วันจันทร์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2554

"สุรพงษ์"บนเวทียูเอ็นจีเอ จริงหรือ เสี่ยปึ้ง พูดภาษาอังกฤษไม่ได้หรือไม่รู้เรื่อง ?

ที่มา มติชน

คอลัมน์ วิเทศวิถี มติชน โดย วรรัตน์ ตานิกูจิ worrarat@matichon.co.th



กว่าสองสัปดาห์ในมหานครนิวยอร์กกับการเดินทางไปร่วมประชุม สมัชชาใหญ่สหประชาชาติ (ยูเอ็นจีเอ) สมัยที่ 66 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นการประชุมที่ใหญ่ที่สุดในกรอบพหุภาคี ทั้งยังเป็นการออกงานระดับนานาชาติงานแรกของนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มีคำถามที่คนทั่วไปคงอยากรู้คำตอบว่าการทำหน้าที่ในเวทีระดับโลกของรัฐมนตรี ต่างประเทศคนปัจจุบันของไทยนั้นเป็นเช่นไรกันบ้าง

ภารกิจหลักที่นครนิวยอร์กคือการขึ้นกล่าวถ้อยแถลงในนามประเทศไทยต่อที่ ประชุมยูเอ็นจีเอ ที่อยู่ในวันท้ายๆ ของการเดินทางไปครั้งนี้ ซึ่งเป็นไปตามช่วงเวลาของการขึ้นกล่าวถ้อยแถลงที่จะเปิดให้ผู้นำประเทศต่างๆ ขึ้นพูดในวันแรกๆ ส่วนหัวหน้าคณะที่เป็นระดับรัฐมนตรีก็จะขึ้นกล่าวในช่วงวันท้ายๆ

กระนั้นก็ยังเกิดข่าวสับสนขึ้นระหว่างอยู่ที่ นิวยอร์กเมื่อมีข่าวลือทำนองว่านายสุรพงษ์ไม่ได้ขึ้นกล่าวถ้อยแถลงด้วยตนเอง แต่ให้นายต่อพงษ์ ไชยสาส์น รัฐมนตรีช่วยสาธารณสุขขึ้นกล่าวแทน เพราะปรากฏภาพนายต่อพงษ์ขึ้นกล่าวถ้อยแถลงในห้องประชุมใหญ่ของสำนักงานใหญ่ ยูเอ็น ซึ่งเป็นสถานที่เดียวกับที่ผู้แทนประเทศต่างๆ ขึ้นกล่าวถ้อยแถลงในกรอบจีเอ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วนายต่อพงษ์เพียงแต่เดินทางไปร่วมประชุมยูเอ็นใน กรอบอื่นซึ่งเกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกันเท่านั้น

นอกเหนือจากภารกิจหลักแล้ว ในการเดินทางไปครั้งนี้ยังมีการประชุมย่อยในกรอบอื่นๆ อีกมากมาย และการหารือทวิภาคีกับประเทศต่างๆ รวมมากกว่า 10 ประเทศ เรียกได้ว่าเป็นภารกิจรัดตัวแทบจะต่อเนื่องไปตลอดทั้งวันเช้าจรดเย็น ขนาดที่บางวันต้องเดินทางไปร่วมงานเลี้ยงรับรองถึงกว่า 3 งานในช่วงเย็น ซึ่งก็ถือเป็นเหตุการณ์ปกติ เพราะมีโอกาสไม่บ่อยนักที่บรรดารัฐมนตรีต่างประเทศนับร้อยคนจะอยู่พร้อมหน้า พร้อมตากันในที่แห่งเดียวเช่นนี้

ในการพบปะพูดคุยกับประเทศต่างๆ กระแสตอบรับที่มาจากแทบจะทุกแห่งคือการยินดีกับการที่ไทยได้รัฐบาลใหม่หลัง จากการเลือกตั้งครั้งสำคัญที่เป็นที่จับตามองของสังคมโลกผ่านพ้นไป พร้อมกับความคาดหวังว่าไทยจะก้าวพ้นความวุ่นวายภายในประเทศไปได้ด้วยดี

กระแสตอบรับทางบวกเช่นนี้ก็เป็นเรื่องเข้าใจได้เช่นกันสำหรับโลกยุค ปัจจุบัน ที่ประชาธิปไตยและรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งดูจะเป็นดังคัมภีร์ ศักดิ์สิทธิ์ที่ทุกประเทศยึดถือ เมื่อรัฐบาลใหม่ของไทยเพิ่งชนะเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงค่อนข้างถล่มทลาย ผู้ที่อยู่ในเวทีระหว่างประเทศที่ติดตามสถานการณ์ในเมืองไทยก็ย่อมพูดอะไร ไม่ได้ไปกว่าคำว่ายินดี

แถมยังมีเสียงบ่นด้วยความเสียดายที่นายกรัฐมนตรี หญิงคนแรกของไทย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่ได้เดินทางมากล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมด้วยตนเอง เพราะหลายคนมองว่าการไปปรากฏตัวของผู้นำหญิงจะทำให้ไทยได้รับความสนใจจากผู้ คนมากกว่านี้

อีกหนึ่งในประเด็นหลักที่ไทยถูกซักถามคือพัฒนาการของปัญหาความขัดแย้ง ระหว่างไทย-กัมพูชาที่ดูเหมือนหนังคนละม้วน เพราะแค่เปลี่ยนทีมงาน สถานการณ์ก็พลิกผันชนิดหน้าเป็นหลังมือ มาคราวนี้เมื่อถูกซักถามในเวทีการพบปะระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับ ประธานจีเอ สมัยที่ 66 และนายบัน คี มุน เลขาธิการยูเอ็น นายฮอ นัมฮง รัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชาถึงกับออกมาชี้แจงแทนไทยว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศเริ่มดีขึ้น ส่วนข้อพิพาทต่างๆ กำลังรอให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศตีความคำพิพากษา

ที่น่าสนใจสำหรับไทย คือเราได้ใช้โอกาสในการประชุมจีเอครั้งนี้ เพื่อประกาศเจตนารมณ์ของไทยที่จะสมัครชิงเก้าอี้ในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่ง สหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชอาร์ซี) อีกหนึ่งสมัยในระหว่างปี 2558-2560 หลังจากที่ไทยได้เป็นสมาชิกเอชอาร์ซีอยู่ในขณะนี้ โดยนายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว เอกอัครราชทูตและผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ว่าที่ปลัดกระทรวงการต่างประเทศคนใหม่ ก็เพิ่งพ้นจากตำแหน่งประธานเอชอาร์ซี ซึ่งมีระยะเวลา 1 ปีไปเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา

ผู้รู้บอกว่าในเวทีการทูตพหุภาคีนั้น การประกาศลงสมัครสมัยที่สองหลังจากที่การแสดงบทบาทครั้งแรกของไทยที่ถือว่า ได้รับการยอมรับอย่างดี ซึ่งยืนยันได้จากที่ท่านทูตสีหศักดิ์ได้รับเลือกให้ทำหน้าที่ประธานเอชอา ร์ซีนั้น เป็นเรื่องปกติธรรมดา เพราะเมื่อประเทศต่างๆ เห็นว่าไทยสามารถปฏิบัติหน้าที่ตรงนี้ได้ดี ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่เราจะไม่สมัครชิงเก้าอี้อีกรอบหนึ่ง เพียงแต่ไทยตัดสินใจที่จะลงสมัครในสมัยถัดไป ไม่ได้ติดต่อกันเท่านั้น

ต่างๆ เหล่านี้ล้วนเป็นหนึ่งในแผนงานที่จะเสริมสร้างบทบาทของไทยในเวทีการทูต พหุภาคีอย่างยูเอ็น หลังจากที่เราประกาศชิงเก้าอี้สมาชิกไม่ถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสห ประชาชาติ (ยูเอ็นเอสซี) วาระปี 2560-2561 ไปในการประชุมจีเอปีก่อน

กลับมาที่คำถามตอนต้นว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของนายสุรพงษ์ สำหรับ ใครที่เชื่อว่านายสุรพงษ์พูดภาษาอังกฤษไม่ได้หรือไม่รู้เรื่อง ก็สามารถเปิดดูการขึ้นกล่าวถ้อยแถลงของนายสุรพงษ์ได้ผ่านเว็บไซต์ของยูเอ็น แล้วจะเห็นว่าภาษาอังกฤษของนายสุรพงษ์นั้นไม่ได้เลวร้ายอย่างที่ใครต่อใคร เชื่อหรือวิพากษ์วิจารณ์กัน

แต่แน่นอนว่าประสาคนไทยที่ไม่ได้ไปโต เมืองนอก ที่จะหวังได้พูดภาษาอังกฤษได้ราวกับเจ้าของภาษาก็คงเป็นไปไม่ได้เช่นกัน แต่นั่นมิได้หมายความว่าเขาจะสื่อสารหรือพูดจากับผู้แทนประเทศต่างๆ ด้วยภาษาอังกฤษไม่ได้หรือไม่รู้เรื่อง

หากพูดด้วยใจเป็นกลางที่ปราศจากอคติ ถึงจะไม่ได้เกียรตินิยมแต่ก็ต้องบอกว่านายสุรพงษ์ "สอบผ่าน" แม้ผลสอบนั้นจะเป็นที่ขัดใจหรือขัดหูใครหลายคนก็ตามที

..........................................

ถ้อยแถลงของไทยในสหประชาชาติ


เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2554 นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้กล่าวถ้อยแถลงของไทยในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 66 ณ นครนิวยอร์ก

ปี 2554 เป็นปีที่ต้องจารึกในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ เนื่องจากเหตุการณ์ “ใบไม้ผลิแห่งอาหรับ” (Arab Spring) ได้แสดงความสำคัญของความปรารถนาของประชาชนและความจำเป็นที่ต้องสนองตอบต่อ ความปรารถนาเหล่านั้น ปรากฎการณ์ดังกล่าวได้แสดงถึงความท้าทายสำหรับทุกรัฐบาลที่จะต้องมีระบบทั้ง ภายในและระหว่างประเทศเพื่อให้ความมั่นใจว่าเสียงของประชาชน ความเดือดร้อน ความกังวล และความปรารถนาของประชาชนทุกคนจะได้รับความเคารพ และตอบสนอง

ไทย ได้ก้าวไปข้างหน้าแล้วอีก 1 ก้าวในกระบวนการประชาธิปไตยกับการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 ที่ราบรื่น ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการกลับไปสู่ประชาธิปไตย ทั้งนี้ รัฐบาล ซึ่งได้รับการจัดตั้งจากอำนาจของประชาชน มีความมุ่งมั่นจะดำเนินนโยบายที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยรัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะเน้นโครงสร้างพื้นฐานด้านการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน เท่าเทียม และแข็งแกร่ง รวมถึงการสนับสนุนความปรองดองแห่งชาติ และยึดมั่นหลักกฎหมายในการทำงานบนพื้นฐานของเอกภาพและความสมานฉันท์ภายใน ประเทศ

ในด้านการต่างประเทศของไทยนั้น รัฐบาลจะส่งเสริมความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงมิตรประเทศนอกภูมิภาค และไทยจะแสดงบทบาทที่รับผิดชอบและสร้างสรรค์ในระเบียบโลกปัจจุบัน ซึ่งควรจะครอบคลุมและตอบสนองต่อประเทศและภาคประชาสังคมต่างๆ ให้มากขึ้น


นอกจากนี้ ไทยจะให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนระหว่างประเทศพัฒนาแล้ว กับประเทศกำลังพัฒนา การช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาในการพัฒนาศักยภาพ เพื่อรับมือกับสิ่งท้าทายของโลก และการปรับปรุงความสัมพันธ์ในการทำงานกับประเทศและภาคประชาสังคมระหว่าง ประเทศ

สามเสาหลักของสหประชาชาติ กล่าวคือ สันติภาพและความมั่นคง การพัฒนา และสิทธิมนุษยชน เป็นสิ่งที่เชื่อมโยงกันและเสริมสร้างซึ่งกันและกัน และต้องมีการดำเนินการอย่างครอบคลุม เพื่อจะบรรลุผลสำเร็จของเป้าหมาย “ความมั่นคงของมนุษย์” สำหรับประชาชนของเรา

ในด้านสันติภาพและความ มั่นคงนั้น ประเด็นสำหรับการประชุมสมัชชาครั้งนี้ เป็นสิ่งที่เหมาะสมแก่เวลา เนื่องจากการไกล่เกลี่ยเป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ปัญหาความขัดแย้งอย่าง สันติ ทั้งนี้ ไทยเชื่อว่าการแก้ปัญหาโดยสันติเป็นแนวทางที่มีประสิทธิภาพและเป็นที่ต้อง การที่สุดเมื่อคำนึงถึงชีวิตมนุษย์และงบประมาณ

อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติการรักษาสันติภาพ เพื่อคงไว้ซึ่งเสถียรภาพในความขัดแย้ง และสังเกตุการณ์สันติภาพ ยังเป็นสิ่งจำเป็น ในการนี้ ไทยยังคงสนับสนุนอย่างแข็งขันการปฏิบัติการด้านสันติภาพโดยรวม และภารกิจรักษาสันติภาพ นอกจากนี้ ได้ส่งกองกำลัง 2 กลุ่มในการปฏิบัติภารกิจต่อต้านโจรสลัด เพื่อร่วมกับประเทศต่างๆ ในการลาดตระเวณและป้องกันการโจมตีเรือจากฝ่ายโจรสลัดในอ่าวเอเดน

พื้น ฐานสำคัญสำหรับสันติภาพในระยะยาว คือ การพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งนี้ ในเรื่องหลักการของนโยบายด้านเศรษฐกิจและสังคมนั้น ไทยได้นำแนวทาง “ประชาชนเป็นศูนย์กลาง” มาใช้เป็นเวลานานแล้ว และได้ยึด “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเน้นการดำรงชีวิตในทางสายกลาง และการสร้างสมดุลระหว่างความเติบโตทางเศรษฐกิจและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ อย่างยั่งยืน และถึงแม้ว่าไทยจะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษส่วนใหญ่ก่อนกำหนดแล้ว ไทยก็ยังคงดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายฯ เพิ่มเติม

อย่างไรก็ ตาม ทั้งสันติภาพและความมั่นคง รวมถึงการพัฒนา ไม่สามารถยั่งยืน ถ้าการเคารพสิทธิมนุษยชนยังล้าหลัง สำหรับไทยนั้น ประเด็นสิทธิมนุษยชนเป็นวาระสำคัญของนโยบายภายในและนโยบายต่างประเทศ ไทยยังคงมุ่งมั่นแสดงบทบาทที่สร้างสรรค์ในระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ โดยเฉพาะผ่านการเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ซึ่งไทยจะลงสมัครสมาชิกอีกครั้งในช่วงปี 2558-2560

สำหรับการ เสริมสร้างสิทธิของกลุ่มผู้ด้อยโอกาส ในเดือนธันวาคม 2553 ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติได้รับรองข้อกำหนดของสหประชาชาติสำหรับการ ปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำ และมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิง หรือ “ข้อกำหนดกรุงเทพ” ซึ่งเกิดจากโครงการพระดำริในพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา และไทยมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมให้มีการปฏิบัติตามข้อกำหนดกรุงเทพฯ ทั่วโลก และพร้อมที่จะทำงานร่วมกับฝ่ายที่เกี่ยวข้อง


นอกจากนี้ การมีนายกรัฐมนตรีผู้หญิง ก็เป็นการยืนยันว่าสังคมไทยได้เปิดกว้างต่อผู้หญิง รวมถึงความเท่าเทียมกันทางเพศ และการให้อำนาจแก่ผู้หญิง ก็ได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง

สหประชาชาติเป็นเสาหลักสำคัญ ของนโยบายต่างประเทศของไทย และไทยเป็นผู้ที่มีบทบาทในสามเสาดังกล่าว ดังนั้น ไทยจึงได้แสดงความตั้งใจในการสมัครเป็นสมาชิกไม่ถาวร ในช่วงปี 2560-2561 ซึ่งจะทำให้ไทยเติมเต็มความมุ่งมั่นในการทำงานร่วมกับสมาชิกสหประชาชาติ อย่างใกล้ชิด ในการเสริมสร้างระบบพหุภาคี สันติภาพ และความมั่นคง สำหรับผลประโยชน์ร่วมกันของประชาคมระหว่างประเทศและมนุษยชาติ