วันอังคารที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

น้ำ(ท่วม)ก็ล้างไม่ออก

ที่มา มติชน



โดย ฐากูร บุนปาน

(ที่มา คอลัมน์สถานคิดเลขที่ 12 หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 1 พฤศจิกายน 2554)

ในระหว่างที่น้ำเหนือกำลังหลาก น้ำทะเลกำลังหนุน และคนนับล้านกำลังชุลมุนอยู่กับการอพยพโยกย้ายและการเตรียมตัวรับมืออุทกภัย

อีกส่วนหนึ่งของสังคมไทย โยเฉพาะอย่างยิ่งใน ′โซเชี่ยล เน็ตเวิร์ก′ ทั้งหลายก็เมามันอยู่กับการด่าและการเชียร์รัฐบาล (รวมทั้งการด่าอีกฝ่ายที่โผล่ออกมาด่าก่อน)

ผู้สะท้อนปรากฏการณ์นี้เอาไว้ได้อย่างน่าสนใจก็คือนายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิจัยจากสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาแห่งสิงคโปร์ ซึ่งเขียนบทความไว้เมื่อสัปดาห์แล้วว่า

สถานการณ์น้ำท่วมที่กำลังเป็น ′อาวุธทางการเมือง′ ซึ่งฝ่ายตรงข้ามนำมาโจมตีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

สะท้อนถึงความแตกแยกอันร้าวลึกในสังคมไทย

โดย เฉพาะอย่างยิ่งในเครือข่ายโลกออนไลน์ ซึ่งพยายามจะตอกย้ำประเด็นสติปัญญาของนายกรัฐมนตรี โดยมีเป้าหมายในการทำลายความน่าเชื่อถือเป็นการส่วนตัว

และถ้อยคำสำนวนที่ใช้สะท้อนให้เห็นถึง ′ความเกลียดชัง′ ที่ฝังลึก

นาย ปวินวิเคราะห์ด้วยว่า การไม่หยุดปัดแข้งปัดขาแม้ในสภาวะวิกฤตที่สุดของชาติ แสดงให้เห็นถึงความจริงว่าความแตกแยกในสังคมไทยตอนนี้บาดลึกยากแก้ไข

ลึกจนกระทั่งทำให้ความเชื่อทางการเมืองอยู่เหนือสิ่งที่ควรจะเป็นประเด็นสำคัญในสังคม

นั่นคือความรับผิดชอบต่อสาธารณะ และความฉุกเฉินในการเยียวยาประเทศ

และสะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยไม่ได้เป็นประเทศที่ประชาชนยินดีที่จะทิ้งความแตกแยกไว้ข้างหลังแล้วจับมือฟันฝ่ามหันตภัยไปด้วยกัน

ไม่เช่นนั้นแล้ว การอาศัยภัยพิบัติของชาติเพื่อกำจัดศัตรูทางการเมือง จะกลายเป็นที่ยอมรับได้อย่างไร

น่าสนใจก็คือส่วนใหญ่ของการโจมตีด้วยความเกลียดชังนี้ เกิดขึ้นจากฝีมือของคนกรุงเทพฯ

คนกลุ่มที่ได้รับการปกป้องจากน้ำท่วมมากที่สุด

บทวิเคราะห์ของนายปวินจะถูกต้องมากน้อยเพียงใด ยังแลกเปลี่ยนความคิดกันได้

แต่ข้อสังเกตจากสิ่งที่เป็นข้อเท็จจริงนั้นยากปฏิเสธได้

ด้าน หนึ่ง สังคมไทยก็ต้องกลับมาตั้งคำถามเอากับตนเอง ว่าอะไรทำให้เกลียดชังกันรุนแรง ถึงขั้นที่ไม่สนใจ ไม่แยกแยะความผิดชอบชั่วดี ข้อเท็จจริง และสถานการณ์ที่เป็นจริง

ทำไมถึงเกลียดกันถึงขั้นฝังลึก ขนาดน้ำท่วมใหญ่ยังชะล้างออกไปไม่ได้

ข้อดีไม่กี่อย่างของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น นอกจากทำให้ได้รู้ว่าใครคิดอย่างไร (ในกรณีที่เปิดตัวออกมาเปิดเผย) แล้ว

ยังตอกย้ำให้เห็นความเป็น ′ดาบสองคม′ ของโซเชี่ยล มีเดีย

ที่ใครก็ได้ สามารถทำอะไรก็ได้ โดยไม่ต้องรับผิดชอบ และไม่สนใจผลกระทบที่จะตามมา

เพียงเพราะว่าไม่ต้องเปิดเผยตัวตนที่แท้จริง