธิยุบพรรคการเมือง ถึงขนาดว่าถ้าจำเป็น มีพฤติกรรมจริงๆ ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจเพียงแค่สั่งให้เลิกการกระทำ แล้วจากนั้น หากไม่เลิกจึงพิจารณาว่า อาจสั่งยุบพรรคการเมืองได้ เห็นได้ว่า รัฐธรรมนูญ 40 มีความประสงค์ที่จะส่งเสริมให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง มีสภา เข้มแข็งและเสถียรภาพทางการเมืองที่เข้มแข็ง ซึ่งจะทำให้เสถียรภาพของบ้านเมืองเข้มแข็งตามไปด้วย
นายคณิน กล่าวว่า หลังรัฐประหาร มีการออกประกาศฉบับที่ 27 เป็นกฏหมายพิเศษคือ “one- man law” เขียน โดยคนๆ เดียว ว่าพรรคการเมืองไหน ถูกคณะตุลาการรัฐธรรมนูญยุบพรรค ซึ่งเกิดจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริการพรรคและหัวหน้าพรรค 5 ปี ซึ่งขัดต่อหลักนิติธรรมในการเขียนกฏหมาย คือเขียนเพื่อใช้กับคนบางกลุ่ม เพื่อผลย้อนหลังให้เกิดโทษกับบางกลุ่ม และการยุบพรรคการเมือง โดยเพิกถอนสิทธิก็เป็นผลพวง มาตรการเช่นนี้ ถ้ามีเจตนาดีจริงก็มีปัญหาว่าใครสั่งยา และวินิจฉัยโรคก่อนสั่งหรือยัง ใครใช้อำนาจ คนที่มีอำนาจมากขนาดสั่งยุบพรรคการเมืองและส่งผลเพิกถอน มีสองกลุ่มคือ กกต. ศาลรัฐธรรมนูญ กกต.ทั้ง5 คน ได้รับการแต่งตั้งโดยประกาศ คปค. ทั้งหมด ดำรงตำแหน่งได้จนครบ 7 ปี โดยไม่ต้องสรรหาใหม่ 2 ใน5 เป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งถือว่า มีส่วนได้ส่วนเสีย ไม่ควรรับตำแหน่ง ขณะที่ศาลรัฐธรรมนูญ 9 ราย 3 รายเคยเป็นตุลาการรัฐธรรมนูญที่เคยวินิจฉัยสั่งยุบพรรค ไทยรักไทย อีกคนเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 50
นาย คณิน สรุปว่า ดังนั้นแล้ว พรรคการเมืองเป็นส่วนเกินหรือไม่ จึงขึ้นกับว่า เป็นการพิจารณาของใคร ถ้าบุคคลเหล่านี้มาเป็นผู้พิจารณา ก็ต้องบอกว่าเป็นส่วนเกินวันยันค่ำ