วันพุธที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2552

“ปฎิรูปการรถไฟ” ความเสียหายของ “สหภาพฯ” กับ “ตัวประกันประชาชน”

ที่มา ประชาไท

การแปรรูปหรือการปฎิรูปดูจะเป็นคำแสลงของผู้เกี่ยวข้องในการหาแนวทางแก้ไขปัญหาการขาดทุนของรัฐวิสาหกิจ ซึ่งจากบทเรียนที่ผ่านมา โดยการเอา ปตท.ไปขายให้นายทุนในราคาแสนถูก และท้ายสุดก็ไม่ได้เป็นเครื่องมือประกันราคา แต่กับร่วมมือกับบริษัทต่างชาติ โขกราคาสินค้า กินส่วนต่างเอากำไรเข้ากระเป๋าจนปริ บทเรียนนี้เองทำให้การนำเรื่องปรับโครงสร้างและการแปรรูปรัฐวิสาหกิจอื่นถูกต่อต้านจากผู้เกี่ยวข้อง

เราพบว่ารัฐวิสหากิจเป็นกิจการสาธารณูปโภคที่สำคัญของประเทศ มีการลงทุนสูงและผูกขาดโดยรัฐเพื่อประกันราคาและการเข้าถึงสาธารณูปโภคของประชาชน แต่ในความเป็นจริง เราพบว่าการบริหารรัฐวิสาหกิจทั้งหลายนั้นไร้ซึ่งประสิทธิภาพ เกิดการสูญเสียในการบริหารและการทุจริตทั้งภายในและภายนอกองค์กรโดยเป็นแหล่งทุจริตสำคัญของนักการเมืองซึ่งตักตวงผลประโยชน์ให้เห็นที่เป็นข่าวเสมอๆ ซึ่งผลเสียหายคือภาษีประชาชนที่ต้องจ่ายไป
การปฎิรูปและการเปิดให้มีการแข่งขันกับเอกชนเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการพัฒนาระบบสาธารณูปโภค รัฐวิสาหกิจที่ขาดทุนจะต้องปฎิรูป ซึ่งการปฎิรูปมิได้หมายถึงการเอารัฐวิสาหกิจไปขายให้นายทุน แต่เป็นการปฎิรูปองค์กรเพื่อให้มีประสิทธิภาพพร้อมต่อการแข่งขันกับเอกชนโดยรัฐวิสาหกิจยังเป็นองค์กรของรัฐโดยแท้และยังให้บริการสาธารณูปโภคและเป็นหลักประกันราคา ซึ่งการปรับโครงสร้างองค์กรใหม่เสมือนเอกชนทั่วไป ที่ส่วนไหนมีต้นทุนสูงไร้ประสิทธิภาพก็ต้องลดหรือตัดออก ส่วนไหนขาดแคลนก็ปรับเพิ่มเติม แต่ปัญหาการปรับโครงสร้างองค์กรของรัฐวิสาหกิจอาจแตกต่างจากเอกชนในเรื่องสวัสดิการและความมั่นคงทางอาชีพ การปลดคนงานหรือลดเงินเดือนคงทำได้ยาก การแก้ไขคงต้องย้ายบรรจุตำแหน่งพนักงานตามโครงสร้างใหม่ และขณะตำแหน่งส่วนเกินก็ต้องจูงใจโดยจ่ายผลตอบแทนให้ผู้สมัครใจลาออซึ่งเป็นปกติปฎิบัติโดยทั่วไป
ในขณะที่ตลาดสาธารณูปโภคนั้นต้องเปิดให้มีการแข่งขันมากกว่ารัฐเจ้าเดียว การผูกขาดโดยไร้ซึ่งบริษัทคู่แข่งทำให้รัฐวิสาหกิจไม่พัฒนาตนเอง แต่เมื่อเกิดการแข่งขันย่อมทำให้เกิดการพัฒนา ทั้งความหลากหลายของตัวสินค้าบริการและราคา ในขณะที่รัฐวิสาหกิจยังคงสามารถประกันราคาและการเข้าถึงบริการแก่ประชาชนได้ บริษัทเอกชนจะทำให้ประชาชนจะมีทางเลือกที่หลากหลายมากขึ้นกว่าเดิม
จากประสบการณ์รัฐวิสาหกิจของไทย ที่มีเปิดให้มีคู่แข่งขันแต่ยังไม่เสรีนัก โดยรัฐยังจำกัดผู้ได้รับสัมปทานอยู่ อย่างในกรณีโทรศัพท์พื้นฐาน ในกรุงเทพ จะมี TOT ของรัฐ และ TRUE ของเอกชน ในขณะที่ต่างจังหวัด จะเป็นสัมปทานของ TOT และ TT&T แม้จะผูกขาดบ้าง แต่ก็ยังมีการแข่งขันระหว่างรัฐกับเอกชน ผลดีที่เกิดขึ้น คือประชาชนได้รับการให้บริการที่ทั่วถึงมากขึ้น บริการดีขึ้น ขณะที่ราคาไม่ได้สูงกว่าอดีต ถ้าไม่มีบริษัทเอกชนแข่งขัน ทุกวันนี้คนไทยคงต้องรอเลขหมายว่างอย่างหมดหวังและราคาขอเลขหมายที่แสนแพงจากองค์การอยู่
ส่วนกรณี ขสมก ซึ่ง ให้บริการเดินรถใน กทม. และ บขส เดินรถระหว่างจังหวัด ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างการแข่งขันมีคู่แข่งเป็นเอกชนหลายราย ซึ่งในกรุงเทพก็มีทั้งรถร่วม รถตู้ รถปรับอากาศแข่งให้บริการมากมาย ในขณะที่ต่างจังหวัด บริษัทเดินรถเอกชนดีๆ เช่น นครชัยแอร์ ซึ่งราคาก็ไม่ได้แพงและให้บริการที่ดีกว่า
เมื่อเรามองถึงผลประกอบการของรัฐวิสาหกิจเปรียบเทียบกับเอกชนในสินค้าเดียวกันแล้ว พบว่าเอกชนสามารถประกอบการทำกำไรได้ ขณะที่รัฐวิสาหกิจยังประสบปัญหาการขาดทุน ทั้งที่ไม่ต้องจ่ายค่าสัปทาน และได้รับการเอื้อประโยชน์ทางภาษี
แนวทางแก้ไขปัญหาการรถไฟนั้น ดังที่มีนักวิชาการที่เป็นกลางหลายฝ่ายได้ให้ความเห็นเสนอว่า การรถไฟจะต้องแปรรูปหรืปฎิรูปโดย แยกออกเป็น 2 ส่วน ดังตามที่ คณะรัฐมนตรี ได้นำเสนอ คือ
  1. ส่วนบริษัทการเดินรถไฟ ซึ่งให้บริการเดินรถไฟเพื่อการขนส่งผู้โดยสารและขนส่งสินค้า
  2. ส่วนบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของการรถไฟ ซึ่งให้เข้าบริหารใช้ประโยชน์ในพื้นที่ดินของการรถไฟที่มีมูลค่ามหาศาล ซึ่งทุกครั้งจะเห็นว่ามีการทำสัญญากับเอกชนและมักจะเสียเปรียบ และบางส่วนถูกบุกรุกโดยเอกชนใช้ประโยชน์โดยไม่เคยรับผลตอบแทนเลย
ทั้ง 2 ส่วนงานนี้ รัฐจะต้องถือครองหุ้น 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งแม้การแก้ไขตามแนวทางของนักวิชาการนี้จะทำให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นจริง แต่ผู้เขียนเองก็ไม่อาจเชื่อในระบบการบริหารแบบรัฐซึ่งมักขาดประสิทธิภาพ มีผลประโยชน์ทับซ้อนและทุจริตอยู่เสมอ แต่ก็เป็นแนวทางหนึ่งในการก้าวข้ามผ่านวังวนปัญหาเดิมๆ ที่ทุกฝ่ายอาจยอมรับได้ แม้กระนั้นการเปิดให้มีการร่วมแข่งขันกับเอกชนก็ทำให้ผู้บริโภคได้มีทางเลือกมากขึ้น ในขณะที่ลดภาระค่าใช้จ่ายของรัฐในการลงทุน ทั้งรัฐยังมีผลประโยชน์จากค่าสัมปทานและภาษีรายได้กลับคืนมาบ้าง
การปฎิรูปดังข้างต้นทำให้ลดค่าใช้จ่ายลงและมีรายได้เพิ่มขึ้น ในขณะที่ค่าใช้จ่ายจากค่าบำรุงรักษาและการสร้างระบบางเส้นทางใหม่ๆ นั้น เป็นภาระหนึ่งที่มีส่วนที่ทำให้การรถไฟขาดทุน รัฐควรต้องเป็นฝ่ายดำเนินการลงทุนและบำรุงรักษาเสมือนการสร้างถนนสาธารณะทั่วไป เพราะค่าใช้จ่ายนี้เป็นการลงทุนมหาศาล รัฐเองต้องหันมาให้ความสนใจพัฒนาระบบรางให้ครอบคลุมมากขึ้น เพิ่มช่องทางเดินรถโดยขยายเป็นระบบรางคู่ และสร้างเส้นทางใหม่ๆ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยและความรวดเร็ว เพราะการขนส่งระบบรางที่มีประสิทธิภาพ จะมีต้นทุนที่ต่ำกว่าช้พลังงานโดยรวมน้อยกว่า ปลอดภัยและรวดเร็วกว่าระบบขนส่งทางถนนทั้งยังลดการจราจรแออัดบนท้องถนนได้ ซึ่งหลายๆ ประเทศได้พัฒนาไปไกลกว่ามากแล้ว
เพื่อให้เกิดการใช้ระบบรางอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งให้เกิดการแข่งขันและขยายการลงทุน รัฐควรต้องอนุญาตให้มีบริษัทเอกชนสามารถร่วมประกอบกิจการเดินรถไฟภายใต้การใช้ระบบรางรถไฟเดียวกันนี้ ซึ่งปัญหาคือการจัดบริหารระบบรางระหว่างการรถไฟและเอกชน ซึ่งจะต้องมีหน่วยงานกลางคอยดูแลการใช้ระบบรางร่วมกัน เป็นผู้จัดสรรตารางการเดินรถเพื่อให้เกิดความปลอดภัยผู้ใช้ เกิดการใช้ระบบรางอย่างมีประสิทธิภาพและเท่าเทียม ซึ่งทั้งรัฐและเอกชนจะต้องเสียค่าบำรุงการใช้รางรถไฟร่วมกัน
ซึ่งจากทั้งหมดนี้ทำให้เราเห็นภาพรวมการพัฒนาระบบรถรางของประเทศ คือ
  • องค์กรรัฐหรือกึ่งรัฐ ให้บริการสถานี ระบบรางรถไฟ จัดตารางการเดินรถและให้บริการที่เกี่ยวเนื่อง
  • บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของการรถไฟ ซึ่งหารายได้จากการให้เช่าที่ดิน ให้บริการเช่าพื้นที่โฆษณา หรือร่วมลงทุนกับเอกชนทำธุรกิจการค้าและบันเทิงในรูปแบบต่างๆ
  • บริษัทเดินรถการรถไฟ ซึ่งยังเป็นหลักประกันราคาและการให้บริการอย่างทั่วถึงแก่ประชาชน
  • บริษัทเดินรถเอกชนที่สามารถร่วมเข้าแข่งขันบริการได้ โดยรัฐกำหนดรูปแบบสัมปทาน ซึ่งราคาอาจสูงหรือต่ำกว่าการรถไฟต่ก็ให้เป็นทางเลือกหนึ่งประชาชน
เมื่อเป็นเช่นนี้ การรถไฟย่อมมีแผนสร้างรายได้ชัดเจน ยังเป็นคงหลักประกันราคาและการให้บริการต่อประชาชนเมื่อมีการแข่งขันย่อมทำให้เกิดการพัฒนา บริษัทเอกชนจะเป็นตัวเลือกหนึ่งให้ประชาชนที่ไม่ต้องทนอยู่กับรถไฟเก่าๆกับเวลาที่ไม่แน่นอน เราอาจจะได้เห็นรถไฟความเร็วสูงวิ่งระหว่างจังหวัดได้ในอนาคต
การปฎิรูปรัฐวิสาหกิจนี้ควรนำมาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดทุน การผูกขาดตลาดของการบริหารงานของรัฐวิสาหกิจทั้งหลาย ทั้งไฟฟ้า น้ำประปา และอื่นๆ ด้วย
ผู้เขียนขอกล่าวถึงการประท้วงหยุดงานของสหภาพพนักงานย่อมทำได้ภายใต้กรอบของกฎหมายอันเพื่อต่อรองนายจ้างของตนเอง ซึ่งผู้บริโภคเองสามารถเลือกซื้อหรือใช้บริการเจ้าอื่นได้ ผู้เสียหายคือเจ้าของกิจการเองเท่านั้น ในขณะที่กิจการรถไฟซึ่งผูกขาดเจ้าเดียว การหยุดงานของสหภาพย่อมกระทบต่อประชาชนโดยทั่วไป ผู้บริหารก็ไม่ได้เสียหายต่อรายได้ตนเอง ในขณะที่ผลแห่งความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อผู้โดยสาร การขาดรายได้และค่าเสียหายอื่นๆ จากการฟ้องร้องของเอกชนผู้ได้รับผลกระทบนั้น ผลเสียหายก็คือภาษีประชาชนอีกนั่นเอง แต่ถึงกระนั้นเจ้าพนักงานรถไฟยังได้รับความคุ้มครองในอาชีพและรายได้ ส่วนผู้บริหารยังได้เงินเดือนสูงและโบนัสตอบแทนทุกปีไม่ว่าเกิดผลความเสียหายจะเป็นเช่นไร
สหภาพการรถไฟควรหยุดอ้างผลประโยชน์ประชาชนหรือของชาติและเอามาเป็นตัวประกัน จะอ้างได้ก็แต่ความมั่นคงตำแหน่งอาชีพและรายได้ของตนเองมากกว่า ผู้เขียนเห็นว่าจากอดีตที่ผ่านมา การรถไฟไม่เคยพัฒนาองค์กรเลยเป็นเวลาช้านาน จนทุกวันนี้มีหนี้เจ็ดหมื่นกว่าล้านยังไม่รวมหนี้ที่ต้องจ่ายให้ ค่าสวัสดิการพนง. อีกในอนาคต ในขณะที่หนี้ใหม่ก็เพิ่มขึ้นทุกปี
การกล่าวอ้างว่าผลกระทบจากการแปรรูปนั้น แล้วจะถูกนักการเมืองหรือนายทุนยึดครอง ประเทศชาติเสียหายและประชาชนจะต้องเสียค่าบริการที่แพงซึ่งไม่เป็นความจริงนัก ถ้าทำให้รัฐวิสาหกิจยังเป็นเครื่องมือในการประกันราคาและให้บริการประชาชนได้ แต่การไม่แปรรูปเสียอีกที่ทำให้ชาติและประชาชนจะต้องเสียหายจากการคอรัปชั่นภายในและภายนอกองค์กร ไม่ว่าการจัดซื้อที่มีผลประโยชน์แอบแฝง การทำสัญญาเอื้อประโยชน์นายทุน และการบริหารอย่างไร้ประสิทธิภาพ
ฉนั้นแม้ไม่ปรับโครงสร้าง ประชาชนก็เสียหายจากผลการทุจริตและการบริหารงานอย่างไร้ประสิทธิภาพโดยตลอดเวลาอยู่แล้ว การปรับโครงสร้างและเปิดให้มีการแข่งขัน จะเป็นแนวทางที่จะแก้ไขปัญหาระยะยาว แม้ว่าสหภาพการรถไฟไม่ยอมรับการปฎิรูปองค์กรทางออกสุดท้ายคือการเลิกกิจการ โดยจ่ายเงินชดเชยให้แก่เจ้าพนักงานตามกฎหมายและจัดการล้างหนี้ในระบบทั้งหมด จากนั้นให้จัดตั้งรูปแบบคณะกรรมการร่วมรัฐและภาคประชาชนผู้ใช้บริการเพื่อมีอำนาจกำกับดูแลเองโดยอิสระกำหนดรูปแบบองค์กร การจัดสรรและให้บริการระบบรถรางโดยไม่ผูกขาด เพื่อผลประโยชน์ตกแก่ประชาชนอย่างแท้จริง มิใช่ตกเป็นเครื่องมือของสหภาพและนักการเมืองที่มักใช้รัฐวิสาหกิจเป็นเครื่องมือต่อรองในข้อขัดแย้งทางเมืองและผลประโยชน์ของตนเอง