วันเสาร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2552

เห็นปัญหาแต่ไม่แก้

ที่มา มติชน

บทนำมติชน



ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ซึ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2550 รู้ทั้งรู้ว่ามีปัญหาอยู่มากทั้งความไม่สอดคล้องกับการพัฒนาประชาธิปไตย เช่น การแบ่งพื้นที่เลือกตั้ง ส.ส.แบบสัดส่วนออกเป็น 8 เขต หรือ 8โซน การกำหนดให้ ส.ว.มาจาก 2 ทาง ทางที่หนึ่ง ให้เลือกตั้งจังหวัดละ 1 คน ไม่ว่าจังหวัดเล็กอย่างระนอง หรือจังหวัดใหญ่อย่างกรุงเทพฯก็มี ส.ว.ได้ 1 คน กับอีกทางหนึ่ง ให้มาจากการสรรหา โดยจำนวนของที่มาทั้ง 2 ทางไล่เลี่ยกัน กล่าวคือ ส.ว.เลือกตั้ง 76 คน ส.ว.สรรหา 74 คน รวมเป็น 150 คน การยุบพรรคการเมืองได้โดยง่าย ฯลฯ และการเขียนบทบัญญัติที่ไม่ชัดเจน ตีความไปได้หลายทาง ก่อให้เกิดความสับสนและนำมาซึ่งความขัดแย้ง รวมทั้งกระทบต่อการใช้อำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหาร

มิไยที่จะกล่าวถึงการแสดงพฤติกรรมของ ส.ส.กลางที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรล่าสุดเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม ที่ผ่านมาที่หยุดถ้อยคำด่าอันไม่บังควรออกมา สะท้อนถึงวุฒิสภาที่ต่ำทรามของนักการเมืองผู้ได้ชื่อว่า ผู้แทนปวงชน ซึ่งเกิดขึ้นมาหลายครั้งหลายคราว ซึ่งรัฐธรรมนูญ 2550 จะมีบทบัญญัติใดที่จะกำกับควบคุมมิให้นักการเมืองบางส่วนแสดงพฤติการถ่อยและเถื่อนออกมา หากแต่ยังมีเรื่องที่ควรจะถูกหยิบยกมาพิจารณาอย่างจริงจังเพื่อนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างเป็นระบบและเริ่มต้นเสียทีแทนที่จะมัวโอ้เอ้เอาแต่รำมวยกันไปมาอยู่อย่างนั้น

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี และเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ เผยว่า จากการหารือระหว่างแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมามีความเห็นพ้องกันว่าสมควรแก้ไขรัฐธรรมนูญใน 2 ประเด็น คือ แก้ไขการเลือกตั้งจากแบ่งเขตเรียงเบอร์ (เขตละ 3 คน) เป็นเขตละ 1 คน หรือวันแมนวันโหวต ตามรัฐธรรมนูญ 2540 อีกประเด็นหนึ่ง คือมาตรา 190 เกี่ยวกับหนังสือสัญญาที่รัฐบาลจะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาเสียก่อนถึงจะไปลงนามกับต่างประเทศ หรือองค์กรระหว่างประเทศ

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นการลงคะแนนเสียงในที่ประชุมสภาของ ส.ส.ที่เป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี จะกระทำไม่ได้ หากเรื่องที่พิจารณาเป็นผลได้ผลเสียกับนายกฯและรัฐมนตรี กรณีร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2553 ที่สภาพิจารณาวาระ 2 และ 3 ปรากฏว่านายกฯและรัฐมนตรีไม่มีใครกล้าลงมติ เพราะเกรงว่าถ้าลงมติไปอาจถูกร้องเพื่อนำไปสู่การถอดถอนออกจากตำแหน่งได้เพราะฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ ทำให้คะแนนเสียงเมื่อหักนายกฯและรัฐมนตรีออกไปแล้ว เสียง ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลมีมากกว่าพรรคฝ่ายค้านอยู่แค่ 6 เสียง ถือว่าหมิ่นเหม่ต่อการเพลี่ยงพล้ำในการลงมติ ซึ่งหากเกิดเหตุขัดข้องประการใดก็แล้วแต่ที่เสียงรัฐบาลออกมาแพ้ฝ่ายค้าน หรือไม่ครบองค์ประชุม ก็จะส่งผลกระทบต่อเถสียรภาพรัฐบาลถึงขั้นนายกฯต้องยุบสภาได้

ความไม่ชัดเจนในบทบัญญัติรัฐธรรมนูญก็ดี ความไม่สอดคล้องกับการพัฒนาประชาธิปไตยก็ดี และรวมไปถึงข้อสรุปของคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ สมควรอย่างยิ่งที่ทุกพรรคทุกฝ่ายในสภาผู้แทนฯและในวุฒิสภาจะได้ปรึกษาหารือกันแล้วเริ่มต้นเสนอเป็นร่างแก้ไขเข้าสู่รัฐสภา แต่น่าเสียดายที่สภาผู้แทนฯและวุฒิสภาไม่แสดงถึงความร่วมไม้ร่วมมือ ทั้งๆ ที่รู้อยู่เต็มอกว่ามีหลายเรื่อง หลายมาตราของรัฐธรรมนูญสร้างปัญหาในการปฏิบัติและกระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดิน และที่สำคัญได้เกิดความแตกแยกทางการเมืองอย่างรุนแรง เมื่อไรจะลงมือแก้ไขเสียที และอีกนานเท่าไรความสมานฉันท์ปรองดองจะยังเกิดขึ้นโดยความเห็นพ้องต้องกันของสภาผู้แทนฯและวุฒิสภา ขออย่าให้เหมือนกับเหตุการณ์นองเลือดเมื่อเดือนพฤษภาคม 2535 ที่รัฐสภาต้องรอให้ประชาชนถูกทหารปราบปรามจนคนเจ็บล้มตายจำนวนมากเสียก่อนจึงค่อยแก้ไขรัฐธรรมนูญให้นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้ง