วันศุกร์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2554

′ณัฐวุฒิ′

ที่มา มติชน



โดย ปราปต์ บุนปาน

(ที่มา คอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12 หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 24 มีนาคม 2554)

หลังได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวตามคำสั่งศาลอาญา แกนนำ นปช.ระดับ "แม่เหล็ก" อย่าง "ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ" ก็ขึ้นปราศรัยใหญ่บนเวทีการชุมนุมหน้าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยมาแล้ว 2 ครั้ง

เป็นการขึ้นปราศรัยในช่วงเวลาตี 2 ทั้งคู่ นัยว่าคือกลยุทธ์ดึงดูดคนเสื้อแดงให้ปักหลักบนถนนราชดำเนินจนการชุมนุมเลิกรา

และดูเหมือนกลยุทธ์ดังกล่าวจะประสบผลสำเร็จด้วยดี

อย่างไรก็ตาม ในระยะหลังๆ ณัฐวุฒิและแกนนำ นปช. ถูกวิพากษ์วิจารณ์จาก "แดงเสรีชน" จำนวนไม่น้อย ถึงปัญหาแนวทางการต่อสู้แบบ "ประนีประนอม"

กระทั่งบางครั้งเกิดความเชื่อว่าแกนนำหรือการ์ด นปช. อาจร่วมมือกับอำนาจรัฐในการสอดส่องคนเสื้อแดงบางกลุ่ม

จนส่งผลให้เป้าหมายซึ่งคนเสื้อแดงบางส่วนคาดหวังไว้ อาจกลายสถานะเป็นเพียงปลายทางที่เดินไปไม่ถึง

นี่เป็นกระบวนการถกเถียงและคลี่คลายตัว ที่ขบวนการประชาธิปไตยซึ่งเต็มไปด้วย "ความหลากหลายภายใน" จำเป็นต้องเผชิญ

นอกจากนี้ เป็นไปได้ว่าณัฐวุฒิ, แกนนำ นปช. และพรรคเพื่อไทย อาจกำลังเผชิญหน้าอยู่กับปัญหาอีกชุดหนึ่ง อันแตกต่างไปจากคนเสื้อแดงกลุ่มอื่นๆ

แต่ถึงที่สุดแล้ว ณัฐวุฒิก็ต้องก้าวเข้าสู่การเลือกตั้งทั่วไปครั้งหน้า ด้วยฐานะกำลังสำคัญในการปราศรัยหาเสียงของพรรคเพื่อไทยอยู่ดี

หากมองย้อนกลับไป เส้นทางทางการเมืองของเขามีความน่าสนใจอยู่มิใช่น้อย


จากนักโต้วาที และนักแสดงในรายการ "สภาโจ๊ก" สู่นักการเมืองตัวเล็กๆ ที่ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก

ทว่าสถานการณ์หลังรัฐประหาร 2549 และสภาวะทางการเมืองหลังการยุบพรรคพลังประชาชน กลับค่อยๆ หล่อหลอมให้ณัฐวุฒิกลายเป็นนักการเมืองและนักต่อสู้บนท้องถนนคนสำคัญ

ผู้พัฒนาลีลาการพูดจาและองค์ความรู้ทางการเมืองไทยขึ้นมาอย่างน่าจับตามอง

เขาได้ใจจากแม่ยก ได้รับการยอมรับจากนักวิชาการบางส่วน

ขณะเดียวกัน มีการปราศรัยของณัฐวุฒิซึ่งถูกยกให้เป็น 1 ในคำปราศรัยที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่

ที่สำคัญ หากไม่มีอะไรผิดพลาด ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อาจได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้งในอนาคต

น่าสังเกตด้วยว่า นักการเมืองหนุ่มที่ไม่ได้มีประวัติครอบครัวและประวัติการศึกษาน่าสนใจอย่างณัฐวุฒิเติบโตขึ้นมาในจังหวะรวดเร็วก้าวกระโดด ท่ามกลางสภาวะ "อปกติ" ของระบอบประชาธิปไตยไทย

ที่รัฐบาลซึ่งมาจากการเลือกตั้งถูกทำรัฐประหาร, พรรคการเมืองหลายพรรคที่มีฐานคะแนนเสียงจากประชาชนถูกยุบ และนักการเมืองชุดใหญ่ถูก "ชำระล้าง" ออกจากเวทีการเมืองที่ถูกมองว่าสกปรกโสมม

ถ้าวงจรผิดปกติเช่นนั้นหมุนย้อนกลับมาอีกหน

สังคมการเมืองไทยก็อาจให้กำเนิด "ณัฐวุฒิ" ขึ้นมาอีกหลายคน

และคาถาต่อต้านอำนาจนอกระบบแบบทีเล่นที่ว่า "อียิปต์ ตูนิเซีย ลิเบีย ลิเบีย ตูนิเซีย อียิปต์"

ก็อาจมีความหมายในเชิงทีจริงมากยิ่งขึ้น