วันอาทิตย์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

"ราคา"ของ"สงคราม"

ที่มา มติชน



โดย สรกล อดุลยานนท์

(จากคอลัมน์ สถานีคิดเลขที่12 ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 30 เมษายน2554)


หลายปีที่ผ่านมา เราเสียเงินกว่า 100,000 ล้านบาท ไปสำหรับเหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนใต้

คนไทยด้วยกันเองเสียชีวิตไปหลายพันคน

ปี 2553 ที่ผ่านมา เมื่อเกิดเหตุ "ม็อบเสื้อแดง" ในเดือนเมษายน-พฤษภาคม รัฐบาลใช้งบประมาณภายใต้คำเพราะๆ ว่า "เพื่อความสงบเรียบร้อย" ไปประมาณ 6,000 กว่าล้านบาท

กระสุนเป็นแสนนัด

และลมหายใจของคนไทยด้วยกันเกือบ 100 คน

ล่าสุด ในเหตุการณ์การปะทะกันที่ชายแดนไทยและกัมพูชา รัฐบาลอนุมัติงบประมาณให้กับกองทัพ 1,200 ล้านบาท

มีทหารและชาวบ้านของไทยและกัมพูชาเสียชีวิตไปเป็นจำนวนมาก

ทุกครั้งที่เกิด "สงคราม" ไม่ว่าในประเทศหรือระหว่างประเทศล้วนแต่นำมาซึ่ง "ความสูญเสีย"

ทั้ง "ชีวิต"

ทั้ง "งบประมาณ" มหาศาล

ที่สำคัญก็คือ "สงคราม" จะบ่มเพาะความเกลียดชังให้เกิดขึ้นในใจของคู่ขัดแย้ง

ไม่ว่าจะเป็นคนไทยด้วยกันเอง หรือระหว่างชาวไทยกับชาวกัมพูชา

เพราะทันทีที่เกิด "สงคราม"

สิ่งแรกที่จะถูกสังหารก่อนใครคือ "ความจริง"

เรื่องราวที่ออกจากปากของฝ่ายความมั่นคงกับคนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ส่วนหนึ่งจึงแตกต่างกันราวฟ้ากับดิน

เช่นเดียวกับเรื่องราวที่ออกจากปาก พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด กับ "จตุพร พรหมพันธุ์" ก็เหมือนกับหนังคนละเรื่อง

หรือการพูดถึงเหตุการณ์ปะทะกันที่ชายแดน เสียงที่ออกมาจากฝั่งกัมพูชากับฝั่งไทยก็เป็นคนละเรื่องเดียวกัน

ไม่มีใครรู้ว่า "ความจริง" เป็นอย่างไร

แต่ "ความจริง" หนึ่งที่ทุกคนต้องยอมรับก็คือ "ความขัดแย้ง" ได้เกิดขึ้นแล้ว และลุกลามขึ้นเรื่อยๆ

ที่น่าแปลกก็คือ เมื่อเราสาวหาปมของความขัดแย้งทั้ง 3 กรณี ใครจะไปนึกว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นล้วนมาจากสาเหตุที่ใกล้เคียงกัน

นั่นคือ การไม่เคารพ "กติกา" และ "ความยุติธรรม"

ถ้าเราเคารพกติกาประชาธิปไตย กติกาการเลือกตั้ง

ถ้าเราเคารพกติกาของสังคมโลก ไม่ว่าศาลโลก คณะกรรมการมรดกโลก คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ หรืออาเซียน

ถ้าเราทำให้คนใต้รู้สึกว่าเขาได้รับความยุติธรรม

ปัญหาทั้งหมดก็จะลดระดับทันที

ในโลกแห่งความจริง ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเกิดขึ้นและดำเนินไป

ไม่มีทางที่จะหมุนเข็มนาฬิกากลับไปได้

แต่ไม่ว่า "ความจริง" จะโหดร้ายเพียงใด แต่เราก็มีสิทธิฝัน

ฝันที่จะเห็นเมืองไทยดีขึ้น

มีคนเคยบอกว่าถ้าเราเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมไม่ได้

ขอให้เราเปลี่ยนทัศนคติ

ยอมรับ "กติกา" และทำ "ความยุติธรรม" ให้คนยอมรับได้

บางที "ความฝัน" ก็จะกลายเป็น "ความจริง" ขึ้นมา

ปัญหาก็มีอยู่เพียงว่าเรากล้าที่จะฝันหรือไม่

...เท่านั้นเอง