วันพุธที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2554

เคลียร์ปัญหา “วิจารณ์เจ้าได้ -ไม่ได้”

ที่มา ประชาไท

ปัญหาเรื่อง “วิจารณ์เจ้า” ได้ –ไม่ได้ ยังสับสนอยู่ เช่นที่ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา แสดงความเห็นในรายการ "ตอบโจทย์" ทำนองว่า บางคนวิจารณ์เจ้าแล้วโดน ม.112 บางคนไม่โดน อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ โดน แต่รอด อย่างคุณอานันท์ ปันยารชุน อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ก็พูด หรือเขียนเกี่ยวกับเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์เหมือนกันแต่ไม่โดน

แล้วก็มีการแสดงความเห็นต่อเนื่องของผู้ร่วมรายกายทำนองว่า “ถ้าวิจารณ์ด้วยเหตุด้วยผล ไม่เข้าข่าย ดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้าย 4 บุคคล ตามที่ระบุใน ม.112 ก็ถือว่าวิจารณ์ได้” หรือว่าวิจารณ์ได้โดยอ้างพระราชดำรัส “the king can do wrong”

ความเห็นต่อเนื่องดังกล่าวนี้ เป็นความเข้าใจผิด เพราะการวิพากษ์วิจารณ์ “บุคคลสาธารณะ” ย่อมหมายถึง การพูดถึงข้อดี ข้อเสีย ชี้ถูก ชี้ผิดได้ และ/หรือเรียกร้องให้รับผิดชอบได้ ซึ่งต้องมีกฎหมายรับรองสิทธิที่จะทำได้เช่นนั้นด้วย ไม่ใช่จะทำได้ด้วยเพียงการอ้างพระราชดำรัสดังกล่าว

เรามักเข้าใจผิดๆ ว่า อ.สุลักษณ์ อ.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เป็นต้น “วิจารณ์เจ้า” ความจริงแล้วไม่ใช่เลย ยังไม่มีใครในประเทศนี้ที่วิจารณ์เจ้าในความหมายดังกล่าวได้จริงๆ จังๆ เพราะยังไม่มีกฎหมายรองรับให้ทำได้

ที่ อ.สุลักษณ์ อ.สมศักดิ์วิจารณ์นั้น เป็นการวิจารณ์กติกา โครงสร้างโดยรวม การปลูกฝังอุดมการณ์เกี่ยวกับสถานะ อำนาจ บทบาทของสถาบันกษัตริย์ว่า เป็นโครงสร้างที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างไร และเสนอว่าควรแก้ไขกติกาอะไรบ้างเพื่อปรับเปลี่ยนโครงสร้างเกี่ยวกับสถาบัน กษัตริย์ให้เป็นประชาธิปไตย (ดังข้อเสนอ 8 ข้อของ อ.สมศักดิ์ เป็นต้น)

การวิจารณ์โครงสร้าง อุดมการณ์เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ และการเสนอว่า สถาบันกษัตริย์ต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ถูกวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบได้ เช่นข้อเสนอให้ยกเลิก ม.112 แก้รัฐธรรมนูญ ม.8 หรือข้อเสนอ 8 ข้อของ อ.สมศักดิ์ (หรือเป็นข้อเสนอของใครก็ตามทำนองนี้) ยังถือว่า เป็นการวิจารณ์ภายใน “ขอบเขต” ของ ม.112 หรือ ม.8 คือไม่ผิดกฎหมายสองมาตรานี้ ซึ่งหมายความว่าเป็นการวิจารณ์และการเสนอ “ข้อเสนอ” ที่เป็นไปตามสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ

แต่ปัญหาของบ้านเราอยู่ที่ มันมีการ “บิดเบือน” การวิจารณ์กติกา โครงสร้าง อุดมการณ์เกี่ยวกับสถาบันในลักษณะดังกล่าวนั้นว่า เป็นการ “วิจารณ์เจ้า” และบิดเบือนข้อเสนอเพื่อปฏิรูปกติกา โครงสร้าง อุดมการณ์เกี่ยวกับสถาบันให้เป็นประชาธิปไตย โปร่งใสตรวจสอบได้ดังกล่าว ว่าเป็นการ “ล้มเจ้า” และภายใต้สถานการณ์ทางการเมือง 5 ปี มานี้ มีการใช้ ม.112 ไล่ล่าแบบเหวี่ยงแห ไม่มีมาตรฐานที่แน่นอน จึงทำให้คนจำนวนไม่น้อยที่เห็นด้วยกับ อ.สุลักษณ์ หรือ อ.สมศักดิ์ (ความเห็นสองท่านนี้มีรายละเอียดต่างกัน แต่จุดร่วมคือ “สถาบันกษัตริย์ต้องอยู่ใต้รัฐธรรมนูญและถูกวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบได้”) ไม่กล้าออกมาแสดงความเห็นสนับสนุนเท่าที่ควรจะเป็น

อย่างไรก็ตาม หากการวิจารณ์และการเสนอแบบ อ.สุลักษณ์ และ อ.สมศักดิ์ ไม่ใช่เรื่องที่ผิดกฎหมาย แต่เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญ และหากเราเห็นว่าการปฏิรูปโครงสร้างเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ให้เป็น ประชาธิปไตยเป็นเบื้องต้นก่อนเท่านั้น สังคมเราจึงจะได้ระบบประชาธิปไตยที่สถาบันกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญอย่าง แท้จริง ก็คงเป็นเรื่องที่เราจะปฏิเสธ “ความรับผิดชอบร่วมกัน” ไม่ได้ว่า เราต้องเอาชนะ “ความกลัว” เพื่อยืนยันสิทธิเสรีภาพทางการเมืองของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ

โดย “แบบทดสอบ” แรกสุด คือต้องคิดเรื่อง “ปัญหา ม.112” ให้ทะลุ และมองให้เห็นความเชื่อมโยงกับ ม.8 หรือการแก้โครงสร้างเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์แบบเป็นแพ็กเกจอย่างที่ อ.สมศักดิ์เคยเสนอ เพื่อนำไปสู่การได้มาซึ่งระบอบประชาธิปไตยที่สถาบันกษัตริย์อยู่ใต้รัฐ ธรรมนูญอย่างแท้จริง

อยากให้ลองพิจารณา “แบบทดสอบ” (เบื้องต้น) ของ อ.สมศักดิ์ ข้างล่างนี้

"แบบทดสอบ" หรือ test สำหรับ คนทีเสนอว่า 112 ให้ "แก้-ลดโทษ" จะ "เป็นจริง" (realistic) ได้มากกว่า จะเสนอให้ "เลิก" เลย และเป็น "แบบทดสอบ" สำหรับ บรรดา "รอยัลลิสต์" ที่ตอนนี้ ออกมาสนับสนุนการ "แก้-ลดโทษ" ด้วย (อานันท์, ปราโมทย์, คำนูณ รวมถึงแม้แต่คนอย่าง สุลักษณ์ ฯลฯ)

เรื่องนี้ ผมเคยเขียนไปในการตอบกระทู้เรื่องนี้ ด้านล่างๆ แล้ว แต่ขออนุญาต ยกมาชัดๆ อีกที และอยากให้ท่านที่ยืนยันเรื่อง "แก้-ลดโทษ" สา...มารถ "เป็นจริง" ได้มากกว่า ให้ช่วยกันคิด-"ตอบโจทย์" นี้ให้ดี (ผมเสียดายว่า ในการออกทีวี ของอานันท์, คำนูณ ฯลฯ หรือ รอยัลลิสต์ ที่ออกมาหนุนการ "แก้-ลดโทษ" นั้น ไมมีใครทีร่วมรายการ "จี้" ถามเรื่องนี้ ... คือถึงที่สุด ผมมองว่า "รอยัลลิสต์" เหล่านี ถึงเวลา ถ้ามีการ "แก้-ลดโทษ" ก็ยังไม่ยอม " รวม " ประเด็นที่ผมเสนอข้างล่างนี้ แน่ๆ คือยังไง ถึงเวลา พวกเขาก็ยังมองว่า เรื่องต่อไปนี้ พูดไม่ได้อยู่ดี)

คือ ผมขอถามว่า ถ้ามีการ "แก้-ลดโทษ" แล้ว เรื่องต่อไปนี้ สามารถอภิปรายกันอย่างตรงไปตรงมาได้หรือไม่? หรือคิดว่า ยังไง ก็ยังนับเป็นการ "หมิ่นฯ" อยู่นั่นเอง

- กรณี 13 ตุลาคม 2551

- กรณี "ผ้าพันคอสีฟ้า", "เงิน 2.5 แสนบาท" และเรื่องที่ "เกี่ยวข้อง" อื่นๆ เช่นที่มีการพูดๆกันใน "โทรเลขวิกิลีกส์" ... พูดง่ายๆคือ "บทบาทสถาบันฯ ในความขัดแย้ง 5-6 ปีที่ผ่านมา" รวมถึง ในกรณี รปห. 19 กันยา

- "โทรเลขวิกิลีกส์" เนื้อหาข้างใน ทีตอนนี้ไม่สามารถพูดเปิดเผยได้ ตั้งแต่เรื่องที่เพิ่งยกไปข้างต้น ถึงเรื่องอย่างที่ อานันท์, สิทธิ, เปรม พูดกับทูตอเมริกัน

- หนังสือ The King Never Smiles จะกลายเป็น หนังสือ ที่ "โอเค" สามารถเผยแพร่เปิดเผย และนำเอาเนื้อหามาอภิปรายกันตรงๆ ได้หรือไม่

นี่เป็นตัวอย่างของเรื่องที่มีลักษณะร่วมสมัย ที่เป็นปัญหา โดนเล่นงานด้วย 112 ตอนนี้ ผมไม่ต้องนับรวมย้อนหลังไปถึงเรื่อง "สวรรคต", 6 ตุลา, สมัยเปรม, สฤษดิ์ ฯลฯ ด้วย (แต่แน่นอน กรณีอย่าง The King Never Smiles เรื่องเดียว ก็คลุมประเด็นอดีตต่างๆ เหล่านี้ได้ เพราะหนังสือกล่าวถึงไว้

คำถามผมคือ ถ้า "แก้-ลดโทษ" แล้ว ยังไม่สามารถอภิปรายเรื่องต่างๆ ที่ว่ามาได้ ... การ "แก้-ลดโทษ" จะมีประโยชน์อะไร?

กรณีอย่าง "อากง" ที่ผมยกตัวอย่างหลายครั้งว่า ถ้า "แก้-ลดโทษ" สมมุติ อากง เป็นคนส่งข้อความจริง ก็จะยังโดน 8-12 ปี เป็นอย่างต่ำ อยู่นั่นเอง

ดา ตอร์ปิโด ก็เช่นกัน, สุรชัย ก็เช่นกัน

ผมน่ะ สนับสนุน และชอบนะ อะไรที่ "เป็นจริง" (realistic) ปัญหาคือ ผมมองว่า เรื่อง "แก้-ลดโทษ" จริงๆ มันไม่ realistic อย่างที่หลายคนคิด

ที่มา: http://www.facebook.com/profile.php?id=100002500442297&sk=wall