วันพุธที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

"พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์" ควง "คำ ผกา" ยำใหญ่ บริษัทยักษ์ใหญ่บนเวที"กินแหนงแคลงใจ"

ที่มา มติชน



เมื่อเร็วๆ นี้ เครือข่ายกินเปลี่ยนโลก และนิตยสารไบโอสโคป โดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเทศกาลภาพยนตร์กับอาหารและการกิน “กินแหนงแคลงใจ” (Food Film Festival) ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 27 ม.ค. - 30 ม.ค. ที่ผ่านมา โดยมีการชักชวนให้ตั้งคำถามกับระบบการผลิตอาหารร่วมกัน

ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมวิพากษ์วิจารณ์ภาพยนตร์สารคดีเรื่อง King Corn ในช่วงเสวนาหัวข้อ “จากแปลงสู่ปาก” โดยชี้ให้เห็นว่า รัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้ช่วยสนับสนุนให้คนจนเข้าสู่อาหารราคาถูก ซึ่งถ้าเทียบกับเมืองไทย ก็เคยมีนโยบายบีบราคาอาหารเกษตรให้ถูกลง เพื่อให้แรงงานในเมืองสามารถเลี้ยงตนเองได้ แต่ขณะเดียวกัน กลับสร้างปัญหาให้กับชนบท รวมทั้งยังไม่ตอบโจทย์ยุคโลกาภิวัตน์ เพราะโอกาสการเข้าถึงของคนในชนบทต้องผ่านโครงสร้างบริษัทยักษ์ใหญ่ ในลักษณะระบบการเกษตรแบบมีพันธะสัญญา (Contract Farming) ฉะนั้น โครงข่ายการผลิตอาหารในขณะนี้ จะต้องพูดถึงเรื่องความเป็นธรรมให้มากขึ้น

“เกษตรกรถูกกด เพราะระบบการผลิตขนาดใหญ่ต้องการ “บี้” ให้ทุกอย่างอยู่ในเครือข่าย เพื่อจะเอาประโยชน์จากการส่งออก ขณะเดียวกัน ระบบการผลิตดังกล่าวได้กระทบต่อชีวิตของผู้คนในสังคม จึงเป็นที่น่าสังเกตว่า จะมีความสามารถในการต่อรองกับระบบการผลิตขนาดใหญ่ที่เชื่อมโยงกับการเมืองได้อย่างไร”

ดร.พิชญ์ กล่าวว่า ไทยเป็นประเทศส่งออกข้าว แต่คนในประเทศกลับไม่มีรสนิยมในการกินข้าว ซึ่งต่างจากประเทศฝรั่งเศสที่คนในประเทศล้วนมีรสนิยมในการดื่มไวน์ ซึ่งถ้าเราใช้ความดัดจริตของคนชั้นกลางมาพัฒนารสนิยมดังกล่าว โดยไม่จำเป็นต้องมีเครือข่ายคุณธรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง ก็จะช่วยให้คุณภาพข้าวไทยดีขึ้น

ด้าน “ลักขณา ปันวิชัย” นักเขียน นักวิจารณ์ นามปากกา คำ ผกา กล่าวถึงกลไกผูกขาดของอุตสาหกรรมเกษตร ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต กระทั่งจัดจำหน่าย รวมทั้งปัญหาเรื่องการใช้ที่ดินในเมืองไทย เป็นต้นตอความยากจนของเกษตรกรไทย อีกทั้งเมื่อประเทศไทยถดถอยมาถึงจุดที่ไม่มีความเป็นธรรมทางการเมืองและเศรษฐกิจ ก็ไม่สามารถต่อสู้ในเรื่องอื่นต่อไปได้ แม้กระทั่งเรื่องของอาหาร ยิ่งเมื่อชาวนาต้องอยู่กับตลาด อยู่กับทุน ฉะนั้น คำถาม คือ จะทำอย่างไรให้คนเหล่านี้มีศักยภาพในการส่งเสียลูกเรียนได้เทียบเท่ากับคนในเมือง ข้าราชการ โดยไม่ต้องเป็นเครือข่ายบริษัทยักษ์ใหญ่

“กระบวนการต่อสู้เรื่องอาหารไม่สามารถแยกขาดกับการต่อสู้เรื่องความเป็นธรรม เช่นเดียวกับเราไม่สามารถทำให้บริษัทยักษ์ใหญ่หลุดหายจากการเมืองไทยได้ภายใน 5 ปี หรือการเสกประชาธิปไตยให้เกิดขึ้น อีกทั้งการรับรู้ในเมืองที่ไม่มีประชาธิปไตย ผู้คนจะไม่ไว้ใจ ไม่เคารพ ไม่รักกัน และเมื่อคนไม่รักกัน ก็เริ่มไม่สนใจกัน”

คำ ผกา กล่าวด้วยว่า แม้รสนิยมในการกินอาหารจะช่วยรักษาแหล่งผลิตอาหาร แต่รสนิยมดังกล่าวก็ไม่ถึงขั้นขย่มโครงสร้างการผลิตอาหารในปัจจุบันได้ เนื่องจากขาดงานวิจัย ที่มีข้อมูล มีตัวเลข เพื่อใช้ในการต่อสู้เชิงองค์ความรู้ โดยเชื่อมโยงให้เห็นเครือข่ายการเมืองทางอาหาร ถึงวันนี้ทำให้การรณรงค์ในเชิงสัญลักษณ์อย่างเดียวคงไม่เพียงพอแล้ว

( เรื่องและภาพ โดย ณัฐนันท์ อิทธิยาภรณ์ ศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฎิรูปประเทศไทย สถาบันอิศรา )