วันอาทิตย์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2552

'โทษที่ไม่เป็นธรรม' : ฟองสบู่คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ วิกฤตความจงรักภักดีด้อยคุณภาพ

ที่มา ประชาไท

บทบรรณาธิการนิตยสารฟ้าเดียวกันฉบับล่าสุด (ปีที่7 ฉบับ2 : โทษที่ไม่เป็นธรรม)
ฟองสบู่คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
วิกฤตความจงรักภักดีด้อยคุณภาพ
1

เช้าวันที่ 22 กรกฎาคม 2551 ศาลอนุมัติหมายจับ น.ส. ดารณี ชาญเชิงศิลปะกุล ผู้ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในหมู่คนเสื้อแดงว่า ดา ตอร์ปิโด บ่ายวันเดียวกันนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำหมายศาลเข้าจับกุม น.ส. ดารณีทันทีในข้อหากระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม. 112 หรือที่เรียกกันติดปาก "กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" อันเนื่องมาจากคำปราศรัยของเธอ ณ ท้องสนามหลวง ดารณีกล่าวอะไรที่เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์? เท็จจริงเป็นเช่นไร? และจะพิสูจน์ถูกผิดกันอย่างไร? มาถึงวันนี้สาธารณชนก็ยังไม่ได้รับอนุญาตให้รับรู้ การพิจารณาคดีถูกปิดเป็นความลับ ที่พอจะทราบคือ เธอถูกออกหมายจับอย่างรวดเร็วโดยไม่มีการออกหมายเรียกใดๆ ก่อนเลย และศาลไม่อนุญาตให้เธอประกันตัวด้วยเหตุผลที่ว่า พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรงอย่างยิ่ง รวมทั้งเกรงว่าเธอจะหลบหนีหรือกระทำผิดซ้ำอีกหากปล่อยตัวไปชั่วคราว หลังจากที่ดารณีถูกจองจำอยู่กว่า 1 ปี เธอจะได้รับฟังคำพิพากษาในพระปรมาภิไธยปลายเดือนสิงหาคมนี้
2

วันที่ 15 สิงหาคม 2551 ตำรวจออกหมายจับนางบุญยืน ประเสริฐยิ่ง อาชีพรับซื้อของเก่าและรับทำนายดวงชะตา ผู้ผลิกผันตนเองกลายเป็นขาไฮด์ปาร์คหลังการรัฐประหาร 19 กันยาฯ ในข้อหาหมิ่นรัชทายาทตาม ม. 112 จากกรณีการปราศรัยบนเวทีสนามหลวง บุญยืนเข้ามอบตัวในวันเดียวกันและถูกคุมขังทันทีนับแต่นั้นเป็นต้นมา โดยไม่ได้รับการอนุญาตให้ประกันตัว ต่อมาเธอให้การรับสารภาพด้วยความหวาดกลัวและหวังว่าจะขอพระราชทานอภัยโทษใน ภายหลัง ในที่สุดศาลพิพากษาจำคุกบุญยืน 12 ปี และลดโทษเหลือกึ่งหนึ่งเนื่องจากเธอรับสารภาพ ปัจจุบัน บุญยืนยังอยู่ระหว่างยื่นอุทธรณ์ขอลดหย่อนโทษ ขณะที่บ้านและรถที่ใช้ในการประกอบอาชีพของครอบครัวได้ถูกยึดไปหมดแล้ว เนื่องจากขาดผ่อนชำระ เพราะเธอซึ่งเป็นกำลังหลักของครอบครัวถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ สามีของเธอจึงต้องหารายได้ด้วยการรับจ้างทั่วไปมาจ่ายเป็นค่าเช่าบ้านและ เลี้ยงดูลูกคนเล็กซึ่งยังเรียนหนังสืออยู่
3

วันที่ 14 มกราคม 2552 สุวิชา ท่าค้อ วิศวกรในบริษัทขุดเจาะน้ำมันแห่งหนึ่ง ถูกเจ้าหน้าที่จากกรมสอบสวนคดีพิเศษและสำนักคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศเข้า จับกุมขณะกำลังเดินซื้อของกับภรรยาในตลาดอำเภอเมืองนครพนมด้วยข้อหาเผยแพร่ รูปและข้อความหมิ่นสถาบันเบื้องสูงทางอินเทอร์เน็ต ก่อนจะถูกควบคุมตัวขึ้นเครื่องบินมาสอบปากคำที่กรุงเทพฯ ในคืนนั้น สองวันต่อมาสุวิชาถูกนำตัวไปฝากขังยังศาลอาญา กระบวนการทั้งหมดกระทำไปโดยที่ผู้ต้องหาไม่มีทนายให้คำปรึกษา ภายหลังถูกจับกุมเพียงไม่กี่วัน บริษัทที่สุวิชาทำงานอยู่ได้มีคำสั่งเลิกจ้างเขาและไม่จ่ายค่าชดเชยใดๆ โดยอ้างว่าการกระทำของเขาทำให้บริษัทเสื่อมเสียชื่อเสียง ระหว่างที่สุวิชาถูกคุมขัง ญาติของเขาพยายามยื่นขอประกันตัวหลายครั้ง แต่ศาลไม่อนุญาตด้วยเหตุผลว่า สถาบันกษัตริย์เป็นที่เคารพเทิดทูนของประชาชนทั้งประเทศ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ และกรณีนี้เป็นเรื่องความมั่นคงของประเทศ อีกทั้งเป็นพฤติการณ์ที่ร้ายแรง อัตราโทษสูง ระหว่างนั้นเจ้าหน้าที่บอกเขาว่า หากให้ความร่วมมือแล้วจะปล่อยตัวกลับบ้าน สุวิชาอยากกลับบ้าน เขาจึงยอมรับสารภาพตามที่เจ้าหน้าที่ต้องการ แม้จะต้องแต่งเรื่องราวไปตามพล็อตเรื่องขบวนการ ต่อต้านเบื้องสูงดังความเชื่อของเจ้าหน้าที่ก็ตาม ทว่าสุดท้าย ในวันที่ 3 เมษายน 2552 ศาลก็ตัดสินจำคุกเขาจากความผิด 2 กระทง กระทงละ 10 ปี รวม 20 ปี และลดโทษให้คงเหลือโทษจำคุก 10 ปี สุวิชาถูกพรากจากภรรยา ซึ่งต้องดูแลลูกวัยเรียนอีก 3 คนเพียงลำพัง
4

วันที่ 19 กันยายน 2549 กองกำลังผูกริบบิ้นสีเหลืองเคลื่อนออกมานอกพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของตน และก่อการ "รัฐประหารเพื่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" ทว่าโดยมิคาดฝัน ปฏิบัติการทางการเมืองของพวกเขากลับส่งผลสะเทือนย้อนไปบ่อนเซาะทำลายตัว เองอย่างถึงราก ท่ามกลางการต่อสู้/ขัดแย้งทางการเมืองในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา การเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วและกว้างขวางของบุคคลที่ตกเป็นผู้ต้องหาในคดี หมิ่นฯ พระมหากษัตริย์ฯ นับเป็นปรากฏการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่มีนัยสำคัญยิ่ง กล่าวให้ถึงที่สุด ปรากฏการณ์ "ฟองสบู่คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" หลังเหตุการณ์ 19 กันยาฯ จนลุกลามกลายเป็น "วิกฤตความจงรักภักดีด้อยคุณภาพ" นั้น มิได้เกิดจากเพียงปัญหาการตีความ ม. 112 หรือการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือทางการเมือง หากยังเป็นผลสืบเนื่องโดยตรงจากความตึงเครียดครั้งใหญ่ภายในวัฒนธรรมการ เมืองแบบไทยๆ และระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ปัญหาใจกลางที่สังคมไทยต้องเข้าเผชิญหน้าประการหนึ่ง จึงอยู่ที่ว่า ตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันประเพณีอันสืบทอด/ ตกค้างมาจากระบอบเก่า ที่จะเหมาะสมสอดคล้องกับสังคมไทย ซึ่งย่อมไม่ย้อนไปเป็นเช่นเดิมก่อนหน้า 19 กันยาฯ อีกแล้วนั้น ควรเป็นเช่นไร สังคมไทยสมัยปลายรัชกาลจะเขยื้อนไปสู่ทิศทางใด ด้วยต้นทุนเท่าไร คงขึ้นอยู่กับระดับวุฒิภาวะและความกล้าหาญที่จะแสวงหาคำตอบดังกล่าว


สารบัญ
คำขบวน
Recuperated Workplaces สถานประกอบการที่แรงงานกอบกู้
ภัควดี วีระภาสพงษ์


เงินเดินดิน
ฟองสบู่ เงินเฟ้อ การเงินปืนกล และเงินตราแห่งอนาคต
สฤณี อาชวานันทกุล


ปีกซ้ายไร้ปีก
ข่าวว่ามาร์กซ์จะคืนชีพ ตอนวิกฤตเศรษฐกิจ

สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี


รายงานพิเศษ
ขวบปีที่ทุลักทุเล ของมรดกโลกพระวิหาร
สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี


ทัศนะวิพากษ์
ความรุนแรงแห่งโทษที่ไม่เป็นธรรมและการปิดกั้นความจริงในมาตรา 112 แห่งประมวลกฏหมายอาญา

จรัญ โฆษณานันท์


กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ กับความมั่นคงของรัฐ
วรเจตน์ ภาคีรัตน์
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า "กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" ถือเป็นหนึ่งในเรื่องที่มีการถกเถียง/ขัดแย้งกันมากที่สุดในสังคมไทยท่าม กลางความขัดแย้งทางการเมืองหลังการรัฐประหาร 19 กันยาฯ ปัญหาอันเกิดขึ้นจากการบังคับใช้มาตรา 112 ได้กระตุ้นให้องค์กรวิชาการจาก 4 สถาบันการศึกษา ร่วมกันงานสัมมนาว่าด้วยเรื่อง "หลากมิติกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" ขึ้น ณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ในโอกาสนี้ ฟ้าเดียวกัน จึงขอนำเสนอผลงานของนักวิชาการ 2 ท่านที่ได้เข้าร่วมเวทีสัมมนาดังกล่าว เริ่มต้นด้วยข้อเขียนของจรัญ โฆษณานันท์ นักนิติปรัชญาจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ว่าด้วยปัญหาความรุนแรงแห่งโทษที่ไม่เป็นธรรม การยกสถานะภาพของสถาบันกษัตริย์ให้สูงกว่ากฎหมาย รวมทั้งปัญหาการไม่ยอมรับต่อข้อยกเว้นความผิดและโทษในมาตรา 112 จากนั้น ฟ้าเดียวกัน ได้เรียบเรียงคำอภิปรายของวรเจตน์ ภาคีรัตน์ นักกฎหมายมหาชนรุ่นใหม่จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งชวนเราตั้งคำถามถึงความสัมพันธ์ระหว่างมาตรา 112 กับระบอบการปกครองและรัฐธรรมนูญไว้อย่างน่าสนใจ มาเผยแพร่ ณ ที่นี้


วิกฤตปัจจุบันในทัศนะฝ่ายซ้าย ข้อจำกัดทางเศรษฐกิจและ ปัญหาอำนาจนำของสหรัฐอเมริกา
ภารุต เพ็ญพายัพ
ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก รวมทั้งฝ่ายกระแสรองจำนวนไม่น้อย มักมอง "วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์" โดยพุ่งเป้าไปที่ปัญหาความบกพร่องของการกำกับควบคุมและการเก็งกำไรในภาคการ เงิน นักคิดฝ่ายซ้ายปีกหนึ่งได้วิพากษ์ให้เห็นว่า แท้จริงแล้ววิกฤตซับไพรมนั้น เป็นเพียง "อาการของโรค" อย่างหนึ่งของระบบทุนนิยมที่แสดงออกในภาคการเงิน อันมีรากฐานมาจากข้อจำกัดของภาคการผลิตที่แท้จริง นอกจากนี้ ยังมีความเป็นไปได้ว่า ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ผนวกกับพลวัตความเสื่อมถอยทางอำนาจนำของสหรัฐฯ จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในระบบระเบียบของเศรษฐกิจการเมืองโลกในอนาคต


เงื่อนไขความสำเร็จ/ล้มเหลวของยุทธวิธี ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม: ศึกษากรณีขบวนการต่อสู้เพื่อสิทธิในที่ดินจังหวัดลำพูน
กิ่งกาญจน์ สำนวนเย็น

ภาพตัวแทนคนจน ในรายการเกมส์โชว์ทางโทรทัศน์
ขวัญฟ้า ศรีประพันธ์
บทความ 2 ชิ้นจากวิทยานิพนธ์รางวัล "วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์" ครั้งที่ 1 ชิ้นแรกศึกษาขบวนการต่อสู้เพื่อสิทธิในที่ดิน จังหวัดลำพูน กิ่งกาญจน์ สำนวนเย็นได้พยายามตอบคำถามว่าเหตุใดขบวนการฯ จึงเลือกใช้ยุทธวิธีการบุกยึดที่ดิน และด้วยเหตุปัจจัยใดบ้างที่ทำให้ขบวนการฯ ประสบความสำเร็จ / ความล้มเหลวในแต่ละช่วงเวลา ผ่านแนวคิดชุดยุทธวิธีขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมและแนวคิดว่าด้วยตัวแบบ กระบวนการทางการเมือง ชิ้นที่สองได้ศึกษารายการโทรทัศน์ "เกมปลดหนี้" โดยใช้กรอบวิเคราะห์ตามแนวทางวัฒนธรรมศึกษา ขวัญฟ้า ศรีประพันธ์ได้ถอดรหัสให้เราเห็นกลยุทธการสร้างภาพตัวแทน ?คนจน? ผ่านการผลิตของสื่อในโทรทัศน์ ซึ่งทำหน้าที่ทางอุดมการณ์เพื่อกลบเกลื่อนความขัดแย้งในสังคม และรักษาสถานภาพความไม่เท่าเทียมกันไว้คงเดิม


บทวิพากษ์ "การเมืองภาคประชาชน" ในประเทศไทย: ข้อจำกัดของแนววิเคราะห์และยุทธศาสตร์การเมืองแบบ "ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่"
เก่งกิจ กิติเรียงลาภ & เควิน ฮิววิสัน
การเกิดขึ้นและการเคลื่อนไหวทางการเมืองของ "พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย" ได้ก่อให้เกิดคำถามต่อสิ่งที่เรียกกันว่า "การเมืองภาคประชาชน" เหตุใดองค์กรและบุคคล "ภาคประชาชน" จำนวนมากถึงเลือกที่จะทำแนวร่วมและเคลื่อนไหวผ่านอุดมการณ์ที่เป็นปฏิปักษ์ ต่อประชาธิปไตย ซึ่งลักลั่นข้ดแย้งกับการศึกษาวิเคราะห์การเมืองแบบขบวนการเคลื่อนไหวทาง สังคมในรอบเกือบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา เก่งกิจ กิติเรียงลาภได้ลองหาคำตอบและคลี่คลายปมปัญหานี้ โดยพยายามชี้ให้เห็นถึงข้อจำกัดของยุทธศาสตร์การเมืองกระแสหลักของ "การเมืองภาคประชาชน" รวมทั้งข้อจำกัดของกรอบวิเคราะห์แบบขบวนการทางสังคม โดยเฉพาะทฤษฎีขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่ ซึ่งปฏิเสธการวิเคราะห์และมิติทางชนชั้นของสำนักมาร์กซิสต์