วันจันทร์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

อาการแพ้นม ของสังคมไทย (ตอน 2)

ที่มา Voice TV



อาการแพ้นม ของสังคมไทย (ตอน 2)

ต่อจากสัปดาห์ผ่านมา ได้นำเสนอประเด็นเกี่ยวกับ อาการแพ้นมของสังคมไทย ที่หลายฝ่ายในออกมาวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสม โดยถูกโยงใยถึงความเสื่อมเสียระดับชาติ (National Disgraced) ซึ่งแนวคิดนี้ เกิดจากชั้นกลางผิวขาวหรือฝรั่งยุคล่าอาณานิคม ในช่วงศตวรรษที่ 19 ที่เห็นว่าการเปลือยกาย, อาการหละหลวมทางเพศ, การไม่ควบคุมอารมณ์ความรู้สึกของตนเอง, การแสดงความปรารถนาออกมาอย่างโจ่งแจ้ง เป็นความไร้อารยะธรรมของคนตะวันออกที่ยังไม่มีความเป็นคนเต็มคนเหมือนคนตะวันตก

บทความ การเปลือยอก ภาษากาย และมรดกแห่งรัฐเทวราชานิยม ของ Falling Angel

อำนาจเหนือร่างกายของตนเองนั้น ไม่ได้อยู่กับตัวเจ้าของร่างกายอันมีเลือดเนื้อนั้น แต่สิทธิ และอำนาจดังกล่าวตกอยู่กับตัวผู้ปกครองโดยสัมบูรณ์

เมื่อ กาลผ่านไป แนวคิดแบบรัฐเทวราชานิยมนั้นก็ถูกกัดกร่อน ท้าทาย และทำลายลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากการเกิดขึ้นของระบอบคิดแบบประชาธิปไตย ที่มองว่าอำนาจ และสิทธิเหนือร่างกายของตนนั้น เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่สุด ที่ไม่พึงโดนควบคุม หรือผูกขาดโดยผู้ใด อันนำมาสู่แนวคิดที่มองกระทั่งว่า “อำนาจเหนือร่างกายนั้น คือ สัญลักษณ์แห่งเสรีภาพของประชาธิปไตย และการลุกฮือต่อต้านระบอบเก่า” อย่างในการปฏิวัติฝรั่งเศสเอง ก็มีการนำภาพโป๊ (Pornography) มาใช้เพื่อสื่อแสดงถึงเสรีภาพ และอำนาจเหนือร่างกายในลักษณะดังกล่าวด้วยเช่นกัน ฉะนั้นแล้ว ในสายตาของผมมันจึงเป็นเรื่องแปลกประหลาดที่ในประเทศไทยตอนนี้ การที่หญิงสาวจะออกมาเต้นเปลือยอก หรือกลุ่มคนที่อยู่รอบตัวนายจตุพรจะแสดงท่าทางบางอย่างขึ้นมา แล้วจะต้องถูกเอาผิดโดยรัฐนั้น กลับเป็นเรื่องที่สังคมหลายภาคส่วนพากันเฮโลเห็นดีเห็นงามด้วย หรือแม้แต่นักเคลื่อนไหว ที่อ้างตนว่าเป็นเสรีชน หรือนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยบางคนยังออกมากล่าวร้ายสาวเปลือยอก ทั้งที่ท่าทีของคนในสังคมที่เป็นประชาธิปไตยมันควรจะตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง ความลั่กลั่นในสังคมที่ตัวรัฐเองก็พยายามอ้างว่าตนเป็นประเทศประชาธิปไตย หรือขบวนการเคลื่อนไหว (ที่อ้างว่า) เพื่อประชาธิปไตยบางกลุ่ม (หรือบางคน) กลับเห็นด้วยกับการที่รัฐมาช่วงชิงสิทธิ และอำนาจเหนือร่างกายของสมาชิกแห่งรัฐผู้อื่นไป และทำให้การโชว์นม หรือการแสดงท่าทางบางอย่างรอบตัวนายจตุพร กลายเป็นอาชญากรรมไป

ในขณะที่ทั่วโลก กำลังพยายามขยายขอบเขตของสิทธิ และอำนาจเหนือร่างกายของปัจเจกบุคคลให้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนมีองค์กรอย่างเป็นทางการที่เรียกร้องเกี่ยวกับสิทธิในการเปลือยอกอย่าง เท่าเทียม อย่าง Top free Equal Right Association หรือ TERAขึ้นมาแล้ว และในยุโรปหลายประเทศเอง ก็อนุญาตให้ทุกเพศ มีสิทธิในการเปลือยอกได้โดยทั่วไป อย่างเท่าเทียมกันแล้ว (ซึ่งจะยกเว้นก็แต่สถานที่ทางการของรัฐ หรือสถานที่ของเอกชนบางจุดที่อนุญาตให้กำหนดแนวทางการแต่งตัว – Dress Code – ได้ แต่โดยทั่วไปอนุญาต) อาทิเช่น ประเทศสวีเดน หรือ ประเทศเดนมาร์ก และยังมีประเทศที่ประชาธิปไตยก้าวหน้าอีกหลายแห่งทั่วโลกกำลังพยายามผลักดัน เรื่องนี้อย่างจริงจังต่อไปเรื่อยๆ

ในประเทศไทยนั้น ด้วยมรดกที่หลงเหลือมาจากยุครัฐเทวราชานิยม ซึ่งมรดกทางความคิดนี้เหลือมากเกินกว่าที่จะเรียกได้ว่าเป็นเพียงซากทางความ คิด จึงทำให้เกิดเป็นสังคมไทยที่พยายามอ้างตัวว่าเป็นสังคมประชาธิปไตย แต่ในขณะเดียวกันก็มีมุมมองต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างกษัตริย์ในยุคเทวราชาต่อไป (ด้วยการอ้างแบบไร้ตรรกะผ่านคำว่า “อเนกนิกรณ์สโมสรสมมติ”) และเป็นรัฐซึ่งมีวาทกรรมเรื่อง “ประเพณีไทยงดงาม ไม่แพ้ใครในโลก” เป็นเสมือนหนึ่งสมบูรณาญาสิทธิวาทกรรม ที่ไม่อาจจะแตะต้อง หรือเห็นต่างได้ ด้วยความคิดว่าวัฒนธรรมไทยเป็นอะไรที่จรูญจรัสรัศมีพราวพร่างพร้อย อย่างที่เป็นอยู่ ทำให้สังคมไทยเป็นสังคมที่พร้อมจะดึงเอาลักษณะทุกอย่างที่ตนมองว่าเป็นสิ่ง “ดีงาม” รวมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมเราเองได้หมดสิ้น โดยไม่รู้สึกแปลกประหลาด หรือเขินอาย ดั่งที่เราจะพบได้จากเพลงในโฆษณาเบียร์ช้าง โดยแอ๊ด คาราบาว ที่ว่า “คนไหนคนไทย จะรู้ได้ไง ถ้ามีน้ำใจล่ะคนไทยแน่นอน” อันซึ่งในทางความเป็นจริง ไม่มีแม้แต่เศษเสี้ยวละอองธุลีใดๆ เลยที่จะบ่งวัดได้ว่า “นั่นคือคนไทย” หรือ การผูกขาดอำนาจเหนือความคิดในลักษณะเดียวกันว่า “คนไทยทุกคนรักพ่อหลวง คนที่ไม่รักก็ไปอยู่ประเทศอื่น มันไม่ใช่คนไทย” ฉะนั้นวิธีการในการ “กำหนดลักษณะทางวัฒนธรรม (Cultural Characterization)” ในสังคมไทยที่เกิดขึ้นนี้เองที่มันกลายมาเป็นเครื่องมือ (Mechanism) ของรัฐไทย ผู้ซึ่งยังมองตัวเองว่าเป็นผู้ปกครองในระบอบรัฐเทวราชานิยมอยู่นั้นสามารถ ใช้ประโยชน์ได้ต่อไป โดยจะมีเฉพาะลักษณะ (ทางการกระทำที่วัดมาตราฐานด้วยวัฒนธรรม) ที่ผู้กุมอำนาจเห็นควรให้อยู่เท่านั้น จึงมีสิทธิอยู่ต่อไปได้ และลักษณะของการกระทำใดที่รัฐไม่นิยม ก็จะต้องถูกเขี่ยทิ้ง ให้สูญพันธุ์ไป

เพราะฉะนั้นด้วยพลังของวาทกรรมทางวัฒนธรรมที่รัฐพร่ำกล่อมเกลาตลอดวันตลอดคืน และสร้างให้เป็นวาทกรรมที่เห็นต่างไม่ได้ วิพากษ์ไม่ได้ เพราะนำมันไปผูกติดกับชาตินิยม และเทวราชานิยม ชนิดที่ว่าผู้ใดเห็นต่างจากวัฒนธรรมดังกล่าวก็จะถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกขาย ชาติ หรือโดนฝรั่งล้างสมองไปเสียหมด ย่อมทำให้สังคมอย่างไทยที่อ้างว่าเป็นประชาธิปไตยนั้น พร้อมจะคำราม กร่นด่าใส่ผู้ซึ่งพยายามจะหลุดออกจากการเป็นวัตถุแห่งปราถนา (Object of Desire) แล้วกลายมาเป็น “นายแห่งความปราถนา (Subject of Desire)” นั้น อย่างพร้อมเพรียงกัน และรู้สึกเป็นหน้าที่อันพึงกระทำ ในฐานะผู้สืบสานวัฒนธรรมอันแจ่มจรัสของชาติ ให้ไร้ซึ่งมลทินต่อไปซึ่งก็เป็นเรื่องน่าประหลาดอีกครั้ง หากเราลองสำรวจดู โดยใช้แว่นตาความรักชาติแบบหลวงวิจิตรวาทการยุคใหม่ (ที่คลั่งชาติ เสียยิ่งกว่าหลวงวิจิตรฯ เองเสียอีกนี่แหละ) มาสำรวจดู ประเทศที่เค้าอนุญาตให้สามารถเปิดอกโชว์ได้อย่างเต็มที่แล้ว อย่างเดนมาร์ก หรือสวีเดนนั้น ก็ล้วนแต่เป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานแสนนานไม่แพ้ประเทศไทย หรือสยามประเทศ หรือกรุงธนบุรี หรืออาณาจักรอยุธยา (ไล่ไปเรื่อย จนถึงเทือกเขาอัลไตไปนู่น) เลย และทั้งสองประเทศก็ล้วนแต่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขปกครองมาช้านาน มิได้ผิดแผกจากประเทศไทยเลยแม้แต่น้อย แต่ผมก็ไม่คิดว่าจะมีชาวโลกมาเที่ยวประณามว่าสองชาตินี้มีวัฒนธรรมอันบัดซบ ฟ่อนเฟะ เพียงเพราะการให้คนสามารถมีสิทธิเหนือเต้าของตน หรือแม้แต่การวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์อย่างตรงไปตรงมาได้แต่อย่างใด ที่ผมต้องลองพยายามสวมแว่นตาแบบหลวงวิจิตรฯ ทั้งที่ตัวผมนั้น รังเกียจเป็นอย่างยิ่งนี้ ก็เพื่อจะบอกท่านที่เชื่อเช่นนั้นว่า ข้ออ้างประเภทดังกล่าว ที่ว่าการเปลือยอกเป็นอาชญกรรม ทำลายวัฒนธรรมของชาติ หรือที่ว่าการแสดงท่าทีบางประการเป็นการทำลายเกียรติ์ของประมุขของประเทศ นั้น เป็นข้ออ้างที่ใช้ไม่ได้เลย