วันพฤหัสบดีที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

วิถีประชาธิปไตยเพื่อความสงบสุข(ตอนที่4):แนวทางการต่อสู้/องค์กรนำและหน่วยปฏิบัติการ

ที่มา Thai E-News


โดย ทหารอาชีพ
2 กรกฎาคม 2552

ต่อสู้ พ่ายแพ้.. ต่อสู้อีก พ่ายแพ้อีก.. ต่อสู้อีก จนกว่าจะชนะ สิ่งนี้เป็นกฎธรรมชาติของความก้าวหน้า เพราะการต่อสู้ของประชาชนอยู่ในทิศทางของขบวนการแสวงหาเสรีภาพ ความเสมอภาค ความเป็นธรรม ซึ่งก้าวหน้ากว่าฝ่ายเผด็จการ


แนวทางการต่อสู้

- ต่อสู้ พ่ายแพ้ ต่อสู้อีก พ่ายแพ้อีก ต่อสู้อีก จนกว่าจะชนะ สิ่งนี้เป็นกฎธรรมชาติของความก้าวหน้า เพราะ การต่อสู้ของประชาชนอยู่ในทิศทางของขบวนการแสวงหาเสรีภาพ ความเสมอภาค ความเป็นธรรม ซึ่งก้าวหน้ากว่าฝ่ายเผด็จการ

- อย่าไว้วางใจกลุ่มทุนนิยมข้ามชาติ ทุนนิยมชาติ เพราะกลุ่มเหล่านี้ มีอุบาย เล่ห์เหลี่ยม เพทุบาย และการแก้แค้น ที่ไร้มนุษยธรรมเมื่อผลประโยชน์ของตนสูญเสียไป แม้ว่าเหตุการณ์จะผ่านไปนานแล้วก็ตาม

- เมื่อฝ่ายเผด็จการใช้การเข่นฆ่าเพื่อทำลายการต่อต้าน แต่ความจริงก็คือ เมื่อฆ่าคนยิ่งมาก ฝ่ายเผด็จการก็จะยิ่งสูญสลายเร็วขึ้นเป็นเงาตามตัว

- ความพ่ายแพ้ในครั้งแรกๆ ไม่ใช่เพราะแนวทางไม่ถูกต้อง แต่เกิดจากการเสียเปรียบชั่วคราว จากกำลังและเครื่องมือ อุปกรณ์ หรืออาวุธที่ต่างกัน แต่ในที่สุดจะประสบชัยชนะอย่างแน่นอนเนื่องจากประชาชนมีการต่อสู้อยู่ในกระบวนการที่ก้าวหน้ากว่า ตราบเท่าที่ แกนนำและมวลชนมีความแนบแน่นกันและนำมวลชนเรือนล้านก้าวหน้าไปได้

- กลุ่มแกนนำต้องดำเนินการให้มีการร่วมกันตกลงใจและทำงาน ห้ามการมอบให้ผู้ใดผู้หนึ่งเหมางานไปแต่ ผู้เดียวหรือกลุ่มเดียวเป็นอันขาด เพื่อมิให้จิตสำนึกร่วมกันหมดไป

- ต้องจัดตั้งแกนนำในทุกระดับตั้งแต่ระดับชาติ จังหวัด อำเภอ ตำบล จนถึงระดับหมู่บ้าน หรือ ในลักษณะ เดียวกันในแต่ละองค์กร

การจัดตั้งคณะกรรมการ

- จัดให้มีคณะกรรมการที่มีผู้แทนจากแกนนำในทุกระดับเป็นคณะกรรมการเต็มคณะ และ คณะกรรมการบริหาร ซึ่งเลือกจากคณะกรรมการเต็มรูป และ คณะอนุกรรมการซึ่งมีผู้แทนจากคณะกรรมการบริหาร เป็นประธานและมีคณะกรรมการเต็มคณะบางส่วนมาทำงานเป็นคณะอนุกรรมการตามความถนัดและภารกิจหน้าที่เกี่ยวข้อง

- รูปแบบการประชุมของทุกคณะ ต้องกำหนดให้เป็นรูปธรรม โดยสมาชิกหรือเลขานุการนำประเด็นสำคัญ มาเข้าที่ประชุมโดยต้องกำหนดประเด็นที่ชัดเจน พร้อมแนวทางแก้ปัญหาที่เป็นไปได้ ประเด็นละ 2-3 แนวทางให้เลือก โดยให้คณะกรรมการได้แสดงความเห็นทุกคนอย่างเต็มที่ในทุกประเด็น แล้วจึงลงมติ โดยใช้เสียงข้างมากเด็ดขาด (เกินกว่ากึ่งหนึ่งของที่ประชุมในกรณีที่รอบแรกไม่ถึงกึ่งหนึ่งให้แข่งขัน ลงคะแนนเป็นรอบต่อไป โดยยกแนวทางที่มีเสียงสูงสุดสองแนวทางแรกมาอภิปรายซ้ำแล้วจึงลงคะแนน อีกครั้ง) แนวทางแก้ปัญหาดังกล่าวต้องมีความชัดเจนเป็นรูปธรรม สอดคล้องกับสถานการณ์เสมอและ ไม่ออกนอกกรอบทฤษฎีประชาธิปไตยหรือประวัติศาสตร์ทางการเมือง จากนั้นจึงให้ซักถามแนวทาง การปฏิบัติที่ได้ลงมติกันแล้วนั้น อีกครั้งหนึ่ง เพื่อตรวจสอบข้อบกพร่องและแนวทางแก้ไข จากนั้นจึงแยกย้ายกันนำไปปฏิบัติ

- เลขานุการของที่ประชุมทุกคณะ ต้องนำทุกปัญหามาเข้าที่ประชุม กำหนดประเด็นให้ที่ประชุมครั้งละ 2-3 ประเด็นเท่านั้น กำหนดหัวข้อในการอภิปราย โดยกำหนดเป็นกรอบว่า ปัญหาคืออะไร สาเหตุจากอะไร แนวทางแก้ปัญหาเป็นอย่างไร ทรัพยากรที่มีเป็นอย่างไร คุณภาพและปริมาณของบุคลากรเป็นอย่างไร และร่างเป็นมติไว้ล่วงหน้าให้เลือก 2-3 แนวทางล่วงหน้าเสมอ

- เมื่อได้มีการลงมติไปแล้ว หากมีการดื้องาน หรือ นินทาลับหลังหากจับได้ให้มีการกำหนดการลงโทษไว้ล่วงหน้าอย่างหนักและให้ปลดออกจากการเป็นแกนนำหรือหัวหน้าหน่วยงาน

- คณะกรรมการเมื่อทราบข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่ของตน แม้ว่าจะดูไม่สำคัญก็ให้ส่งข้อมูลให้เลขานุการของคณะทำการบันทึกเป็นรายงานข่าวเพื่อทราบและหมุนเวียนให้คณะกรรมการอื่นทราบเป็นประจำโดยกำหนดเป็นเรื่องเพื่อทราบตามห้วงระยะเวลาแต่ไม่ควรให้มีระยะห่างกันเกินไปจนไม่สามารถตั้งรับปัญหาที่คาด ไม่ถึงได้เพราะจะเกิดความเสียหายตามมาภายหลังอย่างไม่อาจประมาณได้ และหากคณะกรรมการอื่นเห็นว่ามีประเด็นที่ควรพิจารณาก็ให้เสนอความเห็นให้ฝ่ายเลขานุการนำเข้าที่ประชุมหรือทำบันทึกแสดง ความเห็นเป็นเรื่องเวียนทราบในหมู่คณะกรรมการตามระยะเวลาก็ได้หากไม่มีความสำคัญเร่งด่วน

- คณะกรรมการทุกระดับ ต้องไม่นำจิตสำนึกศักดินาขุนศึกเจ้าขุนมูลนายมาใช้ด้วยการยกตน หรืออวดตนว่ามีความรู้เหนือกว่าคนอื่น โดยยังไม่ได้ตรวจสอบข้อมูลกับเบื้องล่างก่อนในทุกระดับจนได้ข้อมูลที่เป็นรูปธรรมจากสถานการณ์จริง หากข้อมูลจากเบื้องล่างได้แก่หน่วยรอง มวลชนและประชาชนทั่วไปนั้นผิดพลาดก็ให้ ทำการวิจารณ์หาข้อดีและข้อบกพร่องเท่านั้นโดยไม่โจมตีในเรื่องส่วนตัวเพื่อให้ความเห็นในการเก็บรวบรวมข้อมูลตรงกัน โดยมีจุดมุ่งหมายในการเสริมสร้างประสิทธิภาพในการทำงานเป็นสำคัญ

- ปัญหาแม้จะเกิดขึ้นเพียงเล็กน้อย ก็ต้องจับให้มั่นและแก้ปัญหาให้จบเป็นส่วนๆไป

- ทุกปัญหาต้องมีการนิยามให้เป็นรูปธรรมและวัดได้เป็นเชิงปริมาณเสมอ

- การประชุมและการลงมติทุกครั้ง ต้องรวบรัด ชัดเจน ครบทุกประเด็นและไม่เยิ่นเย้อ ถ้าหาวิธีการที่จะดำเนินการไม่ได้ให้แตกเป็นประเด็นย่อยๆแล้วเขียนลงไปเป็นลายลักษณ์อักษร

- การนำมติที่ประชุมไปปฏิบัติต้องประณีต มีการวัดผลงานความสำเร็จที่ชัดเจนและแน่นอน

องค์กรนำและหน่วยปฏิบัติการ

- หน้าที่ขององค์กรนำในทุกระดับมี 5 ประการคือ ประการแรกมีแนวทางถูกต้อง เมื่อมีปัญหาต้องมีวิธีแก้ ไม่ใช่สร้างปัญหาเพื่อแสวงหาเงินหากต้องการเงินให้เสนอเป็นโครงการ ประการที่สอง ต้องแก้ไขปัญหาให้องค์กรระดับรองและสภาพของมวลชนตลอดเวลา ประการที่สาม การแก้ปัญหาต้องมีความละเอียด รอบคอบเมื่อได้มติมาแล้วต้องนำไปปฏิบัติให้สำเร็จในทุกเรื่อง ประการที่สี่ มติที่สำคัญต้องมีช่องทางในการส่งข้อมูล ความรู้ให้กับมวลชนได้รับทราบอย่างชัดเจนในทุกประเด็นอย่างละเอียด ประการที่ห้า องค์กรระดับล่างและมวลชนต้องอภิปราย มติขององค์กรระดับบนจนกว่าจะเข้าใจ มีการสอบทานความเห็นกับองค์กรระดับบนแล้วจึงนำไปปฏิบัติ

- หน่วยปฏิบัติการทุกระดับต้องทำตามความต้องการและความสมัครใจของมวลชน มีจังหวะก้าวเท่ากับมวลชนที่มีการศึกษาและรับทราบข้อเท็จจริงแล้ว โดยไม่ทำตัวเป็นผู้บังคับบัญชาของมวลชน ในทำนองคุณพ่อรู้ดี

- หากมวลชนยังไม่ตัดสินใจและไม่พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง หน่วยปฏิบัติทุกระดับก็จะต้องอดทนด้วยความเคารพมวลชน ไม่สุ่มเสี่ยงเข้าปฏิบัติการเองโดยปราศจากมวลชนคุ้มครอง และให้ดำเนินการให้การศึกษาและการจูงใจด้วยความจริงที่มีหลักฐานยืนยันเป็นรูปธรรมต่อมวลชนต่อไป ไม่ช้าจะประสบความสำเร็จ

- กำหนดให้แกนนำในทุกระดับได้รับการศึกษาในเรื่องการเมืองนำการทหาร หลักการประชาธิปไตย หลักการนำมวลชน เพื่อให้สามารถรักษามวลชนไว้ได้ และให้ฟังเสียงมวลชนทุกคนอย่างตั้งใจ เมื่อไปถึงไหนให้เข้าคลุกคลีกับมวลชนจนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับมวลขน ปลุกความตื่นตัวของมวลชนให้ตื่นสูงขึ้น ช่วยมวลชนจัดตั้งกลุ่มของตน และติดอาวุธทางปัญญาและการรบให้กับมวลชน ด้วยความสมัครใจโดยเน้นคุณภาพ มากกว่าปริมาณ และหากมีกาต่อสู้ต้องเตรียมมวลชนในกลุ่มและระดับต่างๆให้เท่ากันหรือเหนือกว่าคู่ขัดแย้งหรือศัตรูแล้วจึงจะเปิดเผยตัวมวลชน และทำการต่อสู้ทีละขั้นให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมอย่างอดทน หากกำลังสู้ไม่ได้ให้ทำการจรยุทธ์

- ห้ามเปิดฉากทำการรุกหากมวลชนไม่มีความพร้อม ไม่ตื่นตัว เพราะจะเป็นการสุ่มเสี่ยงด้วยลัทธิฉวยโอกาสเอียงซ้าย ซึ่งไม่รอบคอบและนำไปสู่ความพ่ายแพ้และทำให้เกิดความท้อแท้โดยไม่จำเป็น แต่หากมวลชน มีความพร้อมแล้วแต่แกนนำไม่พร้อมก็จะเป็นลัทธิฉวยโอกาสเอียงขวาที่แกนนำมีความเกรงกลัวต่ออำนาจ ที่ข่มเหงรังแกอยู่ทำให้มวลชนประสบความพ่ายแพ้ได้ แกนนำต้องพร้อมที่จะก้าวเดินในจังหวะเดียวกับ มวลชนเสมอ

- ห้ามใช้คำสั่งต่อมวลชน ต้องให้ความรู้ความเข้าใจต่อมวลชนและทำให้ความเข้าใจในปัญหาระหว่างแกนนำและมวลชนตรงกันก่อนและค้นหาความเห็นที่แตกต่างด้วยการทำการสำรวจความคิดเห็นทัศนคติของมวลชน อย่างเป็นรูปธรรมทางวิทยาศาสตร์เสมอ

- ความเห็นของมวลชนมักกระจัดกระจาย ต้องมีระเบียบวิธีทำให้เป็นระบบ ระเบียบ มีแบบแผนให้เกิดความ ชัดเจนเป็นรูปธรรม จากนั้นนำความเห็นที่ได้จัดระเบียบแล้วนั้นไปชี้แจงให้กับกลุ่มมวลชนอื่นได้เข้าใจและยืนหยัดในแนวความคิดเดียวกันในทุกองคาพยพ จากนั้นจึงนำความเห็นนั้นแปรไปสู่การปฏิบัติ เมื่อปฏิบัติ ได้ผลแล้วให้นำข้อมูลย้อนกลับที่มีทั้งข้อดี ข้อบกพร่องนั้นมาปรับปรุงเพื่อนำไปขยายผลกับมวลชน อีกซ้ำแล้ว ซ้ำเล่าจนได้ความคิดเห็นที่เฉียบแหลม การกระทำที่ได้พิสูจน์แล้วว่าได้ผล เพื่อนำมาเป็นการรับรู้ใหม่ของมวลชนและยกระดับให้ก้าวหน้าต่อไป

- ต้องทำการแยกแยะมวลชนออกเป็น มวลชนก้าวหน้า มวลชนล้าหลัง และมวลชนฝ่ายเป็นกลางให้ชัดเจน ห้ามทำการวิเคราะห์ปัญหาโดยไม่มีพื้นฐานรูปธรรมที่ชัดเจน เมื่อได้มวลชนฝ่ายก้าวหน้าแล้วให้ส่งเสริมให้มีการทำงานร่วมกับฝ่ายเป็นกลาง แล้วสุดท้ายจึงดึงมวลชนล้าหลังตามมาภายหลัง

- การทำงานของแกนนำต้องเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของมวลชน แก้ปัญหาความยากจน และการประกอบอาชีพของมวลชนด้วยการจัดระบบ การร่วมคิด ร่วมศึกษา ร่วมตัดสินใจ ร่วมทำงาน ร่วมประเมินผลและร่วมคิดกันใหม่ สร้างความเข้าใจต่อมวลชนว่า มวลขนมีภาระหน้าที่ในการเปลี่ยนแปลงสังคม และต่อสู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมนั้น

- แต่ตัวแทนของมวลชนเท่านั้นจึงจะให้การศึกษาต่อมวลชนได้ ถ้าผู้ให้การศึกษาถือว่าตนเองสูงกว่ามวลชนและเป็นนายของมวลชนแล้ว งานนั้นจะประสบความล้มเหลว ดังนั้น ผู้ให้การศึกษาต้องอ่อนน้อมถ่อมตน ศึกษาจากมวลชน หาความรู้จากทุกแหล่ง และเปลี่ยนความคิดกับมวลชน จึงจะประสบความสำเร็จและมั่นใจในจิตใจและความคิดสร้างสรรค์ของมวลชน

- ต้องให้มวลชนเข้าใจในประโยชน์ของตนเอง เกิดความตระหนักและร่วมแรงร่วมใจกันต่อสู้เพื่อประโยชน์ของมวลชนเอง

การศึกษา

- การศึกษาที่ผิดพลาดและต้องเหลีกเลี่ยงคือ การยึดตำราอย่างเถรตรง โดยไม่ตรวจสอบกับสภาพแวดล้อม ที่แท้จริง คือลัทธิคัมภีร์

- การศึกษาที่ถูกต้องคือ กาดรประยุกต์หลักการให้เข้ากับสภาพตามความเป็นจริงด้วยการนำประสบการณ์ ที่ได้จากความจัดเจน ความชำนาญ หรือการวิจัยภาคสนามมาใช้ร่วมกับ ทฤษฎีหรือหลักการทั่วไปทาง วิทยาศาสตร์สังคม

- การไม่ศึกษาหลักการ ใช้แต่ความรู้สึก ความจัดเจน ความชำนาญ ทำงานไปโดยไร้ซึ่งยุทธศาสตร์เรียกว่า ลัทธิจัดเจน ต้องหลีกเลี่ยง

- ดังนั้น คนที่มีความจัดเจน หรือประสบการณ์ หรือนักปฏิบัติ จำต้องศึกษาหลักการ ทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์สังคม ด้วยการอ่านตำราอย่างจริงจัง จึงจะทำให้ความจัดเจนนั้นเกิดประโยชน์ขึ้น เพราะเกิดความเป็นระเบียบ มีการแยกแยะประเด็น มีการประมวลผล และสามารถนำไปใช้งานได้ตรงตามทฤษฎีที่ได้ระบุไว้อย่างเหมาะสม

- ความหยิ่ง ความเชื่อมั่นตัวเอง ความพอใจในตัวเอง เป็นอุปสรรคของความก้าวหน้า ต้องเริ่มต้นจากการถ่อมตัว การศึกษาอย่างเอาการเอางาน และสอนผู้อื่นอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย และสร้างความเคยชินในการศึกษา ให้เป็นนิสัย

- ผู้นำในทุกระดับต้องเรียนรู้จากผู้ปฏิบัติการ เพื่อให้ความจัดเจนหรือประสบการณ์ของนักปฏิบัติกกลายเป็นความจัดเจน ของผู้นำเอง เมื่อประกอบกับความเชี่ยวชาญในทางทฤษฎีแล้ว ก็จะทำให้ความสามารถของผู้นำเพิ่มขึ้นได้

- ทฤษฎีถ้าไม่ประสานกับการปฏิบัติก็เป็นทฤษฎีที่ไร้ความหมาย การปฏิบัติถ้าไม่ถือเอาทฤษฎีเป็นแนวทาง ก็กลายเป็นคนหูหนวก ตาบอด ไร้จุดหมายและพาทั้งองค์กรพ่ายแพ้

- ต้องค้นหาองค์ประกอบของเหตุการณ์ต่างๆมาเป็นเครื่องนำทางการกระทำ ไม่อาศัยจินตนาการเอาเองเป็น อันขาด ไม่ใช้อารมณ์ชั่ววูบตัดสินใจ ไม่อาศัยแต่ตำราที่ไม่มีชีวิต แต่ต้องมีข้อมูลมากพอ เห็นความจริงในพื้นที่ ที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม สรุปข้อมูลอย่างถูกต้อง มีจำนวนมวลชนจัดตั้งที่นับตัวได้จริง มีจำนวนแนวร่วม พื้นฐานที่แน่นอนชัดเจน มีเครือข่ายไปยังแนวร่วมทางตรงได้ทุกกลุ่มพร้อมจำนวนที่แน่นอนและสามารถติดต่อรับข่าวสารข้อมูลจากทุกกลุ่ม ทุกพื้นที่และนำมากำหนดลงในแผนที่ปฏิบัติการให้สามารถประเมินสถานการณ์ได้ตลอดเวลา จึงจะสามารถสรุปข้อมูลต่างที่เกิดขึ้นอย่างถูกต้องและสอดคล้องกับทฤษฎีที่ถูกต้อง

- การสำรวจข้อมูลด้านการข่าวกรอง ใช้เจ้าหน้าที่หรือ มวลชนดำเนินการให้จำนวนเพียง 3-5 คนที่ได้รับการฝึกแล้วอย่างดี มีเวลา มีหัวข้อการสำรวจ ถามเอง จดเองทั้งหมด แล้วนำมาเปิดอภิปรายร่วมกันอย่างกระตือรือร้น มีความถ่อมตัว ถ้อยทีถ้อยรับฟังกัน และยอมรับฟังความเห็นของมวลชน

การรับใช้ประชาชน

- ต้องถ่อมตัว สุขุมรอบคอบ ไม่เย่อหยิ่ง ไม่หุนหันพลันแล่น และรับใช้ประชาชนอย่างสุดจิตสุดใจ

- ทุกอย่างต้องเริ่มจาก ผลประโยชน์ของประชาชน มีการรับผิดชอบร่วมกันต่อประชาชน และองค์กรเพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

- หน้าที่ของทุกคนที่ปฏิบัติงานคือ ความรับผิดชอบต่อประชาชน ไม่มีอะไรมากหรือน้อยไปกว่านี้ ทุกคำพูด ทุกการกระทำ ทุกความคิด ทุกนโยบาย ต้องสอดคล้องกับผลประโยชน์ของประชาชน

- การมองปัญหาต้องเริ่มต้นจากข้อเท็จจริงที่เป็นรูปธรรม จึงจะได้ยุทธศาสตร์และกลยุทธ์ ตลอดจนมาตรการต่างๆ เกิดขึ้นตามมา

- ทุกความผิดพลาดมีสาเหตุจากการเหินห่างจากสภาพความเป็นจริงของสภาวะแวดล้อมในเวลาและสถานที่นั้น ๆ และมีการกำหนดยุทธศาสตร์ต่างๆขึ้น ตามจินตนาการของตนเองและออกคำสั่งใดๆ โดยสำคัญว่าตนเองถูกต้องเสมอโดยไม่มีการตรวจสอบอย่างรอบคอบให้ครบทั้งภาพรวมไม่ใช่เพียงบางส่วน

- ต้องมองปัญหาอย่างรอบด้าน ทุกปัญหามีเอกภาพระหว่างด้านตรงข้ามได้แก่ ด้านตรงและด้านกลับของมันด้วย


การระดมมวลชน

- การระดมมวลชนอย่างไพศาลเป็นล้านๆคนได้นั้นไม่สามารถทำได้แต่ลำพัง มีเพียงข้อเรียกร้องทั่วไปเท่านั้นแต่ต้องหยั่งลึกลงไปในองค์กรจัดตั้งและนำการเรียกร้องนั้นไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมโดยตรง แก้ปัญหาไปทีละขั้นให้ได้ความชัดเจน จากนั้นใช้ความจัดเจนนั้นไปชี้นำ กลุ่มอื่น หน่วยงานอื่น องค์กรอื่น เพื่อทดสอบข้อเรียกร้องที่ตนเสนอว่าถูกต้องหรือไม่ เป็นไปได้ในทุกสถานการณ์หรือไม่ ก็จะเป็นการเสริมสร้างข้อเรียกร้องให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นไปเป็นลำดับ จนกว่าจะประสบความสำเร็จ

- การระดมมวลชนต้องสร้างจิตสำนึกในทุกส่วนรวมถึงในหน่วยของตนให้รังเกียจการกดขี่ ขูดรีด ความไม่เสมอภาค การทำตัวเหนือคนอื่น จิตสำนึกเจ้าขุนมูลนาย ต้องหมดไปจากหน่วยปฏิบัติก่อนเป็นประการแรก

- เป้าหมายสำคัญคือ การสร้างมวลชนที่มีวินัยในการกระทำตามกรอบหรือกระบวนการของมวลชนอย่างเคร่งครัด ในขณะเดียวกันก็มีเสรีภาพในการแสดงความเห็น แสดงหลักฐานข้อมูลที่เป็นรูปธรรมในทุกแง่ทุกมุมอย่างเท่าเทียมกัน มีเจตนารมย์ร่วมกันควบคู่ไปกับความสบายใจในการอยู่ร่วมกันเป็นหมู่คณะ มีความคิดสร้างสรรค์เพื่อการผลิตที่ทันสมัยและเป็นวิทยาศาสตร์

- ข้อพึงปฏิบัติในการอยู่กับมวลชนคือ พูดจาอ่อนโยน ซื้อขายยุติธรรมไม่เอาเปรียบ ยืมของต้องคืน ทำของเสียต้องชดใช้ ไม่ตีหรือดุด่าคน ไม่ทำผลผลิตพืชพันธุ์เสียหาย ไม่ลวนลามผู้หญิง ไม่ทารุณเชลย ไม่แตะต้องของประชาชน ต้องกำจัดสภาพการไร้วินัยให้หมดสิ้นไปจากกลุ่ม

การวิจารณ์ตนเอง วิจารณ์ผู้อื่น

- การวิจารณ์ตนเองทำในลักษณะการปลงอาบัติ คือเปิดเผยข้อผิดพลาด บกพร่องต่อหน้าที่ประชุมหรือเพื่อนร่วมงานและตั้งใจที่จะไม่ให้เกิดขึ้นอีก โดยมีเป้าหมายประการเดียวได้แก่ การเพิ่มพูนสมรรถภาพการสู้รบ
- การวิจารณ์ผู้อื่นให้ระบุทั้งข้อดีและข้อบกพร่องของผู้อื่นพร้อมกัน โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ การบริหารงานหรือการต่อสู้เท่านั้น จะไม่มีการวิจารณ์ในเรื่องส่วนตัวใด ๆ หากไม่กระทบต่อประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของหน่วยหรือองค์กร
- การวิจารณ์ตนเอง หรือวิจารณ์ผู้อื่น ก็เพื่อให้องค์กรพร้อมที่จะแก้ไขเพื่อประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ
- การวิจารณ์ต้องกระทำทันทีไม่ใช่ภายหลังเหตุการณ์
- การวิจารณ์ประชาชนต้องใช้ความกระตือรือร้นที่จะปกปักรักษาและยกระดับความตื่นตัวของประชาชน ห้ามใช้คำพูดด้วยท่าที เยาะเย้ย เหยียดหยัน เหน็บแนม หรือโจมตีใดๆต้องบุคลิกภาพหรือพฤติกรรมส่วนตัวของประชาชนเป็นอันขาด
- ความขัดแย้งต่าง ๆ ทั้งการวิจารณ์ การแข่งขัน ไปจนถึงการทำสงคราม ขึ้นอยู่กับเอกภาพด้านตรงข้าม สองประการคือ หากเป็นไปด้วยความสร้างสรรค์เพื่อความก้าวหน้าเพื่อประชาชนก็เป็นประชาธิปไตย แต่หากทำไปด้วยการทำลายล้าง เพื่อรักษาอำนาจเก่าและเพื่อบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดๆ ก็เป็นเผด็จการ