วันอังคารที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2552

บันทึกอดีตสหายเดือนตุลา:วงจรยุทธ

ที่มา Thai E-News


โดย วันลา วันวิไล
ที่มา หนังสือ"ตะวันตกที่ตะนาวศรี"

มีการแสดงละครหลายครั้ง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องประวัติของวีรชนปฏิวัติ เช่น จิตร ภูมิศักดิ์ ครูครอง จินดาวงศ์ ฉากสุดท้ายของละครมักเป็นการเสียสละของวีรชน เมื่อสิ้นเสียงประทัดแทนเสียงปืนซึ่งเด็ดชีพวีรชนจนล้มลงกองกับพื้น ป่าทั้งป่าจะเงียบสงัดได้ยินแต่เสียงเพลงคลอเบาๆ ปนเสียงสะอื้นของผู้ชมเท่านั้น


5. วงจรยุทธ


ส่วนหนึ่งของโลกสร้างจากศิลปวัฒนธรรม กองทัพแม้จะเดินด้วยท้อง แต่บางครั้งก็เดินด้วยเสียงเพลง มีวงดนตรีชื่อ “วงจรยุทธ” เกิดขึ้นในป่าหลายแห่ง

หลังจากมีนักศึกษาเข้าไปในปี 2519 ทั้งภาคใต้และภาคอีสาน รวมทั้งเขตเขาตะนาวศรีด้วย คิดว่าชื่อมาพ้องกันเพราะลักษณะกลุ่มคนเล่นดนตรี ต้องสังกัดหน่วยทหารที่รบเคลื่อนที่แบบจรยุทธ

ไม่รู้ว่าที่อื่นมีเหตุผลอื่นหรือไม่ แต่ที่ตะนาวศรีเป็นวง “จรยุทธ” จริงๆ เพราะผู้เล่นแต่ละคนล้วนไม่ได้เป็นนักดนตรีที่ฝึกฝนเล่าเรียนมา ยิ่งการเล่นบนเวที ก็เพียงแต่ซ้อมกันหลวมๆ ก่อนแสดงเท่านั้น คล้ายกันกับนักรบจรยุทธส่วนใหญ่ที่อาศัยความคล่องส่วนตัวและมั่วกันเอง มีน้อยคนมากที่ได้ฝึกฝนศึกษาจริงจังจากแนวหลัง ซึ่งได้แก่ เขตที่มั่นภาคเหนือ,อีสาน หรือลาว, เวียตนาม และจีนในยุคแรกๆ

หลังจากงานเลี้ยงฉลองต้อนรับเพื่อนใหม่เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2519 แล้ว ผมนึกอยากจะมีกีตาร์สักตัว ยามพักงานไร่ตอนเที่ยงขณะที่เพื่อนๆ นอนเอาแรง ฉวยขวานกับเลื่อยไปตัดไม้ไผ่ตงหลังค่าย เลือกที่ต้นแก่จัดโคนใหญ่สัก 7-8 นิ้ว ได้มาแล้วก็ผ่า 2 ปล้องด้านบนทำเป็นคอกีตาร์ส่วนปล้องสุดท้ายเจาะเป็นโพรง ไปขอสายเอ็นที่ราวตากผ้ามาได้ขึงเป็น 4 สาย พอดีดดูกลับไม่มีเสียงดังเลย

ไม่นานนักเหล่านักรบไปขอซื้อกีตาร์ของชาวกะเหรี่ยงมาตัวหนึ่ง ขุดด้วยไม้ตัวเล็กขนาดโตกว่า ซึงอีสานเล็กน้อย ลูกบิดทำด้วยไม้ขึ้นด้วยลวด 6 สาย เสียงดังพอฟัง

ได้ แต่ช่องเสียง (Fret) มีตำแหน่งไม่เป็นบันไดเสียงแบบกีตาร์ นักรบคนหนึ่งช่วยหาเหล็กมาทำเฟรทใหม่โดยเทียบเสียงกับ ฮาโมนิการ์ เย็นวันหนึ่งผมก็เล่นเพลงคนกับควายให้นักรบฟังที่หน้าโรงครัว

ต่อมาเมื่อมีเพื่อนที่เล่นกีตาร์ได้ดีมาร่วม เราก็เริ่มทำกีตาร์กันเองโดยความช่วยเหลือของลุงพร นักรบอาวุโสใจดี ใช้เวลานอนเฉพาะตอนเที่ยงไปเลื่อยไม้จำปาขนาดใหญ่กว้างศอก ยาว 3 ศอก แบกกันมาจากไร่ขุดเป็นตัวกีตาร์โดยผมเป็นคนวาดแบบให้ แบบของกีตาร์นั้นนึกเดาเอาจากที่เคยเห็นมาขนาดกว้าง , ยาว ขนาดของคอล้วนกะเอาทั้งนั้น เราใช้เวลาทำร่วมเดือน เมื่อหน่วยขนส่งเอาสายกีตาร์มาให้วันนั้นก็ได้ลองจับคอร์ดดู โอ้โฮ มันไพเราะราวกับว่าไม่มีเครื่องดนตรีชิ้นไหนในโลกจะเทียบได้

เมื่องานบันเทิงมาถึงเราก็มีกีตาร์ทำเอง 2 ตัว รวมกับกีตาร์กะเหรี่ยงอีกตัว วงดนตรีเล็กๆ ก็ได้ขึ้นเวทีแสดงเป็นครั้งแรก แต่นั้นมาวงดนตรีแบบจรยุทธก็ถูกเรียกขานว่า “วงจรยุทธ” และได้รับใช้พี่น้องนักรบและชาวบ้านกะเหรี่ยงในงานบันเทิงเกือบทุกงาน ร้องและเล่น ทั้งเพลงเพื่อชีวิตเช่นของ “คาราวาน” และเพลงที่แต่งขึ้นเองจากบรรทัดฐานทางดนตรีชั้นประถมที่รู้จักคอร์ดไมเนอร์และเซเว่นเพียงไม่กี่คอร์ดเท่านั้น

เขตอื่นที่ฐานขนาดใหญ่เขาจะมีหน่วยศิลป์ ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงในการพัฒนางานศิลปร้องรำทำเพลงเพื่อแสดงให้ประชาชนในเขตงานหรือให้ทหารป่าได้ดูชม แต่ทีนี่เป็นหน่วยเล็กๆเรียกว่าหน่วยบันเทิง ทำหน้าที่จัดงานบันเทิงเป็นครั้งคราวเท่านั้น แต่หนุ่มๆสาวๆที่นั่นเกือบทุกคนจะชื่นชอบงานบันเทิงมาก เพราะนานๆครั้งเราจะได้ดูการร่ายรำ ร้องเพลง และทั้งได้แสดงให้ผู้อื่นดูด้วย รวมทั้งกลางวันจะได้กินขนมหวาน เช่น กล้วย มัน ลูกเดือย ต้มน้ำตาล หรือข้าวเหนียวปุ๊กลุ๊ก ตอนเย็นอาจเป็นอาหารอร่อยมื้อใหญ่สักมื้อหนึ่งที่มีเนื้อหมูในชามน้ำแกงให้ตักบ้างคนละ 3-4 ชิ้น

พอพลบค่ำหลังอาบน้ำอาบท่าแล้ว บรรยากาศในป่าเหมือนบ้านไร่บ้านนาที่นานๆจะมีลิเกหรือหนังกลางแปลงมาให้ดู หลายๆคนจะครึ้มอกครึ้มใจดั่งว่าได้รอวันเวลานี้มานานแล้ว

บันเทิงในป่าก็เหมือนงานวิวิธรีวิวของนักเรียนตอนปิดเทอมนั่นเอง มีทั้งร้องเพลงหมู่ ระบำรำฟ้อน ละครและดนตรี กิจกรรมที่ผู้ชมได้มีส่วนร่วมด้วยคือรำวง และตีไม้ โดยจัดเป็นรอบหญิงรอบชายไม่ให้ปนกัน การตีไม้ให้ผู้เล่นแต่ละคนถือไม้ 2 อันจับคู่กันตีและเต้นตามจังหวะ 4/4 คล้ายรำวงแต่เร็วกว่า สนุกสนานกันมากตรงที่ดนตรีเร่งเร็วขึ้นจนคนเล่นเหนื่อยเหงื่อไหลไคลย้อยกันทั่ว ส่วนทำนองดนตรีนั้นเข้าใจว่ามาจากเพลงพื้นบ้านของจีน ผมชอบทำนองนี้มากแม้บางคนจะรู้สึกว่าเป็นจีนมากไปหน่อย เคลิ้มๆไปนึกว่าเราอยู่ในมณฑลยูนาน

มีอยู่ช่วงหนึ่งเราฮิตเพลงพื้นบ้านไทยกันมากทุกงานจะมีการแต่งเพลงลำตัด,เพลงมะลิลา, เพลงอาใย และเพลงเกี่ยวข้าว เล่นกัน ผมเองก็เคยแต่งลิเกทั้งเรื่อง โดยดัดแปลงกลอนลิเกจากเพลงดาวลูกไก่ ของพร ภิรมย์ ล้อการทำรัฐประหารของพลเอกฉลาดในตอนนั้น

วัฒนธรรมที่นั้นยอมรับเฉพาะเพลงไทยที่เผยแพร่ทางสถานีวิทยุคลื่นสั้น ส.ป.ท. และเพลงจีน(ปฏิวัติ)เท่านั้น เมื่อเพื่อนนักเขียนของผมคนหนึ่งแต่งเพลงพื้นบ้านว่า โอ้เจ้าดอกเดซี่ ก็ยังถูกหลายคนค้อนให้ด้วยความรู้สึกไม่คุ้นเคย

เวทีของเราเป็นลานดิน ด้านหน้าฉากพื้นแดงมีตะเกียงเจ้าพายุที่ให้แสงนวล

ทุกครั้งที่มีงานบันเทิงก็ต้องเห็นภาพเช่นนี้ ภาพฉากซ้ำๆ แต่รายการแสดงมักไม่ค่อยซ้ำ ยกเว้นเพลงหมู่ที่น่าเบื่อหน่าย กับระบำรายการหนึ่งที่ผมประทับใจที่สุด นั่นคือ ระบำการผลิต เป็นรายการยอดนิยมชนิดเดียวที่แสดงซ้ำแล้วซ้ำเล่าและผู้ชมก็ปรบมือชื่นชมทุกครั้ง

พอกลองขึ้นจังหวะคล้ายรำวง แอคคอร์เดี้ยนก็ส่งเสียงทำนองอันไพเราะคึกคักออกมา นักระบำแต่งตัวแบบชาวนา ผ้าขะม้าคาดเอวและโพกหัวก็เต้นด้วยลีลาท่าทางอันสวยงาม ท่าเต้นดัดแปลงจากกิจกรรมในกระบวนการผลิตข้าวตั้งแต่ หว่าน ดำ ดายหญ้า ไล่นก เกี่ยวข้าว และฟาดข้าว ดนตรีเป็นท่วงทำนองพื้นบ้านจีนที่สนุกสนานทำให้ผู้ชมยิ้มแย้มแจ่มใส คล้ายกับยิ้มของชาวนา คือยิ้มที่ได้เห็นลีลาระบำของตัวเอง ระบำของผู้ทำงานไถหว่านอันยากเข็ญ

"งิ้ว" ที่มีรูปแบบเหมือนกับงิ้วล้อการเมืองของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นการแสดงอีกอย่างหนึ่งที่ได้รับความนิยม และเรียกเสียงหัวเราะได้เสมอ

เสื้อผ้าตัวละครงิ้วก็คือ ผ้าถุง มุ้ง ผ้าห่มนอนนั่นเอง แต่แต่งได้คล้ายของจริงมาก บทร้องจะมาจากเพลงจีนที่รู้จักกันดี เช่น จอมใจจักรพรรดิ ส่วนบทเจรจาก็ใช้ภาษาไทยแท้ เนื้อหามักเป็นไซอิ๋ว ล้อเลียนเรื่องราวต่างๆ กระทั่งล้อลัทธิแก้รัสเซียตามวิธีคิดของจีนในสมัยนั้น ผมชอบงิ้วที่รูปแบบสนุก บางครั้งยังไปช่วยตีกลองตุ้งแช่ให้เขาด้วย ส่วนเนื้อเรื่องลัทธิแก้นั้นก็ทำลืมๆ ไปบ้าง

เมื่อมีการแสดงร้องเพลงหมู่ ซึ่งมักจะเป็นเพลงมาร์ชกองทัพปลดแอก ผมมักจะหลบไปทำอย่างอื่น เพราะเพลงขลังๆพวกนี้เมื่อร้องโดยหมู่ทั้งเด็กผู้ใหญ่ บางทีก็คนเริ่มชรา ฟังแล้วมันจะเริ่มหมดอารมณ์ แต่ก็มีเพลงหมู่ที่ผมชอบ คือเพลงของชาวกะเหรี่ยง เพลงของพวกเขาบางเพลงได้รับอิทธิพลมาจากหมอสอนศาสนาคริสต์ ที่น่าแปลกก็คือเพลงที่เป็นภาษากะเหรี่ยง เนื้อหาปฏิวัติ แต่ทำนองเป็นพื้นบ้านอเมริกัน ทำนอง Clementine

ปือเสาะตาเก ลือพัวะพูตา ฮาเกเถาะ ลือตาเดอคา

เสาะไลมานี พัวะพูอากอ มาเตอดีดา เตอเกอเตอ


นอกจากนี้ ยังมีเพลงที่พวกเราคนหนึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญภาษากะเหรี่ยงถึงขั้นอ่านออกเขียนได้แต่งให้พวกเขาร้อง โดยให้เนื้อร้องเป็นภาษากะเหรี่ยงที่แปลคำต่อคำมาจาก “คติพจน์” ท่อนหนึ่งของเหมาเจ๋อตง

ปือพัวะพู อูแถ่ ปือพัวะพู เลาะลือกือมาเถาะเก ตากงีตาโกล ลึกอคุครือ
ปือพัวะพู อูแถ่ ปือพัวะพู เลาะลือกือมาเถาะเก ตากงีตาโกล ลุกอคุครือ

ประชาชน มีแต่ประชาชนเท่านั้นที่เป็นพลังดัน ในการสร้างสรรค์ประวัติศาสตร์โลก
ประชาชนมีแต่ประชาชนเท่านั้นที่เป็นพลังดัน ในการสร้างสรรค์ ประวัติศาสตร์โลก


มีการแสดงละครหลายครั้งซึ่งส่วนให่ญ่จะเป็นเรื่องประวัติของวีรชนปฏิวัติ เช่น จิตร ภูมิศักดิ์ ครูครอง จินดาวงศ์ เรามีทั้งนักแต่งบทละคร ผู้กำกับ และผู้แต่งกายให้กับนักแสดงที่ยอดเยี่ยม ทั้งๆ ที่ศิลปเหล่านี้ล้วนจำมาจากการได้ดู และทดลองทำเองในช่วงเวลาอันจำกัดทั้งสิ้น

ผมมักจะรับหน้าที่ทำเพลงประกอบ โดยเลือกเพลงจากเทปมาเปิด หรือบางครั้งก็เล่นและร้องสด อยู่หลังเวที ฉากสุดท้ายของละครมักเป็นการเสียสละของวีรชน เมื่อสิ้นเสียงประทัดแทนเสียงปืนซึ่งเด็ดชีพวีรชนจนล้มลงกองกับพื้น ป่าทั้งป่าจะเงียบสงัดได้ยินแต่เสียงเพลงคลอเบาๆ ปนเสียงสะอื้นของผู้ชมเท่านั้น

อารมณ์ความรู้สึกของคนเราย่อมขึ้นอยู่กับความคิดจิตใจพื้นฐาน รวมทั้งความเชื่อและศรัทธา ศิลปะที่เราเสพย์กันในเวลานั้นหากให้กลุ่มคนอีกฝ่ายหนึ่งมาดู เขาคงหัวเราะอย่างงุนงง และอาจถึงกับปรามาสอย่างคึกคะนอง หรือเมื่อเวลาผ่านเลยกับความคิดอ่านเปลี่ยนไป อารมณ์รู้สึกและความเข้าใจก็ย่อมเปลี่ยนไป ด้วยในการยอมรับ เช่นเดียวกับที่เรามักรู้สึกว่าอะไรๆ มันเชยอยู่เสมอเมื่อผ่านยุคสมัยมานาน

ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกที่ผมเห็นเพื่อนบางคนทำหน้าไม่สบายใจเมื่อได้ยินเพลงเก่าจากป่าเขา และบางคนกลับทำหน้าอิ่มเอิบเมื่อได้ยินเพลงที่เคยหันหลังให้เมื่อครั้งก่อน ผมเพียงแต่แปลกที่ระยะเวลาแค่ไม่กี่ปี ซึ่งถ้าเราอยู่เหนือมิติของกาลเวลา โลกก็เหมือนกันหยุดอยู่กับที่แต่คนมักจะเปลี่ยนไป ยิ่งการครอบงำทางวัฒนธรรมและการเมืองยิ่งทำให้คนเปลี่ยนไปอย่างน่าตกใจ

วงจรยุทธทั้งวงมีคนรู้เรื่องดนตรีน้อยมาก คนที่รู้ดนตรีขนาดอ่านเขียนโน๊ตได้จะมีก็แต่ “สหายเก่า” ผู้ที่ชื่นชอบร้องเพลงจีน ประเภท ตงฟางหง (บูรพาแดง) หรือ เหว่ยต้าตี่เป่ยจิง (ปักกิ่งที่ยิ่งใหญ่) แต่พวกเขาไม่ค่อยได้เขียนเพลง เกือบจะเป็นผมคนเดียวที่กล้าเขียนเพลงแล้วเล่นกับเพื่อน 2-3 คน ภายหลังผมถึงได้รู้สึกมีความสุขและภูมิใจ มิใช่เพราะได้เขียนและทำเพลงดีเด่นอะไร แต่เพราะผมมีเพื่อนที่ช่วยกันทำให้ครึกครื้น เป็นจริงเป็นจัง พูดคุยและฝึกซ้อมกันเพื่อจะได้เล่นให้มิตรสหายได้ดูกันสักครั้งหนึ่งในคืนที่แม้แต่จั๊กจั่นก็พลอยระริกระรี้ไปกับเราด้วย

วงจรยุทธเล่นเป็นครั้งสุดท้ายในงานฉลองเสียงปืนแตก 7 สิงหาคม 2523 หลังจากที่กลุ่มนักศึกษากลายเป็นเด็กมีปัญหาและเริ่มเข้าใจการปฏิวัติน้อยลง ผมขอให้เพื่อนที่เล่นดนตรีแต่งชุดดำทั้งหมด ไม่ได้ตั้งใจจะไว้อาลัย แต่รู้ตัวว่าคงได้เล่นเป็นงานสุดท้ายแล้ว เป็นครั้งแรกที่เอาเพลงฝรั่งมาร้อง คือ Blowing In The wind เราซ้อมมาดีแต่เล่นได้ไม่ดีนัก คืนนั้นมีเพลงชีวิตต้องสู้ หรือ Blowing In The wind ภาคภาษาไทย ฉบับของผมเอง

ภายหลังมีผู้เข้าใจว่าเราร้องเพลงประท้วง “สงคราม” เรายังได้แสดงออกอย่างตรงไปตรงมาเมื่อปฏิเสธคำขอให้ร้องเพลง ชนบทล้อมเมือง ที่เขียนไว้อย่างชัดเจนถึงยุทธศาสตร์การต่อสู้ก่อนหน้านี้ และได้ร้องเพลง ระวีสีแดง ของอดีตวงกงล้อ เป็นเพลงสุดท้ายเพื่อแสดงความเคารพและรำลึกถึงความเชื่อ ความรุ่งโรจน์อย่างขมขื่น รายการคืนนั้นจบลงอย่างหมองๆ ไม่มีเสียงปรบมือ และแน่นอนไม่มีอีกต่อไปแล้ว

ในด้านความบันเทิงวงจรยุทธได้ทำหน้าที่ไม่ได้ดีไปกว่ากองเชียร์รำวงในงานวัด แต่จุดมุ่งหมายย่อมต่างกันลิบลับ เพลงแรกๆ ที่เราร้องอย่าง แสงดาวแห่งศรัทธา หรือ เปิบข้าว และเพลงท้ายๆ ที่ผมเขียนอย่าง บ้านป่ากระชิด แม้จะฟังไม่สนุกเท่าแต่ก็ต่างกันมากกับ หนุ่มนาข้าว-สาวนาเกลือ ไม่ว่ามันจะเป็นอย่างไร ผมเพียงหวังให้ลูกหลานรุ่นต่อไปอยู่ในโลกที่สดสวยขึ้นกว่าเดิม เพลงที่เคยร้อง ดนตรีที่เคยเล่นก็ล้วนหวังเช่นนี้เท่านั้น

บ้านป่ากระชิด


พักลงตรงโคน คดโค้ง กระชิดกลางดงใบดกร่มชื้น ชื่นชม
ใต้แดดอุ่นมีสายลม คอยพลิ้วพรม ให้รื่นรมย์ยามแดดกร้าน
ป่ากระชิดนี้ ที่นี่บ้านไพร กินนอนหลับฝันไม่พรั่นหวั่นไหว ใจหาญ

ปลายหนามเจ้าแหลมดำตำต้าน สู้ทนร้าวรานด้วยการหยัดกาย
ระเบิดอาจทุ่มลงตรงนี้ อย่าได้หนีขวัญหาย
หากเลือดแดงล้นโลมทราย จงซับซึมไว้ในต้น
ตอกย้ำเลือดข้นแก่คนต่อไป

นับไว้เป็นเพื่อนพึ่งพิง กระชิดเรือนอิงเจ้ามีมากมายถมไป
ป่าไม้พื้นที่กว้างใหญ่ แผ่คลุมคล้ายโอบกอดไว้เป็นวงล้อม
อบอุ่นใจนี้เดือนปีล่วงเลย หากมีชีวิตป่ากระชิดเอ๋ย ถิ่นเคยหล่อหลอม

จะกี่ชั่วกาลไกลก็ยอม เมื่อพร้อมจะอำลากลับไปหาบ้าน

*********
อ่านบันทึกก่อนหน้านี้ในซีรีส์ชุดนี้/บันทึกอดีตสหายเดือนตุลา:ตะวันตกที่ตะนาวศรี