วันจันทร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2552

ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ

ที่มา ไทยรัฐ

โดย หมัดเหล็ก

หลังจากการชุมนุม 19 ก.ย.ที่ผ่านมา รัฐบาลประเมินคนเสื้อแดง อ่อนแรงลงไปมาก ไม่ใช่เพราะแนวร่วมเสื้อแดงน้อยลง แต่เพราะแกนนำเสื้อแดงที่แตกคอกันเอง ประกอบกับมี วาระลับ ลวง พราง เกิดขึ้นในขบวนการเสื้อแดง โดยมีผลประโยชน์ต่างตอบแทน ประกอบกับการเคลื่อนไหวในต่างประเทศของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ไม่สะดวกนัก

ประกอบด้วยข้อตกลงสำคัญบางอย่าง

รัฐบาล นายกฯอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เริ่มจะทุ่มเทยุทธศาสตร์

มาที่ด้านเศรษฐกิจ ทบทวนนโยบายประชานิยมต่างๆที่ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำไปไม่รู้เท่าไหร่ และพร้อมทบทวนกระบวนการบริหาร งานทางด้านเศรษฐกิจของประเทศโดยเฉพาะกลไกสำคัญอย่างธนาคารแห่งประเทศไทย

การประชุมบอร์ดแบงก์ชาติที่มี ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล เป็น ประธาน ตัดสินใจจะปรับโครงสร้างการบริหารของแบงก์ชาติครั้งใหญ่ เนื่องจากที่ผ่านมาการดูแลเสถียรภาพทางการเงินไม่ผ่าน ส่วนจะเป็นเพราะไปกระทบกระทั่งแบงก์พาณิชย์อย่างไร รู้ๆกันอยู่

บ้านเราแบงก์พาณิชย์มีอิทธิพลมากกว่าแบงก์ชาติ นโยบายทางด้านการเงินถึงไม่ค่อยจะเด็ดขาดอย่างที่เห็น ยิ่งถ้านักการเมืองอิงภาคเอกชนมากเท่าไหร่ แบงก์ชาติก็จะทำงานหนักเป็นเท่าตัว

ก็เลยมีข่าวแพลมออกมาว่า จะสลับเอา คุณบัณฑิต นิจ-ถาวร รองผู้ว่าการ ธปท.ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงินจะมาดูแลงานด้านนโยบายการเงินและอัตราดอกเบี้ยแทน คุณอัจนา ไวความดี ที่จะไปดูแลงานทางด้านบริหารแทน

ว่ากันตามจริงแล้ว คุณอัจนา เป็นคนที่ไม่ค่อยจะยอมนักการเมืองเท่าไหร่ ยึดระเบียบกฎเกณฑ์ทฤษฎีเป็นแนวทางในการบริหาร นักการเมืองเลยมองว่าไม่ยืดหยุ่น ส่วนจะไปขวางทางปืนใครเข้าก็เป็นอีกเรื่อง

ปัญหาการเงินในปัจจุบันของประเทศอยู่ที่ ความผันผวนทางการเงินมีสูงมาก พูดง่ายๆคุมไม่อยู่ มีเม็ดเงินไหลเข้ามาเก็งกำไรในระยะสั้นจำนวนมาก โดยเฉพาะในตลาดหุ้น แทนที่จะเป็นตลาดการลงทุน กลายเป็นแหล่งค้ากำไรค่าเงินไปฉิบ

อันที่จริงแล้วจะไปโทษแบงก์ชาติเสียเลยทีเดียวก็ไม่ได้ ต้องโทษรัฐบาล เล่นการเมืองจนลืมบ้านเมือง เศรษฐกิจประเทศเลยไม่แข็งแรงพอที่จะไปต่อรองอะไรกับใครได้ เคยมีมาตรการควบคุมเม็ดเงินเมื่อสมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เลยอ่วมอรทัยทำเศรษฐกิจเสียหายไปจำนวนมหาศาล

สังเกตดีๆ ปัจจุบันแบงก์พาณิชย์มีการนำพันธบัตรของต่างประเทศที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าบ้านเรามาจำหน่ายให้ลูกค้ากันเป็นว่าเล่น แต่ก็มีอัตราเสี่ยงสูง ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ถ้าไม่รีบวางยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอาไว้ให้แน่นหนา

เศรษฐกิจประเทศจะติดหล่มไม่รู้ตัว.