วันอังคารที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2552

ยังไงก็ไม่เร็ว

ที่มา ไทยรัฐ

ผลการสำรวจความเห็นประชาชน 77 เปอร์เซ็นต์เห็นด้วยให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ

ถือเป็นคำตอบที่หนักแน่นเพียงพอที่ "นายกฯอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" ต้องยอมแก้ไขรัฐธรรมนูญตามที่คุณขอมาเพียงแต่ "นายกฯอภิสิทธิ์" ต้องแสดงลีลาปลาดุกยักเงี่ยง เพื่อไม่ให้การแก้รัฐธรรมนูญรีบร้อนรวบรัดจนเกินไป

คือตั้งเงื่อนไขให้ประชาชนออกเสียงประชามติ "เห็นชอบ" ก่อนเริ่มกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ประเด็น

"แม่ลูกจันทร์" เห็นด้วยกับนายกฯอภิสิทธิ์เต็มประตู

เพราะการให้ประชาชนทั่วประเทศออกเสียงประชามติ จะปลดชนวนขัดแย้งไม่ให้บานปลาย

อย่างไรก็ตาม การแก้รัฐธรรมนูญ ไม่ใช่แค่ 6 เดือนเสร็จอย่างที่ "ชินวรณ์ บุณยเกียรติ" ประธานวิปรัฐบาลฉายหนังโฆษณา

แต่...แต่ถ้าอ่านกฎหมายให้ดีๆ เกมแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ อาจลากยาวไปได้ถึงปีครึ่งอย่างสบายๆ

โปรดอย่าเถียง "แม่ลูกจันทร์" จะสาธยายให้ฟัง

สมมุติว่า "นายกฯอภิสิทธิ์" ยอมให้แก้ไขรัฐธรรมนูญตั้งแต่วันนี้ กว่าจะแก้รัฐธรรมนูญเสร็จ กว่าจะยุบสภาเลือกตั้งใหม่ จะต้องใช้เวลา 18 เดือน

หรือประมาณเดือนเมษายน 2554 โน่นแหละโยม

เริ่มจากต้องหาข้อยุติว่า ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบการแก้รัฐธรรมนูญ? จะร่างแยกเป็น 6 ญัตติ? หรือจะร่างเป็นญัตติเดียว?

หลังจากยกร่างวางประเด็นเรียบร้อยก็ต้องเสนอให้ที่ประชุมรัฐสภาฯเห็นชอบร่วมกัน

เฉพาะขั้นนี้ก็น้ำลายแตกฟองไปแล้ว 2 เดือนฟรีๆ

จากนั้น ประธานรัฐสภาจะต้องส่งประเด็นแก้รัฐธรรมนูญไปให้ กกต.เตรียมจัดออกเสียงประชามติตามกติกา

ปัญหาอยู่ที่ พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติ เพิ่งคลอดผ่านสภาฯหยกๆ ยังไม่ทันตัดสายสะดือ

ยังต้องผ่านขั้นตอนเพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายอีก 2 เดือน หรือประมาณเดือนธันวาคม

แต่ถึง พ.ร.ก.ออกเสียงประชามติ มีผลบังคับใช้ ก็ยังไม่สามารถจัดออกเสียงประชามติได้ทันที

เนื่องจาก ก.ม.กำหนดว่า การดำเนินการออกเสียงประชามติ จะต้องประกาศล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 90 วัน ถึง 120 วัน

ขั้นแรก ต้องกำหนดวันลงประชามติให้ประชาชนเตรียมตัว

ขั้นที่ 2 กกต.ต้องจัดส่งเอกสารข้อมูลให้ประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทำความเข้าใจก่อนลงประชามติอีก 30 วัน

ขั้นที่ 3 ก.ม.เปิดช่องให้ประชาชนยื่นฟ้องคัดค้านการทำประชามติต่อศาลปกครองก่อนลงประชามติ 30 วัน

ขั้นที่ 4 ประชาชนสามารถยื่นร้องคัดค้านก่อนประกาศผลประชามติอีก 30 วัน

เฉพาะกระบวนการทำประชามติ จนประกาศผลประชามติอย่างเป็นทางการ น่าจะใช้เวลา 6 เดือน หรือประมาณเดือนมิถุนายน

จากนั้นจึงจะเริ่มกระบวนการยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อรัฐสภา กว่าจะคลอดผ่านวาระ 1 ก็ต้องอภิปรายกันระเบิดเถิดเทิง

ทีนี้มาถึงการแปรญัตติวาระ 2 ซึ่งต้องลงมติเป็นรายมาตรา

แถมก่อนพิจารณาวาระ 3 ต้องเว้นวรรคอีกไม่ต่ำกว่า 15 วัน

ฟันธง...รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขใหม่ จะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการเดือนตุลาคมปีหน้าเป็นอย่างเร็ว!!

แต่ยัง...ยัง...ไม่ครบวงจร เพราะยังต้องแก้ ก.ม.ลูกให้สอดคล้องกับเนื้อหาใหม่ของรัฐธรรมนูญ เช่น พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส.ส.ว. พ.ร.บ. กกต. และ พ.ร.บ. พรรคการเมือง ฯลฯ

กว่าการแก้ไข ก.ม.ลูกจะผ่านสภาครบ 3 ฉบับ ก็ต้องบวกเวลาเพิ่มอีก 6 เดือน

การแก้รัฐธรรมนูญจึงต้องใช้เวลา 18 เดือน หรือปีครึ่งพอดี

นี่ขนาดสปีดซิ่งนรกแล้วนะท่านประธาน.

แม่ลูกจันทร์