วันพฤหัสบดีที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2552

ยุบสภา-ลาออก

ที่มา ข่าวสด

ชกไม่มีมุม

วงค์ ตาวัน



หลังจากยกฐานะกรมตำรวจขึ้นเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แล้วต่อมานำเอาพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ 2547 มาบังคับใช้ โดยเป็นกฎหมายที่พยายามจะทำให้องค์กรตำรวจปลอดพ้นการเมืองมากที่สุด

มาบัดนี้ หลายคนเริ่มรู้สึกว่า พ.ร.บ.ตำรวจฉบับนี้ก็พอจะสกัดกั้นการเมืองได้พอสมควร

อย่างการตั้งผบ.ตร.ใหม่ ไม่ง่ายดายอย่างที่นายกฯคิด

มีกฎกติกาหลายประการ ที่นักการเมืองยังตามไม่ทัน ยังนึกว่าตั้งผบ.ตร.ง่ายเหมือนสมัยตั้งอ.ตร.

มีความแข็งแกร่งของคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติหรือก.ต.ช. เป็นด่านสำคัญ

ล่าสุดนายกฯมาร์คบอกว่า สัปดาห์หน้า จะประชุมก.ต.ช.เพื่อเลือกผบ.ตร.ใหม่ได้ โดยคราวนี้มั่นใจว่าจะไม่วุ่นเหมือนเดิม

ถ้าเป็นเช่นนั้นคงจะดี ไม่งั้นประเทศชาติจะต้องมามีปัญหาเสียเวลา เพราะนายกฯตั้งผบ.ตร.คนใหม่ไม่ได้เสียที!?

แต่บังเอิญตรวจสอบข้อมูลข่าวสารทุกด้าน ยังไม่เห็นหนทางที่นายกฯจะดันคนเดิมผ่านด่านก.ต.ช.ได้เลย

ถ้ายังยืนชื่อเดิม ก็จะติดปัญหาเสียงข้างมากในก.ต.ช.ไม่ให้ผ่านอยู่ดี

*งานนี้ไม่ใช่เรื่องต่อรองผลประโยชน์การเมืองอะไร แต่เป็นเรื่องใหญ่ประเด็นความมั่นคงของชาติ ความยึดมั่นในขนบธรรมเนียมประเพณีของสังคมไทย*

ใครจะมาล็อบบี้ ก็ยากจะแปรเปลี่ยน

จะดกดำหรือบางหรือเถิก ก็ไม่สามารถกล่อมให้ใครเชื่อได้!

ย้อนกลับไปตอนประชุมก.ต.ช. ที่นายกฯแพ้โหวต 5 ต่อ 4 คงจำกันได้ว่าเย็นย่ำค่ำคืนวันนั้น มีข่าวสะพัดตามมา

ทั้งยุบสภา และทั้งนายกฯจะลาออก

คนที่มีอำนาจตัดสินใจทั้ง 2 อย่างนี้ คิดอย่างนั้นจริงๆ ไม่ใช่แค่เรื่องลือกันเล่นๆ

จนผู้อาวุโสต้องมาเกลี้ยกล่อม ให้วัยรุ่นลดความใจร้อนลง

แต่เหตุการณ์ผ่านมาจนถึงวันนี้ ต้องบอกว่า แนวรบผบ.ตร.สถานการณ์ยังไม่เปลี่ยนแปลง!

จึงยังมองไม่ออกว่า ประชุมก.ต.ช.หนต่อไป จะยุติได้เช่นไร

นายกฯเป็นผู้เสนอชื่อก็จริง แต่มือของกรรมการอีก 10 คน เป็นผู้ตัดสิน

ถ้ายังยันกันอยู่เช่นนี้ สุดท้ายอาจนำไปสู่การตัดสินใจทางการเมืองครั้งสำคัญ

ทั้งยุบสภาหรือลาออก ก็ยังเป็นไปได้ทั้งนั้น

เก้าอี้ตำรวจตัวเดียว อาจส่งผลให้พังกันทั้งรัฐบาลหรือทั้งสภา!