วันอังคารที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2554

โลงศพที่มหาดไทย

ที่มา มติชน



คอลัมน์ ณ ริมคลองประปา โดย ประสงค์ วิสุทธิ์

สถานการณ์ที่เกิดในกระทรวงมหาดไทยขณะนี้ ทำให้นึกถึงสำนวน "ไม่เห็นโลงศพ ไม่หลั่งน้ำตา" เพราะหลังจากที่คณะกรรมการพิทักษ์คุณธรรม (ก.พ.ค.) มีคำวินิจฉัยให้ยกเลิกคำสั่งโยกย้ายแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงถึง 2 ครั้งในเวลาใกล้เคียงกัน แทนที่ผู้บริหารระดับสูงในกระทรวงมหาดไทยจะสำนึกถึงความผิดพลาดบกพร่องของตนเองในการบริหารงานบุคคลที่ไม่โปร่งใสและไม่เป็นไปตามหลักคุณธรรม กลับพยายามดื้อดึงยื้อที่จะไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของ ก.พ.ค.ก่อนหน้านี้เมื่อสิงหาคม 2553 ก.พ.ค.มีคำวินิจฉัยให้กระทรวงมหาดไทยยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งนายอำเภอ ประเภทอำนวยการระดับสูง ประเภทวิชาการ ระดับเชี่ยวชาญ (ระดับ 9) จำนวน 41 ราย แต่กระทรวงมหาดไทยใช้เวลานานหลายเดือนกว่าจะยอมดำเนินการตามคำวินิจฉัยดังกล่าว

ต่อมาต้นมีนาคม 2554 ก.พ.ค.มีคำวินิจฉัยว่า การโยกย้ายนายวงศ์ศักดิ์ สวัสดิ์พาณิชย์ จากอธิบดีกรมการปกครอง เป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย เป็นการใช้ดุลพินิจไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากนายวงศ์ศักดิ์ไม่ดำเนินการตามความต้องการของรัฐมนตรีว่าการและปลัดกระทรวงมหาดไทย ในโครงการจัดระบบให้บริการประชาชนด้านการทะเบียนและบัตรประจำตัวประชาชนแบบใหม่ วงเงิน 3,490 ล้านบาท ซึ่งมีการแก้ไขเงื่อนไขการประมูลเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อผู้รับจ้างบางราย และโครงการจัดทำบัตรประจำตัวประชาชนอิเล็กทรอนิกส์แบบอเนกประสงค์ หรือสมาร์ทการ์ด วงเงิน 900 ล้านบาท ฯลฯ จึงวินิจฉัยให้ยกเลิกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องการให้นายวงศ์ศักดิ์พ้นจากอธิบดีกรมการปกครอง และให้นายมงคล สุระสัจจะ เป็นอธิบดีกรมการปกครองแทน

ปรากฏว่า นายวิเชียร ชวลิต ปลัดกระทรวงมหาดไทย มีท่าทีในทำนองไม่ยอมรับคำวินิจฉัยของ ก.พ.ค. โดยอ้างว่าเป็นเรื่องซับซ้อน เพราะการแต่งตั้งข้าราชการระดับอธิบดีต้องเสนอชื่อต่อรัฐมนตรีเพื่อให้เสนอเรื่องเข้าที่ประชุม ครม.พิจารณาเห็นชอบ จากนั้นนายกรัฐมนตรีนำชื่อขึ้นทูลเกล้าฯเพื่อทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง "ไม่ว่าจะเป็นการเข้าสู่ตำแหน่งหรือพ้นจากตำแหน่ง ไม่ใช่อยู่ดีๆ จะมายกเลิกกันได้"

นายวิเชียรยังอ้างว่า แม้ว่ามติ ก.พ.ค.จะถือเป็นที่สุด แต่สามารถเข้าสู่กระบวนยุติธรรมน่าจะมีการฟ้องร้องต่อศาลปกครอง กระทรวงมหาดไทย ยังถือว่านายมงคลเป็นอธิบดีกรมการปกครองอยู่ จนกว่าจะสิ้นสุดตามขั้นตอน ซึ่งถือว่านายมงคลเป็นผู้เสียหาย ก็มีสิทธิฟ้องร้องต่อศาลปกครองได้เช่นกัน

ขณะที่นางจรวยพร ธรณินทร์ กรรมการ ก.พ.ค. อ้างว่า ตามกฎ ก.พ.ค.ว่าด้วยการร้องทุกข์และการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ฯข้อ 57 ไม่เปิดโอกาสให้คู่กรณีฟ้องศาลปกครองได้ ให้เฉพาะผู้ร้องทุกข์กรณีไม่พอใจคำวินิจฉัยของ ก.พ.ค.เท่านั้น

จากข้อเท็จจริงข้างต้น มีประเด็นที่ควรหาคำตอบดังนี้

หนึ่ง กระทรวงมหาดไทยต้องปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของ ก.พ.ค.หรือไม่

ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 มาตรา 123 วรรคสาม บัญญัติว่า เมื่อ ก.พ.ค.ได้พิจารณาวินิจฉัยประการใดแล้ว ให้...ปลัดกระทรวง รัฐมนตรีเจ้าสังกัด หรือนายกรัฐมนตรีแล้วแต่กรณี ดำเนินการให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยของ ก.พ.ค.

ส่วนกฎ ก.พ.ค.ข้อ 57 ระบุว่า คำวินิจฉัยร้องทุกข์ให้ผูกพันคู่กรณีในการร้องทุกข์และผู้ที่เกี่ยวข้องที่จะต้องปฏิบัติตามนับแต่วันที่กำหนดไว้ในคำวินิจฉัยร้องทุกข์นั้น

เมื่อทั้ง พ.ร.บ.และกฎ ก.พ.ค.ระบุไว้อย่างชัดเจนเช่นนี้แล้ว ถ้าผู้บริหารระดับสูงกระทรวงมหาดไทยเบี้ยวหรือยึกยัก ก็มีสิทธิเจอคุกได้ง่ายๆ

สอง กระทรวงมหาดไทยสามารถฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุดให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของ ก.พ.ค.ได้หรือไม่

เมื่อพิจารณาจากบทบัญญัติใน พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนแล้วเห็นว่า คำวินิจฉัยของ ก.พ.ค. เป็นกระบวนการการควบคุมตรวจสอบการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐในการบริหารงานบุคคลโดยองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาคำร้องทุกข์และ/หรืออุทธรณ์ไว้เป็นการเฉพาะ ถ้าให้คู่กรณีซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐสามารถใช้สิทธิฟ้องคดีเพื่อเพิกถอนคำวินิจัยได้ ย่อมขัดต่อหลักการควบคุมตรวจสอบภายในของฝ่ายบริหาร

ที่สำคัญกระทรวงมหาดไทยไม่ใช่ผู้เสียหายตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (เทียบเคียงคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 686/2548)

สาม นายมงคล สุระสัจจะ ฟ้องต่อศาลปกครองได้หรือไม่

เมื่อมีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ให้นายมงคลพ้นจากตำแหน่งอธิบดีกรมการปกครองเมื่อใด นายมงคลย่อมเป็นผู้เสียหายจากคำสั่งดังกล่าว จึงมีสิทธิฟ้องกระทรวงมหาดไทย และ ครม.ต่อศาลปกครองได้ แต่ไม่สามารถฟ้อง ก.พ.ค.ได้โดยตรง เพียงแต่ต้องบรรยายในคำฟ้องเชื่อมโยงให้เห็นว่า คำวินิจฉัยของ ก.พ.ค.นั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร

แต่สำหรับผู้บริหารระดับสูงกระทรวงมหาดไทย หมดทางหลีกเลี่ยง ต้องปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของ ก.พ.ค.สถานเดียว มิเช่นนั้นอาจต้องหลั่งน้ำตา เมื่อความตายมาเยือนตรงหน้า