วันพุธที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2554

สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ยันเจตนาแก้วงจรอุบาทว์การเมือง

ที่มา ข่าวสด

สัมภาษณ์พิเศษ




ระหว่างที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 และประเด็นที่มาส.ส. มาตรา 93-98 อยู่ในขั้นตอนทูลเกล้าฯ

ประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่กลายเป็นข้อถกเถียงอย่างกว้างขวาง คือ ข้อเสนอการปฏิรูปโครงสร้างทางการเมืองของคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ชุดของนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์

โดยเฉพาะกรณีให้สิทธิ์พรรคที่ได้ส.ส.บัญชีรายชื่อมากที่สุด จัดตั้งรัฐบาล

ที่นำมาสู่ข้อสงสัยว่าแนวคิดดังกล่าวเกิดขึ้นจากไหน มีที่มา และมีเหตุผลอย่างไร

นายสมบัติ ชี้แจงไว้ดังนี้

ได้รับเสียงวิจารณ์หนาหู

คณะกรรมการได้รับมอบหมายโจทย์ 1.พิจารณาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ประเด็น ก็มีคนบอกว่าเป็นประเด็นปลีกย่อย คงไม่ได้ช่วยให้เกิดการปฏิรูปทางการเมืองเท่าไหร่ ก็ยอมรับว่าจริง แต่เราก็ทำตามโจทย์ซึ่งรัฐบาลรับไปแก้ไขใน 2 ประเด็น

โจทย์ข้อ 2. มีความหมายในระยะยาว คือการสร้างความเข้มแข็งของการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมี พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ จึงตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมา 2 ส่วน

คือ คณะอนุกรรมการปฏิรูปโครงสร้างทางการเมือง นายบรรเจิด สิงคะเนติ เป็นประธาน คณะอนุกรรมการปฏิรูปโครงสร้างกระบวนการยุติธรรม นายแสวง บุญเฉลิมวิภาส เป็นประธาน สองชุดทำเวิร์กช็อป เสวนากลุ่มและรับฟังความเห็นต่างๆ



ที่มาของแนวคิด

การปฏิรูปโครงสร้างทางการเมืองที่แตกต่างจากของเดิมมาก ขอเรียกว่านวัตกรรมใหม่ทางการเมือง หรือป๊อปปูลาร์ ปาร์ตี้ ซิสเต็ม (Popular Party System) คือระบบที่พรรคการเมืองมีความโดดเด่น

ที่มาของแนวคิดนี้ โครงสร้างทางการเมืองที่ใช้ในปัจจุบัน 78 ปี ยังล้มลุกคลุกคลานและอยู่ในวงจรอุบาทว์หลายประการ เรื่องแรก คือการซื้อสิทธิ์ขายเสียงที่ยังแก้ไม่ตก รัฐธรรมนูญเขียนว่าการเลือกตั้งหากพรรคใดทุจริตให้ยุบได้ ทำให้มีปัญหาขึ้นไปอีก

พรรคที่จะจัดตั้งรัฐบาลต้องได้เสียงในสภาเกินครึ่ง ถ้าไม่มีพรรคใดได้เสียงเกินครึ่งก็ต้องจัดตั้งรัฐบาลผสม อันเป็นที่มาของปัญหา ทั้งการบริหารไม่มีเอกภาพ การประนี ประนอมระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลกับพรรคแกนนำ หากประนีประนอมไม่ได้รัฐบาลก็ล้ม

ปัญหาใหญ่อีกประการคือ หากไม่มีพรรคใดได้เสียงเกินครึ่ง พรรคที่ตัดสินว่าจะให้ใครเป็นรัฐบาลไม่ใช่พรรคใหญ่ กลายเป็นพรรคขนาดกลางและขนาดเล็ก ทำให้เกิดการต่อรองมากจนกลายเป็นเรื่องประโยชน์ส่วนตัวและของพรรค ซึ่งเป็นจุดอ่อนใหญ่

เหตุผลที่เราเสนอแนวคิดใหม่ ซึ่งประยุกต์มาจากหลักแบ่งแยกอำนาจและต่อยอดจากสิ่งที่ทำมาแล้ว เช่น การเลือกพรรค และต่อยอดเรื่องการเสนอให้ประชาชนบริจาคภาษี เพื่อสนับสนุนให้พรรคการเมืองมีที่มาอย่างโปร่งใสขึ้น

ที่ผ่านมา หากพรรคหนึ่งพรรคใดมีเสียงเด็ดขาดก็จะเป็นเผด็จการเลือกตั้ง ครอบงำสภา นำไปสู่การทุจริตซื้อสิทธิ์ขายเสียง จะเป็นรัฐบาลต้องได้เสียงเกินครึ่งในสภาก็ต้องหนุนให้ลูกพรรคชนะให้มากที่สุด ด้วยวิธีการหาเงินช่วยซื้อเสียง คนที่หวังจะเป็นรัฐมนตรีก็ต้องหาเงินไปสนับสนุนให้ลูกน้องชนะ เป็นวงจรอุบาทว์ทางการเมืองไทย

เมื่อเป็นเผด็จการจากการเลือกตั้ง หมายความว่าหัวหน้าพรรคใหญ่จะครอบงำสภาทั้งหมดด้วยเช่นกัน สมาชิกส่วนใหญ่ของสภาไม่มีปากเสียง กฎหมายยังกำหนดอีกว่าจะลงสมัครส.ส.ต้องสังกัดพรรค 90 วัน ยิ่งทำให้การเมืองไทยอยู่ภายใต้อำนาจของหัวหน้าพรรคใหญ่โดยสิ้นเชิง



มีข้อกังวลว่าข้อเสนอทำได้ยาก

อย่าเพิ่งไปย้ำตรงนั้นทั้งที่ยังไม่เข้าใจโครงสร้างโดยรวม ไม่ได้บ้าจี้มาเสนอ แต่มีเหตุผลว่าทำไมต้องเปลี่ยนแปลงจากของเดิมเพราะเห็นว่ามีข้อบกพร่อง ไปถามนักการเมืองที่ชื่นชมระบบถามว่าของเดิมดีแค่ไหน ถ้าดีจะมาเรียกร้องให้ปฏิรูปประเทศกันทำไม แต่พอมีคนมาคิดแต่ไม่ถูกใจก็กล่าวหาเขาอีก จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ไม่เป็นไร แต่ควรใช้สติปัญญาไตร่ตรอง

นโยบายของเราคือระบอบประชาธิปไตยที่มาจากฉันทานุมัติของประชาชนโดยตรงอีกลักษณะ คือให้ประชาชนเลือกพรรค บอกเลยว่าถ้าพรรคใดได้อันดับหนึ่งให้มีหน้าที่จัดตั้งรัฐบาล

คือ ประชาชนเลือกพรรคแทนที่จะเลือกตัวบุคคล แบบที่เลือกนายกฯ หรือประธานาธิบดี และได้ใช้ในรัฐธรรม นูญ 2540 และ 2550 จึงควรต่อยอดไปเลย เพราะประชาชนเริ่มคุ้นเคยว่ามีการเลือกพรรคการเมือง ดังนั้น หากอยากให้พรรคใดเป็นรัฐบาลก็ให้เลือกพรรคไปจัดตั้งรัฐบาล

พรรคที่ได้เสียงอันดับหนึ่งตั้งรัฐบาลโดยไม่ต้องคำนึงถึงเสียงในสภา เป็นทางออกของปัญหาการเมืองไทยที่ไม่ต้องไปให้สภาโหวตเลือกเพราะประชาชนเลือกพรรคโดยตรงมาแล้ว ผลที่ตามมาคือ รัฐบาลมีเสถียรภาพ ไม่ต้องขึ้นอยู่กับจำนวนเสียงในสภา

แต่ที่สับสนกันขณะนี้เพราะไปคุ้นชินกับบัญชีรายชื่อ ทำให้มองว่าเป็นการเลือก ส.ส.บัญชีรายชื่อ ทั้งที่เจตนาของเราต้องการเลือกพรรคโดยตรง แต่คนก็เอาไปบิดเบือน

การเสนอให้ส.ส.มีอิสระ ไม่ต้องสังกัดพรรค จะทำ ให้ระบบการตรวจสอบของสภาเข้มแข็ง เช่น โหวตกฎหมายได้อย่างมีอิสระ ทั่วโลกเขาไม่บังคับแล้ว



ข้อเสนอที่ว่าเหมาะสมกับสังคมไทยมากแค่ไหน

แล้วรู้ได้อย่างไรว่าไม่เหมาะสม บอกได้หรือไม่ว่าที่เป็นอยู่ไปเอารูปแบบอังกฤษมาใช้เหมาะกับสังคมไทยหรือไม่ มีปัญหาที่แก้ไขไม่ได้อยู่ทุกวันนี้แสดงว่าสิ่งที่เราใช้มันไม่เหมาะ เวลาจะคิดอะไรต้องดูเหตุผลและกล้าคิดของใหม่ หรือคิดนอกกรอบแต่ต้องอยู่บนหลักการประชาธิปไตย

การคิดของเราตรงกับหลักการทุกอย่าง และคิดว่าเหมาะกับสังคมไทยในขณะนี้มากกว่าของเดิม เพราะจะแก้การซื้อเสียงได้ โอกาสที่จะซื้อเสียงน้อยมากเพราะเลือกพรรค

ส่วน ส.ส.เขต ก็จะหาสตางค์ยากขึ้น เพราะการจะมาเป็นรัฐบาลหรือรัฐมนตรีเขาไม่ต้องพึ่งคุณแล้ว สิ่งจูงใจจะลดลงมาก แต่จะมีเสียงแย้งอีกว่าคิดอย่างนี้ดูถูกประชาชน แต่พูดอย่างตรงไปตรงมาจะมีกี่คนที่ชนะเลือกตั้งโดยไม่ต้องซื้อเสียง

ขณะที่การยกเลิกอำนาจยุบสภาของนายกฯ ข้อดีคือ นายกฯ ไม่มีอำนาจเหนือรัฐสภา จะไปขู่หรือคุกคามไม่ได้ สภาเป็นอิสระเต็มที่ มีเสถียรภาพ อยู่ครบเทอมทำหน้าที่ตรวจสอบฝ่ายบริหารอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะพ้นจากอิทธิพลของรัฐบาล

ส่วนการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ทำให้เกิดระบบอุปถัมภ์ เพราะนายกฯ กลัวแพ้ก็ต้องดูแลส.ส. และบอกให้รัฐมนตรีมาช่วยกันดูแลเพื่อยกมือให้รัฐบาล เป็นที่มาของการ ตอบแทนผลประโยชน์และเกิดความไม่โปร่งใส จึงยกเลิกแต่ข้อเสนอให้การอภิปรายทั่วไปยังอยู่ ยังสามารถเปิดโปงขุดคุ้ยรัฐบาลได้เหมือนเดิม และเพิ่มความเข้มข้นมากกว่าในอดีตที่เป็นปาหี่ส่วนใหญ่

สามารถถอดถอนนายกฯ รัฐมนตรี ออกจากตำแหน่งได้ทันทีหากพบว่าประพฤติผิดทางการเมือง ไม่มีจรรยาบรรณและจริยธรรม รวมทั้งนโยบายไม่เหมาะสม บริหารไม่ดี โดยไม่ต้องตรวจสอบถึงการทุจริต

ถ้าทุจริตก็ดำเนินคดีอาญา โดยให้กรรมาธิการสภาเรียกนักการเมืองผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมาไต่สวนได้ โดยมีอัยการพิเศษร่วมด้วย

หากฟังข้อมูลแล้วน่าสงสัยว่าจะทุจริตสามารถส่งฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และเข้าคุกหากทำผิด นักการเมืองไม่ชอบระบบนี้แน่นอน เพราะการตรวจสอบจะเข้มข้นและได้ผลมากกว่า

จุดประสงค์ของการเสนอแนวทางปฏิรูปการเมือง เพื่อให้เกิดความเป็นอิสระระหว่างสองฝ่าย ที่สำคัญคือความโปร่งใส หากเป็นจริงได้จะแก้ไขวงจรอุบาทว์ของการเมืองไทยได้ดีมาก



แนวคิดเรื่องตั้งรัฐบาลสอดคล้องกับนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ ประธานคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์การเลือกตั้ง พรรคประชาธิปัตย์ได้พูดคุยกันมาก่อน หรือไม่

ประชาธิปัตย์มีคนพูดคนเดียว คือ กอร์ปศักดิ์ ซึ่งพูดภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญปี཮ ซึ่งแนวทางไม่ได้เป็นแบบนี้ แต่ไปวิจารณ์มั่วกันหมดเพราะกอร์ปศักดิ์ไม่ได้พูดของใหม่ แต่ที่เรากำลังพูดอยู่ตอนนี้คือการแก้ใหม่ อีกทั้งเสียงจำนวนมากและผู้ใหญ่ในพรรคประชาธิปัตย์บางคนก็ไม่เห็นด้วย

บางคนรวมทั้งสื่อบอกว่าอาจารย์สมบัติ ชงให้พรรคประชาธิปัตย์ ถามว่ามันแฟร์ไหมที่ได้ยินคนพูดโดยไม่ใช้สติปัญญา ทั้งที่เป็นคนละประเด็น หลักการคนละอย่าง เราเสนอหลักแบ่งแยกอำนาจ แต่ที่กอร์ปศักดิ์เสนอเป็นไปตามหลักควบอำนาจที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้

กว่าที่ผมจะมาถึงจุดนี้มีจุดยืนที่ชัดเจนมั่นคงตลอด เป็นนักต่อสู้ทางการเมืองตั้งแต่เป็นนักศึกษา

และวันนี้ยังมั่นคงอยู่ ยืนอยู่ได้โดยไม่ได้รับใช้ใคร และสิ่งที่ทำไม่ได้ไปหาประโยชน์จากรัฐบาล