วันพฤหัสบดีที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

สัมภาษณ์เต็มอิ่ม “พงศ์เทพ เทพกาญจนา” วิเคราะห์เพื่อไทย ไขรหัสแก้รัฐธรรมนูญ

ที่มา ประชาชาติ



"ผมว่าคนใน 111 จำนวนหนึ่งเท่าที่ผมคุย เขาก็ยังคิดที่จะกลับเข้ามาทำงานด้านการเมืองอยู่"

อีก 16 เดือน คนการเมือง 111 คน จะคืนเวที
ภายใต้สิ่งแวดล้อมทางการเมืองที่ถูกจัดระบบ-วางระเบียบใหม่
หลายคนปรากฏตัวต่อสาธารณะ ร่วมกับพรรคการเมือง สม่ำเสมอ
บางคนให้ความเห็นทางการเมืองในฐานะ “ที่ปรึกษา”
บางคนคลุกวงใน ล้วงลึกถึงห้องประชุมคณะรัฐมนตรี
“พงษ์เทพ เทพกาญจนา” เคยปรากฏตัวบนเวทีเสื้อแดง และเคียงคู่ “ทักษิณ” ในฐานะ “โฆษกส่วนตัว”
เขาปรากฏความเห็น กับ “ประชาชาติธุรกิจ” ในฐานะ “นักกฏหมาย”

@ มองการแก้ไขรัฐธรรมนูญปัจจุบันอย่างไร
ปัญหาหลักของ รัฐธรรมนูญ 2550 ไม่ใช่เรื่องที่กำลังแก้ไขอยู่ตอนนี้ ทั้งระบบเลือกตั้ง ส.ส.หรือการพิจารณาเรื่องสนธิสัญญา ซึ่งเป็นเรื่องปลีกย่อยในรัฐธรรมนูญปี 2550 เพราะปัญหาหลักอยู่ที่พื้นฐานการสร้างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ขึ้นมา คือรัฐธรรมนูญถูกยกร่างขึ้นมาหลังการรัฐประหารยึดอำนาจ ที่คณะปฏิรูปฯเป็นคนเลือกผู้ที่จะมาเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ และยกร่างบนพื้นฐานความไม่เชื่อถือประชาชน คิดว่าประชาชน ซื้อสิทธิ์ขายเสียง ไม่มีความรู้ ที่จะตัดสินใจในปัญหาประเทศชาติ เมื่อพื้นฐานแบบนี้ เขาก็ไม่ได้ให้อำนาจอธิปไตยอยู่กับประชาชนแต่ไปอยู่กับคนกลุ่มเล็กๆ เช่น องค์กรอิสระและศาล ซึ่งมีจุดยึดโยงกับประชาชนน้อยมาก
ที่มาของ กกต. 5 คน ก็มีความพยายามจะถ่วงไม่ให้ถูกเสนอชื่อโดยกรรมการสรรหาและสุดท้ายก็เป็นศาลเสนอชื่อมาทั้งหมด จะเห็นได้ว่า ไม่ใช่กรณีปกติ ส่วน ป.ป.ช.และ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เขาก็ตั้งขึ้นมา และบุคคลเหล่านี้มีบทบาทเลือกสมาชิกวุฒิสภา 74 คน
คนหลายคนทำในสิ่งที่เห็นชัดๆ ว่าผิด และองค์กรที่เกี่ยวข้องก็รู้แต่ไม่ยอมทำอะไร แถมบางครั้งยังไปยกย่องเชิดชูให้ความดีความชอบ ทำให้องค์กรนั้นเสื่อมลง เพราะองค์กรนั้นได้ยอมรับการกระทำที่ไม่ถูกต้อง ตีตราประทับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสำคัญและเกิดขึ้นในหลายตำแหน่ง
กลไกหลายอย่างให้อำนาจบุคคลเหล่านี้มาก ขณะที่เขาได้แสดงความน่าเชื่อถือแค่ไหน? จะเห็นบทบาทประธาน กกต. เป็นอย่างไร? ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินที่มีเรื่องกับอดีตรักษาการผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินเป็นอย่างไร? ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีคลิปออกมา? ถ้าเป็นอย่างงั้นจริง แล้วทำงานต่อไปได้อย่างไร เอาข้อสอบมาให้คนอื่นดู? ... แต่คนเหล่านี้มีบทบาทในการใช้อำนาจเยอะแยะไปหมด
ข้อที่บกพร่องมากของ รัฐธรรมนูญ 50 ด้วยหลักวิชาการ เช่น ระบบการเลือกตั้งจากเดิม ส.ส.เขตละคนและบัญชีรายชื่อใช้เขตประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง ไปเป็นพวงแบบเดิมก่อน รัฐธรรมนูญ 2540 แล้วซอยบัญชีรายชื่อเป็น 8 เขต โดยกรรมาธิการยกร่างฯ บอกว่า ถ้าไม่เปลี่ยนระบบการเลือกตั้ง ก็เห็นๆ กัน อยู่ว่าพรรคไหนเข้าสภา จะเห็นได้ว่า ไม่ได้เปลี่ยนเพราะเหตุผลอย่างอื่นนอกจากป้องกันไม่ให้พรรคไทยรักไทยได้คะแนนเยอะ นอกจากนั้น มาตรา 309 ทำให้ประกาศและคำสั่งของ คมช. ถือว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น
@ ในฐานะเคยเป็นผู้พิพากษา ปัจจุบันตุลาการมีบทบาทต่อการเมืองมาก เป็นเรื่องน่าภูมิใจหรือเปล่า
การมีบทบาทในทางที่ถูกต้องเป็นไปตามกรอบความชอบธรรมก็ควรภูมิใจที่มีบุคลากรดีๆ แต่ความจริงไม่ใช่อย่างงั้น เพราะตุลาการที่ออกนอกลู่นอกทางทำอะไรไม่ถูกต้องซึ่งมีจำนวนไม่มาก กลับมีบทบาทอย่างมากตั้งแต่ก่อนยึดอำนาจ แต่ไม่ใช่บทบาทที่น่าเคารพยกย่อง ดูเป็นการสมคบและตอบแทนกัน
@ เคยทำงานร่วมกับ ท่านชัช ชลวร ประธานศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่
ตอนผมเป็นรองเลขาธิการส่งเสริมงานตุลาการ ท่านชัช เป็นรองปลัดกระทรวงยุติธรรม ส่วนคนที่เป็นเลขาธิการการส่งเสริมงานตุลาการคือ ท่านจรัญ ภักดีธนากุล
@ ปรากฏการณ์ที่สะเทือนภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของวงการตุลาการ เช่น คลิป หรือกรณีถูกโจมตีเรื่องต่างๆ เป็นสิ่งที่เกินความคาดหมายหรือไม่
ผมคิดว่าใครเป็นอย่างไร ประวัติเป็นอย่างไร คนในวงการกฎหมาย ในวงการตุลาการ ก็รู้กันดีอยู่ว่าใครเป็นอย่างไร ไม่ใช่เพิ่งมาเห็นพฤติกรรมพฤติการณ์ในช่วงหลัง มันรู้กันอยู่ว่าใครน่าเชื่อถือ คนไหนประวัติเดิมก็ไม่ได้ดีเด่น เช่นกรณีเอาข้อสอบ มาให้ลูกหลานตุลาการด้วยกันดู ไม่ให้ความเป็นธรรมกับคนอื่น ถ้าเป็นความจริงตามนั้น โดยปกติ คนที่เกี่ยวข้องต้องลาออกไปนานแล้ว ศาลเคยพิพากษาคดีการเอาข้อสอบไปให้คนอื่นดู โดนจำคุก 9 ปี คนสนับสนุน โดนจำคุก 6 ปี แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในศาลรัฐธรรมนูญ ดูแล้วน่าอนาถใจ คนเหล่านี้มีบทบาทในการคุมชะตาชีวิตประเทศ
กรณีศาลปกครอง คดีปราสาทพระวิหาร สมัยคุณนพดล ปัทมะ เป็นรมว.ต่างประเทศ ตอนหลังมาทราบว่าความจริง มีการจ่ายสำนวนไปแล้วโดยลงมติแล้ว 3 ต่อ 2 แต่อยู่ดีๆ มีการโอนสำนวนไปให้อีกคณะหนึ่ง ซึ่งประธานศาลรัฐธรรมนูญ เป็นหัวหน้าเอง แล้วตัดสินมาอีกอย่างหนึ่ง ผมทราบว่าผู้ที่เกี่ยวข้อง ไปขอคัดสำนวนนี้แล้วถูกกีดกันไม่ให้คัดในบางเรื่อง มีการมาควบคุมผิดปกติ ภายหลังทราบจากสื่อมวลชนว่า ป.ป.ช. มีมติได้รับเรื่องนี้ไว้ เพราะเข้าข่ายโอนสำนวนโดยมิชอบ
ส่วนคดียุบพรรคพลังประชาชนกับอีก 2 พรรค นัดวันศุกร์ที่ 28 พ.ย. เพื่อฟังว่าจะสืบพยานกี่ปาก จะได้กำหนดวันสืบพยาน แต่พอไปถึงบอกว่า ไม่ต้องสืบพยานแล้ว แล้วให้นัดแถลงปิดคดีในวันอังคารที่ 2 ธันวาคม ให้เวลาในการเตรียมตัว 3 วันไม่รวมวันเสาร์อาทิตย์ จากที่พรรคไม่คิดว่าคดีจะจบเร็วและให้เวลา 3 วันเตรียมตัว... มีตุลาการเที่ยงธรรมที่ไหนจะใช้ดุลพินิจแบบนี้ คดีสำคัญที่มีผลยุบพรรคการเมือง 3 พรรค ซึ่งมีส.ส.ในสภา เยอะแยะ ผมรับประกันได้ ไม่มีผู้พิพากษาที่เที่ยงธรรมคนไหนให้เวลาแค่ 3 วัน การแถลงปิดคดีทั่วๆ ไปอย่างน้อยต้องให้เวลา 15 วัน แสดงว่า ไม่ใช่กระบวนการยุติธรรมตามปกติแน่นอน
พอแถลงปิดคดี ใช้เวลา 40 นาทีอ่านคำวินิจฉัย ทำไมลุกลี้ลุกลนขนาดนั้น แล้ววันแถลงปิดคดี อยู่ดีๆ ก็แจ้งคู่ความย้ายจากศาลรัฐธรรมนูญแถวสะพานพุทธ ไปที่ศาลปกครอง ถนนแจ้งวัฒนะ โดยใช้โทรศัพท์กับแฟกซ์ไปบอกเขา ไม่มีศาลที่ไหนที่เขาจะทำ
@ การเร่งรีบย้ายสถานที่อ่านคำวินิจฉัยมีความร้ายแรงแค่ไหน
ร้ายแรงครับ ปกติถ้ามีคนมาขวางการพิจารณาคดี ศาลจะสั่งเลื่อนไปวันรุ่งขึ้น หรืออีก 2 วัน ... ถามว่าใครจะเป็นจะตายเหรอ
@ ตอนนั้นมีสถานการณ์การเมือง การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
ศาลต้องพิจารณาอรรถคดี ไปตามข้อเท็จจริง ตามกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญ กฎหมายให้พิพากษาวินิจฉัยคดี ตามใบสั่งไหม? ตามแรงกดดันไหม? ตามสถานการณ์การเมืองไหม? ... ไม่มี
@ บทบาท กกต. ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป เป็นเรื่องดีหรือไม่ ที่ส่วนใหญ่เป็นนักกฎหมายน่าจะวินิจฉัยคดีอย่างแม่นยำ
ถามว่าแม่นกฎหมายไหม คุณไปดูสิ นอกจากไม่แม่นกฎหมายแล้วบางท่าน บอกว่าลงมติไป โดยยังไม่อ่านสำนวนอย่างละเอียด ...แล้วลงมติไปได้ยังไง? อีกอย่างหนึ่ง การจัดเลือกตั้งที่ผ่านมาก็ผิดวิสัยคนมีใจเป็นธรรม เช่น การจัดการเลือกตั้งล่วงหน้า มีข้อครหามาก แต่คุณก็ไม่ได้ทำให้โปร่งใส ทุกคนสบายใจ ปกติการเลือกตั้งล่วงหน้าต้องเป็นข้อยกเว้น เฉพาะคนที่มีเหตุจำเป็นจริงๆ แต่ปรากฏว่า ความจริงจัดเลือกตั้งล่วงหน้าถึง 2 วันและใครก็ไปลงคะแนนได้หมด ...และมีปัญหาเรื่องการดูแลหีบบัตร ผมก็ดูแล้วอนาถใจ เพราะจริงๆ คนที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม ต้องมีจิตสำนึกความเป็นธรรมสูงกว่าคนทั่วๆ ไป
@ กกต.บอกว่าเขาเป็นองค์กรที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ถ้าใครไม่พอใจ ก็ให้ไปแก้กฎหมาย
ก็กฎหมายบัญญัติเรื่องการเลือกตั้งล่วงหน้าไว้อย่างไร ไม่ใช่ใครๆ ก็ไปเลือกตั้งล่วงหน้าได้ พระราชกฤษฎีกาจะบอกวันเลือกตั้งอย่างชัดเจน แต่การเลือกตั้งล่วงหน้ามากำหนดภายหลังได้ ขณะที่ระบบการหาเสียงของพรรคการเมือง เขามีแนวในการดำเนินงานหาเสียง เช่นถ้าจะเลือกตั้งวันที่ 1 กันยา เขาจะมีขั้นตอนนำเสนอต่อประชาชน ก่อนวันที่ 1 กันยา มีการรณรงค์ใหญ่อย่างไร แต่หาก กกต. บอกว่าเลือกตั้งล่วงหน้าวันที่ 1 สิงหา ประชาชนยังไม่ทราบข้อมูลอย่างครบถ้วน บางพรรคยังไม่ได้ขยับทำอะไรเลย แต่เลือกตั้งล่วงหน้าไปแล้ว ฉะนั้น มันมีความแตกต่างกันมาก จึงต้องให้เลือกตั้งล่วงหน้าเป็นข้อยกเว้น เฉพาะคนที่มีเหตุผลตามกฎหมายว่าไปใช้สิทธิ์ในวันเลือกตั้งไม่ได้
ไม่ใช่ปล่อยให้การเลือกตั้งล่วงหน้าเป็นการพาคนไปลงคะแนน เพราะการพาคนไปลงคะแนนก็เป็นข้อห้ามตามกฎหมาย
@ ปัญหาของการเลือกตั้งล่วงหน้าคืออะไร
ไม่ไว้ใจกรรมการ เพราะเลือกตั้งล่วงหน้าเก็บหีบไว้นาน ไม่เหมือนวันเลือกตั้งจริง กกต. ก็รู้ว่าเคยมีเหตุการณ์สร้างความคลางแคลงใจอย่างไร ขนาดเลือกตั้งจริงสมัยปี 40 ขนหีบเลือกตั้งจากหน่วยเลือกตั้งไปที่นับคะแนน เอาหีบไปเก็บไว้ในห้อง ออกมายังไม่รู้มีการเปลี่ยนหีบคะแนนหรือเปล่า
@ องค์กรอิสระอย่าง กกต. จะได้รับการยอมรับหรือไม่ ถูกม็อบไปล้อมหรือเปล่า
การมีม็อบไปล้อม กกต. อาจเป็นสิ่งที่เกิดจากหลายปัจจัย อยู่ที่ข้อเท็จจริงและสิ่งที่คุณทำมากกว่า หลายอย่างนักกฎหมายเหมือนกันก็ดูกันออก สำนวนบางอย่างก็เห็นชัดเจนว่า ตัดสินไปอย่างนั้นได้อย่างไร ทำหน้าที่ไม่ตรงไปตรงมา เหมือนกรรมการตัดสินฟุตบอล ไม่เป็นกลางทำให้คนดูทนไม่ไหว เขาก็ลงสนามไปไล่กรรมการออกจากสนามเอง แต่ไม่ได้หมายความว่า การที่คนดูไปทำร้ายกรรมการแล้ว กรรมการแย่ไปหมดนะ
@ ความไม่เป็นกลางกับความเห็นต่างทางกฎหมาย หลายกรณีก็แยกกันลำบาก
บางอย่างพอจะเห็น และพฤติกรรมหลายอย่างก็เห็นเมื่อสะสมมากเข้า สุดท้ายก็หมดความน่าเชื่อถือ... หน้าที่ กกต.จริงๆ ไม่ต้องมานั่งคิดหรอกว่า ใครจะตั้งฉันมา ฉันได้มาเป็นเพราะใคร เพราะมีหน้าที่ทำให้การเลือกตั้งเป็นธรรม ทำให้เกิดความสงบสุข ไม่ต้องมาคิดว่าคนที่ฉันผูกพันมา คนที่เคยตั้งฉัน เขาอยากจะเชียร์พรรคนั้นพรรคนี้ ถ้าคิดอย่างงั้น ลาออกไป กลับไปอยู่บ้านเถอะ อย่ามาอยู่ให้เป็นบาปเป็นกรรมของสังคมเลย

@ เมื่อ 111 ได้รับสิทธิเลือกตั้งแล้วจะกลับมาทำงานการเมืองหรือไม่
ผมว่าคนใน 111 จำนวนหนึ่งเท่าที่ผมคุย เขาก็ยังคิดที่จะกลับเข้ามาทำงานด้านการเมืองอยู่และเราเห็นว่าการเมืองไทยถอยหลังไปเยอะ ผมพูดตรงๆ นะ จริงๆ แล้วผมไม่เคยคิดจะทำงานการเมืองไปยาวนานแบบหลายๆ ท่าน เพราะเมื่อทำการเมืองไประยะหนึ่ง เราก็อยากจะใช้ชีวิตกับครอบครัวหรือทำสิ่งที่อยากทำ เช่น นั่งเขียนหนังสือ หรือทำอะไรที่มีเวลา เพราะการทำงานการเมือง มันกินเวลาเยอะ
นอกจากนั้น คนอื่นๆ ก็ควรมาทำบ้างเพราะถ้าเราอยู่นานไป คนอื่นๆ ที่ขึ้นมาใหม่ เขาก็ขึ้นได้ช้า แต่รุ่นพวกผมมันหายไป 5 ปีและปรากฏว่าการเมืองมันถอยหลังลงไป ผมคิดว่า มันเป็นความรับผิดชอบของคนเรา ถ้ายังคิดว่าเราสามารถจะช่วยกันก็ต้องมาช่วยกัน ไม่ว่าใครก็ตาม
@ จะกลับมาอยู่พรรคของคุณทักษิณ เหมือนเดิมหรือไม่
แนวความคิดในส่วนการทำงานการเมือง แนวความคิดของ 111 จำนวนหนึ่ง ยังยึดมั่นในแนวทางการทำงานแบบพรรคไทยรักไทย ถ้าจะทำงานการเมืองก็ต้องยึดมั่นในแนวนั้นแหละครับ พอทำงานการเมือง จุดหลักก็คือคุณต้องเน้นประโยชน์ประชาชน มากกว่าประโยชน์ทางการเมือง แล้วก็แนวทางต่างกันตรง การทำงานการเมืองไม่ได้เน้นโวหาร ไม่ได้บริหารด้วยโวหาร แต่บริหารด้วยกระบวนการจัดการ แล้วทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์ ที่เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม ตรงนั้น เป็นสิ่งที่ควรนำมาใช้วัดผลสำเร็จพรรคการเมือง ไม่ใช่ใช้โวหารเสียดสีหรือหลอกลวงประชาชน @ ประเมินการทำงานของพรรคเพื่อไทยอย่างไร
ถูกตัดบุคลากรไปเยอะ และถูกรุมในหลายรูปแบบ ทำให้การทำงานยากกว่าปกติอยู่แล้ว โดยเฉพาะเมื่อบุคลากรถูกตัดไปเยอะและหัวหน้าพรรคเองก็ไม่ได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วย ฉะนั้น บทบาทในสภาก็เลยแตกต่างจากพรรคการเมืองที่เราเคยเห็นในอดีต ซึ่งในอดีตมีหัวหน้าพรรคเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร บทบาทก็จะเห็นเด่นชัดขึ้น เมื่อพรรคเพื่อไทยไม่มีจึงทำให้ไม่เห็นภาพที่เคยเห็น

@ ถ้า 111 กลับมา จะมีการเมืองแย่งชิงบทบาทภายในกันเองหรือไม่
ยังไม่ทราบอนาคต แต่โดยปกติ ก็คุ้นเคยกันดีอยู่ ก็อยู่พรรคเดียวกันมา การเมืองมีที่ให้ทำงานเพื่อส่วนรวมเพียงพอสำหรับทุกคนไม่เฉพาะนักการเมืองเก่าๆ แต่มีที่สำหรับนักการเมืองใหม่ๆ และสำหรับผู้ที่อยากมาทำงานการเมืองอีกเยอะครับ

@ อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย จะกลับมาเป็นความหวังสำหรับพรรคเพื่อไทยหรือไม่
คนที่ถูกเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งไป รุ่นแรก 111 ส่วนรุ่นที่ 2 มี 109 คน มีประสบการณ์ทั้งในสภาและการบริหาร ซึ่งการสร้างบุคลากรไม่ง่ายต้องใช้เวลา ขณะที่พรรคการเมืองของไทย เมื่อถูกยุบพรรค ทำให้บุคลากรหายไปมาก พรรคต่างๆ สร้างบุคลากรทางการเมืองใหม่ๆไม่ทัน เพราะไม่มีใครคิดว่าเหตุการณ์อย่างนี้จะเกิดขึ้น แต่ขณะเดียวกัน กติกานี้ ได้ใช้ในมาตรฐานเดียวกันหรือเปล่า ในคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ มันต่างกันมาก การยกคำร้องด้วยเรื่องเทคนิค ซึ่งกรณีนี้ กกต. ต้องส่งกลับไปใหม่ให้ถูกต้อง เพราะเขายังไม่ได้ลงเนื้อหา และไม่ใช่เรื่องอายุความ
@ สมัยคุณทักษิณ รอดคดีซุกหุ้น ก็มีการพูดกันว่าใช้หลักรัฐศาสตร์มากกว่านิติศาสตร์ ในทำนองเดียวกันพรรคประชาธิปัตย์ ก็อาจจะรอด ด้วยหลักรัฐศาสตร์หรือเปล่า
ผมบอกแล้วว่าจริงๆ แล้วกระบวนการยุติธรรม ต้องไม่เห็นแก่ผู้ใดทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น ดร.ทักษิณ หรือพรรคประชาธิปัตย์ หรือใคร คุณต้องไม่คำนึงว่าคนที่มาเป็นคู่ความ เป็นใคร ถ้าคำนึงว่าเป็นใคร ก็ไม่ใช่กระบวนการยุติธรรม เพราะต้องเสมอภาคกัน แต่ว่าความเห็นทางกฎหมาย ตุลาการแต่ละคนเห็นต่างกันได้ แต่ต้องบริสุทธิ์คือเห็นจากความรู้ความคิดมโนสัมนึก ไม่ใช่เพราะไปสุมหัวเพื่อช่วยใคร
ขณะที่พรรคไทยรักไทยเป็นเป้าหมายแรกที่จะถูกยุบ และต้องการตัดสิทธิของคนในพรรคจำนวนมากตั้งแต่การยึดอำนาจ ตามแผนบันได 4 ขั้น แล้วก็มีการยุบศาลรัฐธรรมนูญและตั้งตุลาการรัฐธรรมนูญ จริงๆ แล้วเมื่อยกเลิกรัฐธรรมนูญแล้วจริงๆ กระบวนการต่างๆ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญและคดี ที่ค้างต้องจบด้วยซ้ำ แต่ก็มีการพยายามจะออกกติกาเพิ่มขึ้นมาระหว่าง คมช.มีอำนาจอยู่ เช่น ประกาศไม่ให้ใช้ชื่อพรรคเดิมมาตั้งพรรคอีก มีการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ของกรรมการบริหาร ซึ่งไม่มีมาก่อน และคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ก็วินิจฉัยให้ใช้กฎหมายย้อนหลังด้วย ขณะเดียวกันมาตรฐานนี้ไม่ได้ใช้กับพรรคประชาธิปัตย์และพรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบัน เป็นเรื่องสองมาตฐาน จนผมนึกไม่ออกว่าต่อไปประเทศไทยจะเป็นอย่างไร

@ ตอนเสื้อแดงชุมนุมที่ราชประสงค์ ส่งผลกระทบธุรกิจครอบครัวภรรยาคุณพงษ์เทพหรือไม่
ครอบครัวภรรยาผม ก็มีธุรกิจของเขา ก็มีกระทบเช่นเดียวกับอีกหลายแห่งที่ได้รับผลกระทบ
@ จัดการอย่างไรกับความขัดแย้งระหว่างการชุมนุมของคนเสื้อแดงกับผลกระทบที่เกิดแก่ภาคธุรกิจ
ผมเคยพบกับแกนนำคนเสื้อแดงบางคน เคยเจอกันก่อนชุมนุมปีที่แล้ว ผมบอกว่าคนเสื้อแดงจะทำอะไรก็ตาม ต้องคำนึงว่า ไม่ทำให้คนได้รับผลกระทบ เพราะจะเป็นการไปผลักให้เขาอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับคุณ อันนี้เป็นสิ่งที่ผมบอกเวลาเจอกัน เมื่อปี 2552 มีการไปปิดอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิทำให้การจราจรติดขัด เมื่อผมทราบเรื่องผมก็พยายามโทรหาแกนนำเสื้อแดงให้เพิกถอนจากอนุสาวรีย์ อย่าทำให้ใครเดือดร้อน ตัวผมเองเวลาทำอะไรก็ตาม ไม่อยากให้กระทบใครเดือดร้อน แต่บางอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็ต้องหาวิธีลดผลกระทบต่อผู้อื่นมากที่สุด
@ รู้สึกยังไง ขณะที่เสื้อแดงชุมนุมและในย่านธุรกิจ ซึ่งบางส่วนก็เป็นธุรกิจของครอบครัวภรรยา
ครอบครัวภรรยาผมมีหุ้นจำนวนหนึ่งเท่านั้นเอง ไม่ได้มีส่วนอะไรมากมาย แต่ผมมองในภาพรวมมากกว่า ตั้งแต่ก่อนที่จะไปราชประสงค์และก่อนชุมนุมที่ผ่านฟ้า ว่าท่านจะทำอะไรก็ตามอย่าให้คนเดือดร้อนหรือเดือดร้อนน้อยที่สุด ซึ่งเป็นหลักที่ผู้ชุมนุมทั้งหลาย ไม่ว่าเสื้อสีอะไร ถ้ายึดหลักนี้ได้ ก็จะทำให้การใช้สิทธิเสรีภาพของท่านเป็นไปในทางที่คนยอมรับได้
@ ข่าวลือว่าโรงแรมเอราวัณ ให้แกนนำ นปช. ใช้ห้องพักระหว่างการชุมนุม
ผมก็เห็นว่าเป็นข่าวลือ เพราะผมเคยถามทางโรงแรม ไม่ปรากฏว่าเป็นอย่างที่ว่านั้น... และตอนหลังไม่นานโรงแรมก็ปิดไป งดบริการทั้งแขกเก่าและแขกใหม่ ใช้เวลาช่วงนั้นในการตกแต่งและฝึกอบรมพนักงาน ในช่วงที่ไม่สามารถเปิดบริการ
@ เคยเป็นโฆษก ให้กับ คุณทักษิณ
มีช่วงหนึ่งที่ตอนนั้นคุณนพดล ซึ่งเป็นโฆษก ดร.ทักษิณ ไปทำหน้าที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและตอนนั้น ดร.ทักษิณ กลับมาเมืองไทยก็ไม่อยากจะพูด เลยให้ผมกับคุณศันสนีย์ นาคพงษ์ ช่วยเป็นปากเสียงให้หน่อย ผมก็เห็นว่า ตอนนั้นไม่มีใครทำหน้าที่ให้ท่านได้ เพราะไปทำหน้าที่ทางการเมืองหมด ส่วนผมกับคุณศันสนีย์ อยู่กับ ดร.ทักษิณ ตั้งแต่ สมัยพรรคพลังธรรม ก็เห็นว่าพอช่วยกันได้ ก็ช่วยกัน มีข่าวอะไรให้ช่วยแถลงก็แถลง แต่ตอนนี้ คุณนพดลว่างแล้ว ก็กลับมาทำหน้าที่
@ ช่วงที่ถูก ศอฉ. แช่แข็งบัญชี เป็นอย่างไรบ้าง
ตอนนั้น ไปกินข้าวไหนก็มีแต่คนเลี้ยงครับ แต่จริงๆ การที่มีคำสั่งจากตัว ผอ.ศอฉ. ให้แช่แข็งบัญชี คำสั่งนั้นผิดกฎหมายนะครับ ผิดพระราชกำหนดประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เพราะตามพระราชกำหนดนี้ อำนาจเป็นอำนาจของตัวนายกรัฐมนตรี มอบอำนาจไม่ได้ แต่คุณอภิสิทธิ์ ไปมอบให้อำนาจให้ ผอ.ศอฉ.ซึ่งรับมอบ โดยกฎหมายเขียนชัดว่ามอบอำนาจไม่ได้
@ จะไปดำเนินคดีในเรื่องนี้หรือไม่
เดี๋ยวครับ ยังมีเวลาครับ ไม่เป็นไรยังมีเวลา ไม่ต้องกลัว อายุความยาวครับไม่ต้องกลัว เดี๋ยวรอให้กระบวนการยุติธรรม กลับเข้ารูปเข้ารอยตามเดิม ยังมีเวลาเยอะแยะ เหมือนอย่างกรณีสังหารประชาชน ผู้เสียหายเขาก็ทราบดีมีเวลา 20 ปี ไม่ต้องกลัวครับ
@ มองว่า คุณทักษิณ ยังมีความหมายกับการเมืองไทยในฐานะอะไร
ไม่มีใครปฏิเสธได้ ถึงบทบาทและความสำคัญของ ดร.ทักษิณ ต่อการเมืองไทย เพราะยังมีความสำคัญมาก จากการที่เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองที่ได้รับความนิยมจากประชาชนมากที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย เป็นนายกรัฐมนตรีที่ทำอะไรไว้เยอะ แน่นอนมีคนต่อต้านมากหลายกลุ่มด้วยกัน ถ้าใครคิดจะศึกษาการเมืองไทยในช่วงนี้แล้วปฏิเสธเรื่องนี้ ก็คงศึกษาไปได้ผิวเผินมาก เพราะไม่เฉพาะเรื่องบุคคล แต่แนวคิดต่างๆ ในการทำงาน ก็ยังตกทอดมาถึงปัจจุบัน ตกทอดมาถึงพรรคเพื่อไทย หรือแม้กระทั่งรัฐบาลนี้ก็หยิบแนวคิดของ ดร.ทักษิณ ไปเยอะแยะเลยนะ
@ ความสัมพันธ์ระหว่างคนเสื้อแดงกับพรรคควรจะเป็นยังไง
ผมมองว่า คนเสื้อแดงกับพรรคเพื่อไทย เขามีจุดร่วมในเรื่องแนวคิดทางการเมืองที่เหมือนกัน คือการเน้นประชาธิปไตย อำนาจอธิปไตยอยู่กับประชาชน เห็นเหมือนกัน แต่บทบาทเป็นคนละบทบาท การเคลื่อนไหวของพรรคการเมือง กับการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน คนละรูปแบบ การเคลื่อนไหวบางอย่างอาจจะคล้ายกัน อาจจะเหมือนกันก็เป็นได้ แต่บางอย่างก็ไม่ใช่ อย่างบทบาทอภิปรายไม่ไว้วางใจก็เป็นบทบาทพรรคการเมือง
@ ถ้าจะให้ความสำคัญกับการเมืองในรัฐสภา ก็ควรยุติการชุมนุมของคนเสื้อแดงหรือเปล่า
พรรคเพื่อไทยมีหน้าที่ในรัฐสภา แต่ความจริงพรรคการเมืองไม่ได้มีข้อจำกัดการเคลื่อนไหวเฉพาะกลไกรัฐสภาเท่านั้นอย่าเข้าใจผิด เพราะพรรคการเมืองบางพรรคไม่มี ส.ส.ในสภาเลยก็มี แต่เขาก็สามารถเคลื่อนไหวได้ ส่วนพรรคการเมืองที่มี ส.ส. เอง ก็ไม่ใช่ว่าห้ามไปเคลื่อนไหวอย่างอื่น เพียงแต่ว่าคุณต้องเน้นการเมืองในกลไกรัฐสภา
ส่วนการเคลื่อนไหวภาคประชาชนก็ต้องเคลื่อนไหวภาคประชาชน
@ การชุมนุม มีความจำเป็นอย่างไร ในเมื่อเข้าสู่ช่วงนับถอยหลังถึงวันเลือกตั้ง
ต้องดูข้อเรียกร้องว่าเขาชุมนุมเพื่ออะไร การชุมนุมไม่ได้ถูกกำหนดว่า จะชุมนุมได้เฉพาะช่วงต้นของสมัยสภา แต่ขึ้นอยู่กับเหตุผลความชอบธรรมในการชุมนุมมากกว่า เช่น คุณมีเป้าหมายอะไรในการชุมนุม มีข้อเสนออะไร เรียกร้องอะไร ยกตัวอย่าง เช่น หากกรรมการ ไม่น่าเชื่อถือ แล้วการชุมนุมเรียกร้องการเลือกตั้งที่โปร่งใสและเป็นธรรมก็ชุมนุมได้ โดยเสนอให้มีกรรมการที่น่าเชื่อถือมาสังเกตการณ์ ก็ชุมนุมได้
@ เมื่อคุณทักษิณ ได้รับสิทธิเลือกตั้ง แต่อยู่ระหว่างต้องคดี แล้วอนาคตของอดีตนายกจะเป็นอย่างไร
อนาคตคงต้องดูเรื่องอนาคต เพราะการเมืองไทยขณะนี้อย่าว่าแต่มองไกลเป็นปีเลย เพราะมองแค่ 3-4 เดือนนี้ก็ยังพยากรณ์ลำบากแล้ว
@ ภาพรวมของ 111 คงกลับเข้ามาอยู่ในการเมือง แต่คุณทักษิณไม่ได้รอเพียงสิทธิเลือกตั้ง มีคดีติดตัวจะทำอย่างไร
หลายอย่างกระบวนการที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา คดีบางอย่างที่ค้างคาอยู่ จุดเริ่มของคดี ไม่ได้เริ่มโดยกลไกกระบวนการยุติธรรมตามปกติ เช่น การตั้ง คตส. เหมือนกำหนดกลไกจัดการปรปักษ์ของคุณ ซึ่งไม่ถูกต้องตั้งแต่ต้น และเป็นผลพวงให้เกิดคดียังค้างคากันอยู่บางคดีก็ไปสู่ศาล
@ เมื่อการเมืองผลัดยุคผลัดใบไปแล้วจะมีการเยียวยาหรือการคลี่คลายไปอย่างไร
ถ้าพูดด้วยเหตุผลทางกฎหมายและความเป็นธรรม ก็ต้องไปจัดการกับกระบวนการที่มิชอบนี้แหละ ว่ากลไกที่จัดการเป็นกระบวนการตามปกติ หรือเป็นกลไกกระบวนการที่บิดเบี้ยว ถ้าเป็นกระบวนการยุติธรรมที่บิดเบี้ยว ก็อาจจะไปรับใช้แนวคิดที่บิดเบี้ยวกว่าเดิม
@ เมื่อหมดยุคสิ่งที่เอื้อต่อความบิดเบี้ยวแล้วจะเยียวยาผลที่เกิดขึ้นได้หรือไม่
มันเยียวยาได้อยู่แล้วครับ กับสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ยกตัวอย่าง แม้กระทั่งกรณีเอาคนเข้าคุกไปแล้วแต่เป็นกระบวนการที่ขัดรัฐธรรมนูญ คนที่ถูกขังอยู่ในคุก เขาก็สามารถมาร้องได้
@ กรณีคุณทักษิณ ถูกพิพากษา ด้วยศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งสิ้นสุดแล้วจะทำอย่างไรต่อไป
ผมคงไม่ไปลงรายละเอียดนะครับ แต่หลายคดี อยู่บนจุดรากฐานที่ไม่ถูกต้องด้วยหลักนิติธรรมอยู่แล้ว แล้วก็ไปตามกระบวนการที่บิดเบี้ยวไปเรื่อย
@ ผลการเลือกตั้งครั้งหน้าพรรคเพื่อไทยจะได้เกินกึ่งหนึ่งหรือไม่
ขึ้นอยู่กับประชาชน ถ้าประชาชนเห็นกับแนวทางประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข พรรคเพื่อไทยก็อยู่ในซีกนี้ แต่ถ้าเห็นกับแนวทางประชาธิปไตยที่ไม่ใช่ประชาชนมีสิทธิ์มีเสียงที่แท้จริง ก็แล้วแต่ประชาชนจะเลือกแนวทางไหน