วันพฤหัสบดีที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

จาตุรนต์ ฉายแสง:ข้อสังเกตบางประการหลังการเลือกตั้งซ่อม

ที่มา Thai E-News


โดย จาตุรนต์ ฉายแสง
ที่มา เวบเครือข่ายจาตุรนต์
2 กรกฎาคม 2552

หลังจากที่พรรคพลังประชาชนถูกยุบ มีส.ส.จำนวนหนึ่งย้ายไปสังกัดพรรคต่างๆ และ หันไปสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล เป็นเหตุให้พรรคเพื่อไทยเหลือส.ส.ในสังกัดน้อยลง ต้องกลายเป็นฝ่ายค้าน หลายฝ่ายประเมินว่าพรรคเพื่อไทยกำลังตกที่นั่งลำบาก

พรรคประชาธิปัตย์และพรรคร่วมรัฐบาล ที่มีความจัดเจนทางการเมือง ได้ใช้สถานะความเป็นรัฐบาล อาศัยกลไกอำนาจรัฐและงบประมาณ เตรียมการสร้างความเข้มแข็งให้กับรัฐบาลปัจจุบัน และเตรียมที่จะรุกคืบขยายพื้นที่ทางการเมืองให้กว้างขึ้น เพื่อชิงความได้เปรียบทางการเมืองในทุกวิถีทาง

ในขณะเดียวกันพรรคเพื่อไทยก็ยังอยู่ระหว่างตั้งหลัก ไม่สามารถแสดงบทบาทที่โดดเด่นให้เป็นที่หวังของประชาชนได้มากนัก จึงยิ่งมีการวิเคราะห์กันว่าโอกาสที่พรรคเพื่อไทยกลับมาเป็นรัฐบาลคงเป็นไปได้ยาก ดีไม่ดีพรรคนี้ก็อาจกลายเป็นพรรคเล็กไปเลยก็ได้

พรรคภูมิใจไทยประกาศแนวทางการทำพรรคการเมืองชัดเจนว่าจะช่วงชิงพื้นที่ในภาคอีสานแทนที่พรรคเพื่อไทย เพื่อขยับฐานะเป็นพรรคการเมืองขนาดใหญ่ และใช้โอกาสในการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้เป็นการประกาศแสนยานุภาพ พร้อมกับสรุปล่วงหน้าว่าพรรคเพื่อไทยจะพ่ายแพ้

ผลการเลือกตั้งซ่อมที่จังหวัดสกลนครและจังหวัดศรีสะเกษที่เพิ่งผ่านไป ทำให้ผู้สนใจการเมืองต้องมาวิเคราะห์การเมืองกันใหม่ แม้การเลือกตั้งซ่อมทั้ง 2 จังหวัดจะไม่สามารถบอกอะไรได้ทั้งหมด แต่พิจารณาจากประเด็นที่ใช้ในการหาเสียงเลือกตั้ง กลเม็ดเด็ดพรายที่แต่ละฝ่ายนำมาใช้ และผลการเลือกตั้งที่ปรากฏ สะท้อนผลทางการเมืองไม่น้อยเลย

เลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ที่สื่อมวลชนติดตามทำข่าวใกล้ชิด ทุกฝ่ายเทหมดหน้าตัก ความพ่ายแพ้และชัยชนะของแต่ละฝ่าย คืออนาคตของพรรคตัวเองเป็นเดิมพัน

การเลือกตั้งซ่อมที่ผ่านไป พรรคร่วมรัฐบาลระดมแกนนำและส.ส.ลงพื้นที่ และได้ใช้ประโยชน์จากกลไกของรัฐอย่างเต็มที่ ตั้งแต่รัฐมนตรี ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ข้าราชการสังกัดกระทรวงต่างๆ ไปจนถึงกำนันผู้ใหญ่บ้าน เน้นให้เลือกผู้สมัครที่สังกัดพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อจะได้นำงบประมาณมาสร้างความเจริญให้ท้องถิ่นได้

ที่แปลกไปบ้างคือ ไม่ปรากฏการปราศรัยหาเสียงของพรรคร่วมรัฐบาลเลย ไม่ว่าจะเป็นแกนนำพรรคจากส่วนกลางหรือของผู้สมัครเอง ถ้าจะมีบ้างก็สามารถนับคนได้เป็นหลักสิบหลักร้อยเท่านั้น

ส่วนพรรคเพื่อไทยใช้วิธีระดมแกนนำและ ส.ส.ลงพื้นที่ เน้นการปราศรัยหาเสียง ทั้งเวทีปราศรัยย่อยและปราศรัยใหญ่ที่มีคนฟังรวมๆกันแล้วหลายหมื่นคนในแต่ละจังหวัด เนื้อหาการปราศรัยเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ที่มาที่ไม่ชอบธรรมของรัฐบาล ความล้มเหลวในการทำงานของรัฐบาล รวมทั้งการตอกย้ำว่าพรรคเพื่อไทยก็คือพรรคไทยรักไทยเดิมนั่นเอง พร้อมกับเรียกร้องให้ประชาชนสงสารเห็นใจอดีตนายกฯทักษิณ และชูประเด็นว่า หากอยากให้พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรกลับมาเมืองไทยก็ให้เลือกผู้สมัครของพรรคเพื่อไทย

ในการปราศรัย มีการตั้งประเด็นคำถามว่าประชาชนต้องการให้พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลนานๆหรือไม่ เปรียบเทียบจับคู่ระหว่างนายเนวิน ชิดชอบกับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรและมีการหยิบยกประเด็นเรื่องการทรยศหักหลังมาใช้ในการต่อสู้ทางการเมือง

น่าสนใจที่ทั้ง 2 จังหวัดมีประชาชนมาลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้ามากเป็นประวัติการณ์ ผลการเลือกตั้งล่วงหน้าใน 2 จังหวัด พรรคร่วมรัฐบาลชนะท่วมท้น แต่เมื่อรวมคะแนนในวันเลือกตั้งจริงแล้ว ปรากฏว่าพรรคเพื่อไทยชนะทิ้งห่างหลายหมื่นคะแนนไม่ปรากฎว่า กกต. ได้พยายามระงับยับยั้งการใช้อำนาจรัฐและการเลือกตั้งล่วงหน้าที่สกปรกที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด

ผลการเลือกตั้งซ่อมใน 2 จังหวัดนี้ สะท้อนให้เห็นอะไร

1. ถึงแม้พรรคร่วมรัฐบาลจะใช้ความเปรียบจากการเป็นรัฐบาล ใช้กลไกรัฐทุกชนิดที่ใช้ได้ แต่ก็ยังพ่ายแพ้อย่างหมดรูป

2. การตัดสินใจของประชาชนใน 2 จังหวัด อาจจะเป็นไปในทิศทางเดียวกับอีกหลายจังหวัดของภาคอีสาน ที่ยังนิยมและสนับสนุนพรรคเพื่อไทยและพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรอย่างเหนียวแน่น

3. อำนาจต่อรองของพรรคภูมิใจไทยต่อพรรคประชาธิปัตย์ลดลงกว่าก่อนการเลือกตั้งซ่อมค่อนข้างมาก

4. พรรคร่วมรัฐบาล ทั้งพรรคภูมิใจไทยกับพรรคประชาธิปัตย์ ต้องการเป็นรัฐบาลให้นานที่สุด ผลการเลือกตั้งซ่อมยิ่งทำให้ได้ข้อสรุปว่า ยังไม่ควรยุบสภาในเร็วๆนี้

5. การที่พรรคร่วมรัฐบาลและผู้มีอำนาจทั้งหลายหวังจะทำให้พรรคเพื่อไทยล่มสลายไป ไม่อาจเกิดขึ้นได้ในเร็วๆนี้ หรือแม้แต่ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งหน้า พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งมีส.ส.ในภาคอีสานเพียงไม่กี่คน คงไม่สามารถอาศัยพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันมาแย่งพื้นที่ภาคอีสานจากพรรคเพื่อไทยได้ง่ายๆอย่างที่วางแผนไว้ หากสถานการณ์ยังดำรงอยู่เช่นนี้ต่อเนื่องไป ย่อมเป็นไปได้ยากที่พรรคประชาธิปัตย์จะได้ส.ส.มากขึ้นกว่าปัจจุบันอย่างเป็นกอบเป็นกำได้

6. หากพรรคเพื่อไทย ซึ่งมีฐานสนับสนุนที่เข้มแข็งในภาคอีสานและภาคเหนือตอนบน สามารถปรับตัวได้ดี ให้เป็นที่ยอมรับกว้างขวางในภาคอื่นๆด้วย ก็จะยังคงเป็นพรรคการเมืองที่มีส.ส.มากที่สุด และอาจมีศักยภาพถึงขั้นสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้อีกครั้งหนึ่ง


แม้กระนั้นรัฐบาลผสมชุดนี้จะกอดคอกันเป็นรัฐบาลกันไป การเลือกตั้งทั่วไปยังไม่เกิดขึ้นเร็วนัก ความขัดแย้งทางการเมืองภายในพรรคร่วมรัฐบาลจะเป็นแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย จะมีการต่อรองทางการเมืองกันบ้าง แต่ไม่แตกหักกันจนถึงขั้นยุบสภา รัฐบาลนี้จะอยู่ได้นานหรือไม่ คงขึ้นกับความสำเร็จหรือความล้มเหลวในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจเสียมากกว่า

การเมืองที่อยู่ในสภาพชักเย่อ ยื้อยุดกันระหว่าง 2 ฝ่ายยังคงดำรงอยู่ไปอีก ไม่จบลงง่ายๆ

รูปแบบวิธีการ ตลอดจนเนื้อหาที่ใช้ในการหาเสียงเลือกตั้งของทั้ง 2 ฝ่าย จะมีการเปลี่ยนแปลงไปได้อีกมาก แต่ละฝ่ายคงมีการสรุปบทเรียนและปรับกลยุทธทางการเมือง

สำหรับพรรคเพื่อไทย ไม่ควรถือเอา “สกลนครโมเดล” และ “ศรีสะเกษโมเดล”เป็นรูปแบบตายตัว นำไปใช้ในทุกสถานการณ์หรือในทุกพื้นที่ ยังมีความจำเป็นที่จะต้องออกแบบรูปแบบวิธีการ และเนื้อหาที่จะใช้ในการนำเสนอต่อประชาชนทั้งประเทศและในแต่ละภาค ให้สอดคล้องกับความสนใจของประชาชนในแต่ละพื้นที่

ที่สำคัญไม่ควรรู้สึกว่าเมื่อชนะการเลือกตั้งซ่อมใน 2 จังหวัดแล้ว อะไรๆจะง่ายไปหมด เพราะความนิยมที่มีต่อพรรคการเมืองในภาคอื่นๆ หรือแม้แต่ในบางจังหวัดของภาคอีสานก็ยังแตกต่างกันไป

ประเด็นที่ควรสนใจคือ การทำให้ประเทศเป็นประชาธิปไตย มีกติกาที่ทุกฝ่ายยอมรับ ตราบใดที่ยังไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย พรรคเพื่อไทยก็อาจถูกยุบพรรคโดยกลไกตามรัฐธรรมนูญนี้ได้อีกอย่างง่ายดาย ซึ่งจะทำให้การเมืองของประเทศไทยยังคงวนเวียนอยู่ในวิกฤตของความไม่เป็นประชาธิปไตยต่อไปอีก

........

ข่าวประชาสัมพันธ์กิจกรรมจาตุรนต์

เชิญผู้รักชาติรักประชาธิปไตยปักษ์ใต้ทุกท่านเข้าร่วมกิจกรรม

"สนทนากับจาตุรนต์ ฉายแสง "ความจริงวิกฤตประชาธิปไตย"
วันที่ 7 กรกฎาคม 2552 เวลา12:45-15:45น. ห้องกิติมศักดิ์ โรงแรมกิติการ์เด้นส์เก่า

จัดโดย กลุ่มทนายความเพื่อประชาธิปไตย สงขลา ร่วมกับเครือข่ายประชาชนเพื่อประชาธิปไตย(2549)ภาคใต้

เชิญ ผู้รักชาติรักประชาธิปไตยภาคเหนือเข้าร่วมกิจกรรม

งานอภิปราย "การล่มสลายของประชาธิปไตยไทย จุดเริ่มต้นในการแสวงหาประชาธิปไตย"

วันที่ 19 กรกฎาคม 2552 ณ โรงแรมริมปิง จ.เชียงใหม่ เวลา13.00-16.30 น.