วันอังคารที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2552

ใบอนุญาต 3 จี

ที่มา เดลินิวส์

ตอนแรกปล่อยข่าวว่า ใบอนุญาต โทรศัพท์มือถือ 3 จี ของ กทช. จะเคาะกันที่ใบละ 3 หมื่นล้าน เพื่อเอาเงินเข้า กทช.มาก ๆ เป็นเกียรติประวัติกับคณะกรรมการที่ใกล้จะหมดเทอม คิดได้ไงไม่รู้

ทั้งหมดมี 4 ใบ

ล่าสุด ประเสริฐ อภิปุญญา รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ออกมาบอกว่า ที่ประชุม กทช.มีมติเห็นชอบ ราคาเริ่มต้น คลื่นความถี่ 10 กิกะเฮิรตซ์ ที่ 4,600 ล้าน และ 5,200 ล้าน ที่ 15 กิกะเฮิรตซ์ โดยเป็นราคาที่ประเมินจากมูลค่าความถี่ตาม ที่บริษัทเนร่าที่ปรึกษาเสนอ

พร้อมกับย้ำว่า ใบอนุญาตที่ออกมาต่ำกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ ไม่ได้เป็นการเอื้อเอกชนแต่อย่างใด

ต้องบอกว่า เป็นความกล้าหาญของ กทช.ที่ต้องปรบมือให้ จากเดิมที่เหยาะแหยะ ทำอะไรไม่เป็นโล้เป็นพาย แทบไม่มีผลงานให้กล่าวขวัญถึง จนมีข่าวจะมีการเปิดประมูลขายใบอนุญาต 3 จี นี่ล่ะ

โดยย่อ ๆ 3 จี คือสื่อของคน รุ่นใหม่ เป็นเทคโนโลยีล่าสุด ที่หลายประเทศมีใช้แล้ว ในลาว กัมพูชา ก็ใช้ 3 จี แล้ว ระบบนี้รับส่งข้อมูลความเร็วสูง ทำให้การติดต่อสื่อสารรวดเร็วมาก และมีรูปแบบใหม่ ๆ มากขึ้น เช่น เป็นทั้งเครื่องรับ-ส่งแฟกซ์ โทรศัพท์ ต่างประเทศ ประชุมทางไกล ดูหนัง ฟังเพลง เล่นเน็ตฯ สารพัดสารเพ

เป็นมัลติมีเดียครบวงจร

การเคาะเริ่มต้นไม่โหด จะทำให้ประชาชนมีโอกาสใช้โทรศัพท์ 3 จี ในราคาไม่แพง และแพร่หลายมากขึ้น เอกชนไม่ใช่กาชาด ค่าใบอนุญาตแพงเท่าไหร่ บริษัททั้งหลายจะบวกเข้าไปเป็นต้นทุน ทั้งสิ้น

ไม่มีหรอกที่แบกไว้เอง เพราะนี่คือ ธุรกิจ ที่ต้องมีกำไร

ที่ญี่ปุ่น ไม่มีประมูล เค้าให้เอกชนรายเดิมไปเลย ขอให้ประชาชนได้แล้วกัน ที่สิงคโปร์ ใช้เกณฑ์แบบประกวดนางงาม ราคาขั้นต่ำมี แต่ไม่เน้น ที่เน้นคือเรื่อง การพัฒนา ค่าโทรฯถูก มีคนใช้มาก ๆ ของมีคุณภาพ

ที่ มาเลเซีย ใบอนุญาตไม่ถึง 2,000 ล้าน ด้วยซ้ำ !?!

กทช.เที่ยวนี้จึงควรได้รับคำชม ส่วน ศุภชัย เจียรวนนท์ ซีอีโอของ “ทรู” ถือว่า กล้ามาก ที่ออกมาสู้ยิบตา เพื่อขอความเป็นธรรมบริษัทลูกไทย ที่ควรได้รับโอกาสให้สามารถต่อกรกับบริษัทยักษ์รัฐวิสาหกิจข้ามชาติได้

เสี่ยงมากนะเนี่ย

แต่ถือว่า ประสบความสำเร็จไปแล้วขั้นหนึ่ง ก็ทำไมต้องเอา “เงิน” เป็นตัวตั้งเล่า ไอทีวี ที่ต้องจอมืดและ ทุบทิ้ง กลายเป็น ไทยพีบีเอส หรือ ช่อง 11 สาขา 2 นอกจากเพราะเป็นของ “ทักษิณ” ต้องทำลายแล้ว

ยังเดินผิดทางตั้งแต่ต้น เพราะเอา ราคาประมูล ตัดสินทั้งหมดนี่ล่ะ !!!

แถมดัดจริต คิดตื้น ๆ ให้เอกชน 10 ราย ถือหุ้นคนละ 10% เท่ากัน อ้าง ไม่ให้ผูกขาด โดยไม่มองว่า ทางธุรกิจมันจะเดินยังไง ไม่มีใครทุบโต๊ะได้เลย ค่าสัมปทานก็แพงโคตร ๆ 2 หมื่นล้าน

ขาดทุนบักโกรก ตั้งแต่ตั้งไข่สิ

ความฝันที่จะให้เป็นทีวีทางเลือก ต่างจากช่องเก่า ๆ เป็นได้แค่ฝันสลาย ในที่สุด ก็เมื่อมีบทเรียนมาให้เห็นกันแบบจะจะเช่นนี้แล้ว ทำไมต้องผิดซ้ำซากอีก

ที่ กทช.ทำ จึงถูกต้องแล้ว.

ดาวประกายพรึก