วันศุกร์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2552

รอยเตอร์:คุก18ปีดาตอร์ปิโดกำหราบเสรีภาพ

ที่มา Thai E-News


ยังยิ้มได้ - น.ส.ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล หรือ ดา ตอร์ปิโด แนวร่วมนปช. สวมหน้ากากอนามัยฟังศาลพิพากษา ก่อนยกมือชูสองนิ้วแสดงชัยชนะแม้ถูกสั่งจำคุก 18 ปีในคดีหมิ่นเบื้องสูง เมื่อวันที่ 28 ส.ค.(ภาพและคำบรรยาย:มติชนออนไลน์)

โดย ทีมข่าวไทยอีนิวส์
ที่มา สำนักข่าวรอยเตอร์
28 สิงหาคม 2552


"ก็เป็นไปตามที่ฉันคาดไว้สำหรับคำตัดสินคดี"สำนักข่าวรอยเตอร์อ้างคำให้สัมภาษณ์ของดารณี เชิงชาญ ศิลปกุล "ดา ตอร์ปิโด" หลังจากศาลตัดสินจำคุกคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยเธอกล่าวว่าจะยื่นขออุทธรณ์ต่อไป


รอยเตอร์ชี้ว่าผลการตัดสินล่าสุดให้ดารณีติดคุก 18 ปี ถือเป็นการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกำหราบฝ่ายต่อต้านรัฐบาล และเสรีภาพในการแสดงออก ในประเทศไทย ประเทศซึ่งยกฐานะกษัตริย์พระชนมายุ 81 พรรษาเสมือนพระนายรายณ์เสด็จลงมาอวตาร และมีสถานะทรงอยู่เหนือการเมือง

ดารณีซึ่งเคลื่อนไหวทางการเมืองอยู่ฝ่ายสนับสนุนอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร ซึ่งถูกทำรัฐประหารโค่นอำนาจถูกจับกุมและพิจารณาคดีเป็นการลับ โดยอ้างเรื่องความมั่นคง เรื่องนี้องค์การนิรโทษกรรมสากลได้ทำจดหมายเปิดผนึกคัดค้านมาแล้ว โดยอ้างว่าจะทำให้จำเลยได้รับการพิจารณาคดีที่ไม่เป็นธรรม

ดา ตอร์ปิโดกล่าวกับรอยเตอร์ว่า เธอไม่มีจุดมุ่งหมายทางการเมืองที่จะเคลื่อนไหวให้ยกเลิกสถาบันกษัตริย์แต่อย่างใด แต่สนับสนุน"ความยั่งยืนของสถาบันกษัตริย์แบบเดียวกับที่ดำรงอยู่ในสหราชอาณาจักร และญี่ปุ่น"

กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของไทยเปิดโอกาสให้ใครก็ได้ที่จะฟ้องร้องดำเนินคดีกับใครก็ได้ โดยที่ไม่ต้องเป็นผู้เสียหายโดยตรง ประเด็นนี้ทำให้ได้รับการคัดค้านจากผู้ที่ไม่เห็นด้วยว่าจะเป็นเครื่องมือทำลายล้างกันทางการเมือง

เคยมีนักวิชาการ นักปราชญ์ผู้มีชื่อเสียงทั่วโลกเคยส่งจดหมายเปิดผนึกให้รัฐบาลไทยทบทวนการบังคับใช้กฎหมายนี้ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่าเขาจะพยายามจัดสมดุลระหว่างการบังคับใช้กฎหมาย กับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แต่นักวิจารณ์กล่าวว่า เกิดการเปลี่ยนแปลงน้อยมาก หลังจากนั้น

รายละเอียดคำพิพากษาและแนวทางต่อสู้ต่อไปของจำเลย

ที่ห้องพิจารณาคดี 904 ศาลอาญารัชดา นายพรหมาศ ภู่แส และองค์คณะขึ้นนั่งอ่านคำตัดสินคดีที่ น.ส.ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล หรือ ดา ตอร์ปิโด ถูกอัยการฟ้องเป็นจำเลยในความผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 (ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี) จากการปราศรัยที่สนามหลวง 3 ครั้ง คือวันที 7 และ 13 มิถุนายน 2551 และ วันที่ 18-19 กรกฎาคม 2551

ศาลตัดสินว่า จากพยานหลักฐาน จำเลยกระทำผิดจริงตามข้อกล่าวหา โดยจำเลยได้กระทำผิด 3 กรรม จากการปราศรัยที่สนามหลวง 3 ครั้ง ตัดสินจำคุกกรรมละ 6 ปี รวม 18 ปี

หลังจากนี้ ในช่วงบ่าย ดา ตอร์ปิโด จะต้องเข้ารับฟังการพิจารณาคดีที่ห้องพิจารณา 908 ในคดีที่ถูก พล.อ. สพรั่ง กัลยาณมิตร ฟ้องหมิ่นประมาท โดยวันนี้ จะมีการสืบพยานโจทก์นัดแรก

สำหรับบรรยากาศการฟังคำตัดสินวันนี้ มีประชาชนผู้สนใจและผู้ที่ต้องการมาให้กำลังใจ น.ส.ดารณี ประมาณ 30 คน

หลังคำติดสิน นายประเวศ ประภานุกูล ทนายจำเลยได้แจกเอกสารแก่ประชาชนและผู้สื่อข่าวเป็นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาว่า การสั่งพิจารณาคดีดังกล่าวเป็นการปิดลับซึ่งศาลอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 117 มีคำสั่งตั้งแต่วันที่ 23 มิ.ย. ซึ่งเป็นวันนัดสืบพยานโจทก์นัดแรก เป็นการละเมิดสิทธิของจำเลย ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550

ฝ่ายจำเลยระบุว่าการที่ศาลสั่งพิจารณาคดีลับดังกล่าว ห้ามมิให้ประชาชนทั่วไปเข้าฟังการพิจารณานั้นเป็นการใช้บทบัญัติกฎหมายขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตราที่ 40 (2) ซึ่งระบุว่าสิทธิขั้นพื้นฐานในกระบวนการพิจารณา ซึ่งอย่างน้อยต้องมีหลักประกันพื้นฐานเรื่องการได้รับการพิจารณาโดยเปิดเผย การได้รับทราบข้อเท็จจริง และการตรวจเอกสารอย่างเพียงพอ การเสนอข้อเท็จจริง ข้อโต้แย้งและพยานหลักฐานของตน การคัดค้านผู้พิพากษาหรือตุลาการ การได้รับการพิจารณาโดยผู้พิพากษาหรือตุลาการที่นั่งพิจารณาคดีครบองค์คณะ และการได้รับทราบเหตุผลประกอบคำวินิจฉัย คำพิพากษาหรือคำสั่ง

และรัฐธรรมนูญมาตรา 29 บัญญัติว่า การจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ จะกระทำมิดได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อการที่รัฐธรรมนูญนี้และเท่าที่จำเป็น และจะกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพนั้นมิได้

ฝ่ายจำเลยเห็นว่าบทบัญญัติมาตรา 117 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่ศาลอาศัยอำนาจสั่งให้การพิจารณาคดีลับนั้นขัดและแย้งกับกฎหมายรัฐธรรมนูญและศาลรัฐธรรมนูญยังไม่เคยมีการวินิจฉัยเรื่องนี้ จึงขอให้ศาลส่งความเห็นของจำเลยไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญํติแห่งรัฐธรรมนูญมาตรา 211 โดยขอให้ศาลอาญารอการพิพากษาคดีนี้ไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าจะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้ ฝ่ายจำเลยได้ยื่นคำร้องดังกล่าวให้ศาลอาญาพิจารณาแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. โดยร้องให้ศาลรอการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ชั่วคราวและส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา อย่างไรก็ตาม ศาลยกคำร้องดังกล่าว โดยระบุว่าการพิจารณาไม่ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 211 เนื่องจากจำเลยมีทนายแก้ต่าง และสามารถนำพยานหลักฐานมายังศาลได้อย่างครบถ้วน

ทนายจำเลย จึงได้ทำการยื่นคำร้องด้วยตัวเองอีกครั้งหนึ่ง เมื่อวันที่ 27 ส.ค. โดยศาลรัฐธรรมนูญลงประทับรับคำร้องดังกล่าว