วันอาทิตย์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2552

ปฏิรูปกติกาใหม่ แพ้สันดานเก่า

ที่มา ไทยรัฐ
Pic_35563

วัฏจักรรัฐธรรมนูญไทยหนีกรงเล็บ "วงจรอุบาทว์" ไม่พ้น

ในที่สุด วัฏจักรของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ก็วนกลับเข้ามาสู่กระบวนการของรัฐสภาอีกรอบหนึ่ง

หลังจากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ประกาศกลางที่ประชุมรัฐสภาเพื่อรับฟังความเห็นจาก ส.ส.และ ส.ว.

เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ประเด็น ตามข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษา การแก้ไขรัฐธรรมนูญ

โดยระบุถึงแนวทางในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเอาไว้ คร่าวๆ 3 แนวทาง คือ

1. ทุกพรรคการเมืองและวุฒิสภา ร่วมกันยกร่างแก้ไขใน 6 ประเด็นที่คณะกรรมการสมานฉันท์ฯเสนอ โดยแยกเป็น 6 ร่างแล้วทำประชามติ

2. ให้มีตัวแทน ส.ส. ส.ว. ส.ส.ร.ปี 2540 และปี 2550 และนักวิชาการ เข้ามาพิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามกรอบ 6 ประเด็นของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ

3. ตั้งคณะกรรมการอิสระ เพื่อพิจารณาประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญ และนำผลมาเปรียบเทียบกับข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯก่อนนำไปทำประชามติ

พร้อมให้การบ้านคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาลหรือวิปรัฐบาล ไปหารือกับวิปฝ่ายค้าน และวิปวุฒิสภา

เพื่อหาข้อสรุปว่าจะใช้แนวทางใดในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ล่าสุด ที่ประชุมวิป 3 ฝ่าย มีมติเห็นชอบให้คณะกรรมการ สมานฉันท์ฯเป็นผู้ยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ประเด็น ตามที่คณะกรรมการสมานฉันท์ฯเสนอ

โดยให้ ส.ส.และ ส.ว.ร่วมกันเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ส่วนวิธีการยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเสนอรวมเป็นร่างเดียวทั้ง 6 ประเด็น หรือแยกเป็น 6 ร่าง 6 ประเด็น รวมทั้งแนวทางการมีส่วนร่วมของประชาชนในเรื่องการทำประชามติ ยังไม่ได้ข้อสรุป

โดยที่ประชุมมอบหมายให้แต่ละฝ่ายไปหารือกันเอง และนำมาเสนอต่อที่ประชุมวิป 3 ฝ่ายอีกครั้ง ในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ รวมทั้งกรอบระยะเวลาในการดำเนินการ

เมื่อได้ข้อสรุปครบถ้วนทั้งหมดแล้วจะนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี และจะมีการนัดประชุมร่วมกับวิป 3 ฝ่าย เพื่อให้ได้ข้อสรุปสุดท้าย ก่อนดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามกระบวนการที่ได้ตกลงกันต่อไป

สำหรับข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ประเด็นของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ที่วิป 3 ฝ่ายเห็นชอบให้มีการยกร่างแก้ไข ได้แก่

1. มาตรา 93-98 เรื่องที่มาของ ส.ส.ให้กลับไปใช้ตามรัฐธรรมนูญปี 2540 คือใช้ระบบแบ่งเขต แบบเขตเดียวเบอร์เดียว หรือวันแมนวันโหวต

2. มาตรา 111-121 ที่มาของ ส.ว.ที่มาจากการสรรหาผสมกับเลือกตั้ง ให้กลับไปใช้ตามรัฐธรรมนูญปี 2540 คือให้มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด

3. มาตรา 190 การทำหนังสือสนธิสัญญาที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ให้มีการกำหนดประเภทสนธิสัญญาที่จะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ให้เกิดความชัดเจน

4. มาตรา 237 ให้ยกเลิกการยุบพรรคและการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรค โดยให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเฉพาะตัวผู้สมัคร ส.ส.ที่กระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง

5. มาตรา 265 ให้ ส.ส.สามารถดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ อาทิ การเข้ารับตำแหน่งเลขานุการ หรือที่ปรึกษารัฐมนตรี

6. มาตรา 266 ให้ ส.ส.และ ส.ว.สามารถเข้าไปประสานหน่วยราชการต่างๆในการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน

หวังแก้รัฐธรรมนูญยกพวง 6 ประเด็น เต็มพิกัด

จากปรากฏการณ์ความเคลื่อนไหวในการขับเคลื่อนเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ ชี้ให้เห็นว่า นักการเมืองส่วนใหญ่ ทั้งจากฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และสมาชิกวุฒิสภา ต่างมองว่า

รัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน มีปัญหาอุปสรรคบางประการที่ทำให้รัฐบาลบริหารราชการไม่ราบรื่น

ขณะที่บางส่วนถึงขั้นฟันธง รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เพราะมีที่มาจากการรัฐประหาร

กลายเป็นปมปัญหาทำให้ประชาชนเกิดความขัดแย้ง แตกแยก

จึงมุ่งหวังที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อทำให้เกิดความสมานฉันท์ ในบ้านเมือง

อย่างไรก็ตาม แม้วิป 3 ฝ่ายจะหารือกันจนได้ข้อสรุปร่วมกันในเบื้องต้นว่า จะให้คณะกรรมการสมานฉันท์ฯเป็นผู้ดำเนินการยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ประเด็น

แต่เส้นทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะราบรื่นหรือไม่ ยังเป็นปัญหา เพราะจากร่องรอยที่ปรากฏยังมีความเห็นขัดแย้งกันอยู่อีกหลายปม ทั้งในสภาและนอกสภา

สำหรับปมขัดแย้งในสภานั้น ก็อย่างที่เห็นกันว่ามีอยู่ทั้งในพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง พรรคฝ่ายค้าน และวุฒิสภา

พรรคประชาธิปัตย์ แกนนำรัฐบาล ยังมีทีท่าไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นที่จะแก้ไขเรื่องเขตเลือกตั้งจากพวงใหญ่แบ่งเขตเรียงเบอร์ กลับไปเป็นแบบแบ่งเขต เขตละคน หรือวันแมนวันโหวต

แถมยังมีเสียงสอดแทรกอยากให้มีการตั้ง ส.ส.ร.3 ขึ้นมาพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ และต้องมีการทำประชามติ

ในขณะที่พรรคร่วมรัฐบาล ต้องการให้แก้ไขใน 2 ประเด็นหลักก่อน คือ เรื่องการแบ่งเขต เขตละคน และการทำสนธิ- สัญญาโดยไม่ต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา

ที่สำคัญ ไม่เห็นด้วยกับการตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมาพิจารณาแก้ไข รัฐธรรมนูญ แต่ต้องการให้ ส.ส.และ ส.ว.เข้าชื่อเสนอแก้ไข โดยไม่ต้องทำประชามติ

หันมาทางฝ่ายค้าน พรรคเพื่อไทย และ ส.ว.บางส่วน ต้องการให้มีการแก้ไขทั้ง 6 ประเด็นรวด โดยไม่ต้องตั้ง ส.ส.ร.

ขณะที่ ส.ว.อีกส่วนหนึ่ง ค้านหัวชนฝา ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้

ต่างฝ่ายต่างมีธงของตัวเอง เชื่อได้ว่าต้องมีการเล่นเกม ยื้อกันอีกหลายตลบ

ส่วนปมขัดแย้งนอกสภา ก็มีร่องรอยปรากฏให้เห็นชัดเจน

กลุ่มเสื้อแดงที่แนบแน่นอยู่กับ "นายใหญ่" และเคลื่อนไหวสอดรับกับแนวทางของฝ่ายค้าน พรรคเพื่อไทย ประกาศจุดยืนหนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ประเด็น ตามแนวทางคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ

แถมยังมีเป้าหมายไปไกลกว่านั้น คือ ต้องการให้นำรัฐธรรมนูญปี 2540 กลับมาใช้แทนรัฐธรรมนูญปี 2550

ในขณะที่กลุ่มเสื้อเหลือง ขวางลำคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญเต็มที่ พร้อมประกาศจะออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านทุกรูปแบบ

กลายเป็นเงื่อนไขที่อาจนำไปสู่การเผชิญหน้าแตกหักระลอกใหม่

"ทีมข่าวการเมืองไทยรัฐ" ได้ติดตามความเคลื่อนไหวในการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด เราขอบอกว่า

ที่ผ่านมาประเทศไทยมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญมาแล้ว 18 ฉบับ

โดยเฉพาะในยุคปฏิรูปการเมือง ที่มีการจัดตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 ในห้วงนั้น ผู้ร่างรัฐธรรมนูญ ต้องการตีกรอบให้นักการเมืองที่เข้ามาใช้อำนาจบริหารประเทศ เป็นนักการเมืองที่สะอาด บริสุทธิ์ผุดผ่อง

จึงกำหนดให้มีองค์กรอิสระต่างๆเข้ามาตรวจสอบนักการเมือง แบบละเอียดยิบ

ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา และศาลรัฐธรรมนูญ

เพื่อป้องกันนักการเมืองซื้อเสียง โกงเลือกตั้ง เข้ามาใช้อำนาจรัฐทุจริตคอรัปชัน แสวงหาผลประโยชน์

ซึ่งเป็นต้นตอของวงจรอุบาทว์ ซื้อเสียง ถอนทุน ทำให้ ประเทศประสบวิกฤติ ส่งผลให้การเมืองล้มลุกคลุกคลานมาตลอด

แม้รัฐธรรมนูญปี 2540 ถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดฉบับหนึ่ง มีองค์กรอิสระตรวจสอบนักการเมืองแบบเข้มข้น

แต่สุดท้ายองค์กรอิสระบางแห่งก็ถูกแทรกแซง กลายเป็นเมืองขึ้นของอำนาจการเมือง ในขณะที่นักการเมืองก็ทุจริตคอรัปชันกันอย่างมโหฬาร จนโดนรัฐประหารยึดอำนาจ

นำมาสู่การร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ที่มีการวางกรอบป้องกันนักการเมืองซื้อเสียง โกงเลือกตั้ง ทุจริต ถอนทุน เข้มงวดหนักขึ้นไปอีก จนแทบกระดิกตัวไม่ได้

โดยเฉพาะมาตรการยุบพรรค ตัดสิทธิเลือกตั้งหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรค 5 ปี กรณีผู้สมัคร ส.ส.ทุจริตเลือกตั้ง

ส่งผลให้มีการยุบพรรคการเมืองไปแล้วหลายพรรค มาตรการดังกล่าวทำให้นักเลือกตั้งมองว่าเป็นอุปสรรคในการทำหน้าที่ ไม่เป็นประชาธิปไตย

จึงตั้งแท่นที่จะแก้ไข เพื่อให้การเมืองเดินได้สะดวกยิ่งขึ้น

พยายามอ้างกันสวยหรูว่า เป็นการปฏิรูปการเมือง เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งแตกแยกในสังคม เพื่อสร้างความสมานฉันท์ขึ้นในประเทศ

ที่สำคัญ หลังจากมีการยุบพรรค ตัดสิทธิเลือกตั้งนักการเมืองบ้านเลขที่ 111 และ 109

สิ่งที่ตามมาก็คือ มีรัฐมนตรีนอมินีเข้ามาทำหน้าที่เต็มไปหมด โดยมีแกนนำในบ้านเลขที่ 111 และ 109 ที่ถูกเว้นวรรคการเมือง คอยชักใยเบื้องหลัง

แน่นอน คนเหล่านี้อยากหาช่องปลดล็อก เพื่อกลับเข้ามาเล่นในเวทีอำนาจเอง

ตรงนี้ คือเงื่อนปมสำคัญที่ทำให้มีการเคลื่อนไหวแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อขยับเข้าใกล้เป้าหมายที่ต้องการ

อย่างไรก็ตาม ทีมของเราขอชี้ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ตั้งแท่นกันไว้ 6 ประเด็น ที่สุดแล้วไม่ว่าจะแก้ไขได้กี่ประเด็น ก็ตาม

สิ่งที่จะได้จริงๆ ก็แค่มีรัฐธรรมนูญเพิ่มขึ้นอีกฉบับ แต่ยังไม่ได้ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อย่างแท้จริง

เพราะการที่จะมีประชาธิปไตยที่แท้จริง ทั้งนักการเมือง และประชาชนจะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมกันครั้งใหญ่

ถ้าคนไทยยังมีพฤติกรรมเลือกตั้งแบบเดิมๆ นักการเมืองยังมีสันดานแบบเก่าๆ

เห็นแก่ตัว เห็นแก่ได้ เห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนตัว มากกว่าส่วนรวม

แก้รัฐธรรมนูญกันยังไง ก็หนีวงจรอุบาทว์ไม่พ้น.

"ทีมการเมือง"