วันเสาร์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2554

'เฟซบุ๊ก' ยั่วประจาน

ที่มา thaifreenews

โดย bozo



“เฟซบุ๊ก” เป็นพิษ

จากเจตนารมณ์ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
จั่วหัวประเดิม “เกมยุทธ์เชิงการตลาด” ใช้โซเชียลเน็ตเวิร์ก “ขายตรง” ถึงบรรดากองเชียร์แม่ยก พ่อยก

“ผมพยายามสื่อสารกับพี่น้องประชาชนอย่างต่อเนื่อง
เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมและความเข้าใจในการทำงานของผม
แต่ที่ผ่านมาผมหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงเหตุการณ์ทางการเมืองที่มีความละเอียดอ่อน
เพราะผมพยายามลดเงื่อนไขความขัดแย้ง แต่ขณะนี้สื่อมวลชนบางส่วนเสนอข้อมูล
ข้อคิดที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ผมจึงจำเป็นต้องทำบันทึกชุดนี้เพื่อเป็นหลักฐาน
และเพื่อประโยชน์ในการตัดสินใจชี้ชะตาอนาคตของประเทศโดยพี่น้องทุกคนในเร็วๆนี้”

พยายามลดเงื่อนไขความขัดแย้ง แต่การณ์กลับกลายเป็นจุดชนวน

“ฟื้นฝอย” ทะเลาะกับพรรคร่วมรัฐบาล

จากเวอร์ชั่นแรกที่เปิดฉากเหน็บ “บิ๊กเติ้ง” นายบรรหาร ศิลปอาชา
หลงจู๊ใหญ่พรรคชาติไทยพัฒนาพาดพิงไปถึงนายเนวินชิดชอบ“ครูใหญ่”พรรคภูมิใจไทย
ที่ออกมาทวงสัญญาลูกผู้ชายเป็นทำนองว่า
เป็นนักการเมืองต้องทำเพื่อพี่น้องประชาชนทุกคน
ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของพรรคพวกหรือคนๆเดียว

แสดงตัวตนของคนชื่อ “อภิสิทธิ์” ไม่เคยลดราวาศอกให้ใคร

มาถึงเวอร์ชั่น “จากใจอภิสิทธิ์ถึงคนไทยทั้งประเทศ”
ที่ย้อนอดีตเคลียร์ตัวเองกันตั้งแต่เริ่มฟอร์มรัฐบาล “อภิสิทธิ์ชน”
เคลียร์ปัญหาค้างคาใจ ไล่กันมาตั้งแต่เบื้องหลังคดียุบพรรคพลังประชาชน
อันเป็นที่มาของการ “สลับขั้ว” พรรคประชาธิปัตย์มีโอกาสจัดตั้ง “รัฐบาลเทพประทาน”

“อภิสิทธิ์” เฟ้นเอาเฉพาะส่วนดีเอาไว้กับตัว

“ผมคิดว่าแม้คนไทยจะตะขิดตะขวงใจกับการที่ผมไปทำงานกับพรรคร่วมรัฐบาลเดิม
แต่คนที่คิดอยู่ในระบบย่อมเข้าใจว่า เรามีผู้เล่นอยู่เท่านี้ ไม่สามารถเปลี่ยนผู้เล่นได้
เพราะคนที่จะเปลี่ยนผู้เล่นคือประชาชน เมื่อเปลี่ยนผู้เล่นไม่ได้
ผมก็ต้องจัดทีมจากผู้เล่นที่มีและดูแลให้ผู้เล่นเหล่านั้นเดินตามกติกาที่ผมวางไว้”

พูดกันเป็นนัย จำใจเลือกพรรคร่วมรัฐบาลเข้ามาเพราะไม่มีตัวเลือก

เล่น “โยนชั่ว” ให้เพื่อนรับไปซะขนาดนี้
ก็ไม่แปลกที่นายชุมพล ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา
จะออกอาการฉุนกึก “ย้อนเกล็ด” กันแบบเลือดสาด

“ไม่ใช่ว่าพรรคชาติไทยพัฒนาอยากร่วมรัฐบาล ถ้าไม่ถูกบังคับก็ไม่เลือกแน่
เราถูกบีบด้วยพลังที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ก็ต้องมาร่วมผมไม่สบายใจขอสะกิดไว้หน่อย
บรรยากาศการเลือกตั้งต้องนำความสงบไปสู่หลังการเลือกตั้ง
มีปัญหากับฝ่ายค้านแล้วอย่าให้มีปัญหากับพรรคร่วมอีก มันจะไปกันใหญ่”

“ถูกบีบด้วยพลังที่มองไม่เห็น”

“จบข่าวเลย” คนระดับนายชุมพล
ที่อีกสถานะหนึ่งเป็นนักวิชาการ อาจารย์สอนหนังสือมหาวิทยาลัย
มีเครดิตมากกว่านักเลือกตั้งอาชีพทั่วไป เปิดปากแฉเอง
เบื้องหลังการสลับขั้ว เปิดทางรัฐบาล “อภิสิทธิ์ชน” มีคนกำกับฉากอยู่เบื้องหลัง

ตอกย้ำภาพการจัดตั้งรัฐบาล “เทพประทาน” ในค่ายทหาร

และก็เป็น “อภิสิทธิ์” ที่แบไต๋ออกมาเอง จากข้อความตอนหนึ่งในเฟซบุ๊ก
“ช่วงเวลานั้นนายพสิษฐ์ศักดาณรงค์อดีตเลขานุการประธานศาลรัฐธรรมนูญ
ติดต่อผ่าน ส.ส.คนหนึ่ง เพื่อขอพบผม เพราะมีธุระอยากพูดคุยด้วย
เราก็ได้พบกันที่ร้านอาหารใกล้พรรคประชาธิปัตย์

โดยคุณพสิษฐ์บอกผมว่า พรรคพลังประชาชนจะถูกยุบนะ ผมก็เพียงแต่รับฟัง
คุณพสิษฐ์บอกกับผมว่าที่เล่าให้ฟังเพราะคิดว่าจะเป็นประโยชน์กับพรรคประชาธิปัตย์
ซึ่งผมตอบกลับไปว่า การยุบพรรคพลังประชาชนหรือไม่
เป็นเรื่องของเนื้อคดีและดุลพินิจของศาลรัฐธรรมนูญ
แม้แต่วันนั้นผมก็ยังบอกเขาเลยว่าหากยุบพรรคพลังประชาชน
ผมก็คิดว่าไม่ได้เป็นประโยชน์หรือเกี่ยวข้องกับประชาธิปัตย์
เพราะผมเชื่อว่าพรรคร่วมรัฐบาลเดิมก็คงจับมือกันเป็นรัฐบาลต่อ”

ตามจังหวะที่นายพสิษฐ์ให้สัมภาษณ์พิเศษไล่หลังในหนังสือ
พิมพ์มติชนฉบับประจำวันที่ 10 มิถุนายน ฉายซ้ำ “คลิปลับ” วันนัดพบ “ผู้นำฝ่ายค้าน”

จับประโยคสนทนา ใกล้เคียงกับช็อตเบื้องหลังที่นายอภิสิทธิ์ถ่ายทอดออกมา

เรื่องของเรื่อง
ประเด็นสำคัญมันอยู่ตรงที่ว่า “อภิสิทธิ์” กับ “พสิษฐ์” มีการนัดพบกันจริงๆ
ในห้วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อ และผลออกมาก็เป็นไปตามที่มีการเจรจาความกัน

มันก็ชัด มีขบวนการ “ล็อบบี้” อยู่ฉากหลัง

เถียงไม่ขึ้น รัฐบาล “อภิสิทธิ์” ก่อกำเนิดมาจาก “พลังที่หลีกเลี่ยงไม่ได้”.




ทีมข่าวการเมือง


http://www.thairath.co.th/content/pol/178103

Re:

โดย dแดง

อ่านบทความเหลืองแฉบ้างดีกว่า

ASTVผู้ จัดการสุดสัปดาห์ - ในระหว่างที่การเมืองกำลังเข้าด้ายเข้าเข็ม โดยเฉพาะในห้วงเวลาที่ “พรรคประชาธิปัตย์” ภายใต้การนำทัพของเขากำลังอ่อนแออย่างถึงขีดสุด ไม่มีท่าทีว่าจะชนะศึกเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงในวันที่ 3 กรกฎาคม และแทบไม่เห็นหนทางที่จะกลับสู่เส้นทางแห่งอำนาจได้อย่างไร “นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคการเมืองเก่าแก่พรรคนี้เลือกที่จะใช้ “โซเชียลเน็ตเวิร์ก” อย่าง “เฟซบุ๊ก(facebook)” สื่อสารกับสังคมไทยในประเด็นที่ล้วนแล้วแต่มีนัยสำคัญทางการเมืองทั้งสิ้น

จนผู้คนงงงวยกันทั้งบ้านทั้งเมืองว่า เจ้าของสมญานาม “ดีแต่พูด” กำลังหันมาเอาทีทาง “ดีแต่เขียน” แล้วกระนั้นหรือ

อย่างไรก็ตาม เมื่อตรวจสอบเนื้อหาในข้อเขียนที่นายอภิสิทธิ์ตั้งชื่อเอาไว้อย่างสวยหรูว่า “จากใจอภิสิทธิ์ถึงคนไทยทั้งประเทศ” ใน http://www.facebook.com/Abhisit.M.Vejjajiva ก็ทำให้เห็นถึงเป้าประสงค์ของข้อเขียนชิ้นนี้ได้เป็นอย่างดีว่า ทำไมนายอภิสิทธิ์ถึงตัดสินใจใช้ช่องทางนี้แทนที่จะเลือกใช้วิธีการให้ สัมภาษณ์ผ่านสื่อมวลชน ดังเช่นที่เขาเขียนเอาไว้ว่า “แม้ตลอดระยะเวลา 2 ปีกว่าที่ผมดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ผมพยายามสื่อสารกับพี่น้องประชาชนอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วม และความเข้าใจในการทำงานของผม แต่ที่ผ่านมา ผมหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงเหตุการณ์ทางการเมืองที่มีความละเอียดอ่อนเพราะผม พยายามลดเงื่อนไขความขัดแย้ง แต่ขณะนี้สื่อมวลชนบางส่วนเสนอข้อมูล ข้อคิดที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ผมจึงจำเป็นต้องทำบันทึกชุดนี้เพื่อเป็นหลักฐานและเพื่อประโยชน์ในการตัดสิน ใจชี้ชะตาอนาคตของประเทศไทยโดยพี่น้องทุกคนในเร็วๆ นี้”

หรือสรุปง่ายๆ ว่า สื่อมวลชนไม่ให้ความเชื่อถือข้อมูลที่นายอภิสิทธิ์สื่อสารด้วยการพูด และข้อเท็จจริงที่สื่อมวลชนนำเสนอผ่านสื่อออนไลน์กำลังบั่นทอนความน่าเชื่อ ถือของเขาหนักขึ้นทุกวัน ดังนั้น จึงจำต้องเขียนผ่านเฟซบุ๊กเพื่อให้บรรดาคนรักอภิสิทธิ์ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ ที่นิยมใช้ช่องทางนี้ในการติดตามความเคลื่อนไหวทางการเมืองได้เข้าใจ

ขณะที่ข้อดีของการเขียนข้อความผ่านเฟซบุ๊กก็คือ นายอภิสิทธิ์จะสามารถเขียนข้อความใดๆ ลงไปก็ได้โดยที่ไม่ต้องถูกซักถามจากสื่อมวลชนที่รู้เท่าทันข้อมูล

สำหรับข้อเขียนจากใจนายอภิสิทธิ์ที่สื่อสารผ่านเฟซบุ๊กขณะนี้มีทั้งหมด 2 ตอนด้วยกัน โดยตอนแรกมีชื่อว่า “การเมืองสลับขั้ว : สู่เส้นทางนายกรัฐมนตรี” ส่วนตอนที่สองมีชื่อว่า "กฎเหล็ก 9 ข้อ : สู่บรรทัดฐานใหม่ทางการเมือง"

ทั้งนี้ เมื่อวิเคราะห์ลงในรายละเอียดของข้อเขียนในตอนแรกแล้วจะเห็นว่า สาระสำคัญที่นายอภิสิทธิ์ต้องการสื่อสารหรืออาจสามารถใช้คำว่า “แก้ตัว” มีหลายประเด็นด้วยกันคือ

หนึ่ง-นายอภิสิทธิ์ปฏิเสธเรื่องความสัมพันธ์กับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อ ประชาธิปไตย และโจมตีการชุมนุมในทำเนียบรัฐบาล การชุมนุมในสนามบินและขัดขวางการลงพื้นที่ของรัฐมนตรีว่าเป็นสิ่งที่ผิด กฎหมาย ด้วยการใช้ข้อความว่า

“หลายคนมองว่า พรรคประชาธิปัตย์สมคบกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย แต่ผมระมัดระวังที่จะแยกแยะบทบาทของพรรคการเมืองกับภาคประชาชนที่มีสิทธิ เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ผมไม่ขึ้นเวทีแต่ปกป้องสิทธิของพวกเขา เมื่อใดที่มีการทำผิดกฎหมาย เช่น การยึดทำเนียบฯ ยึดสนามบิน หรือขัดขวางการลงพื้นที่ของรัฐมนตรี ผมแสดงจุดยืนชัดเจนทุกครั้งว่า ผมไม่เห็นด้วย”

นายอภิสิทธิ์เลือกที่จะตัดตอนข้อมูล โดยมิได้อธิบายบริบทของสาเหตุที่ทำให้พันธมิตรฯ ต้องตัดสินใจกระทำดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ระเบิด” และ “M-79”ที่คร่าชีวิตอันบริสุทธิ์ของประชาชนที่ออกมาชุมนุมตามสิทธิที่ระบุไว้ ในรัฐธรรมนูญรายแล้วรายเล่า โดยที่รัฐบาลในขณะนั้นไม่สามารถปกป้องและคุ้มครองชีวิตของผู้ชุมนุมได้

ขณะเดียวกันนายอภิสิทธิ์ก็ไม่กล้าพอที่จะยอมรับความจริงว่า “คนของพรรคประชาธิปัตย์” ถูกส่งเข้ามาร่วมกับพันธมิตรฯ จำนวนไม่น้อยเพื่อแสวงหาผลประโยชน์และฉวยจังหวะแห่งความวุ่นวายของสถานการณ์ ก้าวขึ้นสู่อำนาจ และทำให้เขากลายเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย

นอกจากนี้ นายอภิสิทธิ์ยังโจมตีพันธมิตรฯ ด้วยว่า ข้อเรียกร้องให้นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นลาออกเป็นการยอมจำนนต่อการใช้มวลชนกดดัน โดยระบุชัดเจนว่า จะส่งผลให้เกิดปัญหาระยะยาวต่อการบริหารประเทศ ทั้งๆ ที่การลาออกก็เป็นหนทางหนึ่งที่ระบุเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ และมิใช่เป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

นายอภิสิทธิ์ปฏิเสธการใช้มวลชนกดดัน แต่นายอภิสิทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรีได้ก็เพราะการใช้มวลชนกดดันมิใช่หรือ

สอง-นายอภิสิทธิ์ปฏิเสธเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร โดยออกตัวด้วยการอธิบายอย่างน่าเกลียดว่า “ใครจะคุยกับทหารอย่างไรผมไม่ทราบ เพราะผมไม่เคยติดต่อกับทหารท่านใดเลย… ถ้าทหารมีอำนาจบีบบังคับให้พรรคการเมืองต้องทำตามที่ตัวเองต้องการ ทำไมจึงมีการแข่งขันอย่างเข้มข้นในสภา”

นายอภิสิทธิ์กำลังจะบอกต่อสังคมว่า เขามิได้ใช้ทหารเป็นเครื่องมือในการจัดตั้งรัฐบาล ก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีด้วยกรรมวิธีในรัฐสภา แต่นายอภิสิทธิ์ก็ไม่ได้ปฏิเสธเช่นกันว่า คนของพรรคประชาธิปัตย์อย่างนายสุเทพ เทือกสุบรรณเคยติดต่อกับทหารหรือไม่

ที่สำคัญคือ ถ้านายอภิสิทธิ์ไม่ได้ทหารช่วยจัดตั้งรัฐบาลจริง ทำไมโควตารัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจึงนำไปใส่พานให้กับ “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” ที่เป็นคนนอก มิใช่คนของพรรคประชาธิปัตย์หรือพรรคการเมืองที่เข้าร่วมรัฐบาลแต่อย่างใด

นายอภิสิทธิ์กล้าที่จะปฏิเสธหรือว่า การยกตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมไม่ใช่รางวัลที่มอบให้ในฐานะที่ทำ ให้สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ

ทั้งนี้ หลักฐานที่ยืนยันการจัดตั้งรัฐบาลโดยมีทหารหนุนหลังที่นายอภิสิทธิ์ไม่อาจ ปฏิเสธได้ก็คือ การที่ “นายชุมพล ศิลปอาชา” หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ออกมาแฉด้วยตัวเองว่า “ไม่ใช่ว่าพรรคชาติไทยพัฒนาอยากจะร่วมรัฐบาล ถ้าไม่ถูกบีบบังคับก็ไม่ร่วมแน่ ซึ่งเราถูกบีบด้วยพลังที่เราไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงได้ ก็ต้องมาร่วม” ซึ่งแน่นอนว่า คนที่บีบพรรคชาติไทยพัฒนาจะเป็นใครหรือองค์กรใดมิได้ ถ้ามิใช่ “คนสีเขียว”

จากนั้นนายอภิสิทธิ์ใช้ข้อเขียนของตนเองอธิบายข้อวิจารณ์เรื่อง “การยอมทุกอย่างให้คุณเนวินขี่คอ ได้กระทรวงหลักไปดูแล” ว่า “ความจริงก็คือในสถานการณ์นั้นง่ายที่สุดคือ ใครเคยดูแลกระทรวงไหนก็ดูแลกระทรวงนั้นเหมือนเดิมทั้งหมด” ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า วิธีคิดของนายอภิสิทธิ์นั้น มิได้ตั้งใจเข้ามาแก้ปัญหาให้กับชาติบ้านเมืองแต่อย่างใด เพราะเป็นการแก้ปัญหาที่ง่ายเกินไป โดยมิได้มองถึงผลเสียหายที่จะเกิดกับประเทศชาติ

เป็นสมการการเมืองที่ผิดเพี้ยน เพราะการที่พรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลอย่างพรรคประชาธิปัตย์มิได้นั่งบริหาร งานกระทรวงสำคัญๆ ทำให้การขับเคลื่อนประเทศเกิดปัญหาตามมามากมาย และกาลเวลาก็เป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นว่า การยอมยกระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ก่อให้เกิดเรื่องราวที่สร้างความผิดหวังให้กับรัฐนาวาของนายอภิสิทธิ์มาก น้อยเพียงใด

ซ้ำร้ายนายอภิสิทธิ์ยังอ้างด้วยว่า การจับมือระหว่างเขาและนายเนวินนั้นคือการเข้ามาแก้วิกฤติของประเทศให้จบ เพราะขณะนั้นกำลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจและวิกฤตการเมือง

แน่นอน ทุกคนเข้าใจดีถึงข้อจำกัดของประเทศในห้วงเวลานั้น แต่บทสรุปของเหตุการณ์เมื่อนายอภิสิทธิ์นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีกว่า 2 ปี นายอภิสิทธิ์กลับมิได้ทำให้วิกฤตของประเทศคลี่คลาย โดยวิกฤตการเมืองก็ยังดำเนินไปอย่างหนักหนาสาหัสจนเกิดเหตุการณ์เผาบ้านเผา เมือง ขณะที่วิกฤตเศรษฐกิจก็ยังหนักหน่วงจากภาวะข้าวยากหมากแพงที่สร้างความเดือด ร้อนให้แก่ประชาชนทั้งประเทศ

นอกจากนี้ นายอภิสิทธิ์ยังแสดงออกในข้อเขียนชื่นชมนายเนวินอย่างออกหน้าออกตาอีกต่าง หากว่า “ผมเข้าใจดีถึงความรู้สึกของพี่น้องจำนวนไม่น้อยที่แสลงใจกับภาพที่คุณเนวิน ชิดชอบเข้ามาโอบกอดผม ผมมองอย่างให้ความเป็นธรรมกับคุณเนวินว่า การตัดสินใจย้ายขั้วทิ้งคุณทักษิณ ที่คุณเนวินเรียกว่านาย ย่อมเป็นการตัดสินใจที่ยากลำบากไม่น้อย คำพูดที่คุณเนวินฝากไปถึงคุณทักษิณที่ว่า มันจบแล้วครับนาย ด้วยเสียงสั่นเครือน้ำตาคลอเบ้าคงจะยังเป็นบาดแผลในใจคุณเนวินมาจนถึงวันนี้ ไม่ว่าคนจะมองคุณเนวินในภาพอย่างไร แต่ในวันนั้นผมเชื่ออย่างบริสุทธิ์ใจว่า คุณเนวินได้ตัดสินใจทางการเมืองเพื่อให้ประเทศเดินหน้าได้”

นายอภิสิทธิ์เชื่อสนิทใจได้อย่างไรว่า คนที่มีประวัติและเบื้องหลังทางการเมืองที่พร่ามัวผู้นี้จะตัดสินใจทางการ เมืองเพื่อให้ประเทศเดินหน้าไปได้ ถ้าไม่มีเรื่องอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง และถ้าต้องการให้ประเทศเดินหน้าจริงและเสียสละจริง ทำไมพรรคภูมิใจไทยถึงได้โควตากระทรวงเกรดเอไปครองครอบถึง 4 กระทรวง และแทบจะกล่าวได้ว่า ทั้ง 4 กระทรวงเป็นกระทรวงที่มีเรื่องราวที่ไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก

สี่-นายอภิสิทธิ์ยอมรับว่า รู้จัก เคยพบและรับประทานอาหารร่วมกับ “น้องปอย-นายพสิษฐ์ ศักดาณรงค์” อดีตเลขานุการของ “นายชัช ชลวร” ประธานศาลรัฐธรรมนูญ โดยนายพสิษฐ์ติดต่อผ่าน ส.ส.คนหนึ่งของพรรคประชาธิปัตย์เพื่อขอเข้าพบตนเอง เพื่อแจ้งให้ทราบว่า พรรคพลังประชาชนจะถูกยุบ พร้อมทั้งพร่ำพรรณนาว่า ตัวเขาเองและพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้ประโยชน์จากการนี้

ทั้งนี้ การที่นายอภิสิทธิ์หยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาอธิบาย เป็นเพราะต้องการเชื่อมโยงให้เห็นถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำพิพากษาออกมา ว่า พรรคประชาธิปัตย์ไม่มีความผิดทั้งคดีใช้จ่ายเงินกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการ เมือง 29 ล้านบาทและคดีรับเงินบริจาคจากทีพีไอ 258 ล้าน ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนอย่างหนักต่อกระบวนการยุติธรรม เพราะก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อการทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ

เพราะก่อนหน้าที่ศาลจะมีคำพิพากษาออกมา นายพสิษฐ์ผู้นี้ก็กระทำการอันลือลั่นด้วยการปล่อยคลิปเพื่อเปิดโปงความไม่ ชอบมาพากลในคดีดังกล่าว และผู้ที่นาย พสิษฐ์ไปพบก็คือ “นายวิรัช ร่มเย็น” ส.ส.และกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ ที่เป็นหนึ่งในคณะทำงานคดียุบพรรคประชาธิปัตย์

นายอภิสิทธิ์ต้องการคลี่ประเด็นที่ค้างในหัวใจของสังคมว่า พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคที่มีเส้น ทำทุกอย่างตรงไปตรงมา แม้นายพสิษฐ์จะมาให้ข้อมูลเรื่องผลแห่งคดี นายอภิสิทธิ์ก็มิได้สนใจ ดังนั้น จงโปรดอย่านำไปเชื่อมโยกกับคดีที่ตามมาในภายหลัง

แต่ที่ต้องขีดเส้นใต้เอาไว้คือ ข้อเขียนในเฟซบุ๊กของนายอภิสิทธิ์ก็ทำให้สังคมเข้าใจได้ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับนายพสิษฐ์นั้น อยู่ในระดับที่ไม่ธรรมดา เพราะมิฉะนั้นแล้วคงไม่สามารถนัดพบกับคนของพรรคประชาธิปัตย์ได้บ่อยครั้ง เช่นนี้

ถัดจากวันที่ 6 มิ.ย.อันเป็นวันแรกที่นายอภิสิทธิ์เขียนเปิดใจ อีกไม่กี่วันถัดมาคือวันที่ 8 มิ.ย.นายอภิสิทธิ์ก็ส่งข้อเขียนตอนที่ 2 ลงเฟซบุ๊กโดยให้ชื่อว่า “กฎเหล็ก 9 ข้อ : สู่บรรทัดฐานใหม่ทางการเมือง”

ทั้งนี้ เนื้อหาสาระของข้อเขียนตอนนี้ นายอภิสิทธิ์ต้องการอธิบายให้สังคมได้เห็นถึงความเป็นนักการเมืองมืออาชีพ ความเป็นคนดี ความเป็นคนซื่อสัตย์สุจริตของตนเองที่ประกาศผ่านกฎเหล็ก 9 ข้อ หลังจากภาพพจน์ติดลบอย่างหนักจากข้อหา “พายเรือให้โจรนั่ง” โดยยกตัวอย่างให้เห็นถึงผลงานในการหยุดยั้งการคอรัปชั่นที่เกิดขึ้นในรัฐบาล ของตนเอง 4 เหตุการณ์ด้วยกันคือ

กรณีปลากระป๋องเน่าที่เกิดขึ้นในยุคที่นายวิฑูรย์ นามบุตร เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ตามต่อด้วยกรณีของนายวิทยา แก้ว ภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและทีมที่ปรึกษาที่มีข้อกล่าวหาเรื่องการ ทุจริต

โดยนายอภิสิทธิ์ย้ำให้เห็นว่า ขอเพียงแค่มีข้อสงสัยหรือมีพฤติกรรมที่เข้าข่ายกฎเหล็ก 9 ข้อที่เขาวางไว้ นายอภิสิทธิ์และพรรคประชาธิปัตย์ก็จะดำเนินการในทันทีเพื่อรักษาบรรทัดฐาน ทางการเมือง แต่นายอภิสิทธิ์ไม่ได้ขยายความในเวลาต่อมาว่า ท้ายที่สุดแล้วพรรคประชาธิปัตย์ของเขาสามารถนำตัวคนผิดมาลงโทษได้หรือไม่

เช่นเดียวกับความไม่ชอบมาพากลที่เกิดขึ้นกับคนของพรรคภูมิใจไทยและนายเนวิน ซึ่งนายอภิสิทธิ์ยืนยันว่าก็มิได้ยกเว้น ดังกรณีของนายมานิตย์ นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข หรือนายวีระศักดิ์ จินารัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่มีปัญหาในเรื่องการประมูลข้าวที่ต้องพ้นไปจากตำแหน่งดังกล่าว

“เมื่อปรากฏพยานหลักฐานเช่นนี้ ผมไม่ลังเลที่จะดำเนินการตามกฎ 9 ข้อที่ผมวางไว้ ซึ่งในขณะนั้นผมทราบดีว่าการตัดสินใจสร้างความไม่พอใจกับนางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ และนายสมศักดิ์ เทพสุทิน ไม่มากก็น้อย เพราะเป็นคำสั่งเด็ดขาดทันทีโดยไม่เปิดโอกาสให้ใครมีสิทธิ์ต่อรองทั้งสิ้น”

แต่นายอภิสิทธิ์ก็มิได้อธิบายอีกเช่นกันว่า ท้ายที่สุดแล้วผลแห่งคดีเป็นเช่นไร และมีใครต้องรับโทษตามกฎหมาย นอกเหนือจากการพ้นไปจากตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่

แน่นอน ไม่มีใครไม่เชื่อในความเป็นคนซื่อสัตย์และความเป็นคนดีของนายอภิสิทธิ์ แต่นายอภิสิทธิ์ก็มิอาจทำให้สังคมได้เชื่อว่า มิได้พายเรือให้โจรนั่งจริง

ที่สำคัญคือ นายอภิสิทธิ์ขอโอกาสจากประชาชนให้เข้ามาบริหารประเทศอีกครั้ง โดยจะอาศัยพลังของมวลชนในการขจัดปัญหาดังกล่าวให้หมดไป แต่นายอภิสิทธิ์คงลืมไปว่า การกลับมาเป็นรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์อีกครั้งก็หนีไม่พ้นที่จะต้องร่วมกับ พรรคเก่าๆ หน้าเดิมๆ ซึ่งสุดท้ายแล้วปัญหาเดิมก็จะวนกลับมา เพราะถ้าไม่มีพรรคเหล่านั้น นายอภิสิทธิ์ก็ไม่มีทางได้เป็นนายกรัฐมนตรี

นี่คือความจริงที่ไล่ล่านายอภิสิทธิ์และนายอภิสิทธิ์มิอาจปฏิเสธความจริงที่เกิดขึ้นได้