วันเสาร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2552

5.3 ล้าน ‘แดง’ ลงชื่อถวายฎีกา เครือข่ายเดิมต้านพรึบ

ที่มา ประชาไท

วีระนับชื่อเสื้อแดงค่ำคืน 31 ก.ค.รวม 5,363,429 คน ทักษิณโฟนอินตื้นตันใจ ประกาศเพิ่มทีวีดาวเทียมช่องพระราชกรณียกิจเสื้อแดงนัดหมาย 3 ส.ค. วันเกิดมาร์ค "ดำทั้งแผ่นดิน" ด้าน ยธ.ออกแถลงการณ์แจงการถวายฎีกา ส่วนที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยรัฐมีมติค้ดค้าน

เว็บไซต์ไทยรัฐ รายงานบรรยากาศการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงที่ท้องสนามหลวง เมื่อเวลาประมาณ 22.00 น. วันที่ (31 ก.ค.) ว่า นายวีระ มุสิกพงศ์ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ได้ประกาศบนเวทีปราศรัย ว่า จำนวนประชาชนที่ร่วมลงชื่อเพื่อทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มีจำนวน 5,363,429 คน ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมต่างปรบมือโห่ร้องแสดงความดีใจ

ก่อนหน้านั้น เมื่อเวลาประมาณ 21.00 น. พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้โฟนอินมาที่เวทีปราศรัยขอขอบคุณประชาชนที่ร่วมลงชื่อถวายฎีกา นอกจากนี้ในส่วนของเว็บไซต์ ทวิตเตอร์ @Thaksinlive พ.ต.ท.ทักษิณ ได้เขียนขอบคุณผู้ที่ร่วมลงชื่อถวายฎีกา ว่า "ผมรู้สึกตื้นตันใจมากกับ 4.1 ล้านชื่อที่ถวายฎีกา เมื่อสักครู่เลยพูดที่สนามหลวงไม่ค่อยออกครับ"

ทักษิณเตรียมเพิ่มทีวีดาวเทียมช่องพระราชกรณียกิจ
พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวว่า จากที่ได้เดินทางไปในหลายประเทศ เห็นว่ามีการทำสถานีโทรทัศน์เป็นภาษาอังกฤษเพื่อประชาสัมพันธ์ประเทศของตนเอง จึงต้องการทำเช่นนั้นบ้างเพื่อให้ประเทศไทยเป็นที่ยอมรับและเข้าใจของต่างชาติ นึกถึงเทคโนโลยีใหม่เอี่ยมล่าสุด เลยตัดสินใจทำสถานีโทรทัศน์ 100 ช่อง และ 4 ช่องที่คิดไว้ทำเพื่อประโยชน์ให้คนไทย คือช่องที่นำพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปเผยแพร่ เพื่อเป็นตัวอย่างที่เป็นประโยชน์ให้แก่ประเทศยากจนที่กำลังพัฒนาให้คนมีกินมีใช้ อีกหนึ่งช่องจะเผยแพร่สินค้าโอทอปและจะสนับสนุนให้ส่งขายไปทั่วโลก รวมทั้งสนับสนุนกิจการของผู้ประกอบการรายเล็กรายย่อยด้วย เพื่อเป็นช่องทางให้เกิดการนำสินค้าของไทยไปขายในต่างประเทศ ช่องการศึกษา และช่องคนจน

พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวด้วยว่า เมื่อไฟหยุดไหม้บ้าน ก็จะกลับไปช่วยพลิกฟื้นประเทศไทย แม้จะเป็นงานที่ยาก แต่ก็ไม่ยากกว่างานที่เคยทำมาแล้ว และเชื่อว่าพลังบุญที่พี่น้องทั้งหลายทำให้ตน จะช่วยให้ได้กลับไปช่วยพี่ น้องผู้ทุกข์ยาก โดยจะพยายามดึงเงินจากต่างประเทศให้มาลงทุนในไทยหลายแสนล้านบ้าน ไม่ใช่ไปกู้เงินต่างประเทศมา และจะกลับไปถวายงานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ทรงสบายพระทัย และหวังว่าจะได้กลับเมืองไทยตอนอายุ 61 ปี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจาก พ.ต.ท.ทักษิณ จะโฟนอินเข้ามาพูดคุยกับกลุ่มคนเสื้อแดงแล้ว ในส่วนของเว็บไซต์ ทวิตเตอร์ @Thaksinlive พ.ต.ท.ทักษิณ ได้เขียนขอบคุณผู้ที่ร่วมลงชื่อถวายฎีกาด้วย ว่า "ผมรู้สึกตื้นตันใจมากกับ 4.1 ล้านชื่อที่ถวายฎีกา เมื่อสักครู่เลยพูดที่สนามหลวงไม่ค่อยออกครับ"

3 ส.ค. วันเกิดมาร์ค เสื้อแดงมีมติ "ดำทั้งแผ่นดิน"
นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วนพรรคเพื่อไทย และแกนนำ นปช. กล่าวถึงขั้นตอนต่อไปว่า จะมีการตรวจสอบรายละเอียดและบันทึกข้อมูลทั้งหมดลงในคอมพิวเตอร์ คาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 7 วันน่าจะเสร็จสมบูรณ์ จากนั้น จะยื่นต่อสำนักราชเลขาธิการ สำนักพระราชวัง เพื่อนำฎีกาขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายต่อไป ทั้งหมดเป็นไปตามกระบวนการตามปกติ ไม่ขัดแย้งต่อกฎหมายใดๆ อย่างแน่นอน

นอกจากนี้ นายจตุพร ยังกล่าวว่า ขอเตือนไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่กำลังตั้งโต๊ะถอนรายชื่อฎีกา หากผู้นั้นไม่ได้ลงชื่อ แต่มาแอบบ้างถอนชื่อ กลุ่มเสื้อแดงจะตรวจสอบ และฟ้องร้องฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ทั้งผู้ริเริ่มและผู้ถอนรายชื่อด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า กลุ่มเสื้อแดงยังมีมติให้วันที่ 3 ส.ค. ขอให้มวลชนแต่งดำ ในภารกิจ "ดำทั้งแผ่นดิน" เพื่อเป็นการแสดงออกว่าไม่ยอมรับรัฐบาลและหัวหน้ารัฐบาล ซึ่งเกิดในวันดังกล่าวด้วย

ยธ.ออกแถลงการณ์ แจงการถวายฎีกา
ก่อนหน้านี้ในวันเดียวกัน กระทรวงยุติธรรมออกแถลงการณ์เรื่อง การทำความเข้าใจที่ถูกต้องกรณีการทูลเกล้าฯถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษจาก กรณีที่ประชาชนจำนวนมากถูกชักชวนให้ร่วมลงชื่อทูลเกล้าฯถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยอ้างว่าจะทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ พ้นจากการลงโทษจำคุกตามคำพิพากษาศาลนั้น กระทรวงยุติธรรม ขอชี้แจงว่าการกระทำดังกล่าวก่อให้เกิดความสับสนและเข้าใจผิดเกี่ยวกับพระราชอำนาจ จึงเห็นควรชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนดังนี้

1.สถาบันพระมหากษัตริย์ทรงเป็นที่เคารพของปวงชนชาวไทย และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับ ตั้งแต่ พ.ศ.2475 ได้รับรองสถานะพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขของชาติและทรงอยู่ภายใต้ กฎหมายเช่นเดียวกับพสกนิกรของพระองค์

ขณะเดียวกันกฎหมายก็ได้ยอมรับขนบธรรมเนียมของชาติที่ให้พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระเมตตา มีพระราชอำนาจในการอภัยโทษได้ แต่ทั้งนี้จะต้องเป็นไปตามกรอบและกระบวนการตามกฎหมาย ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 259 และระเบียบปฏิบัติของกรมราชทัณฑ์ที่ผ่านมา ผู้ที่มีสิทธิและสามารถจะขอพระราชทานอภัยอภัยโทษได้นั้นจะต้องมีคุณสมบัติ ว่าจะต้องเป็นตัวของผู้ต้องคำพิพากษาของศาลให้รับโทษทางอาญา หรือผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้อง ได้แก่ บิดามารดา คู่สมรส บุตรหลาน หรือญาติที่ใกล้ชิดเท่านั้นเป็นผู้ยื่นแสดงความจำนงขอพระราชทานอภัยโทษตาม หลักเกณฑ์และกฎหมาย โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมจะทำหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องของขั้นตอน การดำเนินการและประวัติความประพฤติตลอดจนความร้ายแรงของการกระทำความผิดของผู้ต้องคำพิพากษาเพื่อทำความเห็นประกอบการทรงมีพระบรมราชวินิจฉัย

2.กระบวนการทางกฎหมายข้างต้นนี้เป็นวิธีปฏิบัติที่ผ่านมาของกรมราชทัณฑ์ และกระทรวงยุติธรรมมาโดยตลอด ไม่เคยปฏิบัตินอกเหนือจากนี้ ดังนั้นประเด็นสำคัญคือ ลำพังเพียงผู้ต้องคำพิพากษา บิดามารดา คู่สมรส บุตรหลาน หรือญาติที่ใกล้ชิดเพียงคนเดียวก็สามารถดำเนินการขอพระราชทานอภัยโทษได้แล้ว ไม่จำเป็นต้องใช้ประชาชนที่ไม่ใช่ผู้เกี่ยวข้องโดยตรงเป็นจำนวนมากมาลงชื่อ ทำให้เกิดข้อสงสัยได้ว่าผู้ดำเนินการซึ่งทราบว่าไม่มีสิทธิและทำไม่ได้นั้น มีวัตถุประสงค์อะไรในการดำเนินการเช่นนี้ หรือเพียงเพื่อตั้งใจให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิดหรือคลาดเคลื่อนเพื่อวัตถุประสงค์อื่นทางการเมือง

3.กระทรวงยุติธรรมเชื่อว่า พสกนิกรชาวไทยทั้งปวงมีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และไม่มีความประสงค์จะทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นสถาบันหลักของชาติมาเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมือง และ ผู้ที่ร่วมลงชื่อเพื่อขอพระราชทานอภัยโทษกับกลุ่มคนดังกล่าวอาจมีความเข้าใจ คลาดเคลื่อนถึงหลักเกณฑ์และวิธีการในการขอพระราชทานอภัยโทษและคาดไม่ถึงว่า จะถูกนำไปผูกโยงกับความขัดแย้งทางการเมืองและระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท ดังนั้นกระทรวงยุติธรรมจึงขอทำความเข้าใจกับประชาชนชาวไทยที่มีความรักชาติ และมีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ถึงกระบวนการตามกฎหมายว่าด้วย การขอพระราชทานอภัยโทษ และหากพี่น้องชาวไทยได้รับทราบและเข้าใจข้อเท็จจริงนี้แล้วคิดว่าการลงชื่อ ดังกล่าวไม่สอดคล้องกับความคิดเห็นและวัตถุประสงค์ของท่าน ก็ขอให้ท่านดำเนินการถอนชื่อของท่านออกจากกระบวนการดังกล่าวก็จะเป็นแนวทางที่ถูกต้องเหมาะสม

มติมอธิการบดีมหาวิทยาลัยรัฐ 26 แห่งค้านฎีกา
ส่วนมติชนออนไลน์ เสนอข่าว นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม ทปอ.วันเดียวกันนี้ ที่มีอธิการบดีมหาวิทยาลัยรัฐ 26 แห่ง เข้าร่วม มีมติคัดค้านการเข้าชื่อถวายฎีกา โดยมีผู้ร่วมลงชื่อแล้ว อาทิ

1.นายสุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2.นายวันชัย ศิริชนะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง 3.นายสุชาติ อุปถัมภ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยบูรพา 4.นายสุวิทย์ เลาหศิริวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยนครพนม 5.นายจงรัก พลาศัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ 6.นายสมเกียรติ สายธนู อธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ 7.นายพงษ์ศักดิ์ อังกสิทธิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 8.นายไทย ทิพย์สุวรรณกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมกันลงชื่อคัดค้านการถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ โดยมอบหมายให้ ทปอ.รวบรวมรายชื่ออธิการบดี และจัดทำหนังสือส่งถึงราชเลขาธิการ สำนักพระราชวัง ขอให้ยับยั้งการนำฎีกาขึ้นถวาย

ทั้งนี้ ทปอ.จะประสานไปยังมหาวิทยาลัยราชภัฏ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) และมหาวิทยาลัยเอกชนกว่า 100 แห่งทั่วประเทศ ที่มีความเห็นสอดคล้องกับ ทปอ. ได้ร่วมลงชื่อคัดค้านด้วย

"การดำเนินการของ ทปอ.เพราะมองว่า มหาวิทยาลัยควรออกมามีบทบาทช่วยชี้นำสังคม และเสนอแนะทางออกโดยใช้หลักวิชาการเป็นตัวกลาง ไม่ใส่ความรู้สึก ที่สำคัญไม่ได้โจมตีกลุ่มบุคคลใด และขอย้ำว่า ทปอ.ไม่ได้เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือต้องการให้ใครแพ้ชนะ แต่สิ่งที่ทำล้วนมีเหตุผลทางวิชาการรองรับ"

นพ.ภิรมย์กล่าวต่อว่า หนังสือที่ ทปอ.จะส่งถึงราชเลขาธิการ มีเนื้อหาคัดค้านการถวายฎีกาของกลุ่มเสื้อแดงดังนี้

1.ฎีกาดังกล่าว มิใช่ฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 259-267 และขัดต่อพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 23 และ 2.ฎีกาดังกล่าว มิใช่ฎีการ้องทุกข์เพื่อขอความเป็นธรรม แต่เป็นการถวายฎีกาที่มีความมุ่งหมายให้พระราชทานอภัยโทษแก่ตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งมิใช่ผู้ขอถวายฎีกา 3.ฎีกาดังกล่าวมุ่งประสงค์ทำให้พระมหากษัตริย์ใช้พระราชอำนาจก้าวล่วงองค์กรผู้ใช้อำนาจอธิปไตย โดยขอให้พระราชทานอภัยโทษให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งศาลฎีกามีคำสั่งเด็ดขาดแล้วให้จำคุก และยังคงมีคดีค้างอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาอีกหลายคดี 4.ฎีกาดังกล่าว เป็นเรื่องที่มีจุดมุ่งหมายทางการเมืองชัดเจน และการนำเอาข้อขัดแย้งในทางการเมืองที่มีผู้เห็นแตกต่างกันอยู่หลายฝ่ายขึ้นกราบบังคับทูลต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อให้ทรงมีพระราชวินิจฉัย เป็นเรื่องไม่บังควรเป็นอย่างยิ่ง และเป็นการดึงสถาบันพระมหากษัตริย์มาสู่ความขัดแย้งเป็นการฝักฝ่ายทางการเมืองโดยตรง และ 5.กรณีที่ผู้ร่างและชักชวนให้ประชาชนมาร่วมลงชื่อ อาจจะทำให้เกิดความขัดแย้งแตกแยกในหมู่ประชาชนทั่วไป และกับสถาบันสูงสุดของชาติทำให้คับข้องใจอันนำไปสู่ความแตกแยกในหมู่ประชาชน และเกิดความเสียหายรุนแรงที่สุดต่อประเทศชาติ และต่อระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขได้

..............................
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์ และมติชน