วันอังคารที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2553

บทเรียน การสลาย สภาพ แปรผัน พลิกเปลี่ยน โจทก์ อาจเป็น จำเลย

ที่มา ข่าวสด

เหตุปัจจัยอะไรทำให้ความพยายาม "บังคับ" ใช้กฎหมายของรัฐบาล ของทหาร ของตำรวจและของผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัด ไม่ประสบความสำเร็จ

เห็นได้จากความล้มเหลวในการ "ขอพื้นที่คืน" ในวันที่ 10 เมษายน

เห็นได้จากการที่ "เสื้อแดง" ขอนแก่นปิดล้อมและไม่ยอมให้ทหารเคลื่อนกำลังออกจากสถานีรถไฟได้โดยราบรื่น

จากขอนแก่นแพร่ลามไปยังหนองบัวลำภู แพร่ลามไปยังอุดรธานี

จากขอนแก่นเห็นได้อย่างเด่นชัดยิ่งของการชุมนุมตั้งด่าน ปิดล้อมบนถนนพหลโยธินทั้งคู่ขนานและทางด่วนขาเข้ากทม. บริเวณปากซอยคลองหลวง 26 หลักกิโลเมตรที่ 36

ผลก็คือ ตำรวจจากหลายจังหวัด ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไม่สามารถเดินทางเข้ามาปฏิบัติการในกทม.ได้ตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา

นี่คือรูปธรรมแห่งการไม่สามารถ "บังคับ" ใช้กฎหมายได้ของ "อำนาจรัฐ"



ต้องยอมรับว่า ไม่ว่าการเคลื่อนไหวของรัฐบาล ไม่ว่าการเคลื่อนไหวของกองทัพ ไม่ว่าการเคลื่อนไหวของตำรวจ

ดำเนินไปอย่างไม่สามารถปิดเป็น "ความลับ" เอาไว้ได้

อย่างที่เรียกตามศัพท์ของนปช.แดงทั้งแผ่นดินว่า ในหมู่ทหารก็มี "ทหารแตงโม" ในหมู่ตำรวจก็มี "ตำรวจมะเขือเทศ"

ทุกครั้งที่ตำรวจจะเคลื่อนกำลังนปช.แดงทั้งแผ่นดินก็รู้

ทุกครั้งที่ทหารประชุมวางแผนจะรุกคืบเพื่อนำไปสู่การสลายและขอคืนพื้นที่นปช.แดงทั้งแผ่นดินก็รู้

เมื่อ "ความลับ" ไม่เป็นความลับเสียแล้ว ปฏิบัติการก็ยากจะสำเร็จ

ตรงนี้เองที่ทำให้ความต้องการของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ความต้องการของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เสมอเป็นเพียงความต้องการในลักษณะเงื้อง่าราคาแพง นั่นก็คือ คิดได้แต่ไม่สามารถแปรเป็นการปฏิบัติที่เป็นจริงได้

นับวันความเฉียบขาดของรัฐบาลก็เสมอเป็นเพียงคำขู่อันเลื่อนลอยและว่างเปล่า



เช่นเดียวกับ การดำรงคงอยู่ของการชุมนุม ณ แยกราชประสงค์ ทุกคนล้วนรับรู้ว่ารัฐบาลต้องเข้าจัดการเพื่อสลายการชุมนุมอย่างแน่นอน

เพียงแต่ว่าจะเป็นเมื่อใด จะเป็นวันไหนเท่านั้นเอง

ที่ทุกคนรู้ไม่เพียงเพราะว่ารัฐบาลแถลงผ่านศอฉ.ทุกวันว่ากำลังดำเนินมาตรการกดดันทุกวิถีทางเพื่อนำไปสู่การยึดคืนพื้นที่แยกราชประสงค์

หากรู้เพราะว่าไม่มีรัฐบาลใดยินยอมให้สภาพเช่นนี้ดำรงอยู่อย่างยืดเยื้อ

การดำรงอยู่อย่างยืดเยื้ออย่างแรกสุดก็คือสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจและธุรกิจอย่างชนิดเป็นลูกระนาด

อย่างต่อมา คือ สร้างความไม่พอใจที่ขยายไปสู่วงกว้างมากเป็นลำดับ

อย่างต่อมา คือ แทนที่รัฐบาลจะเป็นโจทก์ ตรงกันข้าม ยิ่งนานวันโจทก์ก็จะกลายเป็นจำเลย เพราะไม่สามารถจัดการอะไรได้

ในที่สุด ความเชื่อมั่นและศรัทธาต่อรัฐบาลก็จะเหลือน้อยลง น้อยลง



ปัญหาของรัฐบาลก็คือ จะจัดการสลายการชุมนุมอย่างไรจึงจะไม่เกิดความเสียหายติดตามมา

เพราะบทเรียนมีมาแล้วจากกรณีเดือนตุลาคม 2516 จากกรณีเดือนตุลาคม 2519 จากกรณีเดือนพฤษภาคม 2535 และล่าสุดคือจากกรณีเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553

ทันทีที่มีการสลายการชุมนุมเลือดก็จะไหลนองอย่างยากจะหลีกเลี่ยงได้พ้น