วันเสาร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2552

ผีซ้ำด้ำพลอย(น้ำลดตอผุด?)ที่ สตง.

ที่มา มติชน

คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12

โดย ประสงค์ วิสุทธิ์ prasong_lert@yahoo.com



การที่ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายในการแต่งตั้งนายอภิชัย ล้อไพบูลย์ทรัพย์ จากผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ให้ไปดำรงตำแหน่งผู้ตรวจเงินแผ่นดิน 2 ระดับ 9 ตั้งแต่มีนาคม 2549 อาจมองได้ว่า มีลักษณะคล้ายผีซ้ำด้ำพลอย

เพราะที่ผ่านมาได้เกิดเรื่องอื้อฉาวใน สตง.อย่างต่อเนื่อง มีการร้องเรียนกล่าวหาเจ้าหน้าที่ระดับสูงใน สตง.จำนวนมากจนคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แต่งตั้งอนุกรรมการขึ้นมาไต่สวนโดยเฉพาะกรณีการกล่าวหาว่า อมตั๋วเครื่องบินของการบินไทยไปให้ลูกสาวและน้องสาว

หนึ่งในจำนวนเรื่องที่ร้องเรียนนั้น มีกล่าวหาว่า มีการเล่นพรรคเล่นพวกในการแต่งตั้งโยกย้าย และยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง 4 คดี ซึ่งศาลได้พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของคุณหญิงจารวรรณมาแล้ว 2 คดี คือ

1.เพิกถอนคำสั่งแต่งตั้ง น.ส.สุมิตรา เนตรสว่าง จากเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภายใน 8 กลุ่มงานตรวจสอบภายใน สตง. (ส่วนกลาง) ไปเป็นนักวิชาการตรวจเงินแผ่นดิน 8 กลุ่มตรวจสอบการเงินที่ 2 สตง.ภูมิภาคที่ 1 ตั้งแต่มีนาคม 2549 (หมายเลขแดงที่ 88/2552)

2.เพิกถอนคำสั่งแต่งตั้งนายอภิชัย ล้อไพบูลย์ทรัพย์ (หมายเลขแดงที่ 1357/2552)

ทั้งสองคดีเป็นการใช้ดุลพินิจไม่ชอบ คือไม่ทำตามมติคณะกรรมการพิจารณาแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งตามโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการภายในใหม่ซึ่งพิจารณาเสนอแต่งตั้งบุคคลทั้งสองตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ได้กำหนดไว้ แต่คุณหญิงจารุวรรณอ้างว่า บุคคลทั้งสองคุณสมบัติไม่เหมาะสม

ผลคดีถึงที่สุดจะเป็นอย่างไรกรณีมีการยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดนั้นเป็นเรื่องหนึ่ง แต่ที่น่าสนใจคือ ข้อเท็จจริงที่ศาลปกครองกลางได้จากการไต่สวนและสรุปไว้ในคำพิพากษาที่คุณหญิงจารุวรรณอ้างเป็นเหตุไม่ยอมแต่งตั้งนายอภิชัยเป็นผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย ดังนี้

1.นายอภิชัยไม่เคยดำรงตำแหน่งนิติกรมาก่อน ซึ่งผู้ที่จะดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักกฎหมายตามโครงสร้างใหม่ต้องมีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายโดยตรงเนื่องจากต้องรับผิดชอบงานบริหารราชการทุกด้านของสำนัก ควบคุม ตรวจสอบ กำกับ ดูแล ให้คำปรึกษา ตีความและวินิจฉัยข้อกฎหมาย ฯลฯ

2.นายอภิชัยไม่ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรนักบริหารระดับสูงของสำนักงาน ก.พ.หรือหลักสูตรที่สำนักงาน ก.พ.รับรอง ก่อนเข้าดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย (ตามโครงสร้างเดิมเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2547) ตามมาตรฐานการกำหนดตำแหน่ง

อย่างไรก็ตาม ในคำพิพากษาสรุปว่า นายอภิชัยสำเร็จการศึกษานิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปี 2531 และปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งต่างๆ จนเป็นผู้อำนวยการสำนักงานกฎหมาย (นักบริหาร 9) ตามโครงสร้างเดิมซึ่งมีหน้าที่ตรวจพิจารณาวิเคราะห์กฎหมายและดำเนินการเกี่ยวกับคดีตลอดจนพิจารณาปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย กฎ ระเบียบ และข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติราชการให้เหมาะสม ในฐานะผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านและปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งดังกล่าวถึงวันที่ 9 มีนาคม 2549

ส่วนนายชูวิทย์ นุชถาวร ซึ่งคุณหญิงจารุวรรณแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการสำนักกฎหมายแทนนายอภิชัย (ทั้งที่คณะกรรมการไม่ได้เสนอ) สำเร็จการศึกษานิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เมื่อ พ.ศ.2548

ดังนั้น เมื่อเปรียบเทียบประสบการณ์เกี่ยวกับงานด้านกฎหมายของนายอภิชัยและนายชูวิทย์แล้ว จะเห็นได้ว่า ผู้ฟ้องคดี (นายอภิชัย) มีประสบการณ์ในการปฏิบัติงานด้านกฎหมายโดยตรงมากกว่าผู้ร้องสอด (นายชูวิทย์)

ส่วนข้ออ้างว่า นายอภิชัยขาดคุณสมบัติ เนื่องจากไม่ได้เข้ารับการอบรมนักบริหารระดับสูงนั้น การแต่งตั้งบุคคลให้เป็นผู้อำนายการสำนักงานกฎหมายตามโครงสร้างใหม่ไม่ได้กำหนดให้ผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งต้องผ่านการอบรมนักบริหารระดับสูงมาแล้วแต่อย่างใด

ขณะเดียวกันเมื่อตรวจสอบประวัติของนายชูวิทย์แล้วปรากฏว่าไม่ได้ผ่านการอบรมหลักสูตรนักบริหารระดับสูงมาก่อนเช่นเดียวกับนายอภิชัย

ข้อเท็จจริงยังปรากฏว่า นายอภิชัยและนายชูวิทย์ได้รับการแต่งตั้งให้ระดับ 9 พร้อมกันเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2547 ประกอบกับในขณะนายอภิชัยเป็นผู้อำนวยการสำนักงานกฎหมาย ตามโครงสร้างเดิม ก็ได้รับการพิจารณาให้เลื่อนขั้นเงินเดือนเป็นกรณีพิเศษ 1 ขั้น เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2548 แสดงให้เห็นว่า มีผลการปฏิบัติงานจากการประเมินในตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานกฎหมายในระดับดีเด่น

ข้ออ้างของคุณหญิงจารุวรรณที่เห็นว่า นายชูวิทย์มีความรู้ ความสามารถ และความอาวุโส ที่เหมาะสมมากกว่าจึงมีน้ำหนักไม่เพียงพอที่จะรับฟังได้

ดูข้อเท็จจริงจากคำพิพากษาแล้ว ทำให้ลังเลว่า ผีซ้ำด้ำพลอยหรือน้ำลดตอผุดกันแน่